พวกเจ้าพ่อ พ่อค้าขี้ฉ้อ ค้าขายของเถื่อนมานานแล้วโดยมีตลาดใหญ่ที่หาดใหญ่และเยาวราช
เหตุเพราะระบบกฎหมายมีข้อบกพร่องและกำแพงภาษี กรมศุลกากรปราบปรามเหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน
8 เดือนที่ผ่านมาจับกุมได้ 586 ล้านบาทต่ำกว่าตัวเลขจริงมากมาย จากนี้ไปการค้าของเถื่อนจะลดลงไป
พร้อม ๆ กับพ่อค้าไทยต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเมื่อกำแพงภาษีศุลกากรต้องถูกทำลายลงตามยุคสมัยโลกการค้าเสรี
เพื่อการแข่งขันที่กำลังระบาดไปทั่ว
สมปอง ชามัง ช่างซ่อมเครื่องยนต์ที่มีชื่อเสียงประจำอยู่อู่แห่งหนึ่งบนถนนพระราม
4 เขามักจะเดินไปแถวเชียงกงบนถนนบรรทัดทองเพื่อหาซื้ออะไหล่เครื่องยนต์ดีเซลใหม่เอี่ยมให้กับลูกค้าของเขา
เครื่องยนต์ดีเซลที่สมปองต้องการเป็นเครื่องยนตร์ที่มาจากสิงคโปร์ มีราคาค่างวดถูกกว่าตลาดถึง
50% "มันหนีภาษีมาจากภาคใต้ โดยมีต้นทางมาจากสิงคโปร์ผ่านมาเลย์แล้วเข้าไทย"
เขาเล่าให้ฟังอย่างคล่องแคล่วขณะที่กำลังพลิกดูคาบิวเรเตอร์อยู่หลังร้าน
เชียงกงเป็นตลาดขายาอะไหล่และเครื่องยนต์จากต่างประเทศที่บรรดาช่างซ่อมรถยนต์รู้จักดีพอ
ๆ กับวรจักร จะต่างกันก็ตรงที่วรจักรเป็นตลาดขายอะไหล่และเครื่องยนต์ใหม่เอี่ยมจากโรงงานขณะที่เชียงกงไม่ใช่
"เครื่องยนต์เบนซินมือสองส่วนใหญ่เข้ามาจากญี่ปุ่นอย่างถูกต้อง จะมีก็แต่เครื่องดีเซลเท่านั้น"
สมปองเล่าถึงประเภทเครื่องยนต์ที่หนีภาษีเข้ามาขายที่เชียงกง
เป็นที่ทราบมานานแล้วว่าการลักลอบนำอะไหล่และรถยนต์หนีภาษีจากมาเลย์เข้ามายังประเทศไทยเป็นสิ่งที่บรรดานักค้าของเถื่อนกระทำมานานแล้ว
แม้ยังไม่มีใครทราบว่าปี ๆ หนึ่งมีมูลค่าเท่าใด แต่ก้ไม่มากเกินเลยที่จะกล่าวว่าน่าจะสูงกว่าตัวเลขการจับกุทของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ระบุว่าตกประมาณ
42 ล้านบาทถึง 10 เท่า
จากเชียงกงบนถนนบรรทัดทอง ใช้เวลาเล็กน้อยลงมาทางใต้ของกรุงเทพ มันไม่ยากเลยที่จะหาซื้อของกินของใช้คุณภาพดี
ราคาถูกในย่านเยาวราช สินค้าเหล่านี้ไหลเลื่อนผ่านด่านเจ้าหน้าที่มาจากหาดใหญ่
ที่รับต่อมาจากพ่อค้าของเถื่อนที่หากินโดยอาศัยช่องขนของเถื่อนจากมาเลย์ตรงบริเวณ
"โนแมน' สแลนด์"
หรือถ้าหากอยากสูบบุหรี่ยี่ห้อชั้นดีระดับโลกอย่าง "มาร์โบโล"
ในราคาที่แพงกว่าบุหรี่ของดรงงานยาสูบไทยไม่มากนัก ก็หาซื้อที่ถนนสีลมย่านพัฒนาพงศ์ได้ง่ายเพราะมีวางขายอย่างเปิดเผยแม้จะรู้ดีว่าบุหรี่เหล่านี้หนีภาษีเข้ามาจากสิงคโปร์ก่อนที่จะลงเรือเร็วลำเลียง
"ลักษณะเป็นกองทัพมด" มาทางจังหวัดทางภาคตะวันออกของประเทศ
จากกรุงเทพลงทางภาคใต้ที่หาดใหญ่ เป็นตลาดของหนีภาษีจากมาเลย์และสิงคโปร์ที่ใหญ่ที่สุด
มีสินค้าหลายชนิดวางขายอย่างเปิดเผยแก่นักท่องเที่ยวเช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า
ของกินของใช้ ราคาค่างวดของสินค้าเหล่านี้ถูกกว่าของหนีภาษีที่วางขายอยู่แถวคลองถมย่านถนนเยาวราชมาก
ยกตัวอย่าง เครื่องวิทยุเทปขนาดเล็กยี่ห้อไอว่ารุ่น S 170 ราคาเครื่องละ
2,550 บาท ขณะที่คลองถมจะแพงกว่าเฉลี่ย 300-400 บาท และจะแพงกว่า 600-700
บาท เมื่อซื้อจากทางห้าง
การค้าของหนีภาษีในหาดใหญ่เป็นสิ่งที่ทำกันมาเกือบ 30 ปีแล้ว จนกลายเป็นจุดขายสำหรับการท่องเที่ยวสำหรับคนต่างถิ่นจากจังหวัดอื่น
