วิเชษฐ์ บัณฑุวงศ์ นักสร้างหนี้


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อว่า รถไฟฟ้าบีที เอส สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง เปิดบริการได้เมื่อปลายปีที่แล้ว คนที่มีบทบาท สำคัญคนหนึ่งคือ วิเชษฐ บัณฑุวงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหาร และผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ที่ต้องวิ่งเต้นหาแหล่งเงินกู้มาก่อสร้างโครงการ

เพราะถ้าเงินไม่มี งานก็ไม่เดิน จะมีเงินได้ ก็ต้องมีคนที่ไปติดต่อเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งต้องเป็นคนที่เจ้าหนี้ยอมรับในขณะเดียวกัน คนคนนี้ก็ต้อง มีความสามารถในการต่อรองกับเจ้าหนี้ให้ได้เงื่อนไข ที่ทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบน้อยที่สุด

โครงการนี้ใช้เงินกู้ถึง 30,000 กว่าล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศในรูปของซินดิเคทโลน ที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแกนนำประมาณ 11,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นสินเชื่อในรูปของซัปพลายเออร์เครดิต จาก KfW และเงินกู้จากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศหรือ IFC ประมาณ 3,000 ล้านบาท

ว่าไปแล้ว คนอย่างวิเชษฐนั้น ถือว่ามีอาชีพ "ก่อหนี้" โดยตรงเป็นวาณิชธนากร หรือ "ไอบี" (IB- Investment Banker) คนหนึ่ง ซึ่งเมื่อสมัย ที่ฟองสบู่ยังฟูฟ่อง อาชีพนี้เป็นความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาว ที่มีดีกรี เอ็มบีเอ. เป็นจำนวนมากเพราะค่าตอบแทนสูง และเป็นแล้วเท่ !

แต่เขาก็เป็นไอบี แบบขาเดียวคือ หาเงินกู้เสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีโอกาสทำหน้าที่หาลูกหนี้ ที่มีความต้องการใช้เงิน

ปีนี้ วิเชษฐอายุ 52 ปี จัดว่าเป็นนักการเงินมือเก๋าคนหนึ่ง ที่มีประสบการณ์โชกโชนมากกว่าสองทศวรรษ ผ่านพบ และเรียนรู้ความเป็นจริง อีกด้านหนึ่งของสังคมธุรกิจไทยอย่างถึงแก่น

วิเชษฐจบการศึกษาด้านการตลาดจากสหรัฐอเมริกาจบแล้ว กลับมาทำงานกับพันธ์ศักดิ์ วิเศษภักดี ซึ่งเป็น เพื่อนพ่อในสมัย ที่พันธ์ศักดิ์ เป็นผู้ถือสิทธิจำหน่ายรถโฟลค์ จากเยอรมนี โดยทำหน้าที่ประสานงาน ระหว่างฝ่ายการตลาดกับฝ่ายขาย หลังจากนั้น ก็โยกย้ายไปทำงานกับอีกหลายๆ บริษัท จนกระทั่งมาลงเอย ที่ "ตึกดำ" อาณาจักรของสุธี นพคุณ

ตึกดำในสมัยปี 2520-21 หลังสุธีแยกทางกับพอล สิทธิอำนวยนั้น โด่งดังมาก เพราะมีสไตล์การทำธุรกิจสมัยใหม่ขยายตัวด้วยการซื้อกิจการอย่างโลดโผนด้วย เงิน ที่ไปกู้มา และเงินฝากของประชาชน ที่นำมาฝากกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ พัฒนาเงินทุน ที่เป็นฐานการเงินของกลุ่มตึกดำเป็นแหล่งชุมนุมคนรุ่นใหม่ ที่จบการศึก ษาจากต่างประเทศ มีความรู้ ความสามารถ ไฟแรง และทะเยอทะยาน

วิเชษฐบอกว่า หน้าที่ของเขาในตอนนั้น อยู่ทางฝ่าย liability คือ ฝ่ายหาแหล่งเงินกู้ มาให้กับบริษัทในเครือเอาไปลงทุน เขาเป็นกรรมการผู้จั ด การของบริษัทบ้าน และ ที่ดินไทย และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์บ้าน และ ที่ดินไทย ซึ่งอยู่ในเครือตึกดำ

ราวๆ ปี 2524 เขาก้าวขึ้นทำหน้าที่ประธานกรรมการบริหารของบริษัทในเครือตึกดำ เพราะว่าตอนนั้น บุญชู โรจนเสถียร ซึ่งเป็น "ผู้ใหญ่" ของตึกดำรับคำเชิญของตระกูล "มหาดำรงค์กุล" เข้าไปช่วยบริหารธนาคารนครหลวงไทย คนที่เป็นกำลังหลักๆ ของตึกดำอย่างเช่น จิตตเกษม แสงสิงแก้ว และวัฒนา ลัมพะสาระ ถูกดึงไปอยู่ด้วยปล่อยให้วิเชษฐอยู่โยงเฝ้า ตึกดำริมถนนศรีอยุธยาอยู่เพียงคนเดียว

