|

จุดยืน "ชินคอร์ป"ธรรมาภิบาลไร้เงาการเมือง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"สมประสงค์ บุญยะชัย" ลูกหม้อเก่าแก่ไฟแรง ประกาศจุดยืนชินคอร์ป หลังขึ้นรั้งตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดแทน "บุญคลี ปลั่งศิริ" มุ่งดำเนินธุรกิจเต็มสูบ นำหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ตั้งปราศจากอิทธิพลการเมือง พร้อมให้ทุกฝ่ายตรวจสอบได้ ส่วนทิศทางธุรกิจยังโฟกัสธุรกิจหลัก "เทเลคอมและมีเดีย"
ช่วงปีเศษๆ ที่ผ่านมา บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กลายเป็นบริษัทที่ต้องมรสุมทั้งทางการบ้านและการเมือง คอยตอบคำถามคนทั้งประเทศต่อกรณีที่ทางเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์เข้าซื้อหุ้นจากตระกูลชินวัตรเป็นจำนวนเงินสูงถึง 7 หมื่นกว่าล้านบาทมาโดยตลอด
จนล่าสุดเมื่อมติในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3/2550 และคณะกรรมการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3/2550 เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารระดับสูงให้สมประสงค์ บุญยะชัย ลูกหม้อที่ทำงานให้กับกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น มานานขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทนบุญคลี ปลั่งศิริ โดยมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา
สมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกกันติดปากว่าชินคอร์ปได้ออกมาประกาศจุดยืนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มชินฯ พร้อมมิติการให้บริการและการลงทุน หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงว่า จุดยืนในการดำเนินธุรกิจของชินคอร์ปจะเป็นแบบซิงเกิล ออบเจ็กทีฟ ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น เน้นการบริหารงานแบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งผู้บริหารและพนักงานทุกคนพร้อมทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด อันจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้มาชำระหนี้ จ่ายภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงการให้ความสำคัญและรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไป พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในองค์กรทำงานอย่างมีความสุข มีเสถียรภาพ และความมั่นคง เพื่อให้บริษัทเป็นสถาบันที่มั่นคง ยั่งยืน ขณะเดียวกันก็พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่สังคม และผู้ด้อยโอกาส
"ผมยึดหลัก 3 ประการ ในการบริหารงาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเคยพูดมาโดยตลอด คือ หนึ่ง ยึดหลักความถูกต้อง ถูกก็ว่าถูก ผิดก็ว่าผิด สอง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง สาม การตัดสินต้องเป็นไปตามตัวบท ข้อบังคับและกฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ผมคิดว่า สิ่งที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือการให้อิสระแก่ผู้บริหารในการบริการจัดการธุรกิจในส่วนที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และการตัดสินใจ อันจะเป็นต้นแบบที่ดีแก่ผู้บริหารรุ่นต่อไป"
สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจนั้น สมประสงค์กล่าวว่า ชินคอร์ปจะยังคงยึดตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในแผนการดำเนินธุรกิจคือ เน้นการลงทุนในธุรกิจที่บริษัทมีความชำนาญและมีประสบการณ์ โดยจะมุ่งเน้นธุรกิจสื่อสารและมีเดียเป็นหลักทั้งในการด้านลงทุนและให้บริการ ทิศทางการลงทุนที่จะเกิดขึ้นใหม่นั้นจะเป็นทั้งแบบการลงทุนด้วยตนเองหรือแบบลงทุนร่วม หรือควบรวม กับกิจการที่เล็งเห็นถึงโอกาสและสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้