"การปราบปรามให้ได้ผล ในหลายกรณีมันขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองด้วย ว่าท่านเห็นว่าการค้าของหนีภาษีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือไม่"
สมใจนึก เองตระกูล รองผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามกรมศุลกากร พูดถึงปัจจัยการดำรงอยู่ของตลาดหนีภาษีหาดใหญ่
แต่สำหรับพวกนักอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแล้ว การดำรงอยู่ของการค้าหนีภาษีทำให้การดำเนินธุรกิจอย่างถูกกฎหมายของพวกเขามีการสูญเสียส่วนแบ่งจากตลดาโดยไม่จำเป็น
น้ำมันปาล์มจากมาเลย์ลักลอบหนีภาษีเข้ามาขายในตลาดหาดใหญ่ราคาถูกกว่าน้ำมันปาล์มของไทยมากถึง
50% และจะเริ่มไหลทะลักเข้ามาในในตลาดภาคใต้ราว ๆ เดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผลปาล์มของเกษตรกรกำลับออกสู่ตลาดพอดี
"เราต้องปราบกันทุกปีในช่วงนั้นเพราะว่างทางดรงสักดมักจะอ้างถึงเหตุนี้ในการกดราคารับซื้อผลปาล์มของเกษตรกรรม"
สมใจนึกพูดถึงผลกระทบของปาล์มน้ำมันหนีภาษีต่อเกษตรกร
ในรอบปีงบประมาณ 2533 การปราบปรามน้ำมันปาล์มหนีภาษีสามารถจับกุมได้เพียง
10 ล้านบาทเทียบกับขนาดตลาดบริโภคน้ำมันปาล์มในภาคใต้ประมาณกว่า 500 ล้าน
ในภาคใต้มีโรงสกัดน้ำมันปาล์มรายใหญ่อยู่ 11 โรง แต่มีโรงกลั่นเพียงรายเดียว
คือ สแตนดาร์ดออยล์ของกลุ่มพี่น้องงานทวี
น้ำมันปาล์มหนีภาษีจากมาเลย์มีทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันปาล์มดิบที่ขายเข้าสู่โรงสกัดและน้ำมันปาล์มที่วางขายเป็นปี๊บตามท้องตลาด
ราคาที่ถูกกว่ากันถึง 50% ทำให้น้ำมันปาล์มของไทยไม่มีทางแข่งขันได้เลยในภาคใต้
การค้าของหนีภาษีเป็นตลาดผิดกฎหมายที่เกิดมาเคียงคู่กับตลาดเสรีที่ถูกกฎหมาย
แม้ข้อเท็จจริงจะยังไม่มีตัวเลขที่บ่งบอกยอมรับกันว่ามีขนาดเท่าไหร่ก็ตาม
แต่ก็ไม่มีผลมากนักต่อการทำลายการผลิตและการค้าของสาขาธุรกิจหนึ่งใดอย่างแน่ชัด
ยกเว้น การค้าบุหรี่ต่างประเทศ ซึ่งถ้าการปราบปรามยังไม่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ทำกันอยู่อาจส่งผลให้ผู้ค้าบุหรี่ต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายได้รับความเสียหายได้
"ราคามันถูกกว่ากันมากตกเฉลี่ยซองละ 25-35 บาท (เพราะไม่มีต้นทุนภาษีนำเข้า
30% และสรรพสามิตอีก 55%) ขณะที่บุหรี่ถูกกฎหมายกำลังเข้ามาขายในราคาสูงกว่าซองละ
5-10 บาท" แหล่งข่าวนิยมบุหรี่นอกพูดถึงบุหรี่หนีภาษี "มาร์โบโล"
ที่บริษัทเซลเอ็กเพรสในเครือของบริษัทดีทแฮล์มกำลังนำเข้ามาขายอย่างถูกกฎหมายในเดือนตุลาคมนี้
การค้าของหนีภาษีที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน แม้จะไม่มีตัวเลขยืนยันว่ามีเท่าไรแต่ก็อาจพิจารณาได้จากตัวเลขการจับกุมเป็นตัวเทียบเคียงบ่งบอกถึงขนาดได้
จากสถิติการปราบปรามของกรมศุลกากรในช่วง 8 เดือนตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้วถึงพฤษภาคมปีนี้
มีมูลค่าประมาณเกือบ 600 ล้านบาท เป็นการจับกุมสินค้าหนีภาษีประเภททองคำถึง
220 ล้าน พวกของกินและเครื่องดื่มประเภทสุรา 71 ล้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์
63 ล้าน
กล่าอีกนัยหนึ่ง 3 กลุ่มสินค้านี้เป็นกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนของการถูกจับกุมหนีภาษีเข้ามาถึงกว่า
