ปลดหนี้ ขสมก. - ต่อลมหายใจ ปตท.


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายใต้ภาพที่ดูเหมือนยิ่งใหญ่และมั่นคงของ ปตท.นั้นกลับมีปัญหาการบริหารเงินสดจน ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ต้องเปิดเครดิตไลน์เพิ่มขึ้นจาก 4.3 พันล้านบาทเป็น 6.9 พันล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่อาจจะวิกฤตในช่วงต่อไปซึ่งเคยคาดการณ์เอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 2533

โดยเฉพาะภาระการลงทุนในอีก 4-5 ปีข้างหน้าสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท เช่น

โครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซ "บงกช" หรือ แหล่ง "โครงสร้าง บี" ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแหล่งเอราวัณและต่อมาขึ้นฝั่งที่ อ.ขนอม จ.นครราชสีมา

โครงการวางท่อก๊าซจากแหล่ง "น้ำพอง" จ.ขอนแก่น เชื่อมกับท่อก๊าซที่ อ.หนองแค จ.สระบุรี

โครงการร่วมลงทุนในโรงกลั่นที่ 4 และ 5 ของเชลล์และคาลเท็กซ์ตามลำดับ

ขณะที่ ปตท.มีสัดส่วนหนี้สินต่อเงินทุน 1.79 ต่อ 1 ในปีงบประมาณ 2533 สูงกว่าปี 2532 ซึ่งอยู่ในระดับ 1.75 ต่อ 1 ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 409 ล้านบาท มีเงินสดฝากธนาคารกรุงไทยอยู่ 35.97 ล้านบาท

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กระทบเป็นลูกโซ่ต่อปัญหาสภาพคล่องของ ปตท.มาตลอด คือ หนี้ ขสมก. แม้ว่าในปีงบประมาณ 2533 ปตท.จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 11,867 ล้านบาท และทำยอดกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,332 ล้านบาทหรือ 76% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2532 แต่ ปตท.มีลูกหนี้รวมกันถึง 8,335 ล้านบาท

จำนวนนี้เป็นลูกหนี้รัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น 6,552 ล้านบาท แยกเป็นหนี้น้ำมันสำเร็จรูป 4,548 ล้านาท และหนี้ค่าก๊าซธรรมชาติ 1,973 ล้านบาท เป็นลูกหนี้เอกชน 1,312 ล้านบาท ลูกหนี้ค่าขายก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซอีก 5,585 ล้านบาท โดยลูกหนี้ทั้งหมดนี้ ปตท.ตั้งสงสัยหนี้จะสูญ 964 ล้านบาท

ในยอดเหล่านี้ ขสมก.เป็นหนี้ ปตท.อยู่ 3,066.80 ล้านบาท (ณ สิ้นกันยายน 2533) แต่ถ้ารวมยอด ณ สิ้นปี 2533 ยอดหนี้ค้างเพิ่มขึ้นเป็น 3,309.54 ล้านบาท

จึงมีการตั้งคณะทำงานพิจารณาแก้ไขปัญหาหนี้ค่าน้ำมันค้างชำระของ ขสมก.ขึ้นมาสะสาง มี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นประธาน ซึ่งเริ่มทำงานกันมาตั้งแต่เดือนมกราคม และ ครม.ได้อนุมัติกระทรวงการคลังช่วยชำระหนี้ของ ขสมก. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม

ทางออกหลังจากที่ ขสมก.เจรจาและทางกระทรวงการคลังเป็นคนต่อรองก็คือ ปตท.ยอมตัดเนื้อเสียรายได้บางส่วนไปประมาณ 530 ล้านบาท โดยยอมลดดอกเบี้ยในอัตราเฉลี่ย MOR ของธนาคารกรุงไทยจาก 14.55% เหลือ 11% จึงเหลือยอดหนี้เก่าประมาณ 2,779 ล้านบาท

ตามแผนใช้หนี้เก่าส่วนนี้ ขสมก.จะกู้ธนาคารออมสิน โดยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราของเงินฝากประจำ 12 เดือน บวกอีก 1.75% มีระยะปลอดหนี้ 3 ปีแรก และจะเริ่มคิดในปีที่ 4-7 รวมเวลาชำระหนี้ 7 ปี

