ธปท.เผยปี49ต่างชาติลดการถือหุ้นไทยเทขายกลุ่มโทรคมนาคม-มาตรการ30%


ผู้จัดการรายวัน(11 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติสำรวจการลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติในปี 49 มียอดคงค้างรวม 1,525.3 พันล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 48 จำนวน 26.2 พันล้าน หรือ 1.7% เหตุจากราคาหลักทรัพย์ที่ลดลง หลังรับแรงกดดันของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การขายหุ้นโทรคมนาคมให้ต่างชาติ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และมาตรการกันสำรอง 30% แบงก์ชาติ ขณะที่นักลงทุนไทยลดการถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศและหลักทรัพย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดต่างประเทศลงจากปี 2548 เหลือ 108.2 พันล้านบาท หรือลดลง 28.1%

รายงานงานข่าวจาก ทีมฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้สำรวจข้อมูลการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในหลักทรัพย์ไทยที่ออกโดยภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ภาคธนาคาร และภาคเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคาร จากธุรกิจที่ทำหน้าที่รับฝากหลักทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ ผู้ดูแลทรัพย์สิน(Custodian) บริษัทนายหน้า(Broker) และบริษัทตัวแทน(Sub-broker) โดยสรุปผลการสำรวจการลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 พบว่า นักลงทุนต่างชาติลงทุนในหลักทรัพย์และฝากหลักทรัพย์ไว้กับผู้ดูแลทรัพย์สินฯมียอดคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,525.3 พันล้านบาท หรือประมาณ 42.3 พันล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงจากสิ้นปี 2548 จำนวน 26.2 พันล้านบาทหรือร้อยละ 1.7 โดยมีมูลค่าลดลงในทุกประเภทตราสาร

ทั้งนี้ การลดลงดังกล่าวเนื่องจากได้รับแรงกดดันมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น การขายหุ้นโทรคมนาคมให้ต่างชาติ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง และมาตรการสกัดกั้นเงินทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี แม้ราคาหลักทรัพย์จะลดลง แต่จากรายงานข้อมูลเงินลงทุนในทุนเรือนหุ้นจากต่างประเทศจะเห็นว่าปริมาณเงินลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของต่างชาติยังคงเพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่อง

สำหรับประเภทหลักทรัพย์ที่นักลงทุนต่างชาติลงทุนมากที่สุดคือ ตราสารหนี้มีการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 93.4 ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยในจำนวนยอดคงค้างของตราสารทุน มีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวน 358.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 222.8 พันล้านบาทหรือร้อยละ 164.8 แบ่งเป็นเงินลงทุนในหุ้นของภาคธนาคาร แยกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 101.2 พันล้านบาท และหุ้นบุริมสิทธิ์จำนวน 1.8 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินลงทุนในหุ้นสามัญของธุรกิจเอกชนที่มิใช่ธนาคารจำนวน 255.0 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นหุ้นของกิจการโทรคมนาคม

ส่วนประเทศที่ส่งเงินเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2549 มีทั้งหมด 65 ประเทศ แม้ว่าหลายประเทศสนใจลงทุนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะ ฮ่องกง ลักเซมเบิร์ก และไอร์แลนด์ แต่สหราชอาณาจักรยังคงเป็นประเทศที่ลงทุนมากที่สุดคิดเป็นส่วนร้อยละ 33.8 รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกาคิดเป็นร้อยละ 20.2 สิงคโปร์คิดเป็นร้อยละ 15.7 และประเทศอื่นๆคิดเป็นร้อยละ 30.3 โดยนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ภาคสถาบันการเงินคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.9 รองลงมาได้แก่ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 19.2 รัฐวิสาหกิจร้อยละ 17.0 ภาคบริการร้อยละ 13.7 และภาคอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 7.7

ด้านอิทธิพลของนักลงทุนต่างชาติต่อตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นปี 2549 สัดส่วนการลงทุนยังคงใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อนคือ ร้อยละ 28.1 ของมูลค่าตามตลาดราคาตลาดโดยวัดจากมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทุนของนักลงทุนต่างชาติจำนวน 1,425.3 พันล้านบาท ต่อมูลค่าตามราคาตลาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศจำนวน 5,078.7 พันล้านบาท

และการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ ถึงแม้จะลดลงแต่ยังถือว่าอยู่ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ฝากไว้กับผู้รับฝากหลักทรัพย์ที่มียอดคงค้าง 92.8 พันล้านบาท และมีสัดส่วนร้อยละ 2.3 ของมูลค่าตลาดรวมตราสารหนี้ไทยที่ซื้อขายผ่าน ThaiBMA (The Thai Bond Market Associaiton) ซึ่งมีมูลค่า 3,951.3 พันล้านบาท

ด้านการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและหลักทรัพย์ไทยที่จดทะเบียนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยในปี 2549 นักลงทุนไทยที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และหลักทรัพย์ไทยที่จดทะเบียนในต่างประเทศเปลี่ยนไป โดยเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย เป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งฝากหลักทรัพย์ไว้กับผู้ดูแลทรัพย์สินในไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 87.8 พันล้านบาท หรือประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงจากสิ้นปี 2548 ร้อยละ 16.5

ทั้งนี้ ในปี 2549 ผู้ลงทุนลดการถือครองตราสารหนี้ต่างประเทศ และหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในหน่วยลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะผู้ลงทุนในประเทศได้เล็งเห็นว่า การกระจายรูปแบบการลงทุนโดยการซื้อหน่วยลงทุนสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และทำให้มีโอกาสเป็นเจ้าของหุ้นที่มีพื้นฐานดีในทางอ้อมเป็นผลให้มูลค่าเงินลงทุนในหน่วยลงทุนในกองทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนกว่า 7 เท่าตัว

ส่วนการลงทุนของนักลงทุนไทยในตลาดตราสารหนี้ไทยที่จดทะเบียนในตลาดต่างประเทศหรือตราสารหนี้ไทยที่ออกในตลาดต่างประเทศมียอดคงค้างทั้งสิ้น 20.4 พันล้านบาท หรือประมาณ 0.6 พันล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงจากสิ้นปี 2548 ร้อยละ 35.4 เนื่องจากกองทุนต่างๆของไทยลดการลงทุนในพันธบัตรไทย แล้วเปลี่ยนไปซื้อหน่วยลงทุนต่างประทเศมากขึ้น ขณะที่ตราสารหนี้ที่ถือมากที่สุดคือ หุ้นกู้ของภาคเอกชนจำนวน 13.0 พันล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.7 ที่เหลือเป็นพันธบัตรรับบาลไทยมูลค่า 7.4 พันล้านบาท

โดยสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่นักลงทุนไทยซื้อตราสารหนี้ไทยมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 67.9 รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ร้อยละ 28.4 และ 3.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า นักลงทุนไทยน่าจะมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนตราสารหนี้ไทยที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เนื่องจากในปี 2549 นักลงทุนไทยลดการถือครองหลักทรัพย์ไทยในญี่ปุ่น ขณะที่การถือครองหลักทรัพย์ไทยในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ซึ่งมีทิศทางตรงกันข้ามกับปี 2548


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.