ส่วนโครงสร้างการบริหารงานของชินคอร์ปในยุคที่สมประสงค์ขึ้นรับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดประกอบไปด้วย 3 สายธุรกิจ คือ สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย สมประสงค์ยังคงดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสเช่นเดิม และมีนายวิกรม ศรีประทักษ์ ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารเอไอเอสที่รับผิดชอบดูแลงานในสายธุรกิจ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีบริษัทในกลุ่มบริหารอยู่ 9 บริษัท โดยกลุ่มงานนี้จะเป็นงานด้านสื่อสารไร้สาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ คอลเซ็นเตอร์ โทรศัพท์ระหว่างประเทศ
สายธุรกิจดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศ มี ดร.ดำรงค์ เกษมเศรษฐ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารดูแลงานในสายธุรกิจ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีบริษัทในกลุ่มบริหารอยู่ 8 บริษัท โดยจะเป็นกลุ่มธุรกิจดาวเทียม อินเทอร์เน็ต และสายธุรกิจสื่อและโฆษณาและธุรกิจอื่นๆ โดยมีอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสายธุรกิจสื่อและโฆษณา ดูแลงานในสายธุรกิจ โดยจะมีบริษัทที่รับผิดชอบดูแล 3 บริษัท ประกอบไปด้วยแคปปิตอล โอเค จำกัด บริษัท เอสซี แมทบ็อกซ์ จำกัด บริษัท ไอที แอปพลิเคชันแอนด์เซอร์วิส จำกัด และอารักษ์จะเป็นผู้คอยทำหน้าที่หาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งจะดำเนินการตามบิสซิเนสแพลน
ส่วนการบริหารภายในกลุ่มชินจะมีนางสาวนิจจนันท์ แสนทวีสุข ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ ชิน คอร์ป ทำหน้าที่ดูแลงานสายบริหารการเงินและการลงทุนของบริษัท โดยทำหน้าที่เป็นผู้เก็บเกี่ยวดูแลรายได้ ผลกำไร นำไปใช้เพื่อการลงทุนใหม่ๆ ในอนาคต
"ธงหลักธุรกิจกลุ่มชินฯ คือ เอไอเอสที่ใช้เป็นตัวกลไกหลักการหารายได้ ส่วนการลงทุนธุรกิจใหม่ บริษัทก็ยังคงมีอยู่ โดยเราจะระมัดระวังมากขึ้นและจะเข้าไปทำในสิ่งที่เราถนัด แต่ทุกอย่างอาจไม่แน่เสมอไป ตอนนี้ยังไม่รู้เลย ถึงแม้ตอนนี้ แคปปิตอล โอเคจะมีความแตกต่าง แล้วเป็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่หรือจะเปลี่ยนแปลงได้อีก ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างพิจารณาจะถือหุ้นต่อไปหรือจะหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ โดยทั้งหมดจะได้คำตอบภายในปีนี้"
สมประสงค์กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในอนาคต บริษัทจะระมัดระวังมากขึ้น หากจะดำเนินการอะไรจะต้องนำวิชาการเข้ามาใช้ร่วมประกอบการตัดสินใจและคำนึงถึงความรู้สึกสังคมเข้ามาประกอบการตัดสินใจ หรือนำบทเรียนในอดีตมาศึกษาให้รอบคอบมากขึ้น หากจะมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยการตัดสินใจเบื้องต้นจะให้ความเป็นอิสระแก่ผู้บริหารของสายงานรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และการตัดสินใจ โดยสุดท้ายจะพิจารณาโดยบอร์ดเป็นที่สุด
ส่วนสถานะทางการเงินนั้น สมประสงค์บอกด้วยว่า ปัจจุบัน ชินคอร์ปมีกระแสเงินสดที่ถืออยู่ในมือประมาณ 1,500 ล้านบาท ไม่มีหนี้ค้างชำระกับสถาบันการเงิน แต่บริษัทในกลุ่มมีลูกหนี้ อาทิ เอไอเอส โดยเป็นหนี้จากการลงทุนโครงข่าย 30,000 ล้านบาท ชินแซท 14,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนหนี้ดังกล่าวจะเป็นการลงทุนในระยะยาว และไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นหรือการแข่งขันต่อบริษัทที่มีหนี้อยู่แล้ว
"เรายังพร้อมลงทุนหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งเทคโนโลยีและเซอร์วิสมาอินทิเกรตให้ตอบสนองความต้องการลูกค้ามากที่สุด ซึ่งเราจะวิเคราะห์ทุกด้าน มองหาอนาคต และเข้าไปแข่งขันใหม่ อะไรเสียแล้วเสียไป แต่ตรงจุดนั้นยังนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาให้กับตัวเอง"
ส่วนปัญหาการถือหุ้นในชิน แซทเทลไลท์ ที่หลายฝ่ายมองว่าผู้ถือหุ้นชินฯ โดยเฉพาะกองทุนเทมาเส็ก มีสัดส่วนจากต่างชาติไม่เหมาะสม และควรขายหุ้นชินแซท เพื่อคืนดาวเทียมให้ประเทศไทย นายสมประสงค์ ยืนยันว่า ในส่วนของดาวเทียมได้โอนให้กระทรวงไอซีทีแล้ว นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทยรายย่อย ซึ่งถือในสัดส่วน 57-58% ขณะที่ชินคอร์ปถือเพียง 40%
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|