เดิม ปตท.หวังว่า จะได้รับเม็ดเงินจากกระทรวงการคลังในเดือนมิถุนายน แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับ ซึ่งแทนที่จะเสียโอกาสไม่กี่วัน ก็ยืดกันมาเป็นเดือน

แม้ว่าจะเตรียมสัญญาที่ ขสมก.จะกู้จากธนาคารออมสินแล้ว แต่ ขสมก.ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากบอร์ดก่อน ซึ่งกำหนดในวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นก็ยังไม่มีมติออกมา เนื่องจากธนาคารออมสินเสนอขอเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะสรุปได้ในเร็ววันนี้ และไม่น่าจะมีปัญหา

นอกจากหนี้เก่าแล้ว ยังมีหนี้ใหม่ที่ ขสมก.ค้าง ปตท.อยู่อีกประมาณร่วม 500 ล้านบาทจากเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2534 ซึ่งกระทรวงการคลังจะใช้หนี้แทน

ตามปกติ ขสมก.จะใช้น้ำมันเดือนละ 10 ล้านลิตรและกำหนดว่าตั้งแต่เดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป กระทรวงการคลังห้าม ขสมก.ติดหนี้ ปตท.

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังให้ ขสมก.กู้จากธนาคารออมสินมาใช้หนี้ใหม่ โดยคิดเทียบเป็นลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันขึ้นลงไม่แน่นอน จึงกำหนดให้ ขสมก.กู้เงินในรูปของการเบิกน้ำมันจากธนาคารออมสินได้เดือนละ 6.1 ล้านลิตร เทียบค่าน้ำมันคิดเป็นเงินประมาณ 50 กว่าล้านบาท ส่วนปริมาณที่เหลือให้ ขสมก.จ่ายเอง ซึ่งก็เป็นเงินจากค่าโดยสาร ดังนั้น ต่อไป ขสมก.จะต้องมีแผนสร้างรายได้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไปจัดการกับลูกหนี้ของตนเอง เช่น รถร่วมติดหนี้ ขสมก.อยู่ถึง 70-80 ล้านบาท

เพราะนับตั้งแต่การเบิกจ่ายน้ำมันตั้งแต่เดือนกรกฎาคมศกนี้ ขสมก.จะต้องจ่ายค่าน้ำมันให้ ปตท.ภายใน CREDIT TERM คือ 30 วันเรียกว่าต้องจ่ายกันเดือนต่อเดือน และถ้า ขสมก.ติดหนี้ ปตท.อีก ธนาคารออมสินจะงดจ่ายการเบิกเงินหรือน้ำมันในเดือนถัดไป

การที่กระทรวงการคลังช่วยปลดหนี้ที่ ขสมก.ติดค้างเหล่านี้จึงช่วยยึดลมหายใจสภาพคล่องทางการเงินของ ปตท.ไปได้เฮือกใหญ่

ปตท. จะมีเม็ดเงินเข้ามา 3,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะทำให้ฐานะการเงินในปีนี้ดูสวยขึ้นอีกมากและบริหารเงินสดได้ง่ายกว่าเดิม

แต่ปัญหาการทวงหนี้ก็ยังไม่จบลงง่าย เนื่องจากยังมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีปัญหาการจ่ายค่าเชื้อเพลิงหลัก ๆ ก็คือ ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตาตกเดือนละประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งมักจะจ่ายช้ากว่าที่กำหนด 2 อาทิตย์ โดยให้เหตุผลว่า เพราะทางการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงจ่ายช้า ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการเจรจาการจ่ายเงินรวมถึงเรื่องขอลดราคากับ ปตท.เพื่อลดต้นทุนและจะจ่ายตรงเวลาขึ้น และถ้าเป็นไปตามข้อตกลงก็จะช่วยให้ ปตท.วางแผนการบริหารเงินสดได้ดีขึ้น

นับเป็นความลงตัวอีกด้านหนึ่งที่จะเอื้อให้ ปตท.ปรับโฉมตัวเองได้สะดวก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.