แบงก์ชาติลุยไฟสู้บาทแข็ง-วอนผู้ส่งออกอย่าเผาบ้าน!


ผู้จัดการรายวัน(11 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เงินบาทวานนี้แข็งค่าสุดที่ 33.42 บาทต่อดอลลาร์ แบงก์ชาติเปิดแถลงด่วน ประกาศสู้ตายด้วยการแทรกแซงซื้อดอลลาร์ แจงมาตรการแก้สภาพคล่องบาทในตลาดออฟชอร์ช่วยได้ วอนผู้ส่งออกช่วยหยุดเทขายดอลลาร์ "ธาริษา" ออกตัวรับมือลำบาก เผยขณะเข้าแทรกแซงรู้สึกผันผวน "มีเงินไหลเข้ามามากจริงๆ" เปิดข้อมูลเงินนอกไหลเข้าต้นปีถึงวันที่ 6 ก.ค.เข้าแถบอาเซียน 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เฉพาะตลาดหุ้นไทย 3.5 พันล้านดอลลาร์ หุ้นไทยวานนี้ขึ้นให้เห็นว่าเงินท่วมตลาดอีก 14 จุด

วานนี้ (10 ก.ค.) ภายหลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแตะ 33.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดแถลงข่าวด่วน โดยชี้แจงว่า ขณะนี้ธปท.พยายามช่วยเหลือผู้ส่งออกอย่างเต็มที่ แต่ขณะนี้มีเงินไหลต่างประเทศเข้ามามากในตลาดหุ้น จึงไม่อยากให้ผู้ส่งออกตกใจ เพราะค่าเงินในขณะนี้เป็นไปตามภูมิภาค หาก ธปท.ไปพยายามทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปจากความจริง เงินทุนจากต่างประเทศอาจจะไหลเข้ามามากกว่าในขณะนี้ เพราะสามารถที่จะลงทุนเก็งกำไรได้มากกว่า จึงไม่อยากให้ผู้ส่งออกตกใจและเทขายเงินดอลลาร์ออกมา ทั้งๆ ที่บางรายยังไม่มีคำสั่งซื้อที่ชัดเจนเข้ามา การเทขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกลักษณะนี้ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วขึ้นโดยไม่จำเป็น

นางธาริษา กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่ได้เป็นผลจากการที่ธปท. อนุญาตให้ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศกู้ยืมบาทจากตลาดซื้อขายเงินบาทในประเทศ (ออนชอร์) เพื่อปิดภาระป้องกันความเสี่ยงในตลาดซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศ (ออฟชอร์) เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังไม่มีผลในทางปฏิบัติในขณะนี้ แต่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.-17 ส.ค.นี้ โดยต้องอธิบายว่า การอนุญาตให้กู้ยืมเงินบาทดังกล่าว จะไม่ได้กดดันค่าเงินบาท ทั้งในช่วงนี้ และในช่วงที่มีการทำธุรกรรมจริง เพราะ ธปท.ได้กำหนดให้ต้องทำทั้งด้านซื้อและขายไปพร้อมกัน นอกจากนั้น นักลงทุนต่างชาติที่เข้าเกณฑ์ได้รับอนุญาตก็ไม่ใช้ทุกราย แต่เป็นรายเก่าที่ลงทุนไว้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 19 ธ.ค.49 และต้องมีธุรกรรมการลงทุนในประเทศรองรับ

“ในขณะนี้ที่มีความสับสน เพราะมองว่า มีส่วนต่างกันระหว่างค่าเงินบาทในออนชอร์และออฟชอร์ ทำให้มองว่ามีการได้กำไร แต่ในความจริงในออฟชอร์ในขณะนี้ ธปท.ดูแลแล้วว่าไม่มีการเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่อัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกัน 2-3 บาท เกิดขึ้นจากเราได้สร้างกำแพงด้วยมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่า เงินบาท และมาตรการสำรองเงินทุนระยะสั้น 30% ทำให้เงินบาทในประเทศออกไปไม่ได้ นักลงทุนต่างชาติที่ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า และทำประกันความเสี่ยงไว้ในออฟชอร์ จึงไม่มีเงินบาทส่งมอบการอนุญาตครั้งนี้จึงเป็นหน้าต่างกันกรณีพิเศษ 1 เดือนให้เงินออกไปได้ แต่สัญญาจะต้องกลับเข้ามา”

“ธาริษา” เป๋ “เงินไหลเข้ามามากจริงๆ”

นางธาริษา กล่าวอีกว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นในขณะนี้ มาจากเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่ง ธปท.ก็เข้าไปช่วยดูแลค่าเงินบาท โดยมีแนวทางชัดเจนว่าหากค่าเงินบาทในช่วงใดผันผวนมาก ธปท.ก็จะเข้าไปดูแลเพื่อลดความผันผวน แต่ต้องยอมรับว่า ช่วงนี้แม้ ธปท.จะเข้าไปดูแลแต่ก็ยังรู้สึกผันผวนบ้าง "เพราะมีเงินไหลเข้ามามากจริงๆ" ในภูมิภาคอาเซียน ตั้งแต่ต้นปี 2550 จนถึงวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้ามาแล้ว 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 748,000 ล้านบาท (34 บาทต่อดอลลาร์) และในส่วนของประเทศไทย เฉพาะในตลาดหุ้น ตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 9 ก.ค.นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิแล้วกว่า 120,000 ล้านบาท หรือ 3,529 ล้านเหรียญสหรัฐ

