จุดขายใหม่ของ ธรรมนูญ ประจวบเหมาะ


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

หกเดือนแรกของปีนี้ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธรรมนูญ ประจวบเหมาะต้องกุมขมับเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวไทยลดฮวบฮาบลงถึง 15.39% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาไทยลดเหลือเพียง 1,617,366 คนจากเดิม 1,911,650 คน

ผลของการตื่นตระหนกในสงครามอ่าวเปอร์เชีย ทำให้ในไตรมาสแรกการท่องเที่ยวไทยปีนี้กลายเป็นฝันร้ายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโรงแรม เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยลดลงอย่างน่าใจหายถึง 30% โดยเฉพาะตลาดหลักเช่นญี่ปุ่นลดลงไป 32% ไต้หวันลด 9% และสหรัฐอเมริกาถึง 27%

ในฐานะผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธรรมนูญย่อมต้องเดือดเนื้อร้อนใจ เนื่องจากเป้าหมายที่เคยคาดไว้ว่านักท่องเที่ยวจะมาไทยเพิ่มเป็น 5.5-5.6 ล้านคนก็คงจะหล่นลงเพียงตัวเลข 5.4 ล้านคนในปีนี้

"แต่ผมก็เชื่อว่าในปีหน้าปริมาณนักท่องเที่ยวจะมีถึง 6 ล้านคน เพราะเราจะจัดให้มีงานใหญ่สองงานคืองานฉลองครบ 60 พรรษาพระบรมราชินีนาถและปีการท่องเที่ยวอาเซียน 1992" นี่คือความหวังใหม่ที่ผู้ว่าฯ ธรรมนูญ กล่าวถึง

ปีท่องเที่ยวอาเซียน 1992 หรือ VISIT ASEAN YEAR 1992 (VAY 1992) มีองค์กรกลาง คือ THE ASEAN TOURISM ASSOCIATION (ASEANTA) ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่สิงคโปร์เป็นผู้จัด

งานนี้ใช้งบมหาศาลจำนวนถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใน 6 ประเทศ คือประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และบรูไน

ความจริงประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ใช้กลยุทธ์การตลาดด้วยแนวความคิดการส่งเสริมให้ปี 2530 เป็น "ปีการท่องเที่ยวไทย" (VISIT THAILAND YEAR 1987) และประผลสำเร็จอย่างมาก นำรายได้เข้าประเทศมหาศาล

เมื่อเห็นผลดีเกินคาดเช่นนี้ เพื่อนบ้านไทยอย่างมาเลเซียก็เริ่มเลียนแบบอย่างไทยบ้าง ด้วยการวางแผนส่งเสริมให้ปี 2533 เป็น "ปีท่องเที่ยวมาเลเซีย"

ปรากฏว่ามาเลเซียได้ทั้งเงิน และกล่อง โดยทุ่มงบการตลาดถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ได้ผลเกินคาด ปริมาณนักท่องเที่ยวสูงถึง 7.4 ล้านคนจากเดิมแค่ 4.8 ล้านคน คิดเป็นตัวเงินได้ถึง 1.66 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนี้ทำรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการทั้งหมด

ในฐานะคู่แข่ง ผู้บริหารการท่องเที่ยวประเทศอินโดนีเซียจะนิ่งดูดายอยู่ไม่ได้จึงประกาศให้ปี 2534 เป็น "ปีการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย" โดยหวังเป้าหมายว่าจะเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวได้อีก 16%

แต่ใน "ปีท่องเที่ยวอาเซียน" ปีหน้านี้ คู่แข่งสำคัญในสายตาของไทยไม่ใช่อยู่ที่สองประเทศนี้เท่านั้น ประเทศสิงคโปร์และจีนแผ่นดินใหญ่ต่างหากเป็นคู่แข่งที่พยายามช่วงชิงตลาดหลักคือตลาดญี่ปุ่นและยุโรปไปจากไทย

"จากการศึกษาของการท่องเที่ยวแห่ประเทศไทยกับสมาคมผู้แทนจำหน่ายบัตรโดยสาร (TTA) เราพบว่าทัวร์แพคเกจของสิงคโปร์และจีนแผ่นดินใหญ่ขายได้ดีในตลาดญี่ปุ่นและยุโรป เพราะราคาขายถูกกว่าของไทยเราถึง 20-25%" ธรรมนูญวิเคราะห์การแข่งขันให้ฟัง

