ขบวนการค้าของเถื่อน : ฝ่าปาดังเบซาร์

โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ขบวนการค้าของเถื่อนตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียนั้นไม่ใช่เพียงเกิด ถือกำเนิดมาแต่ดึงดำบรรพ์ตามลักษณะของพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะเริ่มก่อกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างเอาเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยครั้งแรกนั้นเป็นการขนของจากฝั่งไทยข้ามไปมาเลเซียโดยเฉพาะพวกข้าวและน้ำตาลต่อมาทางมาเลเซียปราบหนัก ท้ายที่สุดก็เป็นการขนสินค้าจากฝั่งมาเลเซียมาฝั่งไทยแทน และทำเป็นล่ำเป็นสันมานับแต่นั้น ถ้าถามว่าใครเกี่ยวพันกับเครือข่ายหรือกลไกของการคาของหนีภาษีบ้าง คำตอบก็คงจะไม่ว่าทุกคนตามแนวชายแดนนั้นเกี่ยวข้องเพียงแต่ละเล็กน้อยหรือใหญ่โตเพียงไรเท่านั้น ในเมื่อสินค้าทางฝั่งมาเลเซียถูกกว่ายั่วกิเลสอยู่เช่นนั้น ใครเล่าจะไม่สนใจ การปราบปรามที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จับได้เพียงเปอร์เซ็นต์เดียวของการลักลอบและไม่มีทางปราบได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตราบใดที่เมืองไทยยังต้องการรายไดจากอารนำเข้า และภาษีการค้าที่ขบวนการค้าของภาษีชายแดนสลายแน่แต่ด้วยมือปราบด้านการปฏิรูปโครงสร้างภาษี มิใช่ด้วยปืน

ย้อนไปยุคบุกเบิก

ปาดังเบซาร์เป็นจุดที่ถือได้ว่า "ร้อน" ที่สุดในเรื่องขบวนการค้าของหนีภาษี ทั้งนี้เนื่องจากเป็นชายแดนที่มีการเข้าออกสะดวกการขนของตามถนนที่ถักทอกันเป็นใยแมงมุมในป่ายางนั้น ล้วนเป็นเครื่องเอื้ออำนวยที่ดี แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับการที่ปาดังเบซาร์มีหาดใหญ่เป็นตลาดรองรังของหนีภาษีเหล่านั้นก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ของประเทศ รวมทั้งเลยทะลักเข้าไปในอินโดจีนอีกด้วย

"ปาดังฯ เป็นจุดที่เคลื่อนไหวตลอด มีตลาดหาดใหญ่รองรับ และมีผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจหาดใหญ่โดยรวม มันไม่เป็นเรื่องที่โดด ๆ ไม่เหมือนชายแดนด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านลังกาวีหรือสุไหง-โกลกก็ต้องมาหาดใหญ่ทั้งนั้น" นักค้าของหนีภาษีรุ่นบุกเบิกผู้หนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ปาดังเบซาร์อยู่ในอำเภอสะเดา ชายแดนของจังหวัดสงขลา ห่างจากอำเภอหาดใหญ่เพียง 60 กิโลเมตรเศษ เส้นทางจากปาดังเบซาร์มายังหาดใหญ่อย่างที่กล่าวแล้วว่ามีสารพัดเส้นทางจะเอาแบบไหน ขณะนี้เส้นทางสายหลักระหว่างหาดใหญ่กับสะเดากำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะเสร็จภายในปลายปีนี้ แต่เส้นทางสายเหลักนั้นไม่เป็นที่นิยมของนักค้าของหนีภาษีพวกเขามีเส้นทางของเขาเองทั้งสร้างเองและเลือกเอง ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่นิยมกัน หลายคนออกจะคร้าม แต่เท่าที่ "ผู้จัดการ" ไปสำรวจมานั้นเส้นทางเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเส้นทางที่ดีไม่ราดยางแต่เป็นลูกรังอัดแน่นอน ดุสงบร่มรื่น ยกเว้นเฉพาะเวลาที่ "รถขน" ผ่านเท่านั้นที่เสียงเครื่องยนต์กระหึ่มสนั่น

