|

ปตท.เมินแตกพาร์หลังราคาทะลุ300บ.
ผู้จัดการรายวัน(11 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ปตท. ราคาแตะ 308 บาท ทำนิวไฮด์รอบ 6 ปี "ประเสริฐ" แจงยังไม่มีแผนแตกพาร์ แม้ราคาหุ้นพุ่งเหนือหุ้นละ 300 บาท อ้างต้องรอดูราคาหุ้นสามารถยืนได้นานหรือไม่ แย้มอาจทบทวนแตกพาร์หากราคาหุ้น 400-500 บาท พร้อมเตรียมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 30% ของกำไรสุทธิจูงใจผู้ถือหุ้น ด้าน "บางจากปิโตรเลียม" เล็งสร้างโรงงานไบโอดีเซลปลายปีนี้ด้วยงบลงทุน 900 ล้านบาท รองรับแนวโน้มธุรกิจโรงกลั่นครึ่งปีหลังกระเตื้อง
วานนี้ (10 ก.ค.) ราคาหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังคงเดินหน้าบวกอย่างต่อเนื่อง โดยมีราคาต่ำสุดที่ 294 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ราคาสูงสุด 308 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2544 เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 12 บาท หรือคิดเป็น 4.05% มูลค่าการซื้อขาย 2,266.66 ล้านบาท
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า จากการที่ราคาหุ้น PTT ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 300 บาทต่อหุ้น แต่บริษัทยังไม่มีแผนที่จะปรับลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (ราคาพาร์) จากปัจจุบันที่หุ้นละ 10 บาท เนื่องจากราคาหุ้นเพิ่งแตะ 300 บาทได้ไม่นาน ดังนั้นจึงต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อนว่าราคาหุ้นจะยืนในระดับ 300 บาทได้นานแค่ไหน
ขณะเดียวกัน ยังต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบ อาทิ ดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถยืนได้เหนือ 800 จุดได้นานหรือไม่ และเม็ดเงินต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนจะเข้ามาลงทุนในหุ้นที่มีขนาดใหญ่ เช่น PTT หากเม็ดเงินต่างชาติไหลออก นักลงทุนต่างชาติจะเทขายหุ้น PTT ออกมาเช่นกัน รวมทั้งต้องพิจารณาค่า P/E ด้วย ซึ่งบริษัทคาดว่าปี 2551 ค่า P/E อยู่ที่ระดับ 10 เท่า
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการแตกพาร์ คือ การเพิ่มสภาพคล่องให้มากขึ้น เพราะการหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงทำให้นักลงทุนทั่วไปไม่สามารถที่จะเข้ามาลงทุนได้ แต่เมื่อมีการแตกพาร์จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง และนักลงทุนทั่วไปสามารถเข้ามาลงทุนได้ โดยช่วงที่จะมีการแตกพาร์นั้นราคาหุ้นจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในช่วงแรกๆ ซึ่งเป็นผลทางด้านจิตวิทยา แต่ต่อมาราคาหุ้นจะปรับตัวลดลง
"ปตท.ยังไม่แผนที่จะแตกพาร์ เพราะราคาหุ้น PTT เพิ่งจะแตะ 300 บาท ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่เหนือ 800 จุด ซึ่งต้องดูว่าราคาหุ้นของบริษัทจะยืนระดับดังกล่าวได้นานแค่ไหน ซึ่งหากได้นานพอสมควร หรือมีการปรับตัวสูงขึ้นต่อหรือไม่ ซึ่งหากราคาหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 400-500 บาทต่อหุ้น ก็อาจจะมีการทบทวนเรื่องแตกพาร์อีกครั้ง และจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อน รวมถึงความวัตถุประสงค์ในการแตกพาร์ ซึ่งขณะนี้เรื่องสภาพคล่องหุ้นของบริษัทสูงมากมีรายย่อยถือหุ้นกว่า 3 หมื่นราย "นายประเสริฐ กล่าว
คงเป้ามาร์เกตแคบ1.2ล.ล้าน
นายประเสริฐ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดี ทำให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตรา 30% ของกำไรสุทธิโดยจ่ายจากงบการเงินรวม โดยบริษัทในเครือของบริษัทนั้นมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตรา 30-40% ของกำไรสุทธิ ซึ่งในงวดเดียวกันปีที่ผ่านมาที่บริษัทมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการครึ่งแรก ในอัตรา 5.00 บาทต่อหุ้น
"จากครึ่งปีแรกปี 49 บริษัทได้มีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และในครึ่งปีแรกปีนี้ผลประกอบการของบริษัทก็ออกมาดี จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 30% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินรวม "นายประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ จากการที่มูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ของ PTT อยู่ที่ 8.64 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่บริษัทคาดว่ามาร์เกตแคปปีนี้จะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท นั้น บริษัทยังไม่มีแผนที่จะมีการปรับเป้ามาร์เกตแคปใหม่
