|
ผลสำรวจ SMEs ให้ความหวังเชื่อปี 50 ทำรายได้ 4.908 ลล.บ.
ผู้จัดการรายวัน(10 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เผยผลสำรวจ เดือน มิ.ย. ปัจจัยเสี่ยง SMEs เป็นปัญหาเดิมๆ ระบุแม้ส่วนใหญ่ยังกังวล แต่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง เชื่อในปี 2550 นี้ SMEs ทำรายได้รวม 4.908 ล้านล้านบาท ขยายตัว 16.83% สาขาที่คาดว่าส่งออกขยาย เช่น การบินเฟอร์นิเจอร์ และยานยนต์ ส่วนสาขาที่ควรระวัง เช่น นม ไม้ และแก้ว
ผลการศึกษาของโครงการศึกษา วิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยอาศัยการสำรวจจากผู้ประกอบการประมาณ 800 รายประจำเดือนมิถุนายน 2550 ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs) ยังเป็นปัจจัยเดิมๆ ได้แก่ ค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน สถานการณ์ความไม่สงบ การเมือง การแข่งขันจากภายนอก และพฤติกรรมชะลอใช้จ่ายของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม แม้ SMEs จะมีความกังวลกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกในช่วงไตรมาสที่ 1/2550 ที่ผ่านมา แต่โดยเมื่อมาพิจารณาในอีกมิติ พบว่า ปัจจัยพื้นฐานตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมา ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ผู้ประกอบการ SMEs สามารถสร้างมูลค่าตลาดจากยอดขายสุทธิได้ถึง 4.201 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 1.434 ล้านล้านบาท หรือ 29.01% จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย ทั้งนี้ SMEs ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเงิน หรือ Economic Value Added ได้ถึง 329,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวจากปี 2548 ประมาณ 11.50% ตลอดจนมีผลตอบแทนจากการดำเนินงานเฉลี่ย 9.44%
และจากการศึกษา วิเคราะห์และคาดการณ์ SMEs รายสาขาด้วยระบบเตือนภัยเพื่อการลงทุน และระบบเตือนภัยล่วงหน้า ของ สสว. พบว่า ในปี 2550 นี้ SMEs โดยรวมยังน่าจะสามารถสร้างรายได้จากการขายสุทธิได้ประมาณ 4.908 ล้านล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวประมาณ 16.83% ตลอดจนสามารถเพิ่มผลกำไรจากการดำเนินงานได้ 4.12% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท และสามารถสร้างมูลค่าด้านการส่งออกได้ถึง 1.623 ล้านล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวประมาณ 13.15% จากปี 2549 โดย SMEs ทั้งระบบจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 399,000 ล้านบาทหรือขยายตัวกว่า 20% จากปี 2549
อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่บนเงื่อนไข SMEs ในภาคการผลิตที่ทำการส่งออกต้องเร่งปรับตัวกับการแข่งขันด้วยการรักษาสภาพของส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน ประกอบกับการลดต้นทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนจากการดำเนินงานให้สูงขึ้นทัดเทียมกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ หรือคู่แข่งขันต่างชาติ
และจากข้อมูล SMEs 10 สาขาที่จะยังมีอัตราการขยายตัวด้านการส่งออก โดดเด่นในปี 2550 เช่น การบิน , เฟอร์นิเจอร์ , ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ , เนื้อสัตว์, เครื่องจักรกล , เคมีภัณฑ์ , เหล็ก โลหะและผลิตภัณฑ์ ,สิ่งพิมพ์-พิมพ์สกรีน ,เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และยาง-ผลิตภัณฑ์ยาง ตามลำดับ
ส่วน SMEs 10 สาขาที่ต้องระวังเกี่ยวกับอัตราการขยายตัวด้านการส่งออกในปี 2550 ได้แก่ นม-ผลิตภัณฑ์จากนม ,ไม้-ผลิตภัณฑ์จากไม้ ,แก้ว-เซรามิค , น้ำมันจากพืชและสัตว์ ,เครื่องใช้ไฟฟ้า ,หนัง-ผลิตภัณฑ์หนัง , สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม , น้ำตาล-ผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล ,ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และผัก-ผลไม้ ตามลำดับ
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนจากการดำเนินงานทั้งภาคการผลิตเปรียบเทียบรวมกับธุรกิจการค้าและการบริการทั้งระบบ พบว่า SMEs 10 สาขาที่น่าจะมีอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงานโดดเด่นในปี 2550 ได้แก่ โลจิสติกส์, ไม้-ผลิตภัณฑ์จากไม้ , การบิน, การศึกษา ,เครื่องจักรกล ,เยื่อกระดาษ -ผลิตภัณฑ์กระดาษ ,บริการทางการเงิน ,นม-ผลิตภัณฑ์จากนม , เคมีภัณฑ์ และแก้ว-เซรามิค ตามลำดับ
ส่วน SMEs 10 สาขาที่ต้องระวังเรื่องอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงาน 2550 ได้แก่ อาหารกึ่งสำเร็จรูปที่ทำจากแป้ง , เสริมสร้างสุขภาพ สปาและสังคม , บริการท่องเที่ยว ,บริการคอมพิวเตอร์-ซอฟท์แวร์ ,บริการให้เช่าสินทรัพย์ , โรงแรมภัตตาคาร , รีไซเคิล , ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ , สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ข้าว แป้ง ตามลำดับ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|