นักค้ารุ่นบุกเบิกคนหนึ่งซึ่งปัจจุบัน "ล้างมือ" ไปแล้วเล่าว่า เรื่องราวของพวกเขารุ่นที่พอเล่าตำนานการค้าของเถื่อนที่ปาดังเบซาร์ได้นั้นเริ่มต้นเมื่อประมาณ 25 ปีล่วงมาแล้ว ด้วยการขนข้าวสารและน้ำตาลข้ามไปยังฝั่งมาเลเซีย แต่ต้องเผชิญกับการปราบปรามหนักของทางการมาเลเซียด้วยนโยบายคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศของตน ทำให้ขบวนการขนข้าวสารและน้ำตาลจากฝั่งไทยหงอยเหงาไปในที่สุด

"ทำไปทำมาเขาก็ปราบจนเหลือไม่มาก เหลือกำไรกิโลกรัมละห้าสิบสตางค์หนึ่งบาท ก็หยุดไปและเริ่มเอาของจากฝั่งโน้นมา" นี่คือคำบอกเล่าของนักค้า

และนี่จุดเปลี่ยนของขบวนการขนของหนีภาษี และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำการขบของหนีภาษี จากฝั่งมาเลเซียมายังฝั่งไทยอย่างเป็นขบวนการธุรกิจนอกกฎหมาย ไม่ใช่เพียงหิ้วข้ามแดนมาเพื่อบริโภคเท่านั้น

ของที่นิยมกันในช่วงแรกและยังนิยมกันจนถึงปัจจุบันนั้นก็คือของกินจากเมืองจีน ไม่ว่าจะเป็นเห็ดหอมลายหรือกระเทียม ตลอดจนเครื่องกระป๋องซึ่งเป็นที่นิยมกันว่า "มีราคา" ในอดีต อาทิ เป๋าฮื้อ เป็นต้น

"พวกเห็ดหอม เป๋าฮื้อ เมื่อก่อนราคาดีมาก ได้กำไรทีหนึ่งมาก อย่างลงทุนสี่ร้อนส่งหาดใหญ่ได้หกร้อย ได้กำไรสองร้อย เดี๋ยวนี้อย่างเห็ดหอมถ้าของจีนแดงซื้อสงพันได้กำไรแค่ร้อยนึงเป๋าฮื้อเมื่อก่อนกระป๋องละ 30 บาทของแท้ เดี๋ยวนี้สี่ห้าร้อยของปลอมอีก ค้าสมัยโน้นง่ายกว่าได้กำไรมากกว่า"

เสียงรำพึงข้างต้นเป็นของนักค้าเก่าแก่ที่ย้อนพูดถึงอดีตที่สดใสและความเป็นจริงที่หม่นหมองของวันนี้ จำนวนนักค้าที่เพิ่มขึ้นทับทวีอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ส่วนแบ่งการค้าลดลง รวมทั้งการตัดราคาค้าขายอีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่ายิ่งขบวนการค้ายิ่งใหญ่เท่าไหร่ค่าใช้จ่ยก็ยิ่งมากตั้งแต่เทคโนโลยีและเบี้ยบ้ายรายทาง ผิดกับนักค้าสมัครเล่นที่หิ้วที่ละไม่กี่ชิ้นพวกนี้กลับเห็นเนื้อเห็นหนังมากกว่า กลายเป็นอย่างนั้นไป

สู่ยุคไฮเทค

ค่าใช้จ่ายที่นักค้าของหนีภาษีจะต้องเสีย โดยเฉพาะพวกที่ทำกันเป็นขบวนการใหญ่ ๆ นั้น ลูกค้ารายใหญ่ของนักค้าเหล่านี้ก็คือคนในเครื่องแบบสีกากีนั่นเอง ทุกคนที่คิดว่าตนมีส่วนนั้นแล้วมารับส่วนบุญด้วยกันทั้งนั้น นักค้ารายหนึ่งที่ทำมาหากินมานานเนิ่นจนถึงปัจจุบัน ประเมินตัวเลขที่เขาต้องจ่ายเฉพาะบนเส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์นั้นก็คือ ไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท ลองคำนวณเอาเองว่าถ้าจะขนขึ้นกรุงเทพ นั้นจะต้องมีค่าผ่านทางมากเพียงไร ....และบางครั้งแม้จะจ่ายก็ต้องมีการขอจับแก้เกี้ยวกันเหมือนกัน เพราะต้องการผลงาน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.