ควบ ATC-RRCเสร็จสิ้นปีนี้
นายประเสริฐ กล่าวถึงกรณีที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) ขายหุ้นบมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) ออกมาจำนวน 3.7 ล้านหุ้นคิดเป็น 0.38% เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ปูนซิเมนต์ไทยคงไม่สนใจที่จะถือหุ้นATC เนื่องจากไม่ได้ดำเนินธุรกิจอะโรเมติกส์ และหากมีการควบรวมกิจการระหว่าง ATC กับบมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน ATC ยิ่งลดลงอีก ทำให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องถือหุ้นอยู่อีกโดยแผนการควบรวมกิจการระหว่าง ATC กับ RRC คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2550 นี้
"ที่ผ่านมา ปูนซิเมนต์ไทยจะถือหุ้นในสัดส่วนที่สูง เช่น ถือหุ้นใน PTTCH สัดส่วน 20% เป็นต้น จากการขายหุ้น ATC ครั้งนี้ ทำให้ปูนซิเมนต์ไทยยังถือหุ้นATC อยู่ 45 ล้านหุ้นคิดเป็น 4.63% โดยปตท.จะไม่เข้าไปดำเนินการใดๆ คงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด"
เข็น "SPRC" เข้าตลาดหุ้น
นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้าในการนำหุ้นบริษัทโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า กระบวนการทุกอย่างน่าจะจบภายปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปี 2551 โดยได้มอบหมายให้บริษัทเชฟรอน ผู้ถือหุ้นใหญ่ 64% เป็นผู้ดำเนินการเรื่องการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งภายหลังการเข้าจดทะเบียนเชฟรอนจะเหลือถือหุ้น 45% โดยปตท.จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 25%จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ 36%
ทั้งนี้ PTT จะลดสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมดลง หากมีผู้สนใจเสนอซื้อหุ้นโรงกลั่นSPRCในส่วนที่ปตท.ถืออยู่ ก็พร้อมที่จะขายถ้าได้ราคาที่ดี เพื่อให้ธุรกิจโรงกลั่นกระจายไปในกลุ่มบริษัทอื่น ไม่ผูกขาดที่ปตท. โดยในอนาคตจะมีผู้ประกอบการธุรกิจโรงกลั่นอยู่ 3 กลุ่ม คือ ปตท. เอสโซ่ และเชฟรอนฯ
ธุรกิจโรงกลั่นครึ่งปีหลังฟื้น
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวถึง แผนการจัดตั้งบริษัทแห่งใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจไบโอดีเซล ที่ อ.บางประอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า บริษัทคาดจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปี 2550 นี้ ก่อนจะแล้วเสร็จและสามารถเดินเครื่องในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2552
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้รับเหมาประมูลโครงการจำนวน 2 ราย ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในส่วนของวัตถุดิบและอาจจะเข้ามาถือหุ้นด้วย แต่ขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถที่จะเปิดเผยรายละเอียดได้
สำหรับโรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 300,000 ลิตรต่อวัน โดยบริษัทจะใช้งบลงทุนจำนวน 800-900 ล้านบาท ซึ่งจะนำเงินลงทุนมาจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินและเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทในสัดส่วน2ต่อ1ตามลำดับ
"แม้เราจะเลื่อนแผนการดำเนินการจากเดิมที่กำหนดเป็นช่วงกลางปีนี้ แต่มั่นใจว่าระยะเวลาแล้วเสร็จและเดินเครื่องผลิตจะยังคงเป็นช่วงต้นปี 2552 เพียงแต่ว่าขณะนี้เราห่วงแค่เรื่องวัตถุดิบ โดยเฉพาะการปลูกปาล์มที่ค่อนข้างล่าช้า แต่คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าวัตถุดิบปาล์มน้ำมันจะมีปริมาณที่มากขึ้นจากการส่งเสริมของภาครัฐฯ" นายอนุสรณ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2550 นี้ นายอนุสรณ์ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะดีกว่าไตรมาสแรกที่มีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน เนื่องจากค่าการกลั่นที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปริมาณความต้องการใช้น้ำมันยังมีมาก ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีจากการทำกำไรจากค่าการกลั่นที่สูงขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|