50% ของมูลค่าสินค้าหนีภาษีทั้งหมดที่ถูกจับได้
ถ้าตั้งสมมุติฐานมูลค่าของหนีภาษีที่เข้ามาจริงสูงกว่าที่ถูกจับกุมได้
10 เท่า ขนาดตลาดของหนีภาษีจะสูงถึง 6,000 ล้านเท่ากับยอดขายของบริษัทลีเวอร์บราเดอร์ไทยหรือถ้าตั้งเพียง
5 เท่า ขนาดตลาดก็จะสูงถึง 3,000 ล้านเท่ากับยอดขายของบริษัท คอลเกต ปาล์มโอลีฟประเทศไทย
พูดง่าย ๆ ยอดขายสินค้าหนีภาษีสูงขนาดนี้ทำให้คนค้ากลายเป็นเศรษฐีได้ไม่ยาก
บรรดาเจ้าพ่อแถวหัวเมืองต่างจังหวัดชายทะเลที่ร่ำรวยขึ้นมาส่วนสำคัญก็มาจากธุรกิจของหนีภาษีนี้
ดังที่นักกฎหมายที่ชื่อ "เบคเลอร์ (BECLER)" เคยกล่าวไว้ว่า
"การที่บุคคลประกอบอาชญากรรมค้าของหนีภาษี ก็เนื่องจากเขาได้คาดหวังว่าผลประโยชน์ที่เขาได้รับจากการกระทำความผิดมีมากกว่าผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับถ้าหากกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย"
ใน "อาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการบังคับกฎหมาย)
คำพูดของเบคเลอร์สามารถนำมาใช้อธิบายถึงสาเหตุการค้าบุหรี่หนีภาษีได้ดีที่สุด
แม้บทลงโทษของการค้าหนีภาษีจะต้องเสียค่าปรับศุลกากร 4 เท่าของราคาบวกภาษี
และ 10 เท่าของราคาขายตามกฎหมายสรรพสามิตก็ตาม
แต่ความที่ผู้ค้าได้กำไรถึงซองละ 8 บาทจากราคาขาย 35 บาท ปริมาณ 1 คอตตอนหรือ
10 ซองเขาจะได้กำไรถึง 80 บาท เทียบกับ 30 บาทสำหรับบุหรี่ที่ถูกกฎหมาย
มันต่างกันถึง 50 บาทเช่นนี้แล้วมันจึงยั่วยวนให้มีการกระทำก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจโดยการค้าของเถื่อนขึ้น
เมื่อการค้าของเถื่อนโยงเข้ากับผลประโยชน์เป็นปัจจัยที่ตั้งแม้จะรู้ว่าการกระทำเช่นนนี้เป็นการ่ออาชญากรรมก็ตาม
คำถามก็คือว่ากฎหมายทางศุลกากรมีข้อบกพร่องหรือไม่ที่ทำให้ผู้ค้าของเถื่อนไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
"มันมีปัญหาจริง ๆ เกี่ยวกับตัวบทบัญญัติ" นักกฎหมายแห่งสำนักงานกฎหมายสนอง
ตู้จินดาชี้ถึงช่องโหว่ทางกฎหมาย
กฎหายศุลกากรที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีอายุ 65 ปีแล้ว มีการปรับปรุงแก้ไขบางมาตราเป็นระยะแต่ก็เนิ่นนานมาแล้ว
ปัญหาตัวบทอยู่ตรงส่วนที่เป็นเกี่ยวกับเรื่องความรับผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่ระบุว่าผู้หลีกเลี่ยงภาษีฯ
ต้องรับผิดทั้งหมดไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม
แต่ข้อความนี้ถูกตีความเพื่อบังคับใช้โดยโยงเข้าหาหลักการพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา
ที่ให้นำ "เจตนาว่าจะหลีกเลี่ยงภาษี" มาพิจารณาเป็นองค์ประกอบด้วย
เมื่อเป็นดังนี้ผู้ค้าของหนีภาษีมักจะได้รับความคุ้มครองจากตัวบทนี้เสมอ
เพราะการสอบสวนมักจะหาข้อพิสูจน์ว่าเจตนาหรือไม่ได้ยาก
"แม้แต่ของกลางที่ยึดได้ กฎหมายก็เปิดช่องให้ยึดได้เฉพาะสินค้า ยกเว้นพาหนะ
จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของพาหนะที่ใช้ดำเนินการขนของหนีภาษีรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำนั้น"
ซึ่งข้อเท็จจริงการสอบสวนจะกระทำได้ยากมากและมักทำให้เจ้าของพาหนะซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าของหนีภาษีรอดพ้นได้เสมอ
