|
บาทวิกฤต'แข็งสุดอาเซียน' ธปท.แก้เกมออฟชอร์
ผู้จัดการรายวัน(10 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เงินบาทเข้าโค้งอันตราย วานนี้ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าถึง 6.9% หรือทำสถิติแข็งค่าสุดในอาเซียน คาดวันนี้ยังแข็งค่าต่อ เอกชนเชื่อได้เห็น 32 แข่งขันเพื่อนบ้านไม่ได้เจ๊งแน่ จวกภาครัฐอย่าดีแต่พูด ธปท.ถกด่วนแบงก์พาณิชย์เปิดทางนักลงทุนต่างชาติในตลาดออฟชอร์ที่ปิดสัญญาซื้อขายไม่ได้ เพราะบาทขาดตลาดย้ายมาปิดสัญญาและทำสัญญาต่อในตลาดออนชอร์ได้ หวังลดส่วนต่างค่าเงินบาทนอก-ในประเทศแคบลง ด้านดัชนีตลาดหุ้นยังเดินหน้าบวกอีก 11 จุด นายกโบรกฯ เตือนระวังปรับฐาน
วานนี้ (9 ก.ค.) เงินบาทของไทยยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง โดยปิดตลาดที่ระดับ 33.78/80 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากเปิดช่วงเช้าที่ 34.00/02 บาทต่อดอลลาร์ โดยในระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าสุดที่ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์
"เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง จากแรงขายดอลลาร์และเงินทุนที่ยังคงไหลเข้าประเทศ ขณะที่ค่าเงินเยนและค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในกรอบแคบๆ" นักบริหารเงิน ธนาคารกรุงเทพ กล่าวและว่า เงินบาทวันนี้ (10 ก.ค.) คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.60-33.80 บาท/ดอลลาร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากพิจารณาความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในปี 2550 พบว่าเงินบาทไทยได้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตาม เฉพาะประเทศแถบอาเซียนไทยเป็นรองเงินเปโซของฟิลิปปินส์ แต่ล่าสุดวานนี้ เงินบาทไทยเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าถึง 6.9% แซงหน้าเปโซฟิลิปปินส์ไปแล้ว
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยมีทิศทางที่แข็งกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้า โยไม่เพียงแต่แข็งกว่าประเทศอาเซียน แต่เมื่อเทียบกับจีน ไทยแข็งค่ากว่าถึง 15% ซึ่งหากยังคงแข็งค่าลักษณะที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ระยะยาวธุรกิจจะอยู่รอดยากแน่
"ภาวะค่าเงินบาทอยู่ในระดับใดนั้นคงไม่ใช่สิ่งสำคัญเพราะสิ่งที่เอกชนต้องการคือการที่แข็งค่าในระดับเดียวกับคู่แข่ง" นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
เชื่อมีโอกาสสูงแตะ 32 บาท/ดอลลาร์
นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากภาวะตลาดหุ้นยังคงเป็นเช่นปัจจุบันที่มีการลงทุนลักษณะเข้ามาเก็งกำไร ปีนี้มีโอกาสสูงที่จะเห็นเงินบาทแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ ภาครัฐจำเป็นต้องระมัดระวังเพราะหากเป็นการลงทุนหวังเก็งกำไรแค่ระยะสั้นแล้วถอนทุนกะทันหันไทยจะลำบาก ดังนั้นควรจะต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งจากการลงทุนที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในประเทศ
“รัฐไม่ควรจะดีแต่พูดควรจะต้องปฏิบัติที่ว่าทำอย่างไรให้แรงซื้อในประเทศเกิดและมีการลงทุนที่ถาวรเพราะถ้าหุ้นตกอย่างอื่นเราเข้มแข็งก็จะไม่มีปัญหา แต่ทุกอย่างแย่หมดคงจะลำบากแน่ จุดนี้ต้องระวังให้มาก” นายเกียรติพงษ์กล่าว
ธปท.เรียกแบงก์ถกด่วนรับมือ
