อนุศักดิ์ มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เชื่อมโยงกับกอร์ดอนหวู่ (GORDON WU)
นักธุรกิจใหญ่ชาวฮ่องกงผู้เป็นเจ้าของโครงการสร้างทางรถไฟยกระดับที่ชื่อว่า
"RAMTUFS" (RAILWAY MASS TRANSIT COMMUNITY TRAIN & URBAN
FREEWAY SYSTEM) ของโฮปเวลล์มูลค่าไม่ต่ำกว่าแปดหมื่นล้านบาท ซึ่งตกอยู่ในกระแสธุรกิจการเมืองสูงเกี่ยวกับการพิจารณาสิทธิประโยชน์ที่โฮปเวลล์ขอพัฒนาที่ดินผืนใหญ่ในทำเลทองจำนวน
247.5 ไร่ของการรถไฟฯ เป็นข้อแลกเปลี่ยนในฐานะผู้ให้คำปรึกษาด้านแบบ
"ผมกับมิสเตอร์กอร์ดอนหวู่รู้จักกันเพราะทำธุรกิจแนวเดียวกันคือพัฒนาที่ดิน
จริง ๆ แล้วแกเป็นคนที่ไม่ค่อยประชาสัมพันธ์ตัวเองเท่าไหร่ ไม่ใช่คนปากหวาน
ค่อนข้างซีเรียส แม้ขณะที่คุยเรื่องโจ๊ก แกไม่ขำด้วยนะ มีแต่ซีเรียส"
อนุศักดิ์เล่าให้ฟังถึงอุปนิสัยใจคอของกอร์ดอน หวู่ที่เขารู้จัก
แม้อนุศักดิ์จะพยายามชี้ให้เห็นว่าเขากับโครงการโฮปเวลล์สัมพันธ์กันในลักษณะที่ปรึกษาด้านแบบก็ตาม
แต่เขาก็เคยยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าเขาก็เป็นคนหนึ่งที่แนะนำให้กอร์ดอน
หวู่เข้ามาลงทุนประมูลสร้างทางรถไฟยกระดับที่ว่าตั้งแต่สมัยรัฐบาลชาติชาย
1 และช่วยวิ่งเต้นป้อนคำแนะนำข่าวสารหลายอย่าง เพื่อให้โครงการนี้สามารถลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นกับกระทรวงคมนาคมได้
และมันก็สำเร็จในสมัยมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีคมนาคมในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว
"ส่วนข่าวที่ว่าแกกะล่อนจะมาหลอกประเทศไทย เพราะในช่วงที่ทำสัญญานั้นมีข่าวว่ากอร์ดอน
หวู่ไม่มีเงินนั้น ถ้าคุณไปกรมอัยการถามผู้เกี่ยวขอ้งในสัญญานี้ดู มันจะเป็นสัญญาที่ดีที่สุดของประเทศไทยที่เคยมีมาระดับอินเตอร์เนชั่นแนล"
คำกล่าวของอนุศักดิ์เป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่นของตัวเองต่อโครงการนี้ที่จะส่งผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ภารกิจของอนุศักดิ์ที่มีต่อโครงการโฮปเวลล์นี้จึงเปรียบเสมือนคนกลางที่ประสานงานระหว่างภาครัฐกับกอร์ดอน
หวู่เจ้าของบริษัทโฮปเวลล์
ภารกิจนี้ เป็นเรื่องที่อนุศักดิ์ทำได้ดี เพราะทุกวันนี้อนุศักดิ์ก็บริหารรัฐกิจที่ต้องประสานธุรกิจกับการเมืองอยู่แล้ว
ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการบริษัทไทยเดินเรือทะเล (บทด.) สายเดินเรือแห่งชาติ
ประสบการณ์ธุรกิจการเมืองที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 6 ปีที่ บทด. นี้ จึงมีความหมายที่ได้สร้างสายสัมพันธ์มากมายทั้งคนของรัฐบาล
ทหารและบริษัทเอกชนให้กับอนุศักดิ์ ทั้งในปัจจุบันและบทบาทในอนาคต
อนุศักดิ์เริ่มทำงานกับ บทด. ตั้งแต่ปี 2525 โดยหมอบุญเทียม เขมาภิรัตน์
