|
จีเอ็มเอ็มงัดแผน“Cross-Culture” ปั้นศิลปินรุกตปท.สร้างT-Trend
ผู้จัดการรายวัน(10 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
จีเอ็มเอ็ม จับมือพันธมิตรเปิดตลาดส่งศิลปินโกอินเตอร์ เดินเครื่องเพิ่มยุทธศาสตร์รบต่อ Cross-Culture แย้มกระแส เอเชี่ยน เทรนด์ ฝัน 3 ปีผลกำไรจับต้องได้ต้องใช้เวลา พร้อมยิ้มรับกำไรในประเทศไตรมาสสองโตเท่าตัว ผลมาจากการลดต้นทุนและลดความเสี่ยงในธุรกิจ
นางบุษบา ดาวเรือง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯมีแนวทางพัฒนาธุรกิจตามแนวโน้มไปในทิศทางของวัฒนธรรมไร้พรมแดน หรื อCross-Culture เพื่อการเปิดกว้างและขยายตลาดในระดับสากล ทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกา บริษัทฯจึงให้ความสำคัญในการสรรหาศิลปินที่มีความสามารถ เช่น การเพิ่มภาษาให้ศิลปินเรียนเพิ่มเติม โดยเฉพาะภาษาจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และอังกฤษ เพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ตามความต้องการของกระแสโลก หรือกลุ่มเป้าหมาย
พร้อมกันนี้บริษัทฯต้องผูกสัมพันธ์กับพันธมิตรที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นช่องทางในการขยายโอกาสการทำตลาดของศิลปินในสังกัดซึ่งแม้ต้องใช้การลงทุนจำนวนมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้ถือว่าคุ้มค่า เนื่องจากหากมีการพัฒนาศิลปิน ที่มีศักยภาพจะเปิดโอกาสในการขยายตลาดได้ โดยศิลปินแต่ละรายจะสามารถเห็นผลตอบแทนจากการทำ Cross-Culture ได้ในระยะเวลา 3 ปี
ทั้งนี้ บริษัทฯจะเปลี่ยนแนวดำเนินธุรกิจ จากเดิมที่โฟกัสทำตลาดท้องถิ่นหรือในประเทศ จะเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางในตลาดระดับโลกควบคู่ไปด้วย รวมทั้งการเน้นรุกสร้างกระแสนิยมในเทรนด์เอเชีย เนื่องจากมีความพร้อมในการพัฒนาศิลปินตามกระแสดังกล่าว ส่วนการสร้างกระแส T-Trend หรือกระแสไทยนิยม คาดว่าจะเกิดได้ยากกว่ากระแส A-Trend หรือเอเชี่ยนนิยม”
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯให้ความสำคัญในการคัดสรรศิลปิน ตามช่องทางต่างๆ โดยปัจจุบันบริษัทฯมีแบรนด์ที่สามารถคัดสรรศิลปินที่ได้รับการยอมรับ เช่น โครงการจี-เจอาร์ ,เฟิร์สสเตจโชว์ เดอะ สตาร์ , และฮอทเวฟ มิวสิค อะวอร์ด เป็นต้น รวมทั้งมีสถาบันในการพัฒนาศิลปิน เช่น สถาบันดนตรีมีฟ้า สถาบันอะราทิสต์ เรียกได้ว่า จีเอ็มเอ็ม เป็นสถาบันเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่มีความครบวงจร มีแพลทฟอร์มทางธุรกิจที่ครบถ้วน
สำหรับการปลุกปั้นศิลปินให้มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา ต้องวางรากฐานในประเทศให้ดีและจะต้องสร้างการเติบโตทั่วโลก หรือ “local roots global reach” ส่วนองค์ประกอบสำคัญของการบริหารศิลปินนั้นมี 4 ด้านสำคัญ คือ การคัดสรรและการพัฒนาศิลปิน การจัดการ การผลิต และการตลาดกับธุรกิจ สิ่งนี้นับว่าเป็นบทบาทที่สำคัญในแต่ละประเทศเพิ่งมี โดยเฉพาะบริษัทฯ จีเอ็มเอ็มฯที่มีศักยภาพในการทำตลาดบันเทิงในประเทศไทย ย่อมรู้จักปรับตัวตามกระแสตลาด ความเหมาะสมในแต่ละเวลาอยู่แล้วการรุกขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น พร้อมกับการพัฒนารากฐานความแข็งแกร่งในประเทศปั้นศิลปินโกอินเตอร์ครั้งนี้คาดว่าต้องใช้เวลาและบริษัทฯจะต้องส่งศิลปินที่เหมาะกับในแต่ละประเทศที่จะเข้าไปเจาะตลาดด้วยเช่นเดียวกัน
เบื้องต้นศิลปินที่บริษัทฯเล็งเห็นความพร้อมของ ศิลปินในค่าย อย่างสองพี่น้องกอล์ฟ –ไมค์ จากโครงการจี-เจอาร์ ไอซ์ ศรันยู ผ่านการประกวดเฟิร์สเสตจโชว์ และเจมส์ เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ นักร้องที่มีศักยภาพอีกคน ทดลองเปิดตลาดก่อน
ทั้งนี้เชื่อว่าตัวศิลปิน อีกทั้งความพร้อมในการบริหารศิลปินไทยให้ก้าวสู่ตลาดเอเชียได้ เนื่องจากศักยภาพที่ผ่านมา บริษัทฯมีทั้ง ทาเลนต์ที่ดี ช่องทางในการทำ จากเวทีประกวด เอ็นเตอร์เทนครบวงจร ทั้งวิทยุ ภาพยนตร์ อีเวนต์ฯลฯ ประสบการณ์ที่พัฒนาศิลปินมากกว่า 24 ปี การมีแพลตฟอร์มธุรกิจเพลงครบถ้วน และที่สำคัญคือการเป็นพันธมิตรกับบริษัทรายสำคัญในเอเชียมาอย่างยาวนาน
“ขอเวลาอีกไม่เกิน 3-5 ปี ทาเลนต์หรือศิลปินไทยจะไปประสบความสำเร็จในเอเชีย พร้อมกับปลุกกระแส T-Trend ได้อย่างแน่นอน”
นอกจากแผนการทำตลาดต่างประเทศ ด้านตลาดในประเทศคาดว่าในไตรมาสสองของปีนี้ จะสามารถมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกกว่าเท่าตัว โดยในไตรมาสแรกมีกำไรเบื้องต้น 41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 5 แสนบาทในปี 2549 ส่วนในไตรมาสสองของปี 2549 มีกำไร 98 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมทั้งปีของบริษัทฯคาดว่าจะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 6,500 ล้านบาท ซึ่งอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากการลดต้นทุนการดำเนินงาน และการลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|