ด้วยกลยุทธ์ราคาที่ตำกว่าของคู่แข่งนี้ ผู้ว่าฯ ธรรมนูญจึงให้ความเห็นว่น่าจะพิจารณาทบทวนถึงความเสียเปรียบในตลาดการแข่งขันรุนแรงนี้ที่ระดับราคาของไทยยังคงสูงอยู่ เช่น อัตราค่าห้องพักในโรงแรม

"ตอนนี้ตลาดท่องเที่ยวเป็นของตลาดของผู้ซื้อมากกว่าตลาดของผู้ซื้อมากกว่าตลาดของผู้ขายแล้ว" ผู้ว่าธรรมนูญกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาด

เป็นที่ถกเถียงกันมากเกี่ยวกับปัยหาการลดลงของเวลาที่นักท่องเที่ยวใช้ในไทย (AVERAGE LENGTH OF STAY - ALS) ในปี 2532 ช่วงเวลาพักในไทยสูงถึงคนละ 7.63 วัน ขณะที่ปี 2533 นักท่องเที่ยวใช้เวลาเที่ยวในไทยน้อยลงเหลือเพียง 7.06 วันซึ่งตกลงมาถึง 8% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกความตกต่ำได้มาเยือนนับตั้งแต่ปี 2525

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการลดเวลาเที่ยวลงในประเทศอื่นก็เกิดขึ้นด้วย เช่น ที่สิงคโปร์ในปี 2533 นักท่องเที่ยวใช้เวลาเพียงคนละ 3.30 วันขณะที่ปีก่อนนั้นทำได้ถึง 3.32% และฮ่องกงก็ประสบปัญหาเช่นเดียว นักท่องเที่ยวใช้เวลาเพียงคนละ 3.5 วันเท่านั้น

สาเหตุหนึ่งของการที่นักท่องเที่ยวใช้เวลาในไทยน้อย เพราะส่วนหนึ่งกลุ่มเป้าหมายถูกแย่งจากคู่แข่งไป สิ่งแวดล้อมเป็นมลพิษเพิ่มขึ้น เช่น อากาศและน้ำทะเล ปัยหาการจราจรแออัดในกรุงเทพและบริการขนส่งโดยสารในสถานที่ท่องเที่ยวไม่เพียงพอราคาห้องพักสูงเกินไป

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือโครงสร้างของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่ในสภาพที่แย่ ไม่เอื้ออำนวยต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวอยู่เมืองไทยนาน

ปัญหาการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโรงแรม ยอมลดอัตราค่าห้องพักนั้นเพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยวนั้น ชนินทร์ โทณวณิก ผู้บริหารของดุสิตธานีกรุ๊ป กล่าวไว้ในการสัมมนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ผ่านมานี้ว่า ถ้าหากลดราคาห้องพักโรงแรมก็ควรจะรวมถึงการลดค่าตั๋วของการบินไทยและลดค่าทัวร์ของบรรดาตัวแทนจัดทัวร์ทั้งหลายด้วย

"ถ้าหากเราลดอัตราค่าห้องพักโรงแรมต่ำลงก็หมายความว่าพนักงานของเราก็ได้ผลตอบแทนต่ำลง ซึ่งจะมีผลสะท้อนกลับมาถึงเรื่องคุณภาพของการบริการ" เป็นหนึ่งในความเห็นของชนินทร์ที่ไม่เห็นว่าการลดราคาต่ำลงนั้นจะเป็นหนทางแก้ไขปัยหา

"แทนที่เราจะมัวแต่คิดจะดึงราคาให้ต่ำลง เราน่าจะรวมตัวกันทุกฝ่ายเพื่อพิจารณาดูว่ามีอะไรที่ผิดพลาดบ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ทำไมภาพพจน์จึงติดลบในต่างประเทศ และเราควรจะร่วมมือกันผลักดันให้มันเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างมีแผนการท่องเที่ยวแห่งชาติเป็นหลัก" ชนินทร์กล่าวในที่สุด

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่จะผลักดันแผนหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ให้เป็นจริงนั้นส่วนหนึ่งก็ต้องขึ้นกับผู้ว่าฯ ธรรมนูญประจวบเหมาะ คงจะได้พิสูจน์กันในเป้าหมายปีหน้าว่าจะประสบความสำเร็จงดงามเฉกเช่นเดียวกับปีการท่องเที่ยวไทยมื่อ 4 ปีที่แล้วหรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.