อดีตรมช. คมนาคมได้ทาบทามให้อนุศักดิ์เข้ามาด้วยคำพูดที่หมอบุญเทียมบอกกับเขาว่า
"งานส่นตัวคุณก็ดีแล้ว คุณไม่คิดเสียสละเวลาเพื่อชาติบ้าง หรือ"
อนุศักดิ์จึงก้าวเข้ามาบริหารบริษัทนี้ในปี 2526 ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีกิจการส่วนตัวคือบริษัท
ซีทีไอ (คอมเมอร์เชียล ทรายสปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล) ที่รับขนถ่ายสินค้าและพัฒนาที่ดิน
ความผันแปรทางการเมืองและผลประโยชน์ ได้ทำให้อนุศักดิ์ต้องลาออกจากสาเหตุความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับกระทรางคมนาคม
เรื่องการขนส่งอาวุธ FMS ที่ทำให้คนกลางอย่างเขาอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
"ผมอยู่ตรงกลางลองคิดดูสิว่า ถ้าผมเข้าข้างกระทรวง ผมก็ต้องไปชนกับกองทัพแน่
ซึ่งเป็นลูกค้ารายนี้ เราก็ไปไม่รอดแต่ถ้าผมเอียงขวาก็อกตัญญูต่อเจ้านายผมก็ไปลาออกกับท่าน
ซึ่งท่านก็บอกว่าคุณมาลาออกกับผมเป็นครั้งที่ 4-5 แล้วนะขอให้ครั้งนี้อย่าซีเรียส
แต่ผมอยู่ไม่ได้จริง ๆ จึงลาออก" เขากล่าวความในใจที่ต้องลาออกจากบทด.
แต่หลังจากที่ลาออกไปได้เพียงปีกว่า อนุศักดิ์ได้หวนกลับเข้ามาบริหารบทด.อีกครั้งในยุคพลโทสนั่น
ขจรประศาสน์เป็นรมต.
"พอรัฐมนตรีเปลี่ยนทีไร ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าผมเป็นคนของพรรคนี้พรรคนั้น
จริง ๆ แล้วผมมีธุรกิจหลักของผมอยู่คือบริษัทซีทีไอ ดังนั้นผมไม่คิดว่าเราจะต้องไปแขวนชื่อไว้กับพรรคไหน
และทุกครั้งพอรัฐมนตรีใหม่เข้ามา ผมก็จะไปลาออก ซึ่งก็ถูกขอร้องให้อยู่ต่อก็จำเป็นต้องอยู่ต่อ
เพราะการลาออกถ้าเรายืนยันมาก ๆ มันจะสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีขึ้นมา"
น้ำเสียงดังฟังชัดของอนุศักดิ์บ่งบอกถึงความในใจของเขา
ปี 2529 การเข้ามาทำงานในสมัยที่สองของอนุศักดิ์เป็นช่วงที่บทด.อยู่ในสภาวะวิกฤตมาก
ๆ เพราะระหว่างปี 2528-2529 เศรษฐกิจโลกทรุดหนักสืบเนื่องจากน้ำมันขึ้นราคาในปี
2526 ธุรกิจใหญ่น้อยซบเซากิจการเดินเรือตกต่ำสุดขีด
"รายได้ส่วนใหญ่เราขึ้นกับค่าเงินเยนและดอลลาร์ ซึ่งตอนนั้นเงินเยนเริ่มแข็งขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินบาท
เราขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนครึ่งหนึ่งเรือวิ่งเที่ยวหนึ่งในสายญี่ปุ่นก็ขาดทุน
2-3 ล้านบาท" คำว่าขาดทุนวิ่งพล่านในความคิดของผู้บริหารอย่างอนุศักดิ์
บทด. อยู่ในสภาพเกือบล้มละลาย มีหนี้สินล้นพ้นตัว 300-400 ล้านบาท โดยมีเรือเก่า
"บางกอก" และเรือเช่า "นครหลวง" อีกหนึ่งลำซึ่งสินค้าใช้จ่ายบำรุงรักษาและเช่าด้วยต้นทุนที่สูงมาก
มีพนักงานล้นงานเกินความจำเป็นและมีสำนักงานเก่า ๆ ที่ไม่มีใครอยากติดต่อ
ถ้าเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่มีเครดิตเชิงธุรกิจเลยแบบนี้ บริษัทนี้ปิดไปนานแล้วแต่บทด.