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า วานนี้ ธปท.มีหมายด่วนเรียกเจ้าหน้าที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์มาประชุมเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการขออนุญาตให้สามารถปล่อยสภาพคล่องเงินทุนให้แก่ผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ (Non-Resident : NR) ที่มีการค้า การลงทุนในประเทศรองรับ เพื่อปิดธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedge) ที่ทำไว้ในตลาดค่าเงินบาทในต่างประเทศ (offshore FX Hedging) ให้สามารถย้ายการป้องกันความเสี่ยงมาทำกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้
หลังการประชุมฯ นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการอาวุโส สายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ สายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ตามที่มีธนาคารต่างประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ (non-resident) บางราย ที่ลงทุนเป็นเงินบาทในประเทศไทยแต่มีการทำสัญญาการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (swap) และทำการประกันความเสี่ยง (hedging)ในตลาดซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศ (ออฟชอร์) ขาดสภาพคล่องเงินบาทที่นำมาใช้ในการปิดสัญญาซื้อขายเนื่องจากผลกระทบของมาตรการสำรองเงินทุนระยะสั้น 30%และขอเปลี่ยนมาทำประกันความเสี่ยงในตลาดซื้อขายเงินบาทในประเทศ (ออนชอร์) นั้น ธปท.พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติ ที่มีธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าที่พิสูจน์ได้ว่า มีธุรกรรมการลงทุนจริงในประเทศไทย (underlying) รองรับ และทำสัญญาครั้งแรกก่อนวันที่ 19 ธ.ค.2549 หรือก่อนการประกาศมาตรการกันสำรอง 30% สามารถเปลี่ยนมาทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินไทยได้โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องกันสำรองเงินทุนระยะสั้นนำเข้า30% และไม่ต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ทั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ดำเนินการในช่วงวันที่ 16 ก.ค.-17 ส.ค. 50 เพียงช่วงเดียวเท่านั้น หากพ้นกำหนดแล้วจะไม่สามารถดำเนินการได้ โดยให้นักลงทุนต่างประเทศติดต่อกับธนาคารต่างประเทศที่ทำสัญญาซื้อขายไว้ในตลาดออฟชอร์ นำเอกสารการลงทุนจริงในประเทศมาขออนุญาตต่อ ธปท.
นายสุชาติกล่าวว่า หากปล่อยให้นักลงทุนต่างประเทศที่ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศไว้ในตลาดออฟชอร์ ขาดสภาพคล่องเงินบาท และต้องเสียต้นทุนในการหาเงินบาทมาปิดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในราคาที่สูงขึ้นทุกครั้ง เพราะนับวันเงินบาทในตลาดออฟชอร์จะมีน้อยลง จะส่งผลให้ค่าเงินบาทตลาดออฟชอร์แข็งค่ามากขึ้นเรื่อยๆ และอัตราดอกเบี้ยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสูงขึ้น โดยที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการเงินบาทที่เพิ่มขึ้นจริง และแรงกระเพื่อมดังกล่าว ได้ส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้ส่งออกในประเทศไทยที่เห็นว่า เงินบาทในตลาดออฟชอร์แข็งค่าขึ้นตื่นตระหนก และเทขายเงินดอลลาร์ออกมา ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาทุกครั้งที่ค่าเงินบาทในตลาดออฟชอร์แข็งค่าขึ้นจากการหาเงินบาทปิดสัญญา ค่าเงินบาทตลาดในประเทศแข็งค่าขึ้นตามด้วยโดยไม่จำเป็นโดยก่อนออกมาตรการ 30% ไม่ได้กำหนดว่า การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจะต้องทำประกันความเสี่ยงกับสถาบันการเงินในไทยเท่านั้น
"มีนักลงทุนต่างประเทศบางรายทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และประกันความเสี่ยงในต่างประเทศ เมื่อจะปิดสัญญา ต้องส่งมอบเงินบาทก่อนที่จะต่ออายุสัญญา (roll over)จะเอาเงินดอลลาร์ในออฟชอร์ มาขายในออนชอร์ ซึ่งขณะนี้ราคาต่างกันน้อยมาก เมื่อได้เงินบาทไปก็จะเอาไปปิดสัญญา แต่เมื่อมีมาตรการ 30% ถ้าถึงกำหนดสัญญา แล้วจะเอาเงินดอลลาร์มาขายในประเทศ แล้วเอาออกไปทันทีเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะต้องสำรองตามมาตรการ 30% ส่งผลให้ทุกครั้งที่สัญญาเหล่านี้ครบกำหนดค่าเงินบาทในออฟชอร์ จะแข็งค่าขึ้นไปมาก บางครั้งต่างจากออนชอร์ ถึง 3 บาทต่อดอลลาร์” ผู้อำนวยการอาวุโสฯ ธปท.แจง
อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติ นำเงินดอลลาร์มาขายในตลาดในประเทศเพื่อแลกเงินบาทกลับไปปิดสัญญาล่วงหน้านั้น สามารถทำได้เท่ากับหลักฐานการลงทุนจริงในประเทศไทย ณ ราคาตลาดในปัจจุบันเท่านั้น เช่น หากมีการทำสัญญาไว้ 100 ล้านบาท นำมาลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาด 80 ล้านบาท ก็ให้แลกเงินบาทได้ 80 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากนั้น การปิดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในออฟชอร์ จะต้องทำเมื่อครบกำหนดสัญญาเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในไทย เช่น หากสัญญาซื้อขายจะครบกำหนดในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อได้รับอนุญาตในขณะนี้ก็ยังปิดสัญญาเดิมในขณะนี้ไม่ได้ แต่จะต้องรอให้ครบกำหนดในอีก 3 เดือนก่อน เนื่องจาก หากทุกสัญญาเร่งปิดสัญญาในช่วงที่ธปท.อนุญาตจะส่งผลให้ความต้องการเงินบาทในตลาดในประเทศพุ่งสูงขึ้นมาก และส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว ธปท.จะดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนสัญญาดังกล่าว
ลดดอกเบี้ยส่อช่วยพยุงบาทไม่ไหว
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแน่ในปีนี้ ทำให้นักลงทุนสนใจจะเข้ามาลงทุนยังไทยมากขึ้นทั้งทางตรงและผ่านตลาดหุ้นก็จะทำให้บาทของไทยยังคงแข็งค่า แต่จะมากน้อยเพียงใดคงจะต้องดูในส่วนของการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่จะมีการนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร ที่จะทำให้บาทแข็งค่าลดลงได้บ้าง
“ การที่เงินไหลเข้าตลาดหุ้นส่วนหนึ่งเพราะเขามองเห็นการทำกำไร ก็จะมีผลต่อค่าเงินบาทด้วยและโอกาสที่จะแข็งถึง 32 บาท/เหรียญสหรัฐเป็นไปได้เช่นกันหากยังถูกโจมตีค่าเงินอย่างต่อเนื่อง” นายจักรมณฑ์กล่าวและว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 18 ก.ค.นี้ว่า จะต้องอยู่ที่ประชุมตัดสินใจว่าจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ แต่ดอกเบี้ยของไทยที่ปรับลดลงที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลกและการปรับลดลงก็คงไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าแต่อย่างใด
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาวะค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่องนั้นคงจะเป็นหน้าที่ของ ธปท.ต้องดูแลไม่ให้แข็งค่าไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการทำงานของรัฐกับ ธปท.จะแยกกันเป็นอิสระ อย่างไรก็ตามส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพราะถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเร็วๆ นี้จะไปโรดโชว์ยังประเทศในแถบยุโรป
“ กรณีที่เอกชนมองว่าค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านนั้นคงต้องถามธปท.ซึ่งแน่นอนว่าถ้าแข็งเร็วเกินไปก็ต้องดูแล ส่วนมีคนมองว่าค่าเงินบาทที่แข็งทำให้มีการย้ายฐานไปเวียดนามนั้นก็คงเป็นเรื่องปกติเพราะเวียดนามมีแรงงานมากอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงานก็ต้องมองเวียดนามและแน่นอนว่าเวียดนามเองก็น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยเช่นกัน”นายโฆสิตกล่าว
สำหรับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมคงจะต้องมองในระยะยาวในการทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมปรับโครงสร้างการผลิตที่จะต้องมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่า แทนมุ่งเน้นการอาศัยแรงงานราคาต่ำซึ่งการดำเนินงานส่วนนี้ต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควรแต่ทั้งหมดจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตลาดหุ้นเดินหน้านิวไฮ
ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (9 ก.ค.) ดัชนียังแกว่งตัวในแดนบวกตลอดทั้งวันก่อนจะมีแรงเทขายเมื่อดัชนีแตะระดับ 850 จุด โดยดัชนีปิดที่ 844.19 จุด เพิ่มขึ้น 11.81 จุด หรือ 1.42% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 850.31 จุด และจุดต่ำสุดที่ 840.71 จุด มูลค่าการซื้อขาย 40,025.39 ล้านบาท
ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,028 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 851.48 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 2,879.75 ล้านบาท
นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ดัชนีฯจะมีการปรับฐาน ซึ่งหากไม่ขึ้นต่อก็จะมีการปรับตัวลดลงได้ 40-50 จุด ถือเป็นเรื่องปกติ แต่การปรับฐานครั้งนี้เป็นการปรับฐานเพื่อที่จะขึ้นต่อ ทำให้มีโอกาสที่ดัชนีฯมีจะปรับขึ้นถึงระดับ 1,000 จุด ในปีนี้หรือปีหน้าได้
ทั้งนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะตลาดหุ้นในภูมิภาคได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าแต่ตลาดหุ้นไทยดัชนีเพิ่งปรับเพิ่มขึ้นได้แค่เท่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นไทยควรจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจหรือดัชนีควรอยู่ที่ 1,600 จุด ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
“ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ท้าทายว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะขึ้นหรือจะลง แต่มีโอกาสที่ดัชนีฯจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง1,000 จุดได้ในปีนี้หรือปีหน้า โดยคาดว่าไตรมาส3วอลุ่มตลาดอยู่ที่2.5-2.7หมื่นล้านบาท”นายกัมปนาทกล่าว
สำหรับช่วงนี้ตนเองมีความกังวลว่า ธปท.จะมีมาตรการออกมาเพื่อควบคุมค่าเงินบาทที่ขณะนี้ได้แข็งค่าขึ้น จากที่มีสัญญาณค่าเงินบาทในประเทศ เริ่มมีการแข็งค่าเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทในต่างประเทศที่แข็งค่ากว่าค่าเงินบาทในตลาดในประเทศ ยิ่งแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งมีราคาที่ต่างกันอยู่ประมาณ 2 บาท ซึ่งค่าเงินบาทควรจะอยู่ในระดับเดียวกัน เชื่อว่าธปท.อยู่ระหว่างการหาวิธีการควบคุมค่าเงินบาท
นายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานวิจัย บล.บีฟิท กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีตลาดในช่วงระยะสั้นประมาณ 1- 3สัปดาห์นี้ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงปรับฐาน เนื่องจากปัจจุบันเริ่มเห็นเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติชะลอตัวลง จากที่ราคาหุ้นพื้นฐานในกลุ่มขนาดใหญ่เช่น พลังงาน ธนาคารพาณิชย์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมากแล้วซึ่งอาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนเพื่อลดความร้อนแรง
ทั้งนี้ ระยะยาวดัชนียังน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ โดยประเมินดัชนีตลาดสิ้นปี 50 นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 905 จุด เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น แต่คงต้องจับตาดูการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมนี้ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|