ภารกิจ 4 ปีของชวลิตในบรรษัท


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่เดือนของชวลิต ธนะชานันท์ ขณะที่เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เขาได้สร้างผลงานที่สำคัญทางด้านนโยบายการเงิน กล่าวคือการผ่อนคลายการควบคุมการปริวรรตจากธุรกรรมทางการค้าระหวางประเทศ หลังจากที่เขาได้ทำหนังสือแจ้งแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟเพื่อยืนยันการตอบรับพันธะข้อ 8 ของไอเอ็มเอฟไปก่อนหน้า

การผ่อนคลายการควบคุมการปริวรรตเป็นดัชนีที่บ่งบอกถึงความมั่นคงของฐานะทางทุนสำรองของประเทศได้เกิดขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันมันหมายถึงความกล้าหาญในการดำเนินนโยบายทางการเงินของชวลิตได้ดีพอสมควรด้วย

เพียง 6 เดือนให้หลังจากเกษียนที่แบงก์ชาติ ทางสัมฤทธิ์จิราธิวัฒน์ประธานกลุ่มเซ็นทรัลได้พยายามชวนให้เขามานั่งเป็นประธานบริษัทยอ่ยบริษัทหนึ่งของเซ็นทรัล ที่ดูแลธุรกิจในส่วนของการบริหารพื้นที่ในส่วนที่เป็นพลาซ่าของเซ็นทรัลลาดพร้าว

แต่ข้อเสนอนี้ก็ต้องเลิกไปในที่สุดเมื่อทางสุธี สิงห์เสน่ห์ รมต. คลังของคณะรัฐบาลทหารจุนต้า (JUNTA) "รสช." ได้แต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บรรษัท) ตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.บรรษัท กำหนด 4 ปี เริ่มตั้งแต่มีนาคม 2534 เป็นต้นไป

การเป็นประธานบรรษัทในห้วงเวลานี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะว่า หนึ่ง - บรรษัท (สิ้นพฤษภาคม 2534) ยังคงมีปัญหาพื้นฐานด้านการขาดทุนสะสมจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งในส่วนที่เกิดจริง 1,750 ล้านและที่ยังอยู่ในบัญชีอีก 3,518 ล้านบาทจากยอดหนี้คงค้างประมาณ 36,000 ล้านบาท สอง - ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางนโยบายในการระดมเงินบาท เพื่อเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อและแก้ปัญหาการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องเรื้อรังมาหลายปีแล้ว เนื่องจากพอร์ตโฟริโอแหล่งเงินทุนของบรรษัทส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมสกุลเงินตราต่างประเทสระยะยาวจากสถาบันการเงินต่างประเทศ เช่น สกุลเยนจาโออีซีเอฟดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารโลก มาร์คเยอรมนี จากเคเอฟดับบลิว เป็นต้น

"เราพยายามจะหารายได้มากขึ้นบนพื้นฐานการช่วยตัวเองพร้อม ๆ กับปรับสัดส่วนเงินบาทในพอร์ตให้มากขึ้น ความต้องการของผมจริง ๆ อยากไปให้ถึงสัดส่วนเงินบาทต่อเงินสกุลต่างประเทศที่ 75 ต่อ 25 ด้วยซ้ำแม้ขณะนี้จะยังอยู่ที่ 45 ก็ตาม" ชวลิตพูดให้ฟังถึงแนวคิดทางนโยบายในการแก้ปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของบรรษัท

ก่อนหน้านี้ 3 เดือน ชวลิตและอัศวิน คงศิริ ผู้จัดการใหญ่บรรษัทได้ทำเรื่องถึงกระทรวงการคลังเพ่อให้ทางการค้ำประกันหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาทของบรรษัทในการนำไปซื้อดอลลาร์ เพื่อใช้ชำระหนี้ธนาคารโลกก่อนกำหนด ซึ่งเป็นวิธีการปลดความเสี่ยงจากความฝันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในบัญชีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน (ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง) ของบรรษัท

ข้อเสนอค้ำประกันหุ้นกู้ได้รับการตอบสนองที่ดีจากคณะรัฐมนตรีที่กระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอ

ปัจจุบันบรรษัทมีผลการดำเนินงานจากธุรกิจที่น่าพึงพอใจมีกำไรสะสมสูงถึง 2,409 ล้านบาท จากระดับเงินกองทุน 6,613 ล้านบาท นอกจากนี้บรรษัทยังมีรายได้จากสินทรัพย์ในรูปของเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ อีก 50 บริษัทเฉพาะอยู่ในตลาดหุ้นมี 7 บริษัทคิดตามราคาตลาดจะมีมูลค่าสูงถึงนับพันล้านบาท ซึ่งจะสร้างรายได้ให้บรรษัททันทีถ้าบรรษัทขายออกไป

มองในภาพนี้ฐานะของบรรษัทมีขีดความสามารถสูงพอ ที่จะแบกรับภาระ ที่จะต้องชำระผลการขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ด้วยตนเองซึ่งเฉลี่ยงปีละ 500-600 ล้านบาท "ตรงนี้ผมถึงได้บอกว่าจริง ๆ แล้วผมไม่ถือว่าการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัญหาใหญ่" ชวลิตเผยการจัดลำดับความสำคัญทางนโยบายการบริหารซึ่งเป็นการยืนยันความเชื่อมมั่นของเขาต่อขีดความสามารถของบริษัท

ดังนั้นปัญหาที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ ของบรรษัทที่ท้าทายความสามารถของชวลิตจึงอยู่ที่การวางนโยบายที่ถูกต้องในการแสวงหากลยุทธ์การระดมเงินบาท