ยังมีศักดิ์ศรีของคำว่า "สายเดินเรือแห่งชาติ" ค้ำคออยู่แม้ว่าความหวังจะริบหรี่เต็มทนก็ตาม
อนุศักดิ์พยายามทำแผนกอบกู้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขอกู้เงินรัฐบาล 16 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อทำแผนเสนอขึ้นไปแล้วทางผู้ใหญ่ที่ดูแลรัฐวิสาหกิจขณะนั้นมีดำริว่าไม่สมควรให้ยืมเงินอีกต่อไป
และต้องให้บทด. พิสูจน์ตัวเองว่ายังมีความสามารถทำกำไรหรือกู้สถานการณ์ตัวเองได้หรือไม่สภาวะที่ไม่มีทางเลือกอะไรเลย
เปรียบเสมือนเรือเก่า ๆ ที่ใกล้จม ทางอยู่รอดประการเดียวก็คือต้องทิ้งสัมภาระที่หนักอึ้งและเกินความจำเป็นทิ้งไป
ลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำที่สุดด้วยการขายเรือ ขายที่ดินและอาคารโรงพักสินค้าที่สงขลา
และปลดพนักงานออกทั้งหมด แล้วค่อยคัดเลือกกลับเข้ามาทำงานใหม่ 20 คน และย้ายออฟฟิคที่ใกล้หมดสัญญากับวัดยาวนาวาไปอยู่ที่ใหม่บนอาคารมโนรม
"เมื่อขายเรือและคืนเรือเช่าไปแล้ว เราจะทำมาหากินอะไรล่ะ เราก็ต้องหาเช่าระหว่างเรือให้ได้
แต่มีปัญหาติดอยู่ที่ พ.ร.บ.พาณิชย์นาวี มาตรา 21 ที่ระบุว่าอย่างน้อยเราต้องมีเรือหนึ่งลำที่เป็นเรือของเราเองจึงจะไปเช่า
FREIGHT เรืออื่นได้ แต่เราต้องยอมรับสภาพว่า ถ้าเราไม่ได้สิทธิการเช่าระวางเรือ
เราไปไม่รอด ทากงกระทรวงคมนาคมสมัยนั้นตีความให้เราเช่าได้เพราะฉะนั้น ในการขายเรือบางกอกซึ่งเป็นเรือลำสุดท้ายเราพยายามเกี่ยวเรือเล็กไว้ลำหนึ่งคือเรือเอสซีซี
ซึ่งเรามีกรรมสิทธิ์อยู่ เรือลำนี้ได้กลายเป็นข้ออ้างอิงมาตลอดในการเช่าระวางเรือ"
อนุศักดิ์เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่บทด.ต้องหันมาทำธุรกิจนายหน้า (FREIGHT FOR-WARDER)
แผนการกอบกู้บริษัทไทยเดินเรือทะเลของอนุศักดิ์ทำให้บริษัทอยู่รอดได้ จากปี
2529 ที่ขาดทุน 65 ล้าน ปี 2530 ขาดทุนลดลง 38 ล้าน และปี 31 ขาดทุน 19 ล้าน
ปี 2532 บทด.เริ่มมีกำไรเป็น 32 ล้านบาท ปี 2533 เพิ่มกำไรเป็น 65 ล้านบาทและปี
2534 ที่คาดว่าจะได้ 85 ล้านก็มีทีท่าว่าจะได้ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะสะดุดกับเรื่องการห้ามใช้สิทธิในการเช่าระวางเรือตามที่
ม.ล. เชิงชาญ กำภู รมช. คมนาคมได้ให้กรมอัยการตีความมาตรา 21
"กระทรวงคมนาคมหลังจากเปลี่ยนรัฐมนตรีที่ดูแลเรา ทุกครั้งจะต้องมีการตีความตัวนี้ว่า
เรามีสิทธิเช่าหรือไม่ แต่ทุกครั้งที่ผ่านมา เขาก็ตีความโดยให้ FAVOR เราในการเช่า
เราก็ทำมาหากินอย่างนั้นมาเรื่อย" อนุศักดิ์เล่าให้ฟังถึงเงื่อนไขทางการเมืองที่มีส่วนอุ้มชูฐานะการดำรงอยู่ของ
บทด.
