|

ยอดบัตรเครดิตเดือนพ.ค.พุ่ง5หมื่นใบ
ผู้จัดการรายวัน(11 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.เผยยอดคงค้างการให้บริการเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิตล่าสุดสิ้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 54,365 บัตร ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อ และปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะปริมาณการใช้จ่ายในประเทศลดลงจากเดือนก่อนถึง 877 ล้านบาท ขณะที่รายได้ผ่านบัตรเครดิตทุกประเภทของแบงก์พาณิชย์ส่อเค้าวิกฤต ส่วนสาขาธนาคารต่างประเทศและธุรกิจนอนแบงก์เติบโตในอัตราที่ชะลอลง
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.ได้รายงานยอดคงค้างการให้บริการเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิตล่าสุด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2550 พบว่า ปริมาณบัตรเครดิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้าง และปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนยังคงมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น
ทั้งนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถาบันการเงินในระบบเศรษฐกิจมีปริมาณบัตรเครดิตทั้งสิ้น 11,181,014 บัตร หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 54,365 บัตร คิดเป็น 0.49% โดยแบ่งเป็นบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ 4,475,943 บัตร หรือเพิ่มขึ้น 22,268 บัตร ส่วนสาขาธนาคารต่างประเทศได้ออกบัตรเครดิตทั้งสิ้น 1,240,257 บัตร เพิ่มขึ้น 4,250 บัตร และบัตรเครดิตที่ออกโดยบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) 5,464,814 บัตร เพิ่มขึ้น 27,847 บัตร ซึ่งมีปริมาณบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจ
ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างมีจำนวน 168,637 ล้านบาท ลดลง 1,109 ล้านบาท หรือลดลง 0.65% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเป็นยอดคงค้างสินเชื่อที่เกิดจากธนาคารพาณิชย์จำนวน 57,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. 27 ล้านบาท ขณะที่สถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ต่างมียอดคงค้างสินเชื่อลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสาขาธนาคารต่างประเทศมียอดคงค้างสินเชื่อ 34,018 ล้านบาท ลดลง 505 ล้านบาท และนอนแบงก์ 77,601 ล้านบาท ลดลง 632 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
ส่วนปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมมีจำนวน 66,543 ล้านบาท ลดลง 1,805 ล้านบาท จากเดือนเม.ย. หรือลดลง 2.64% โดยปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมของทุกประเภทลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะปริมาณการใช้จ่ายในประเทศลดลงมากที่สุดในระบบสถาบันการเงินถึง 877 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีจำนวน 47,312 ล้านบาท ขณะที่การเบิกเงินล่วงหน้ามีจำนวน 16,485 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 484 ล้านบาท
นอกจากนี้ แม้เงินบาทมีการแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีการหันไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากนัก ทำให้สถาบันการเงินทุกประเภทมีรายได้ที่เกิดจากปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศลดลง ซึ่งในเดือนนี้ในระบบเศรษฐกิจมีปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศโดยรวมลดลง 445 ล้านบาท จากปัจจุบันมีจำนวน 2,746 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในเดือนนี้ธนาคารพาณิชย์มีรายได้จากบัตรเครดิตลดลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศ รวมทั้งการเบิกเงินสดผ่าน แต่สาขาธนาคารต่างประเทศและธุรกิจนอนแบงก์ยังคงมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งสาเหตุหลักเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|