|
"สุจินต์ หวั่งหลี"หมวกใบเก่าบนเก้าอี้เดิมขับเคลื่อน"ประกันภัย"เผชิญหน้าโลกเสรี
ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อโลกหมุนไปตามวงล้อ "โลกาภิวัตน์" ธุรกิจประกันวินาศภัย ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในโลก "ยุคไดโนเสาร์" จำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ สมาคมประกันชีวิตถึงกับมองว่า ความเจริญของสังคมนิยมวัตถุ คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ เกิดคดีฟ้องร้องจนเกือบจะท่วมศาล ขณะเดียวกัน กลุ่มคน "หัวหมอ" หรืออาชีพทนายความก็ผุดเป็นห่าฝน ประกันวินาศภัยยุคนายกสมาคมคนใหม่ "สุจินต์ หวั่งหลี" จึงต้องเผชิญหน้ากับสภาพตลาดที่กำลังจะเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ...
สุจินต์ หวั่งหลี นายกสมาคมประกันวินาศภัย ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้ามารับตำแหน่งนี้อีกครั้ง ถัดจาก ชัย โสภณพนิช เจ้าของเก้าอี้เดิม โดยรับรู้กันว่า ต้องปะทะกับการเปลี่ยนแปลงของโลกประกันภัยอย่างที่ไม่มีทางเลี่ยง
สุจินต์ จึงต้องคอยตอบคำถามที่โยนเข้ามาจากทุกสารทิศถึงทิศทางที่เปลี่ยนไปของธุรกิจประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยเอื้ออาทร ที่ยังคงดำเนินการต่อไป เพื่อให้โอกาสคนรากหญ้า เพียงแต่เบี้ยต้องปรับขึ้นลงตามสภาพความเสียหาย หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องปรับเงื่อนไขการรับประกันภัยใหม่
หรือแม้แต่เรื่องการยกเลิกสติ๊กเกอร์พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่สร้างความสับสนในช่วงแรกๆ เพราะกรมการประกันภัยต้นสังกัดยังอ่อนประชาสัมพันธ์ ทำให้ตำรวจยังจับรถที่ไม่มีสติ๊กเกอร์กันเกร่อในต่างจังหวัด ก็เป็นหน้าที่ของสมาคมประกันวินาศภัยจะทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมไปถึง การเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยภายใต้กรอบ องค์กรการค้าโลกหรือ WTO ที่ยังมีเวลาเหลือเพียง 13 ปี สำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกฎระเบียบใหม่ โดยเฉพาะระบบบัญชีที่ต้องเข้มงวดกับเงินกองทุนและเงินสำรองมากกว่าเดิมหลายเท่า
สุจินต์ บอกว่า การเปิดเสรี อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการลงนามในข้อตกลงมามากพอสมควรแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อการแข่งขันเข้มข้นขึ้น ทุกบริษัทก็ต้องพึ่งพาความสามารถของตัวเอง ที่สำคัญคือ ความสามารถและบทบาทของผู้บริหาร
ขณะเดียวกัน แผนแม่บท ก็มีการแก้กฎหมายประกันชีวิต ประกันภัย และองค์กรอิสระ ที่จะทำให้โครงสร้างธุรกิจประกันภัยเปลี่ยนไป โดยสุจินต์ยอมรับว่า เรื่องการพยายามให้ธุรกิจแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่เพิ่มเงินกองทุนและใช้หลัก RISK BASED CAPITAL
นอกจากนั้น ภาครัฐก็ต้องการให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบ มีวิธีทำงานแบบธรรมภิบาล ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน
ยังไม่นับสินค้า ช่องทางการทำตลาดและรูปแบบการตลาดที่มีหน้าตาผิดแผกไปจากยุคอดีต โดยเฉพาะสินค้าใหม่ที่มักจะนำมาใช้รองรับความต้องการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลและธุรกิจต่างๆมากขึ้น