“หากถามว่าเงินที่เข้ามาในตลาดหุ้น เข้ามาเพื่อเก็งกำไรทั้งค่าเงินบาท และราคาหุ้นหรือไม่ ตอบได้ว่า มีทั้งสองประเภท นักลงทุนต่างประเทศที่ดูพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี ลงทุนระยะยาวก็มี แต่ส่วนหนึ่งเป็นเงินร้อนที่ลงทุนสั้นเพื่อเก็งกำไร ก็มีเช่นกัน ดังนั้น เมื่อตลาดหุ้นปรับขึ้นไปสูงมาก นักลงทุนรายย่อยก็ต้องระมัดระวัง”

นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ สายตลาดเงิน กล่าวว่า ธปท.ยังไม่ทราบว่า นักลงทุนต่างประเทศที่มีพันธะการทำประกันความเสี่ยงตลาดออฟชอร์ มีทั้งสิ้นเท่าไร คงจะทราบข้อมูลเบื้องต้นว่ามีจำนวนสัญญาและจำนวนเงินมากน้อยเท่าไรในวันที่ 16 ก.ค.นี้ ขอยืนยันว่า ธุรกรรมดังกล่าวไม่กระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ไม่ว่าจะมีจำนวนเงินที่เข้ามากู้ยืมเงินบาทในต่างประเทศเท่าไร เพราะไม่ใช่ว่าทุกสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะต้องแห่เข้ามาแลกเงินบาทในประเทศพร้อมกันใน 1 เดือน แต่เป็นการแสดงความจำนง และรับอนุญาตไว้ก่อนเท่านั้น

“การทำธุรกรรม ธปท.ให้ทำเมื่อถึงเวลาครบกำหนดสัญญา เช่น หากนักลงทุนต่างประเทศรายหนึ่ง ครบกำหนดสัญญาในอีก 3 เดือนข้างหน้า และคิดว่าจะไม่มีเงินบาทส่งมอบ ก็มีขอนุญาต ธปท.ภายใน 1 เดือนที่กำหนด คือ 16 ก.ค.-17 ส.ค.แต่นำใบอนุญาตไปซื้อเงินบาทในประเทศทันทีไม่ได้ จะทำได้เมื่อครบกำหนดการส่งมอบเงินบาทใน 3 เดือนข้างหน้า ดังนั้นจึงไม่มีช่วงใดที่ความต้องการซื้อเงินบาทจะกระจุกตัว นอกจากนั้น ฝ่ายตลาดเงินได้ประสานทางเจ้าหน้าที่ของ ธปท.ให้เข้าไปดูแลค่าเงินบาททุกช่วงให้มีเสถียรภาพมากที่สุด”

“พี่หลอง”วอนเอกชนร่วมมือ

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาท ควรที่จะมีการลงทุนมากขึ้น เพราะจะช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ ประกอบกับหากในอนาคตมีการลงทุนในประเทศ เช่น โครงการเมกะโปรเจ็กต์เพิ่มขึ้น จะมีการนำเข้าวัตถุดิบ ก็จะสามารถช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

ซึ้งค่าเงินบาทที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นนี้ คงจะไม่มีผลกระทบต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจที่ตั้งไว้ในปีนี้ เนื่องจากการประมาณการเศรษฐกิจจะต้องดูปัจจัยโดยรวม ซึ่งเรื่องค่าเงินบาทเป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งเท่านั้น โดยหากมองในแง่ลูกหนี้สถาบันการเงินต่างประเทศแล้วก็จะพบว่ามีภาระหนี้ลดลง ขณะเดียวกันศักยภาพของผู้ส่งออกก็จะลดลงบ้างต้องมองในภาพรวมทั้งหมดอย่างมองเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

“ได้กำชับ ธปท.ดูแลเรื่องค่าเงินบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเห็นว่ามีเงินทุนไหลเข้าในประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันก็มีลักษณะคล้ายกัน โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศทำนิงไฮ อย่างต่อเนื่อง จึงต้องติดตามดูแลกันต่อไป”

บาทวานนี้แข็งค่าแตะ 33.42

วานนี้ (10 ก.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 33.45/49 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้าที่เปิด 33.75/78 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าสุดที่ 33.42 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 33.75 บาท/ดอลลาร์

“เงินบาทยังแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งวัน แต่มีการรีบาวน์กลับไปอ่อนค่าบ้าง โดยอาจจะเป็นการเข้ามาแทรกแซงของแบงก์ชาติ" นักบริหารเงินธนาคารกรุงเทพกล่าวและว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันนี้ (11 ก.ค.) คาดว่าอยู่ระหว่าง 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์ และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ เนื่องจากคาดว่ายังมีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย

หุ้นกระหน่ำบวกอีก 14 จุด

ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวานนี้ ดัชนีแกว่งตัวในแดนลบในช่วงเช้า ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นกลับมาอยู่ในด้านบวกหลังมีนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิอีกเกือบ 4.4 พันล้านบาท ส่งผลทำให้ดัชนีปิดที่ 858.45 จุด เพิ่มขึ้น 14.26 จุด หรือ 1.69 %โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 858.58 จุด และต่ำสุดที่ 837.98 จุด มูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 39,943.62 ล้านบาท

ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 4,389.58 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 886.43 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 3,503.15 ล้านบาท

นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นผ่านระดับ 850 จุด ขณะที่ P/E อยู่ที่ประมาณ 12 เท่า เนื่องมาจากเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระดับดังกล่าวน่าจะเป็นจุดตึงตัวที่สุดในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบจากเป้าหมายดัชนีปลายปีที่ตั้งไว้ที่ 810 จุด ที่ P/E ระดับ 11.5 เท่า

ส่วนเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยในปีหน้านั้น ตั้งเป้าไว้ที่ 920 จุด เนื่องจากคาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตขึ้นกว่า 14% เพราะกลุ่มธนาคารจะไม่มีปัจจัยกดดันจากการตั้งสำรองตามมาตรฐานระบบบัญชีใหม่ นอกจากนี้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจกลับคืนมา ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้อีกครั้ง

นายกมลชัย พลอินทวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทรีนี้ตี้ กล่าวว่า ความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติจะเทขายหุ้นทำกำไรออกมา หลังจากที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องมาระยะหนึ่งนั้น คาดว่าการเทขายทำกำไรไม่น่าจะเกิดภายในเดือนนี้ เนื่องมาจากภาวะหุ้นในขณะนี้ยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังน่าจะแข็งค่าเพิ่มขึ้น และการที่ยังไม่ปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดการเทขายทำกำไรออกมา แต่ในช่วงเดือนหน้าจะมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติจะทำการเทขายทำกำไรออกมาค่อนข้างมาก

นายชัย จิระเสวีนุประพันธ์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.พัฒนสิน กล่าวว่า การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าจะเป็นการรับผลจากปัจจัยบวกในเรื่องที่สถาบันจัดอันดับเรสติ้ง สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือ S&P ได้คงเครดิตตราสารหนี้ของไทยทั้งสกุลต่างประเทศและสกุลเงินบาทไว้เท่าเดิม และยังมีโอกาสที่จะทบทวนแนวโน้มเครดิตไปใน "เชิงบวก" จาก "มีเสถียรภาพ" หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ในปี 2550

เอกชนร้องทบทวนมาตรการ

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท. ) กล่าวถึงภาวะค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่องว่า เพียง 1 เดือนค่าเงินบาทของไทยมีการแข็งค่าขึ้นเกือบ 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วมากและหากเทียบตั้งแต่ต้นปีไทยแข็งค่ามาสุดในภูมิภาคนี้ดังนั้น ธปท.จำเป็นต้องประเมินมาตรการที่ออกมาว่าจะช่วยลดวิกฤติค่าบาทได้มากน้อยเพียงใด และหากแข็งค่าต่อจะมีมาตรการใดเข้ามาเสริมหรือไม่ โดยเห็นว่ามาตรการหลายอย่างต้องมีการปรับตัวได้ทันกับเหตุการณ์

“ธปท.น่าจะทราบดีว่าควรใช้มาตรการใด ซึ่งในส่วนของตลาดหุ้นแล้วส่วนตัวมองว่าที่เงินไหลเข้ามามากเพราะไทยไม่ได้เก็บภาษีหุ้น มาตรการกันสำรอง 30% ก็ผ่อนปรนอีก ส่วนเอกชนกำลังรวบรวมข้อมูลอยู่และคาดว่าเร็วๆ นี้จะได้นำเสนอแนะต่อภาครัฐต่อไป”

นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวว่า มาตรการที่ ธปท.ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่ผ่านมานั้นควรจะทบทวนว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าธปท. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงก์ น่าจะร่วมมือกันอย่างเป็นระบบหรือแพคเกจที่จะมองมาตรการรับมือค่าเงินบาทแข็งแบบบูรณาการ

“บีโอไอควรส่งเสริมการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม หรือ เอสเอ็มอี เพราะทุกวันนี้เขาอยากไปแต่ไม่รู้จะไปอย่างไร ขณะที่เอ็กซิมแบงก์เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการส่งเสริมการเงินทุนดอกเบี้ยต่ำซื้อเครื่องจักรมาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังมีแผนดำเนินการอยู่ หรือการแปลงนี้ ฯลฯ เหล่านี้จะทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าได้”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.