"ตอนนั้น เรายังเด็ก ไม่ประสีประสา ก็เลยอ่านสถานการณ์ไม่ออก" วิเชษฐกล่าว

สถานการณ์ ที่เขาพูดถึงคือ บงล.พัฒนาเงินทุน มีปัญหาสภาพคล่อง เพราะกู้เงิน และเอาเงิน ที่ประชาชนซื้อตั๋วสัญญาไปลงทุนซื้อกิจการ เพื่อขยายอาณาจักร เมื่อถึงเวลา ที่ครบกำหนดชำระหนี้ ก็หมุนเงินไม่ทัน จนในที่สุด ต้องประกาศปิดกิจการเมื่อเดือนตุลาคม 2526 และเป็นชนวนให้บริษัทเงินทุนนับสิบๆ แห่งล้มตามกันเป็นลูกโซ่ เป็นวิกฤติการณ์สถาบันการเงินครั้ง ที่ 2 ที่รู้จักกันในนาม "ทรัสต์ 4 เมษายน"

วิเชษฐหลบไปเลียแผลอยู่ถึง 5 ปี ใช้เวลาสะสางปัญหากับทางการอย่างเงียบๆ ระหว่างนั้น เขาได้เข้าไปร่วมงานในบริษัทอบาคัส ซึ่งเป็นเทรดดิ้ง เฟิร์มของปรก อัมระนันทน์ อดีตนักการทูตระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ

ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของอบาคัสชื่อ ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ เจ้าของบริษัทยูนิคอร์ด ผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ของไทย ทั้งคู่รู้จักกัน ที่นี่ ดำริห์ ชวนวิเชษฐมาทำงานด้วย ราวๆ ปี 2531

ยูนิคอร์ดซื้อบริษัทบัมเบิ้ลบี ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดปลาทูน่าเป็นอันดับสองในสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2532 เพื่อคุมตลาดด้วยตนเอง ด้วยเงิน 280 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,000 กว่าล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ที่ธุรกิจไทยเข้าไปเทก โอเวอร์บริษัทในอเมริกา ด้วยจำนวนเงิน ที่สูงมาก

แน่นอนว่า วิเชษฐเป็นคนจัดการเรื่องแหล่งเงินกู้สำหรับการซื้อบัมเบิ้ลบีในตอนนั้น ซึ่งต่อมาราคา ที่จ่าย เพื่อซื้อบัมเบิ้ลบี และการกู้เงินมาซื้อ กลายเป็นเรื่อง ที่มีการพูดกันว่าแพงเกินไป และมีภาระหนี้สินมาก จนทำให้ยูนิคอร์ดประสบปัญหาในเวลาต่อมา จนต้องขายบัมเบิ้ลบีทิ้งไปในที่สุด หลังจากนั้น ไม่นานดำริห์ก็ฆ่าตัวตายในเดือนมิถุนายนปี 2538

"ผมยังยืนยันว่า ไม่ผิดในตอนนั้น การก่อหนี้เป็นเรื่อง ที่จำเป็นต้องทำ ถ้าเราต้องการขยายตัวให้ใหญ่ขึ้น ปัญหามันอยู่ ที่ว่า เมื่อซื้อมาได้แล้ว ทำ ของ ที่มีอยู่ให้ดีก่อน ก็โอเค แต่พอไปขยายต่ออีก ก็เลยจบ"

วิเชษฐลาออกจากยูนิคอร์ด 2 ปีก่อน ที่ดำริห์จะเสียชีวิต ตอนแรกเขาจะเข้าไปทำงานกับกลุ่มฟินวัน แต่มีปัญหาตกลงกันเรื่องตำแหน่งไม่ได้ ก็ เลยไม่ได้เข้าไปร่วมชายคาเดียวกับปิ่น จักกะพาก ซึ่งมีเส้นทางการเติบโต ละม้ายคล้ายคลึงกับอาณาจักรตึกดำ

นับว่าเป็นโชคดีของวิเชษฐ เพราะมิฉะนั้น แล้วประวัติศาสตร์คงต้องซ้ำ รอยอีกหนสำหรับตัวเขา

เมื่อไม่ได้ทำงานกับฟินวัน วิเชษฐก็ไปดูแลฝ่ายการเงินของกลุ่มบ้านฉางของไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ ช่วงปี 2536 ซึ่งเริ่มจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องเกิดขึ้น แต่อยู่ได้เพียงปีเดียว เขาก็ลาออกมาอยู่กับบีทีเอสของคีรี กาญจนพาสน์ เมื่อปี 2537 จนถึงบัดนี้

"ผมเป็นลูกจ้าง มีหน้าที่เสนอข้อมูล เอาทุกอย่างไว้บนโต๊ะให้เถ้าแก่ตัดสินใจ ลูกจ้างกับเถ้าแก่คิดไม่เหมือนกัน ลูกจ้างคิดแค่หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่หนึ่งบวกหนึ่งของเถ้าแก่ต้องเป็นสิบ ถ้าดีลมันสำเร็จ เขาก็ เรียกเราว่าเป็นพ่อมดการเงิน แต่ถ้ามันล้มเหลวเราก็กลายเป็นอาชญากร เป็นคนโกง" วิเชษฐกล่าวอย่างคนที่รู้ ซึ่งถึงเส้นทาง ที่ตัวเองเดินมา 20 กว่าปี และกำลังเดินอยู่ในเวลานี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.