" สินค้า และรูปแบบการทำตลาดเริ่มเปลี่ยนไป เพราะโลกเจริญขึ้น มีคดีฟ้องร้องมากขึ้น มีคนเรียนกฎหมาย และมีทนายความมากขึ้น"
ณัฐดนัย อินทรสุขศรี อุปนายก สมาคมประกันวินาศภัย อธิบายถึง กรมธรรม์ใหม่ๆที่ถูกคิดค้นมีมากขึ้น ก็เพราะเหตุผลนี้ คล้ายๆกับวัฒนธรรมโลกตะวันตก ที่เอะอะก็เรียกหาทนายความ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็ทำให้ธุรกิจประกัน วินาศภัยต้องสร้างโอกาสจากตลาดใหม่ๆ ด้วยสินค้าที่ซื้อด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ถูกบังคับเหมือนในอดีต
หากจะนับกันจริงๆ คงมีประกันภัยรถยนต์เท่านั้นที่เห็นโดดเด่น เพราะเจ้าของรถต้องการซื้อประกันภัยไว้คุ้มครองความเสี่ยงด้วยความสมัครใจจริงๆ
ขณะที่ประกันภัยอื่นๆ ประเภทประกันภัยขนส่งทางทะเล ประกันภัยเบ็ดเตล็ด ประกันอัคคีภัย มักจะเป็นตลาดที่ถูกสร้างมาจากแรงบีบของบรรดาสถาบันการเงินเป็นหลัก
" เรามีสินค้า ค่อนข้างเยอะมาก แต่ตลาดก็ยังน้อยอยู่ นอกจากตลาดใหญ่ที่มักจะเป็นการถูกบังคับ"
สินค้าที่เริ่มพูดถึงกันมากขึ้นในระยะหลัง ก็คือ ประกันภัยประเภทความรับผิด ทั้งในส่วนวิชาชีพ และบุคคลที่ 3 เช่น ในธุรกิจโรงแรม แขกที่มาพัก อาจจะว่ายน้ำแล้วเกิดเสียชีวิต หรือ กินอาหารท้องเสีย รวมถึงอาชีพ แพทย์ วิศวกร ผู้ตรวจอาคารสูง ผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้บริหาร ถ้ามีคดีฟ้องร้องกันบ่อยๆ ก็จะมีการซื้อประกันมากขึ้น เร็วๆนี้ก็กำลังจะมี ประกันภัยความรับผิดของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งเพิ่มเข้ามาอีก
ที่เริ่มเห็นตลาดมีมากขึ้นก็คือ ประกันภัยร้านทอง ที่จัดอยู่ในกลุ่มประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันภัยรถยนต์ฉบับพิเศษ หรือประกันภัยประเภท 5 ที่ตลาดเริ่มตอบรับมากขึ้น
โดยฝ่ายหลัง ประกันภัยรถยนต์ฉบับพิเศษ ได้ปรับเปลี่ยนให้มีหน้าตาคล้ายคลึงกับประกันภัยรถยนต์ประเภท 3+1 หรือเข้าใกล้ประกันภัยประเภท 1 มากขึ้นทุกที แต่จะต่างกันตรงที่ราคาเบี้ย วงเงินคุ้มครอง และลูกค้ามีสิทธิ์ขยับทุนประกันได้ โดยอยู่ภายใต้หลักการคือ สร้างมาตรฐานความเข้าใจในกลุ่มผู้บริโภคไปในทางเดียวกัน สื่อสารถึงกันโดยไม่สับสน โดยมีพิกัดชัดเจน แยกความคุ้มครองเป็นชั้นๆ
ว่ากันว่า สินค้าใหม่จะเป็นทางเลือกในชั่วโมงเศรษฐกิจอ่อนระโหยโรยแรง รายได้ชนชั้นกลางและล่างเป็นตัวเลขสีแดงเถือก ดังนั้นเมื่อตลาดตอบรับ ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ก็อาจจะถูกน็อคเอ้าท์ไปเลย
เพราะนอกจากรถป้ายแดงจะมียอดขายตก มาร์จิ้นจากการทำประกันภัยชั้น 1 ที่มักจะแถมไปกับ การไฟแนนซ์รถใหม่ก็จะค่อยๆหดตัวลง ขณะที่กำลังซื้อเริ่มจะจับจ่ายใช้สอยอย่างมีสติมากขึ้น การมีประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 จึงเป็นทั้งทางเลือก และเป็นโอกาสสร้างรายได้ เป็นทางรอดให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยไปด้วยในตัว
" ตอนนี้ก็เริ่มมีการศึกษาค่ารักษาพยาบาล โรคร้าย ค่าหมอ ในส่วนของประกันสุขภาพ เพื่อดูความต้องการของลูกค้า"
ณัฐดนัย บอกว่า การมีพิกัดภาษี มีข้อเสียคือ บริษัทขนาดเล็กไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลง ทุกบริษัทจึงต้องมีการพัฒนาตัวเองให้ทัน...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|