ข้อจำกัดลงทุนในตลาดหุ้น

โดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดในทางหลักการถึงพฤติกรรมความผันผวนของราคา และการซื้อขายในตลาดการลงทุนหุ้นกรุงเทพ ว่าตัวการสำคัญมาจากอิทธิพลของนักลงทุนรายย่อยที่กระจัดกระจาย และเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือว่านักลงทุนจากต่างประเทศประเภทรายใหญ่ ๆ ที่แห่แหนกันเข้ามาลงทุนเข้า - ออกอย่ามากมายในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

การแสวงหาข้อยุติถึงประเด็นความผันผวนดังกล่าว ว่ากันจริงแล้วมักเป็นหัวข้อสำคัยของตลาดหุ้นที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่มักหยิบขึ้นมาพูดจากัน ทั้งที่ก็รู้อยู่กันดีกว่าปรากฏการณ์ความผันผวนในหลาย ๆ ด้านที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น มันเป็นส่วนหนึ่งที่ผสานกลมกลืนไปกับธรรมชาติของความเป็นตลาดหุ้นไปแล้ว

ความแตกต่างของตลาดหุ้นที่บรรลุนิติภาวะแล้วกับยังไม่บรรลุจริง ๆ แล้วมันอยู่ที่ดีกรีความผันผวนต่างหากว่ามีมากน้อยต่างกันเท่าไร

ประเด็นสำคัญมันจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ตลาดหุ้นไทยมีดีกรีความผันผวนเกิดขึ้นน้อยที่สุด

ฝ่ายที่เชื่อว่านักลงทุนรายย่อยมีอิทธิพลต่อการสร้างความผันผวน ก็พยายามชี้ว่า นักลงทุนรายย่อยตัดสินใจลงทุนตลาดหุ้นเพราะเห็นว่าให้ผลตอบแทนกว่าการลงทุนในตลาดการเงินแม้จะมีความเสี่ยงสูงกว่าก็ตาม

แต่เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยมักไม่มีความรู้สูงพอที่จะขวนขวายหาข้อมูลและวิเคราะห์หาเหตุผลเชิงพื้นฐานของหุ้นที่ลงทุนได้ จึงหันมาลงทุนด้วยพฤติกรรมอาศัยข่าวเป็นตัวตัดสินชี้นำการลงทุน และด้วยเหตุที่ตลดาหุ้นคือศูนย์กลางที่เป็นธรรมชาติของการปล่อยข่าวเพื่อการปั่นราคา นักลงทุนรายย่อยจึงตกอยู่ภายใต้กระแสการครอบงำของข่าวอย่างช่วยไม่ได้

ดังนั้นการแสวงหาหนทางเพื่อทำให้ดีกรีความผันผวนของตลาดหุ้นมีน้อยที่สุด ก็มักจะอยู่บนตรรกะของการเสอนรูปแบบความคิดและมาตรการส่งเสริมการเรียนรู้ขอมูลปัจจัยพื้นฐานของหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อย และพยายามสอดแทรกปรัชญาพฤติกรรมการลงุทนเพื่อหวังผลระยะยาวมากกว่าระยะสั้น่

ส่วนฝ่ายที่เชื่อว่าความผันผวนมาจากอิทธิพลนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ ก็เนื่องมาจากว่าพฤติกรรมการลงทุน เป็นตัวกำหนดทิทางการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยในตลาด ปรากฏการณ์ของสิ่งนี้พิจารณาจากตัวชี้ 2 ประการคือ หนึ่ง - ตัวหุ้นที่เล่น สอง - การเข้า-ออกตลาดเป็นตัวกำหนดภาวะปริมาณการซื้อขายแต่ละวัน

หนทางการสร้างดีกรีความผันผวนให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด มองจากส่วนนี้อยู่ที่การส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในรูปสถาบันหรือกองทุน

แม้ปัจจุบันเชื่อกันว่า สัดส่วนการลงทุนหมุนเวียนซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นแต่ละวันของต่างชาติ จะอยู่ในรูปของสถาบันหรือกองทุนถึงครึ่งหนึ่งก็ตาม

ประเด็นมันจึงอยู่ที่ว่าการที่ต่างชาติในรูปสถาบันลงทุน ยังไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนซื้อขายหุ้นแต่ละวันจากที่เป็นอยู่ได้เพราะเหตุไร

การแสวงหาเหตุผลนี้ สามารถมองผ่านผลการวิเคราะห์ข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติ ในตลาดหุ้นไทยที่บรรดาผู้จัดการการลงุทนของบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกได้แสดงไว้ในโอกาสที่บริษัท "บริการข้อมูลผู้จัดการ" ได้จัดสัมมนาขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งประกอบด้วยฮิเดอากิโอตะจากบริษัทหลักทรัพย์ยามาอิชิ ทาซูฮิโก๊ะ ทากาฮาชิจากไดวา และเกรแฮม แคทเธอเวลจากครอสบี้