"ส่วนใหญ่ที่เราจับได้ก้เพียงแค่ยึดสินค้าการปรับก็ใช้ดุลพินิจเอาว่าควรจะมากน้อยแค่ไหน"
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม กรมศุลกากรเล่าให้ฟังถึงข้อเท็จจริงในการลงโทษ
สินค้าหนีภาษีที่ถูกจับได้ส่วนใหญ่จะสาวไปไม่ถึงตัวการพ่อค้าใหญ่ คนที่ถูกจับมักเป็นคนรับจ้างขับพาหนะที่กินเงินเดือนเดือนละ
5,000 บาท ถึง 10,000 บาท (แล้วแต่ฝีมือ) จากตัวการใหญ่อีกต่อหนึ่ง
ตัวการใหญ่ในภาคใต้ที่ถูกทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามระบุว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขนของเถื่อนมีอยู่ประมาณ
10 คน เช่น ซู้ ศักด์ระพี โกกัง โกเลี้ยง หงอจ้อง บุญสิน บรรจง ยิ่น และเกี๊ยะ
โกกงและหงอจ้องถูกฝ่ายปราบปรามระบุว่าเน้นหนักในการค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า
เช่น วิดีโอ โดยอาศัยพื้นที่ในเขตสตูล
ส่วนโกเลี้ยง ซู้ และบรรจงเน้นพวกเม็ดพลาสติกในเขตปาดังและคลองแงะ ขณะที่หยิ่นจะค้าพวกของกินของใช้
"พวกเจ้าหน้าที่ปรักปรำเราว่าเป็นตัวการค้าของเถื่อน กล้าพูดได้เลยว่าเราเสียภาษีถูกต้อง"
ซู้เล่าให้ฟังถึงข้อเท็จจริงที่พวกเขาถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่
จากการเข้าปราบปรามของพวกศุลกากรและเจ้าหน้าที่พบว่า ในเขตพื้นที่ภาคใต้
มีเส้นทางที่ใช้ขนของเถื่อนหนีภาษีมากมายราวกับตาข่ายใยแมงมุม
เส้นทางเหล่านี้ มีทั้งทางรถยนต์และทางเดินเท้า ผ่านหมู่บ้านหลายแห่งในหลายเขตพื้นที่ของสะเดาปาดัง
และคลองแงะ
สินค้าพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก บุหรี่อะไหล่รถยนต์ ตลอดจนของกินของใช้
มาจากทางฝั่งมาเลย์ สินค้าบางชนิดเช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าผลิตได้ในมาเลย์ ขณะที่พวกเม็ดพลาสติก
ของกินของใช้ อะไหล่รถยนต์ บุหรี่ จะมาจากทางสิงคโปร์ แล้วเข้ามาที่มาเลย์
ก่อนที่จะเข้ามาไทยตามเส้นทางลักลอบขนส่งที่ว่า
"คือทางมาเลย์ก็จะมีตัวการใหญ่ที่ร่วมมือกับพวกค้าของเถื่อนไทย เท่าที่ทราบเป็นจีนมาเลย์ชื่อ
"จึงเยี่ยะฟั่น" คนนี้เขามีร้านค้าอยู่ทางมาเลย์" เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามไทยระบุถึงบุคคลสัญชาติมาเลย์ที่เกี่ยวข้องในการขนของเถื่อนเข้ามาไทย
อย่างไรก็ตาม "ผู้จัดการ" ไม่มีโอกาสเข้าถึงตัวบุคคลที่ถูกระบุนี้
จึงไม่ทราบว่าข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน
"การปราบของเถื่อน ผมว่าทำอย่างไรมันก็ไม่หมด ในเมื่อราคาทางฝั่งมาเลย์มันถูกกว่าทางฝั่งไทยมาก"
ซู้ หนึ่งในผู้ถูกระบุว่าค้าของเถื่อนกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ความข้อนี้สอดคล้องกับทัศนะของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามของกรมศุลกากร-รองอธิบดีสมใจนึก
ซึ่งยอมรับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการค้าลักลอบหนีภาษีขึ้นในประเทศไทย
ความแตกต่างเรื่องราคาเกี่ยวโยงกับนโยบายด้านโครงสร้างระบบภาษีศุลกากรและการค้าอย่างแยกกันไม่ออก
ยกตัวอย่าง ภาษีศุลกากรและการค้าระหว่างไทยกับมาเลย์ ไทย-มาเลย์) จะเห็นว่าสินค้าประเภทวัตถุดิบและอาหารปรุงแต่งสำเร็จรูปทางมาเลย์มีภาษีสุลกากรขาเข้าถูกกว่าของไทยมาก
กล่าวคือเฉลี่ยอยู่ในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 เช่น แป้งสาลี เม็ดพลาสติก 2%