ปีนี้บรรษัทตั้งเป้าในการระดมเงินบาทประมาณ 16,500 ล้านบาท ปัญหามีว่าจะระดมเงินบาทระยะยาวได้ด้วยวิธีการใดจึงเสียต้นทุนน้อยที่สุดภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมายของบรรษัท "เวลานี้เราจะหาเงินบาทระยะยาวยากมาก ถ้าจะมีบ้างดอกเบี้ยก็แพง เพิ่มทุนยังไม่ต้องพูดถึงเพราะตลาดหุ้นยังไม่ต้องพูดถึงเพราะตลาดหุ้นยังไม่ฟื้นตัวในระดับเหมาะสม หรืออีกทางหนึ่งขอเงินช่วยเหลือในรูปซอฟท์โลนจากแบงก์ชาติ แต่ก็ยากมาก" ชวลิตพูดถึงข้อจำกัดแหล่งระดมเงินในประเทศ

ดังนั้น การออกตราสารแห่งหนี้ในรูปแบบต่าง ๆ จึงเป็นเครื่องมือเดียวของบรรษัทในการระดมเงินบาทระยะยาวในประเทศ เช่น หุ้นกู้ซึ่งต้องเป็นหุ้นกู้ชนิดที่ให้สิ่งจูงใจแก่นักลงทุนสูงมากๆ ด้วย คือ หนึ่ง มีสภาพคล่องในตลาดซื้อคืน สอง- มีฐานะเป็นหลักทรัพย์ใช้ทดแทนเงินสดในการดำรงฐานะเงินสำรองตามกฎหมายธนาคารพาณิชย์

"เวลานี้ข้อเรียกร้องในส่วนขอให้หุ้นกู้บรรษัทถูกนับเข้าไปอยู่ในตลาดซื้อคืน และถือเป็นหลักทรัพย์ในการดำรงเงินสดสำรองตามกฎหมายของสถาบันการเงิน เหมือนพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ เช่น แบงก์อาคารสงเคราะห์ยังไม่มีคำตอบใด ๆ จากแบงก์ชาติ" ชวลิตพูดถึงข้อเสียเปรียบในการสร้างสิ่งจูงใจหุ้นกู้ของบรรษัท

เรื่องนี้มีอยู่ว่า ภายในปี 2534 รัฐบาลต้องการไถ่ถอนพันธบัตรดอกเบี้ย 11% ก่อนกำหนด 20,000 ล้านบาทเพราะต้องการใช้เป็นช่องทางในการนำเงินคงคลังที่มีอยู่มากมายมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ผลจากสิ่งนี้ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่สามารถดำรงพันธบัตรรัฐบาลในบัญชีเงินสดสำรองตามกฎหมายได้

เพื่อให้การไถ่ถอนพันธบัตรสามารถดำเนินงานได้ เหตุนี้ทางกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติก็เลยต้องหาทางออกให้สถาบันการเงินสามารถดำรงพันธบัตรรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง ขนส่งมวลชนกรุงเทพ การประปา องค์การโทรศัพท์ เป็นต้น (แต่ไม่รวมหุ้นกู้ของบรรษัท) แทนได้เป็นการตอบแทน

ส่วนเรื่องตลาดซื้อคืนก็เหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นช่องทางในการเสริมสภาพคล่องให้หุ้นกู้ของบรรษัทเหมือนพันธบัตรของแบงก์อาคารสงเคราะห์และรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ

"ตรงนี้ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่าทางการควรพิจารณาบนพื้นฐานการให้สิทธิประโยชน์ที่เสมอภาคกัน" ชวลิตเปิดเผยความในใจในถึงแบงก์ชาติที่ยังยิ่งเงียบต่อข้อเสนอของบรรษัท

การระดมเงินบาทมาทำธุรกิจของบรรษัท เป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของชวลิต เขาทราบดีว่าบรรษัทกำลังเผชิญกับข้อจำกัดทางนโยบายอยู่หลาข้อ เช่น เรื่องการรับฝากเงินบาทในประเทศ "มันเป็นเรื่องที่ผมเห็นว่า ต้องมีการนำขึ้นมาตีความกันว่า บรรษัทสามารถรับฝากเงินบาทเฉพาะจากลูกค้าของบรรษัท ซึ่งไม่ใช่รับฝากจากประชาชนทั่วไปได้หรือไม่ เพราะว่าตามปกติเวลาที่เราใช้คำว่ารับฝากเงิน มันหมายถึงรับฝากจากประชาชน" ชวลิตให้ข้อสังเกตถึงกฎหมายบรรษัทที่เขียนไว้ชัดว่า จะเปิดรับฝากเงินบาทจากประชาชนทั่วไปไม่ได้

การระดมเงินบาทเป็นปมเงื่อนที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานของบรรษัทได้หลายอย่าง เพราะ หนึ่ง - จะช่วงลบล้างความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในการระดมเงินทุน สอง - ช่วยทำให้ต้นทุนของเงินทุนอยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้

ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่ชวลิตอาจจะต้องดำเนินการเสนอให้กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติพิจารณาแก้ไขกฎหมายเรื่องการระดมเงินทุนของบรรษัทเสียใหม่

และถ้าเขาทำภารกิจนี้สำเร็จ ชวลิตก็จะเป็นประธานบรรษัทคนแรก ที่สร้างประวัติศาสตร์การพัฒนาบรรษัทให้ก้าวสู่การเป็นสถาบันการเงิน เพื่อการอำนวยสินเชื่อระยะยาวหรือลองเทอมเครดิตแบงก์ที่แท้จริงได้

ภารกิจนี้ท้าทายอดีตผู้ว่าฯ การแบงก์ชาติท่านนี้ยิ่งนัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.