พวกเขาชี้ให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติในรูปสถาบัน และส่วนบุคคลปัจจุบัน และมองไปในอนาคตอันใกล้เริ่มมีทางเลือกในตลาดการลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น เงินลงทุนจากต่างประเทศเริ่มเคลื่อนย้ายไปสู่ภูมิภาคแถบอเมริกาใต้ในประเทศอาร์เยนตินา และชิลีมากขึ้นเพราะคาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะสูงกว่า

ขณะเดียวกันแม้พวกเขาจะมองพื้นฐานตลาดการลงทุนในหลักทรัพย์เมืองไทย ในระยะยาวจะยังดีอยู่ เนื่องจากการปรังปรุงและพัฒนาในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเงินเพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา จะเริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้วก็ตามเช่นการออกกฎหมายเกี่ยวกับตราสารการเงิน การผ่อนคลายการควบคุมการเคลื่อนย้ายผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์ การดำเนินนโยบายที่จะแปรรูปกิจการของรัฐสู่เอกชนเป็นต้นก็ตาม

แต่การลงทุนในตลาดทุนโดยเฉพาะหลักทรัพย์ ก็ยังมีข้อจำกัดที่ขัดขวางการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่างชาติอยู่อีกหลายอย่าง

ประการแรก - ความไม่ชัดเจนในอนาคตทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง และกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ประการที่สอง - ความไม่แน่นอนของรูปร่างหน้าตาของกฎหมายฉบับต่าง ๆ (ซึ่งกำลังเปิดอภิปรายกันอย่างกว้างขวางแก่สาธารณะ) ที่เกี่ยวกับตลาดทุนและองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เป็นใคร มีขอบเขตอำนาจหน้าที่อย่างไร

ประการที่สาม - อำนาจหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์มีค่อนข้างน้อยจนไม่สามารถควบคุมการซื้อขายแต่ละวัน ให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สี่ - จำนวนหุ้นที่มีการเปลี่ยนมือในตลาดหุ้นไทยมีค่อนข้างน้อย ทำให้บรรดากองทุนทั้งหลายที่ต้องการซื้อทีละมาก ๆ ไม่สามารถหาซื้อได้

ประการที่ห้า - มาตรฐานทางบัญชีของไทยยังต่ำกว่ามาตรฐานเช่นบัญชีการคิดต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัญชีของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มักไม่ค่อยคงที่ และระบบการเปิดเผยข้อมูลยังจำกัดไม่ทันเวลา ทำให้ไม่สามารถสะท้อนความจริงของปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงของการประกอบการธุรกิจนั้น ๆ ได้

ประการที่หก - ข้อกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างประเทศที่บังคับให้ถือไม่เกิน 49% ในบริษัทต่าง ๆ (บางบริษัทกำหนดให้ถือไม่เกิน 25%) นักลงทุนจากญี่ปุ่นนั้นมองข้อจำกัดนี้เป็นตัวอุปสรรคที่สำคัญเพราะว่าโดยค่านิยมแล้ว มักจะนิยมลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทที่เป็นของญี่ปุ่นด้วยกันเอง

ขณะที่ในประเทศไทยมีบริษัทที่ญี่ปุ่นร่วมลงทุนกับคนไทยอยู่มาก และบริษัทเหล่านี้ก็มักจะเป็นบริษัทชั้นดีที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องการให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดเพื่อนำหุ้นออกมาขายในวงกว้าง

แต่ปัญหาที่พบ บริษัทเหล่านี้ไม่ต้องการเข้ามาตลาดเพราะกลัวสูญเสียความเป็นเจ้าของไป

ประการสุดท้าย - ระบบข้อมูลข่าวสารในตลาดทุนไทย ที่จัดเก็บและนำเสนอในรูปแบบและเนื้อหาที่ยังไม่ได้มาตรฐาน แม้ปัจจุบันปัญหาตรงนี้จะดีขึ้นบ้างเพราะมีบริษัทวิจัยและข้อมูลระดับมืออาชีพทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้ามาเปิดบริการบ้างมากขึ้นหรือแม้กระทั่งบริษัทค้าหลักทรัพย์เองก็พยายามพัฒนางานด้านนี้มากขึ้น

แต่กระนั้นก็ตาม ก็ยังก้าวตามไม่ทันไปกับการเติบโตของตลาดทุนที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก

ข้อจำกัด 7 ประการเหล่านี้เป็นสิ่งที่บรรดาผู้จัดการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกมองผ่านเข้ามาในตลาดทุนไทย และพวกเขาเชื่อว่าถ้าข้อจำกัดเหล่านี้ได้ถูกแก้ไขออกไป การเข้ามาลงทุนของสถาบันลงทุนต่างชาติจะมีมากขึ้น

สิ่งนี้จะเกี่ยวโยงเข้ามาช่วยให้ดีกรีความผันผวนของตลาดทุนไทยโดยเฉพาะตลาดหุ้นมีน้อยลง ซึ่งเป็นการวางโครงสร้างให้ตลาดหุ้นไทยก้าวเข้าสู่การเป็นตลาดที่มีเสถียรภาพเหมือนตลาด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.