การฟื้นฟูกิจการ (TURNAROUND) บริษัท ไทยเดินเรือทะเลในระยะยาวนั้น อนุศักดิ์ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาดีคอนศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
(PRIVATIZATION) ในยุคสมัยของสุวัจน์ ลิมปพัลลภ อดีต รมช. คมนาคมคนที่แล้ว
ที่จะให้เอกชนเข้ามาหลังจากการเพิ่มทุน 25% ของทุนจดทะเบียนเดิม 117 ล้านบาท
และเมื่อกิจการทำกำไรภายใน 3 ปี แผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ดูเป็นแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น
"ในระหว่างนั้นเราได้มีการประเมินผลแผนการนี้ ซึ่งแต่เดิมเราคิดว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องเช่าเรือ
เราก็ดูไปข้างหน้าว่า 5 ปี ลูกค้ากลุ่มหลักของเรามีอะไรบ้าง การเติบโตของบริษัทเราประมาณการไว้ว่าในอีก
3 ปีข้างหน้า อย่างน้อยจะโตปีละ 10% ทั้ง ๆ ที่เรากระโดดเป็น 100% ในปีที่ผ่านมา
เมื่อเอาผลประกอบนี้มาคิดเป็นราคาหุ้นจากพาร์ 10 บาท เราจะได้ 67 บาท ซึ่งมีมีพี/อีกตกประมาณ
16-17 เท่า ทำไมคนจะไม่มาลงทุน" เขาเล่าให้ฟังถึงอนาคตฐานะของบทด.
"ถ้าถามผมในฐานะนักลงทุนที่ควักเงิน 200 ล้านบาท แล้วอีก 6 เดือนคุณอาจจะได้คืนมา
200 ล้านเป็นสองเท่า ใครก็ต้องวิ่งแจ้นเข้ามาหา แต่ 200 ล้านนี้เราจะขายหรือเปล่า
หรือจะขายสูงกว่านั้นได้ไหม เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ" อนุศักดิ์ตั้งโจทย์ให้รัฐ
ฝันนี้จะเป็นจริงหรือไม่อนุศักดิ์กล่าวว่าเป็นเรื่องที่เขาต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น
เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ เพราะโดยส่วนตัวเขาเองไม่สามารถอยู่ที่นี่ตลอดไป
เนื่องจากมีภารกิจส่วนตัวรออยู่
เมื่อพ้นจากภารกิจในฐานะผู้บริหาร บทด.แล้ว อนุศักดิ์มีกิจการส่วนตัวอีกแห่งที่บริษัทเอเอเอส
ออโต้ เซอร์วิส ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย (AUTHORISED DEALER) และศูนย์บริการรถมหาเศรษฐีสกุลใหญ่นี้คือรถ
"ปอร์เช่" ซึ่งเป็นรถสปอร์ตเยอรมนีที่ดังที่สุดของโลก รถเลิศหรูอย่าง
"ROLLS ROYCE และรถ "BENTLEY" ในประเทศไทย