น้ำมันปาล์ม (ยกเว้นภาษีทุกชนิด) อาหารปรุงแต่ง 35% ขณะที่ของไทย แป้งสาลีต้องเสียภาษีขาเข้าถึง
40% น้ำมันปาล์ม (1.32 บาทต่อลิตร) เม็ดพลาสติก 40% อาหารปรุงแต่ง (ของกินของใช้)
สูงถึง 60%
อัตราจัดเก็บทั้งหมดนี้คิดจากราคานำเข้าซีไอเอฟ (รวมต้นทุนค่าประกันและค่าขนส่ง)
ไม่ใช่เอฟโอบี
แม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้า ทางมาเลย์ก็คิดภาษีถูกกว่าของไทยเช่นทีวี 30% เตาอบไมโครเวฟ
5% เครื่องดูดฝุ่น 30% ขณะที่ของไทยคิดทีวีสูงถึง 40% เตาอบไมโครเวฟ 40%
และเครื่องดูดฝุ่นคิด 50% ของราคาซีไอเอฟ
การแก้ปัญหาค้าของเถื่อนตามแนวชายแดน กล่าวสำหรับระดับเจ้า หน้าที่ศุลกากรของทั้งสองประเทสแล้วต่างยอมรับว่าความแตกต่างของภาษีศุลกากรเป็นสาเหตุสำคัญ
"ทางมาเลย์ก็ยอมรับเป็นเพราะภาษีเขาถูกทำให้ของทะลักเข้ามาที่ไทย
แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องนโยบายการคลังของประเทศที่อยู่เหนืออำนาจหน้าที่ของเขา"
สมใจนึก รองอธิบดีกรมศุลกากรพูดถึงท่าทีการแก้ปัญหาของเถื่อนของเจ้าหน้าที่ศุลกากรมาเลย์
เมื่อเรื่องภาษีอยู่เหนืออำนาจหน้าที่ของศุลกากร การร่วมมือแก้ปัญหาค้าของเถื่อนของประเทศทั้งสอง
จึงออกมาในรูปการแสวงหารูปแบบการเข้าปราบปรามที่เหมาะสมต่อหลักการไม่ละเมิดอำนาจอธิปไตยดินแดนของกันและกัน
การที่ไทยมีการคิดอัตราภาษีศุลกากรขาเข้าสูงมากเช่นนี้ เป็นเพราะว่าต้องการใช้เครื่องมือทางการคลังให้การปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมการผลิตที่ทดแทนการนำเข้าของประเทศ
เช่น เม็ดพลาสติกซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลายที่ยังอยุ่ในขั้นเริ่มต้น
อุตสาหกรรมนี้ว่าไปแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้ามาลงทุนแข่งขันได้โดยง่าย เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงนับพันล้านบาทขึ้นไป
และต้องสันทัดในการเลือกใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสมกับขนาดการผลิตและความต้องการของตลาด
เวลานี้มีผู้ผลิตเพียง 5 รายคือ ทีพีไอโพลีนไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์หรือทีพีซี
ทีพีอี ทีพีพี และสยามสไตลีน โมโนเมอร์หรือเอสเอ็มบริษัทในเครือกลุ่มปูนใหญ่
"เม็ดพลาสติกที่ลักลอบเข้ามาเป็นพวกแอลดีพีอีเช่นเดียวกับที่ทีพีไอฯ
ผลิต แต่พวกลักลอบคุณภาพเกรดต่ำมาก" ผู้ค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกย่านสำเพ็งรายหนึ่งเล่าให้ฟังถึงลักษณะเม็ดพลาสติกเถื่อน
ตลาดของเม็ดพลาสติกเถื่อนส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานเล็ก ๆ ผลิตของใช้พลาสติก
เนื่องจากราคาถูกกว่า ขณะที่โรงงานใหญ่ ๆ จะซื้อจากทีพีไอ
มองในมุมกลับ ถ้าหากรัฐไม่ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเม็ดพลาสติกไว้สูงอย่างทุกวันนี้
ก็จะเกิดการนำเข้าเม็ดพลาสติกทุกเกรดจากต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ซึ่งมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก้าวหน้ากว่าไทยมาก
เข้ามาอย่างแน่นอน
"มันจะเกิดการแข่งขันด้านราคา และคุณภาพกับผู้ผลิตอย่างทีพีไอ แต่ผมยังสงสัยว่าทีพีไอจะแข่งสู้ได้อย่างไร"
แหล่งข่าวบริษัทเอเยนต์ค้าเม็ดพลาสติก "เลียกเซ้ง" ตั้งคำถามเชิงให้ช้อสังเกตุถึงความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทย
ทีพีไอเข้ามาลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกกลุ่มพีอี เช่น แอลดีพีอีและเอชดีพีอีเมื่อประมาณเกือบ
10 ปี ก่อน มีโรงงานอยู่ที่ระยอง
ส่วนทีพีซีเข้ามาผลิตเม็ดพลาสติกกลุ่มพีวีซีในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน
น้องใหม่ก็เป็นทีพีอี ทีพีพีและเอชเอ็มในเครือปูนใหญ่ ที่ผลิตเม็ดพลาสติกกลุ่มพีอี
พีพี และเอชเอ็ม ซึ่งอยู่ในระยะเพิ่มลงทุนเท่านั้น
มองจากมุมนี้ เป็นไปได้มากว่าอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกยังได้รับการคุ้มครองจากเครื่องมือทางการคลังนี้ต่อไป
แม้จะต้องแลกกับการไหลทะลักของเม็ดพลาสติกจากทางมาเลย์ต่อไปก็ตาม
แต่ก็ใช่ว่า จะได้รับการคุ้มครองต่อไปไม่มีกำหนดเพราะโลกการค้าระหว่างประเทสกำลังเข้าสู่ยุคการแข่งขันเสรี
ที่มีข้อจำกัดทางกำแพงภาษีศุลกากรน้อยที่สุด
แม้การประชุมรอบอุรุกวัยของเกตต์ดูจะมีความสำเร็จไม่มากนักก็ตาม แต่กลุ่มประเทศในโซนการค้าเดียวกันก็ได้ริเริ่ม
จัดตั้งเขตการค้าเสรีกันแล้ว เช่น ยุโรปตะวันตก สหรัฐกับเม็กซิโกและแคนาดา
กลุ่มอาเซียนเองก็ได้ริเริ่ม โครงการสิทธิประโยชน์ทางภาษีการค้าระหว่างอาเซียนด้วยกันเองมานานแล้ว
ที่เรียกว่าอาเซียน-พีทีเอ
กล่าวคือสินค้าในบัญชีที่อยู่ในโครงการนี้เวลามีการส่งออกหรือนำเข้าระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
จะเสียภาษีนำเข้าเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราที่จัดเก็บอยู่
แม้ข้อเท็จจริง โครงการนี้จะไม่ค่อยมีผลเป็นชิ้นเป็นอันแก่ผู้ค้าในอาเซียน
เนื่องจากบัญชีสินค้าที่อยู่ในรายการ ส่วนใหญ่มีการค้าขายกันน้อย หรือแทบจะไม่มีการซื้อขายเลย
"อย่างของไทย สินค้าที่เราส่งออกมาก เช่น เสื้อผ้า รองเท้า อัญมณี
ผลิตภัณฑ์พลาสติก เราก็ไม่ต้องการให้อยู่ในบัญชีด้วย" แหล่งข่าวในกรมการค้าต่างประเทศเล่าให้ฟังถึงเกณฑ์การส่งรายชื่อสินค้าเข้าในบัญชีอาเซียน-พีทีเอ
มองจากตรงนี้ โครงการอาเซียน-พีทีเอ เนื้อแท้มันก็ยังปกป้องและกีดกันทางการค้ากันในหมู่อาเซียน
จุดนี้เองที่อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีต้องการแก้ไขความล้มเหลวของอาเซียน-พีทีเอโดยเสนอ
"เขตการค้าเสรีอาเซียน" ขึ้น
หลักใหญ่อันหนึ่งก็คือ ต้องการให้ทุกประเทศในอาเซียนนำสินค้าที่อยู่นอกรายการบัญชีที่สงวนไว้เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมของตน
เข้ามาอยู่ในบัญชีให้มากที่สุด "ของไทยเองก็มีตั้งนับพันรายการที่อยู่นอกบัญชี"
แหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ระบุไว้เช่นนั้น
เวลานี้ แนวคิดการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของอานันท์ ได้รับความสนับสนุนจากประเทศมาเลเซียสิงคโปร์
ฟิลิปินส์แล้ว จะเหลือก็แต่อินโดนีเซียและบูรไน
โดยเฉพาะอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดมีประชากรถึง 150 ล้านคน กำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมยังล้าหลังอยู่มาก
การสนับสนุนจากอินโดนีเซียเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อความสำคัญของแนวคิดนี้
เพราะถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดในอาเซียนไม่เอาด้วย ก็ต้องล้ม
"เวลานี้ ยังไม่ได้ก้าวเลยถึงขั้น การพิจารณารายละเอียดว่จะมีสินค้าอะไรบ้าง
และอัตราภาษีนำเข้าควรจะเป็นเท่าไร" ศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ อธิบดีสารนิเทศ
กระทรวงต่างประเทศเล่าให้ฟังถึงการเคลื่อนไหวของโครงการ "เขตการค้าเสรีอาเซียน"
ของอานันท์
ไม่ว่าแนวคิดการค้าเสรีอาเซียน จะเดินหน้าสู่รายละเอียดหรือไม่ กระแสการค้าต่างประเทศเสรีเพื่อเปิดเงื่อนไขการตื่นตัวในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย
ก็ได้เริ่มขึ้นแล้วทีละก้าว
การผ่อนคลายการคุ้มครองเพื่อสร้างบรรยากาศการแข่งขันด้วยมาตรการลดกำแพงภาษีนำเข้าลงในสินค้าสำคัญ
ๆ ถึง 4 ประเภทในช่วงปีนี้ ได้แก่รถยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เหล็กเส้น
และเครื่องจักรเพื่อการผลิตเป็นตัวอย่างที่แจ่มชัด
การผ่อนคลายอัตราภาษีนำเข้าได้ลงลงจากเดิมอย่างมากมาย โดยที่กระทรวงการคลัง
พร้อมที่จะสูญเสียรายได้จากภาษีศุลกากรถึงปีละประมาณการ 12,000 ล้านบาทหรือประมาณไม่เกิน
5% ของรายได้จากภาษีศุลกากร
อุตสาหกรรมทั้ง 4 ประเภทนี้ (โดยเฉพาะรถยนต์และชิ้นส่วน) ที่ผ่านมานับสิบปี
บางประเภทอย่างรถยนต์นับ 30 ปี ได้รับการคุ้มครองจากกำแพงภาษีศุลกากรสูงของรัฐ
ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว การคุ้มครองทำให้ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิต
และเกิดตลาดการค้าของหนีภาษีขึ้น
ดังที่เกิดขึ้นรถยนต์มีราคาแพงเมื่อเทียบกับราคาแพงเมื่อเทียบกับคุณภาพ
ขณะเดียวกันก็มีการขาดแคลนพร้อมกันไปก็เกิดขบวนการค้ารถยนต์หนีภาษีขึ้นดังตัวเลขที่ทางกรมสุลกากรได้รายงานการจับกุมได้ปี
2533 สูงถึง 66 ล้านและช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้จับกุมได้ 42 ล้านบาท
เช่นเดียวกับเหล็กเส้นช่วง 2 ปีที่ผ่านมาความต้องการสูงมากเนื่องจากการบูมอย่างขีดสุดของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ทำให้เหล็กเส้นทุกชนิดมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเกิดการขาดแคลน
เช่นนี้แล้วการผ่อนคลายกำแพงภาษีลงเท่ากับยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัวกล่าวคือหนึ่ง-เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมเหล่านั้น
ต้องตื่นตัวในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรับกับการแข่งขันของสินค้าที่มาจากต่างประเทศ
ซึ่งมีคุณภาพสูงและชื่อเสียง สอง - เป็นการบีบให้การค้าของเถื่อนหายออกไปจากตลาดเพราะการแข่งขันจะทำให้ราคาสินค้าเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลกับคุณภาพ
จนทำให้ส่วนต่างผลกำไรของสินค้าหนีภาษีไม่จูงใจพอต่อความเสี่ยงที่จะคุ้มต่อการดำเนินการ
กล่าวถึงที่สุดแล้ว ผู้ผลิตที่ไม่กล้าลงทุนหรือเอาจริงเอาจังกับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพสินค้า ราคาการขนส่งและการผลิต ย่อมอยู่ในภาวะที่ "ฝันร้าย"
อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ที่เห็นอยู่เวลานี้ก็คือ ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์และชิ้นส่วน ที่มีข่าวว่าเริ่มลดการผลิตในสายการผลิตบางสายลง
พร้อมราคาก็ลดลง 15%