"เหตุผลที่ผมทำโครงการนี้เพราะน้องชายผมคือ อนุรักษ เขาไปเรียนจนปริญญาโททางด้าน
AUTO MECHANIC เมื่อจบมาเขาก็เขียนจดหมายไปที่ "ปอร์เช่" ว่าเราอยากจะได้เป็นตัวแทนพร้อมทั้งส่งประวัติภูมิหลังและ
REFERENCE ด้านการเงินและธุรกิจของผมไป ในที่สุดก็ตอบตกลง แต่ก็รู้ ๆ กันอยู่เวลานั้นโอกาสขายรถใหม่ชั้นเลิศมันเป็นไปไม่ได้เพราะภาษีนำเข้าเก้บแพงมากถึง
600% เราจึงเป็นศูนย์บริการก่อน ซึ่งก็โชคดีที่ทำมาเกือบ 5 ปีแล้ว เราก็มีโอกาสที่ขายรถใหม่ได้เพราะภาษีรถลดลงมาก"
เขาพูดถึงที่มาของการเข้ามาทำธุรกิจค้าขายรถยนต์ระดับหรูหราโดยมีน้องชายเป็นผู้ดำเนินการ
เป้าหมายที่อนุศักดิ์คาดว่าจะขายรถสปอร์ตสกุลปอร์เช่ไว้จะไม่ต่ำกว่า 20
คันซึ่งคันหนึ่งสนนราคาประมาณ 5 ล้านบาท แต่ถ้าคิดก่อนปรับภาษี ราคารถปอร์เช่คันหนึ่งพุ่งสูงถึงคันละ
10 ล้านบาท ฉะนั้นยอดรายได้ขายรถปอร์เช่จึงตกปีละ 100 ล้านบาท
ส่วนรถ ROLLS ROYCE นั้น อนุศักดิ์กล่าวว่าตั้งแต่เป็นตัวแทนจำหน่ายมาตั้งแต่ปีที่แล้วขณะนี้ยังขายไม่ได้
เนื่องจากภาษีเก็บสูงมากในอดีต ทำให้รถ ROLLS ROYCE คันหนึ่งมีราคาประมาณ
20 ล้านบาท แต่เป้าหมายเวลานี้ที่ตั้งไว้เพียง 4-5 คัน ๆ ละ 10 กว่าล้านบาท
"ในเมืองไทยตอนนี้ ผมเชื่อว่ามีรถ ROLLS ROYCE ประมาณ 60-70 คันและรถปอร์เช่ประมาณ
200 คัน ปัจจุบันกิจการอู่บริการซ่อมรถของเราก็ดีมาก และเราก็กำลังจะสร้างโชว์รูมที่ใหม่ซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงงานยาสูบ
ซึ่งจะสร้างเสร็จก่อนการประชุมเวิลด์แบงก์ในเดือนตุลาคมนี้" เขากล่าวถึงการเติบโตธุรกิจบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ระดับหรู
โครงการโชว์รูมใหม่และเวิร์กชอปที่เปิดบริการบนถนนพัฒนาการสองแห่งนี้จะใช้เงินลงทุนมูลค่า
200-300 ล้านบาท
วันนี้ของอนุศักดิ์จึงเป็นอีกคนหนึ่งที่น่าเฝ้าจับตาดูถึงอนาคตที่เขาจะเข้าไปมีบทบาทสำคัยในฐานะนักลงทุนในโครงการใหญ่
ๆ อย่างเช่นการพัฒนาที่ดินในโครงการโฮปเวลล์ที่กำลังเข้าด้วยเข้าเข็มว่จะได้สิทะพิเศษทางภาษีจากบีโอไอหรือไม่
เพราะคน ๆ นี้มีเป้าหมายและสายสัมพันธ์กับคนหลายวงการ