"คุณต้องเข้าใจว่าเวลานี้ กระทรวงการคลังไม่ใช่เสือหิวอีกต่อไป เงินคงคลังมีมากถึง
100,000 ล้านบาท การทำงบประมาณก็ใช้หลักการสมดุลกับงบรายจ่ายมาปีนี้เป็นปีที่
2 แล้ว ประมาณ 460,000 ล้านบาท" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังพูดถึงเหตุผลข้อหนึ่งของรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายผ่อนคลายกำแพงภาษีศุลกากรลง
ความจริงแล้ว แรงบีบจากต่างประเทศก็มีส่วนสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายทางการคลังด้านภาษีศุลกากรแบบผ่อนคลายเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี
การกีดกันทางการค้าด้วยมาตรการตั้งกำแพงภาษีมันกลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปแล้วสำหรับระเบียบใหม่ของโลกเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ
การที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและการค้าโดยพึ่งพิงการส่งออกและนำเข้าถึงร้อยละ
60-70 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติและวางเป้าหมายจะไปให้ถึงร้อยละ
80 ในอีก 4-5 ปีข้างหน้าเมื่อสิ้นแผน 7
เท่ากับว่าระบบการผลิตและการค้าของผู้ประกอบการไทยกำลังอยู่ในสนามแข่งขันของตลาดโลกมากกว่าตลาดภายในประเทศเหมือนในอดีตแล้ว
ดังนั้น การปรับตัวภายใต้ระเบียบกติกาทางการค้าและศุลกากรของตลาดโลก จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องยอมรับ
"การเป็นเหยื่อของสถานการณ์โลกเศรษฐกิจและการค้าที่ไร้พรมแดน"
แต่อย่างไรก็ตาม การออกสู่สนามแข่งขันเพื่อเผชิญกับคู่แข่งขันจากส่วนต่าง
ๆ ของโลก ก็ใช่ว่าผู้ผลิตไทยจะอยู่ในฐานะเสียเปรียบทีเดียว
เพราะอย่างนี้ที่สุด ทางรัฐบาลก็พยายามปลดเปลื้องอุปสรรคที่เป็นต้นทุนออกเพื่อให้ผู้ผลิตนักอุตสาหกรรมไทย
มีต้นทุนน้อยที่สุด
"ทางกรมสุลกากรกำหนดเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิตสำหรับสินค้าออกในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้
20% คือจาก 27,400 ล้านเป็น 32,800 ล้าน" อรัญ ธรรมโน เปิดเผยถึงการช่วยเหลือทางศุลกากร
การช่วยเหลือทางศุลกากรมีอยู่ 3 ทาง คือ หนึ่ง - การคืนอากรวัตถุดิบ สอง
- การยกเว้นภาษีวัตถุดิบ และสาม - การชดเชยค่าภาษีอากร
ซึ่งในปีที่แล้ว มีการคืนอากรวัตถุดิบให้แก่ผู้ผลิตเพื่อส่งออกเกือบ 12,000
ล้าน ยกเว้นภาษีวัตถุดิบที่นำเข้ามาเพื่อการผลิต 8,500 ล้าน และชดเชยค่าภาษีอากร
7,020 ล้าน
นอกจากนี้ ยังมีการลดภาษีรายได้นิติบุคคลลงอีกจาก 30-35% เหลือ 20-25%
ของกำไรจากการดำเนินธุรกิจ และเปลี่ยนโครงสร้างภาษีการค้าจากเดิมมาเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราเดียวกันหมดคือ
7%
การผ่อนคลายระบบภาษีศุลกากรพร้อม ๆ กับการลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีการค้า
สิ่งนี้เป็นกระบวนการปรับตัวทางการคลังเพื่อเข้าสู่ระเบียบการค้าเสรีของโลกที่ไร้พรมแดน
ภารกิจจากนี้ไป มันอยู่ที่นักอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญกับความจริงของการต่อสู้โดยไม่มีการคุ้มครองของรัฐอีกต่อไป
มันคงเป็นฝันร้ายของนักอุตสาหกรรมที่เคยชินกับการเป็นทารก ขณะเดียวกันมันคงเป็นฝันดีสำหรับนักอุตสาหกรรมที่พร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว