การบริหารชลประทานซีเมนต์ของเศรษฐีผู้ดีเก่าอย่างตระกูลธารวณิชกุลดูเสมือนจะดำรงอยู่ได้ในกิจการประเภทผูกขาด
ซึ่งวันนี้มีอยู่ 3 ราย แต่ในวันหน้ายักษ์ใหญ่รายใหม่อีกหลายรายที่จะเข้ามาแข่งขันรุนแรงภายใต้การค้าเสรีนี้
การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดที่ลูกเขยหนุ่มอย่างวราวุธ วงศ์วิเศษพยายามผลักดันโครงการใหม่
ๆ ให้เกิดขึ้นกลับถูกตั้งข้อหาว่า "ขบถ" จนต้องลาออก เบื้องหลังของความขัดแย้งในชลประทานซีเมนต์
จึงมีที่มาจากปัญหาของคน ๆ เดียว !!
"เป็นเรื่องภายในครอบครัว"
เป็นคำตอบสั้น ๆ ที่ผู้บริหารปูนเล็ก ณรงค์ จุลชาติ เอ่ยถึงการลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของพลโทปุ่น
วงศ์วิเศษ และกรรมการผู้จัดการทั่วไปของวราวุธ วงศ์วิเศษ ที่มีผลตั้งแต่วันที่
17 มิถุนายนศกนี้
ในวันที่ 18 มิถุนายน ณรงค์ออกคำสั่งที่ 88/2534 ล้างบางพวกของวราวุธที่ต้องสงสัยเข้ากรุ
เช่น สิทธิชัย เหล่าสืบสกุล ที่เคยร่วมงานกับไกเซอร์ซีเมนต์ และเป็นมือขวาของวราวุธในฐานะรองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายผลิต
ก็ต้องถูกแช่แข็ง แล้วแต่งตั้งให้ประวิตร ราชแพทยาคม ลูกหม้อเก่าที่ทำงานมา
35 ปีตั้งแต่สมัย ม.ล.ชูชาติ ขึ้นควบตำแหน่งนี้พร้อมกับรองผู้จัดการฝ่ายวิชาการ
คนที่ดึงสิทธิชัยเข้ามาในปี 2530 คือ วันชัย อ่ำพึ่งอาตม์ ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปพร้อมวราวุธ
วันชัย เข้ามาทำงานตั้งแต่สมัยปี 2512 ไต่เต้าจากพนักงานบัญชีและมีความดีความชอบในฐานะอยุ่เบื้องหลังการช่วยกลุ่มเอเชียทรัสต์โค่นล้มกลุ่มหมอสมภพ
- ดร.รชฎ ในปี 2525
หลังการประกาศลาออก บรรยากาศในห้องประชุมชั้น 3 ซึ่งมีรูปคุณหญิงตั้งตระหง่าน
ก็มีการแต่งตั้งบอร์ดใหม่เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันทีว่า ที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่
306/2534 อนุมัติให้สองพ่อลูกลาออก และมีมติแต่งตั้งพลตรี นายแพทย์ ธำรงรัตน์
แก้วกาญจน์ ทำหน้าที่แทนวราวุธ และแต่งตั้งบอร์ดบริหารใหม่ โดยให้คนึง ฦาไชย
เป็นประธานกรรมการบริหารแทนพลโทปุ่น และแต่งตั้งณรงค์ จุลชาติ พล.ต.นพ.ธำรงรัตน์
แก้วกาญจน์ จาริน อัตถะโยธิน และนิรันดร์ วิจิตรานนท์ เป็นกรรมการ
เบื้องหลังความขัดแย้งถึงขั้นวราวุธ ลูกเขยคุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุลต้องลาออกนี้
กล่าวันว่า เกิดจากความสั่งสมความอึดอัดใจมานาน ที่ต้องอยู่ภายใต้นโยบายการบริหารแบบอนุรักษ์นิยมที่ดำเนินธุรกิจตามสบาย
ๆ แบบเศรษฐีผู้ดีเก่าอย่างคุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล
โครงสร้างอำนาจคณะกรรมการบริหารก่อนการเปลี่ยนแปลง มีลักษณะคานอำนาจกันเองระหว่างเครือญาติคนใกล้ชิดคุณหญิง
ได้แก่ พลโทปุ่น วงศ์วิเศษ บิดาของเขยเล็ก คนึง ฦาไชย ทนายประจำตระกูลธารวณิชกุล
เจ้าของบริษัทบางกอกอินเตอร์ฯ ที่ว่าความคดีสำคัญ ๆ เช่น คดีเอเชียทรัสต์
ดิสสกร กุนธร ลูกเขยคนโตที่แต่งงานกับเมธินี ณรงค์ จุลชาติ เพื่อนของน้องชายคุณหญิง
คือ นิรันดร์ และวราวุธ วงศ์วิเศษ เขยเล็กที่มีบทบาทสูงมากในบอร์ดนี้ เนื่องจากกุมสภาพเสียงข้างมาก
ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่วราวุธทำงาน เขาเป็นวิศวกรคุมสายการผลิตของสองโรงปูนได้สั่งสมอำนาจและบารมีไว้สูง
ด้วยการทำงานแบบท่าทีที่นิ่มนวลเป็นกันเอง สุภาพถ่อมตนกับพนักงานซึ่งมักเรียกเขาว่า
"คุณป้อม" ผู้ถือหุ้นชลประทานซีเมนต์ไว้ 63,148 หุ้น (ณ 19 เมษายน
2533)
ขณะที่ผู้บริหารที่ใกล้ชิดคุณหญิงมากอย่างณรงค์ จุลชาต กลับมีบุคลิกผู้บริหารที่เก็บตัว
โดยประวัติส่วนตัวเขาจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สาขาบริหารรัฐกิจ และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์จากธรรมศาสตร์
จากนั้นก็เรียนปริญญาโทสาขาเดียวกันที่สหรัฐฯ ได้ปริญญา M.P.A. THE MAXWELL
SCHOOL OF CITIZENSHIP & PUBLIC AFFAIRS ที่มหาวิทยาลัย SYRACUSE UNIVERSITY
ประสบการณ์การศึกษาทั้งหมดแทบไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน แต่ณรงค์เริ่มงานแห่งแรกที่สำนักงบประมาณเมื่อปี
2505 ทำอยู่ 10 ปีเต็มจึงลาออกมาอยู่ภาคเอกชนที่บงล.กรุงเทพธนาทรในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ
2 ปีก่อนที่จะลาออกมาอยู่เป็นกรรมการผู้จัดการของบงล.บุคคลัภย์ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ณรงค์เริ่มมีชื่อเสียงจากความสำเร็จในการงาน เขาได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ
ช่วงเกิดวิกฤตการณ์ตกต่ำ ดัชนีหุ้นตกจาก 258 จุดเหลือเพียง 149 จุด เป็นเวลาสามปีระหว่าง
1 ก.ค. 2521 - 7 ส.ค. 2523 ที่ณรงค์ได้เข้าไปคลุกคลีกับธุรกิจมากมายโดยเฉพาะการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการของตระกูลที่มีปัญหาธุรกิจ
เช่น กรณีบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลของศิริชัย บูลกุล ที่ยื่นเข้าตลาดหุ้น
แต่ถูกวารี พงษ์เวชและศุกรีย์ แก้วเจริญ ประธานและผู้จัดการตลาดขณะนั้นทักท้วงในหลายประเด็น
เรื่องก็คาราคาซังจนมาถึงยุคณรงค์เป็นผู้จัดการ หุ้นมาบุญครองก็ได้เข้าตลาดฯ
ในเวลาต่อมา เมื่อณรงค์เข้ามาช่วยกลุ่มเอเชียทรัสต์กว้านซื้อหุ้นจนโค่นล้มกลุ่มหมอสภพ
สุสังกรกาญจน์ และดร.รชฎ กาญจนวณิชย์ได้
บุญคุณครั้งนี้ คุณหญิงลลิลทิพย์จึงแต่งตั้งณรงค์เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่ปี
2525 เป็นต้นมา และเมื่อปี 2528 ณรงค์เคยมีข้อขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ของคนของคุณหญิงถึงขั้นประกาศลาออกจากตำแหน่ง
ก็จะมีการส่งกรรมการผู้ใหญ่ในบอร์ดบางคนเข้าไปอ้อนวอนให้อยู่ต่อ ส่งเสริมให้ณรงค์กลายเป็นเสาหลักสำคัญ
ที่ค้ำจุนชลประทานซีเมนต์ให้อยู่ได้ในฐานะบทบาทประสานงานกับผู้ถือหุ้น และดูแลบริหารการเงินที่เขามีสายสัมพันธ์กับสถาบันการเงินสำคัญ
ๆ
"คุณณรงค์แกมีข้อเสียชอบด่าคน เวลาจะประชุมหรือให้ปาฐกถามักจะขมวดท้ายแบบให้สำนึกถึงบุญคุณเสมอ
เช่น งานให้คำชมเชย พนักงานจะต้องตบท้ายว่า คุณเป็นลูกจ้างบริษัท คุณอย่าลืมนะว่า
ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์มากที่สุดและคุณทำอะไรอยู่ ผมรู้นะ" พนักงานเก่าแก่คนหนึ่งเล่าให้ฟัง
เพียงรูปลักษณ์นิสัยใจคอภายนอกของทั้งคู่ ก็เปรียบเทียบได้ว่าในสายตาของพนักงาน
คะแนนความนิยมย่อมตกอยู่กับวราวุธมากกว่า ยิ่งวราวุธกุมหัวใจคือฝ่ายผลิตด้วยแล้ว
ยิ่งสร้างความไม่พอใจและความระแวงขึ้นในพวกผู้หญิง และสร้างแรงกดดันที่น่าอึดอัดใจต่อวราวุธ
เมื่อต้องยู่ภายใต้กรอบนโยบายเชิงอนุรักษ์เช่นนี้ วราวุธก็ย่อมรับรู้ถึงขีดจำกัดการเจริญเติบโตขององค์กรที่สะท้อนถึงความมีประสิทธิภาพต่ำในเชิงการบริหารการจัดการ
ปัญหาและอุปสรรคที่ผู้บริหารอย่างวราวุธผู้คุมกำลังพลด้านปฏิบัติการอึดอัดใจจึงพอสรุปได้ดังนี้
หนึ่ง - นโยบายยักษ์แคระแบบชลประทานซีเมนต์นี้ ทำให้การแตกตัวขยายเครือข่าย
(DIVERSIFY) ไปสู่อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างแบบครบวงจรไม่มีเลย มีบริษัทในเครือเพียงบริษัทเดียว
คือ บริษัทชลประทานคอนกรีต หรือ "ชคล." ที่ผลิตและขายคอนกรีตผสมเสร็จ
ซึ่งเดิมมี พล.ต.ท.ประวิทย์ วงศ์วิเศษ น้องชายพลโทปุ่น เป็นประธานบอร์ดบริหารอยู่
แต่ปัจจุบันได้ลาออกแล้ว
ในอดีตชลประทานซีเมนต์ครองฐานะความเป็นปูนกลาง รองจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทยมาตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้งปี
2499 หลังจากป้อนปูนให้กับเขื่อนภูมิพล ก็มีการจำหน่ายปูนตรางูเห่าและตราพญานาค
โดยเน้นการผลิตปูนซีเมนต์ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ปูนประเภท 5 ตราปลาฉลามที่ต่อต้านสารซัลเฟตที่เหมาะกับงานคอนกรีตในทะเล
หรือปูนซีเมนต์สำหรับงานเจาะบ่อน้ำมัน (OIL WELL CEMENT) ที่ให้ MARGIN สูงและคู่แข่งไม่ผลิตเนื่องจากไม่คุ้มกับตลาดที่ยังเล็กอยู่
แต่เมื่อบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงเกิดขึ้นในปี 2513 ฉายาปูนกลางของชลประทานซีเมนต์เริ่มถูกท้าทายจากผู้มาใหม่ที่เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด
จากปี 2515 ถึงปี 2521 ชลประทานซีเมนต์ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสอง คือ
23.4% ในปี 2515 ขณะที่ปูนนครหลวงเพิ่งเริ่มต้นได้แค่ 9.4% แต่สองปีต่อมา
ปูนนครหลวงแย่งส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น ๆ เป็น 13% ขณะที่ชลประทานซีเมนต์ลดลงเหลือ
18% ในปี 2519 ถึงปี 2521 ชลประทานตกมาครองส่วนแบ่งตลาดแค่ 17.4% ขณะที่ปูนนครหลวงได้เป็น
12.6%
จุดหักเหครั้งสำคัญที่สุดในปี 2524 ที่ปูนนครหลวงชิงความเป็น "ปูนกลาง"
ได้จากการขยายกำลังผลิต โดยเพิ่มเตาเผาอีก 1 เตา และหม้อบดปูนจาก 2 หม้อเป็น
4 หม้อ สามารถผลิตปูนได้ถึง 2.8 ตันและปูนนครหลวงทำการตลาดสำเร็จจนยอดขายปี
2524 สูงถึง 1,340 ล้านบาทจากปี 2523 ที่ขายได้เพียง 785 ล้านบาท
"ผมขนโรงปูนมาตั้งแต่เริ่มผลิต สมัยก่อนปูนตราเสือหรือตรานกไม่มีสิทธิ์สู้
กองทัพงูเห่าของเราครองตลาดภาคเหนือได้ทั้งหมด คนอื่นไม่มีสิทธิ์แตะ แต่เดี๋ยวนี้พอบอกปูนงูเห่า
ก็เป็นรองคนอื่นเขามันน่าช้ำใจ" คนเก่าแก่ขับรถสิบล้อขนปูนเล่าให้ฟัง
ขณะที่ปูนนครหลวงรุ่งโรจน์ ชลประทานซีเมนต์เริ่มเกิดศึกร้าวฉานหลังจากตระกูลธารวณิชกุลเข้าไปควบคุม
จนเกิดสงครามโค่นล้มอำนาจระหว่างกลุ่มหมอสมภพ - ดร.รชฎกับกลุ่มเอเชียทรัสต์
ทำให้แผนการปรับปรุงขยายกำลังผลิตชะงักไปอย่างน่าเสียดาย และเป็นการพลาดโอกาสทองที่จะพัฒนากิจการให้รุ่งเรืองได้ในขณะที่การพัฒนาประเทศแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
(EASTERN SEABOARD) มีความต้องการปูนพิเศษประเภท 5 มาก ๆ
"ในอดีตที่ขายดีมากทะลุเป้า เราเคยมีการโฆษณาขายปูนตราฉลาม แต่พอตลาดต้องการมาก
ๆ เรากลับจำเป็นต้องหยุด เพราะผลิตไม่ทันตลาดต้องการ และอีกสองโรงคู่แข่งเขาก็ปล่อยให้เราทำปูนพิเศษนี้
เพราะเราจะได้ไม่ไปแย่งของเขา เราก็โง่ ตอนนั้นเรายังผลิตปูนพิเศษแบบ 3 ซุปเปอร์ที่เทในน้ำแล้วแห้งเร็ว
ปูนใหญ่เขายังมาซื้อเราไปเลย เราเพิ่งจะฉลาดมาหยุดผลิตเมื่อไม่นานนี้"
แหล่งข่าวในโรงปูนเล่าให้ฟัง
หลังจากที่ตระกูลธารวณิชกุลสามารถยึดครองอำนาจการบริหารได้ทั้งหมดแล้ว ไม่มีการเพิ่มทุนขยายกำลังผลิตตามที่เคยขอบีโอไอไว้
ขณะที่คู่แข่ง DIVERSIFY แตกตัวบริษัทไปมาก กิจการชลประทานซีเมนต์ถูกคู่แข่งทิ้งห่างชนิดไม่เห็นฝุ่น
จะสังเกตเห็นได้ว่า ในปี 2532 ยอดขายของชลประทานซีเมนต์ลดลงประมาณ 3.77%
เนื่องจากการปิดโรงปูนที่ชะอำถึง 2 ครั้งเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
ฉะนั้น ความอยู่รอดและความมั่นคงของชลประทานซีเมนต์จึงขึ้นอยู่กับสินค้าปูนซีเมนต์เพียงตัวเดียว
!
ความพยายามของวราวุธที่บริหารชลประทานซีเมนต์ด้วยปรัชญาการบริหารแบบ "จิ๋วแต่แจ๋ว"
(SMALL IS BEAUTIFUL) นับว่าเป็นความพยายามอันล้มเหลว เนื่องมาจากความไร้ประสิทธิภาพในองค์กรที่ผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จในมือคน
ๆ เดียว
ทางออกของวราวุธก็คือ การป้อนปูนซีเมนต์เป็นวัตถุดิบให้กับบริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างเช่นบริษัทกระเบื้องโอลิมปิคและวีคอน
"ในอดีตเราเคยผลิตกระเบื้องแต่ก็ไปไม่รอดเพราะผลิตแล้วไม่ได้มาตรฐาน
มุมหนึ่งบาง มุมหนึ่งหนา สีติดแน่นเป็นปึกและหักเปราะง่ายเวลาช่างตีฝ้า ทำให้ต้องขายเครื่องจักรให้กับบริษัทกระเบื้องโอฬารไป
ซึ่งปรากฎว่าเขาใช้เครื่องจักรเป็นและทำออกมาขายได้ดี" แหล่งข่าวเล่าถึงความล้มเหลวของการแตกตัวทำผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างอื่นที่เกิดจากคนไม่มีประสิทธิภาพ
ต้นปี 2533 วราวุธจะขยาย PRODUCT LINE จึงเข้ารับเป็นตัวแทนขายสีดัทช์บอยของสหรัฐอเมริกา
โดยใช้ช่องทางจัดจำหน่ายเอเย่นต์ปูน 400 แห่ง มุ่งเน้นตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก
วราวุธฝันว่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในปีนี้ แต่สิ่งเหล่านี้แทบหมดค่าเมื่อวันนี้ไม่มีเขาอยู่
เป็นเพียงสินค้าฝากขายเท่านั้น
"ในอดีตเขาเคยส่งไพฑูรย์ โกสีย์รักษ์วงศ์ ผจก.ฝ่ายค้าวัสดุก่อสร้างไปศึกษาที่อเมริกาในเรื่องเกี่ยวกับซีเมนต์ส
เพื่อใช้ฉาบปูนเป็นสีต่าง ๆ แต่ทำไปก็ขายไม่ได้ ทำให้ต้องเลิกล้มไปในที่สุด"
นับเป็นแนวความคิดที่ล้มเหลวและไม่หยั่งถึงพฤติกรรมผู้บริโภค
ลักษณะการจัดจำหน่ายปูนตรางูเห่า และพญานาคนั้นส่วนใหญ่จะผ่านตัวแทนจำหน่ายถึง
50% ขายตรง 30% ให้กับผู้รับเหมาและส่วนราชการ เช่น ซีพี ทาวเวอร์ บริษัทการบินไทย
และอาคาร ภปร. โรงพยาบาลจุฬาฯ และขายผ่านบริษัทเองอีก 20%
ปัจจุบันชลประทานซีเมนต์มีคลังสินค้าที่โรงงานตาคลี พระประแดง พหลโยธิน
เชียงใหม่ นครปฐม และธนบุรี-ปากท่อ
สอง - ชลประทานซีเมนต์มีโรงงานผลิตเก่าแก่สองแห่ง โรงปูนที่ตาคลี จ.นครสวรรค์อายุเก่ามากถึง
33 ปี และโรงปูนที่ชะอำ จ.เพชรบุรี อายุไม่ต่ำกว่า 19 ปี ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อหวังตีตลาดทางภาคใต้
แต่ก็ถูกปูนซีเมนต์ไทยดักทางไปตั้งโรงงานปูนอยู่ที่ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ด้วยเหตุความล้าหลังเทคโนโลยี และความเก่าแก่ของโรงปูนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่ารายอื่น
โดยเฉพาะโรงปูนตาคลีมีกรรมวิธีการผลิตที่ล้าหลังมาก ๆ คือ เป็นกรรมวิธีการเผาหมาด
(SEMI-DRY PROCESS) ขณะที่คู่แข่งอย่างปูนซีเมนต์ไทยและปูนซีเมนต์นครหลวงหันไปใช้แบบวิธีเผาแห้ง
โครงสร้างของต้นทุนการผลิตมีค่าพลังงานถึง 40% วัตถุดิบ 27% ค่าแรงงานแค่
3% ค่าบำรุงรักษาสูงถึง 12%
ความพยายามของวราวุธในการผลักดันให้มีการนำเอาเทคโนโลยีญี่ปุ่นเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต
ถูกตีความว่า "ชักศึกเข้าบ้าน" เพราะโครงการขยายโรงงานนี้จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อลงทุนโรงปูนแห่งที่สาม
และตรงนี้บริษัทญี่ปุ่นอาจจะเข้ามาถือหุ้น
สาม - นโยบายการจ่ายเงินปันผลของชลประทานซีเมนต์อยู่ในอัตราที่สูง ในอดีตที่ผ่านมา
ระหว่างปี 2528 - 2532 บริษัทจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยสูงถึง 88% ขณะที่กิจการไม่มีการเพิ่มทุนเลยตั้งแต่ปี
2523 เป็นต้นมา
ปัจจุบันชลประทานซีเมนต์มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 500 ล้านบาท แต่เรียกชำระแล้ว
455 ล้านบาท
การไม่เพิ่มทุนของบริษัทชลประทานซีเมนต์สะท้อนให้เห็นถึงลักษระการบริหารเงินทุนแบบอนุรักษ์ทั้งที่มีโอกาสในตลาดหุ้น
ทำให้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเครื่องจักรที่โรงงานต้องอาศัยแหล่งเงินกู้ยืมจากแบงก์พาณิชย์เพียงแหล่งเดียวตลอดมา
สินทรัพย์สำคัญของชลประทานซีเมนต์ที่สำคัญมีอยู่ 4 ประเภท คือ ที่ดินและอาคารสำนักงานใหญ่เนื้อที่
5 ไร่
- โรงปูนซีเมนต์สองโรง คือ โรงปูนตาคลีเนื้อที่ 1,429 ไร่ มีเตาเผาหมาด
2 เตา หม้อบดดินผง และหม้อบดปูน 6 หม้อ กำลังผลิต 1,650 ตัน/วัน และโรงปูนชะอำเนื้อที่
1,988 ไร่ที่มีเตาเผาแบบแห้งหนึ่ง เตาหม้อบดดินผงและปูน 2 หม้อ กำลังผลิต
1,900 ตัน
- เรือลำเลียงปูนผง "เอ็ม.วี.ชูชาติ" ระวาง 1,540 ตันกรอสที่ขนปูนจากโรงปูนชะอำมาบรรจุที่พระประแดง
ในปี 2533 บริษัทมีหนี้สินรวม 1,121 ล้านบาท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้น 890
ล้านบาท ดังนั้นอัตราส่วนหนี้สิน/ส่วนของผู้ถือหุ้นประมาณ 1.25 : 1 แม้จะแสดงถึงสถานะบริษัทยังแข็งแรงอยู่
แต่ธุรกิจไม่มีการขยายการเติบโต โอกาสการหารายได้ก็น้อยลง หรือตรงข้าม ถ้าหากต้องการขยายธุรกิจก็จะถูกกดดันด้วยภาระหนี้สินที่ต้องเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งในหลักการบริหารเงินเป็นวิธีที่ไม่ฉลาด
สี่ - ชลประทานซีเมนต์มีส่วนแบ่งตลาดน้อยที่สุดเพียง 7.21% และมีกำลังผลิตเพียง
1.2 ล้านตันต่อปี มีรายได้จากการขายอยู่ในระดับเพียง 2,005 ล้านบาทในปี 2533
ขณะที่ปูนซีเมนต์ไทยครองส่วนแบ่งตลดาสูงถึง 63% มีกำลังผลิตเป็น 9.5 ล้านตัน/ปี
และปูนซีเมนต์นครหลวงทำส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 29.84% มีกำลังผลิต 4.55 ล้านตัน/ปี
แนวโน้มการถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดของชลประทานซีเมนต์ในอนาคตจึงคาดว่าจะเกิดขึ้น
เพราะประมาณปี 2535 ผู้ผลิตปูนรายใหม่ เช่น ทีพีไอโพลีนจะเริ่มผลิตปูนออกมาขายปีแรก
6 แสนตัน/ปี และปี 2537 เดินเครื่องผลิตเต็มที่ 2 ล้านตัน/ปี การแข่งขันจะดุเดือดมาก
และทีพีไอโพลีนก็จะสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากขลประทานซีเมนต์ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเล็กที่สุดได้
ถ้าหากไม่มีการปรับตัวสู้ตั้งแต่นี้
ห้า - นโยบายปิดป่าของรัฐบาล และกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้บริษัทอาจจะประสบอุปสรรคในการขายการผลิตในอนาคต
โดยเฉพาะที่โรงงานชะอำที่ตั้งอยู่ใกล้ภูเขานางพันธุรัตน์หรือเขาเจ้าลายซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ป่าสงวน
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสำหรับปูนพิเศษนับว่าหายากขึ้น เช่น หินปูน ดินดาน
ยิปซั่ม และศิลาแลง
"แหล่งวัตถุดิบของชลประทานซีเมนต์เพิ่งจะได้รับการต่อสัมปทานอายุอีก
20-25 ปีคิดว่าไม่มีปัญหา" แหล่งข่าวระดับสูงกล่าว
หก - ปัญหาขาดแคลนบุคลากร ระดับหัวหน้าช่าง และวิศวกร ชลประทานซีเมนต์เกิดภาวะสมองไหล
โดยเฉพาะช่วงเกิดบริษัทปูนซีเมนต์ใหม่ ๆ มีการซื้อตัวระดับวิศวกรโดยจ่ายผลตอบแทนให้สูงกว่าที่นี่สองเท่า
เช่น ยรรยง ผู้จัดการสำนักงานขายภาคเหนือ ลาออกไปอยู่บริษัททีพีไอโพลีนในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย
เป็นต้น
"ชลประทานซีเมนต์ตอนนี้มีสภาวะสมองไหล พนักงานวิศวะและฝ่ายโรงงานเราลาออกเกือบหมด
แทบจะไม่เหลือ บริษัทใหม่เขาซื้อตัวแบบให้เงินเดือนมากกว่าที่นี่ซึ่งให้
15,000 - 20,000 บาท แต่ที่ใหม่ให้สองเท่าตัวก็มีคนทะยอยออกไป แต่เขาก็ไม่มีการเสริม
ปล่อยให้บรรยากาศอึมครึม น่าอึดอัดใจ" คนเก่าแก่ในบริษัทเล่าให้ฟังถึงความไม่จูงใจให้วิศวกรทำงานด้วยเนื่องจากความล้มสมัยของเทคโนโลยีและการให้ผลตอบแทนต่ำ
"สมัยปี 2530 มีการจัดฉลองใหญ่ที่ยอดขายและกำไรทะลุเป้าในรอบ 31 ปี
เพราะผลิตได้มาก ขายได้มาก แต่ปีนี้ พนักงานได้เงินรางวัลกันไม่กี่คน ๆ ละ
4-5 พันบาท แต่ผู้ใหญ่ได้รางวัลกันเป็นแสน มันไม่ยุติธรรม มองไม่เห็นค่าของพนักงานเลย"
เสียงตัดพ้อต่อว่าของพนักงานคนหนึ่ง
วิธีป้องกันปัญหาสมองไหลโดยเพิ่มเงินเดือนวิศวกรนี้เองที่ทำให้วราวุธได้กลายเป็น
"ขบถ" จุดชนวนระเบิดความระแวงแคลงใจมานาน ด้วยคำกล่าวหาที่ว่าเป็นผู้สั่งสมอำนาจบารมี
และอยู่เบื้องหลังสถานการณ์การชุมนุมประท้วงของพนักงานโรงปูนที่ตาคลีประมาณ
200 คนที่หยุดงานเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานที่โยงสู่ประเด็นการเรียกร้องให้วราวุธกลับเข้ามาทำงานอีก
ยุทธวิธีการสลายม็อบครั้งนี้ ฝ่ายบริหารยอมประนีประนอมให้สวัสดิการค่ารักษาพยายามจากเดิมโรคละ
8 พันบาทเป็น 1.8 หมื่นบาท และให้เงินค่าครองชีพเป็นเดือนละ 450 บาท ส่วนโบนัสพนักงานที่เรียกร้องให้แบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ตามผลประกอบการแทนที่จะจ่ายโบนัสตายตัวปีละ
3 เดือนนั้นไม่ได้รับพิจารณา
นอกจากนี้ บุคคลที่ถูกย้ายเข้ากรุตามคำสั่ง 88/2534 ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกระลอกหนึ่ง
คือ ย้ายกลับเข้าประจำตำแหน่งบริหารเดิม หลังจากตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้ฝักใฝ่ใน
"ขบถ" คือ สุรพล พงศทัต กลับไปเป็น ผอ.โรงปูนชะอำ ศักดิ์ชัย เหมวิจิตร
เป็น ผจก.หนุ่มโสดฝ่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งดึงไปช่วยเป็น ผจก.การเงินของบริษัทชลประทานคอนกรีตก่อนเกิดเหตุด้วย
พลกูล อังกินันทน์ ก็เป็น ผอ.โครงการเฉพาะกิจประจำโรงปูนชะอำตามเดิม สามารถ
บุญญาลัย ผจก.แผนกเหมืองหิน โรงปูนชะอำ
เป็นสัจธรรมว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์กรใดก็ตาม ย่อมจะเกิดการล้างบางอำนาจคนเก่า
เพื่อคนใหม่จะได้ทำงานได้เต็มที่
ภาวะคลื่นใต้น้ำที่แม้จะดูภายนอกสงบราบรื่น แต่ลึก ๆ ภายในยังเป็นที่จับตาระแวดระวังจากฝ่ายผู้กุมอำนาจอยู่เสมอ
เพราะคุณหญิงมีบทเรียนในอดีตอันแสนเจ็บปวดมาแล้ว
บทเรียนการโค่นอำนาจครั้งกระนั้นเกิดขึ้นในที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อเดือนเมษายนปี
2525 ที่ไม่ปรากฎชื่อของบุคคลในกลุ่มเอเชียทรัสต์ทั้ง 5 คนเป็นกรรมการบริษัท
คือ วัลลภ คุณหญิงลลิลทิพย์ ทินกร ธารวณิชกุล คนึง ฦาไชย และพลโทปุ่น วงศ์วิเศษ
ด้วยเหตุผลที่ทั้งห้าก่อให้เกิดปัยหาในการบริหารงานโดยระบบเครือญาติ ขณะที่มีสองผู้บริหารแฝด
คือ ดร.รชฎ กาญจนวณิชย์ และหมอสมภพ สุสังกรกาญจน์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ในอดีตหุ้นของชลประทานซีเมนต์จะกระจายออกไปโดยไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนไทยเลย
สมัยแรกเริ่มที่หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ผู้ก่อตั้งบริษัทชลประทานซีเมนต์ขึ้นมาในปี
2499 ด้วยทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท เพื่อป้อนปูนให้กับการสร้างเขื่อนภูมิพล
จังหวัดตาก โดยมีนายช่างมนัส มังคลพฤกษ์ เป็นผู้อำนวยการโรงปูนตาคลีคนแรก
นายช่างมนัสนี้ต่อมาได้ถูกลอบยิงตายที่หน้าวัดปทุมวนารามด้วยสาเหตุของการขัดผลประโยชน์
ช่วงนั้น หุ้นบริษัทได้กระจายสู่มือพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน
กระจายถือหุ้นคนละเป็นร้อยหุ้น แต่ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่กล่าวกันว่าเป็นของตระกูลธารวณิชกุล
ที่ต้องถือในนามผู้อื่นในอันดับแรก ๆ ของผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ เริ่มพงษ์ บูรณฤกษ์
แจ่ม ธนสาร HSBC (SET) NOMINESS และ JOLLY TRADING
เมื่อ ม.ล.ชูชาติ ผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อบริษัทสิ้นชีวิตลง น้องชายคือ
ม.ล.ชวนชื่น กำภูก็สืบตำแหน่งผู้บริหารแทน ยุคนี้เองที่บริษัทไกเซอร์ซีเมนต์แอนด์ยิบซั่มคอร์ปอเรชั่นจากเมืองโอ๊คแลนด์รัฐแคลิฟอร์เนีย
สหรัฐฯ เข้ามาถือหุ้น 25.38% เพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการบริหาร โดยเฉพาะด้านเทคนิคการผลิตปูนที่ใช้ในกิจการขุดเจาะบ่อน้ำมันเพื่อป้อนให้ลูกค้าต่างประเทศ
เช่น อินโดนีเซีย และบรูไน
หลังจากการพ่ายแพ้สงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริกา และเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม
2516 บริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศต่างหวาดกลัวจะเป็นไปตามทฤษฎีโดมิโนว่า
ไทยจะเป็นเหยื่อรายต่อไป ไกเซอร์ซีเมนต์จึงถอนตัวออกไปในปี 2520 และฉวยโอกาสไปสร้างโรงงานปูนของตนเองที่อินโดนีเซีย
ทำให้ชลประทานซีเมนต์ต้องสูญเสียตลาดต่างประเทศรายสำคัญในอินโดนีเซียและบรูไนไปในที่สุด
บริษัทชลประทานซีเมนต์ประสบปัญหาการขาดทุน ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง มีการเพิ่มทุนเป็น
273 ล้านบาทเพื่อชดเชยภาวะขาดทุน
ตอนนั้นบริษัทอยู่ในภาวะขาดแคลนผู้บริหารด้วยเนื่องจากผู้บริหารชาวอเมริกันของไกเซอร์ซีเมนต์
คือ มร.เพรสทอป ได้ทำงานควบคู่กับ มล.ชวนชื่น เมื่อไกเซอร์ซีเมนต์ถอนตัวออกไปก็ทำให้ตำแหน่งผู้บริหารนี้ว่างลง
ดร.รชฎ กาญจนวณิชย์ ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ามาของตเองว่า
"ตอนนั้นผมเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทสมัยเมื่อไกเซอร์ยังถือหุ้นบริษัทนี้อยู่
ผมเข้ามาในฐานะวิศวกรคนหนึ่ง ต่อมาเมื่อปี 2520 ก็มีการหาตัวกรรมการผู้จัดการ
เขาก็มอบให้ผมเป็นคนร่างคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็น แต่ทีนี้การวางเงื่อนไขคุณสมบัติมันดีเกินไป
เลยหาไม่ได้"
"จึงต้องลองพยายามกันอีก หาไปหามาก็เชิญคุณหมอสมภพ สุสังกรกาญจน์มาเป็นกรรมการผู้จัดการ
เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสมและความสามารถแล้วผมก็เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการร่วมอีกคนหนึ่งอย่างที่เห็น
ๆ "
กิจการมีทีท่าดีขึ้น หลังจากสองผู้บริหารดังกล่าวเข้ามา ประกอบในช่วงต้นปี
2522 ชลประทานซีเมนต์ต้องมีการเพิ่มทุนเป็น 455 ล้านบาท โดยจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน
3 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 10 บาท
ตรงนี้เองที่เป็นก้าวแรกของการเข้ามามีบทบาทในชลประทานซีเมนต์ของกลุ่มเอเชียทรัสต์ของวัลลภ
ธารวณิชกุล ที่หมอสมภพซึ่งมีตำแหน่งเป็นขณะนั้น เป็นประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ชักชวนเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนนี้พร้อมกับแบงก์แหลมทองและอิตัลไทย
กล่าวกันว่า จอห์นนี่ มา ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่แบงก์เอเชียทรัสต์ต้องผันเงินจากแบงก์ถึง
300 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นไกเวอร์ซีเมนต์ไว้ประมาณ 25.38% หรือประมาณ 7 แสนหุ้น
ๆ ละ 350 บาท
หลังจากถือหุ้นใหญ่แล้ว คนในกลุ่มเอเชียทรัสต์ก็เข้าไปเป็นกรรมการในบอร์ดใหญ่ชลประทานซีเมนต์นับตั้งแต่วัลลภ
ธารวณิชกุล คุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล ประธานกรรมการบริษัทบางกอกเอนเทอร์เทนเมนท์
ทินกร ธารวณิชกุล กรรมการรองผู้จัดการแบงก์เอเชียทรัสต์ ศิริ วิจิตรานนท์
กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสแบงก์เอเชียทรัสต์ คนึง ฦาไชย อดีต รมช.มหาดไทย
และประธานบริษัทบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล พลโทปุ่น วงศ์วิเศษ อดีตผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
และวราวุธ วงศ์วิเศษ
ภายใต้การควบคุมนโยบายและการดำเนินงานแบบครอบครัว ได้มีการเปลี่ยนรูปบริหารจากบอร์ดใหญ่ลงมาเป็นบอร์ดเล็ก
โดยมีวัลลภ ธารวณิชกุล เป็นประธานกรรมการบริหาร แล้วสนับสนุนให้พลโทปุ่น
วงศ์วิเศษ เป็นกรรมการผู้จัดการทั่วไป ไว้คานอำนาจสองผู้บริหารเดิมและวราวุธ
วงศ์วิเศษ เป็นรองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดและทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริษัทด้วย
"ตอนแรกของการทำงานก็ไม่ขัดแย้งอะไรกันมากนัก นอกจาก CONFLICT OF INTEREST
บ้าง เช่น ให้เอาเงินไปฝากเอเชียทรัสต์ หรือใช้เงินกู้โอดีที่เอเชียทรัสต์ซึ่งคิดดอกเบี้ย
18% ขณะที่คนอื่นคิดแค่ 16%" แหล่งข่าวเก่าแกในบริษัทเล่าให้ฟัง
ความแตกต่างระหว่างแนวความคิดของกลุ่มหมอสมภพกับกลุ่มเอเชียทรัสต์ที่มีตั้งแต่เรื่องเล็กไปถึงเรื่องใหญ่ที่ปะทะกันอย่างรุนแรงก็คือ
การขยายโรงงานแห่งที่สามที่ขยายกำลังผลิตอีกที่โรงปูนซีเมนต์ผงที่ชะอำมูลค่าโครงการนี้ใช้เงิน
3 พันล้านบาท
ความขัดแย้งหลัก ๆ ของทั้งสองฝ่ายจึงมีอยู่ สองประการ คือ
หนึ่ง - การเลือกใช้เทคโนโลยี ฝ่ายหมอสมภพ - ดร.รชฎ ต้องการใช้เทคโนโลยีของ
F.L.SMITH ซึ่งดร.รชฎเห็นผลงานจากที่บริษัทนี้เคยทำให้ปูนซีเมนต์ไทยและปูนซีเมนต์นครหลวง
แต่ฝ่ายธารวณิชกุลต้องการบริษัท FULLER ซึ่งเป็นบริษัทปูนของสหรัฐฯที่ตั้งโรงงานปูนที่ไต้หวัน
โดยคนจีนตระกูลเช็ง ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเพื่อนจอห์นนี่ มา
สอง - ขัดแย้งเรื่องการเพิ่มทุนเป็น 900 ล้านบาท ฝ่ายหมอสมภพ - ดร.รชฎ เห็นด้วยที่จะให้มีการเพิ่มทุนเพื่อมิให้โครงการมีความเสี่ยง
แต่ฝ่ายกลุ่มเอเชียทรัสต์เห็นว่าไม่ควรเพิ่มทุน โดยอ้างว่าจะมีปัญหาต่อการจ่ายปันผลและกำลังซื้อผู้ถือหุ้นรายย่อย
แต่ลึก ๆ ลงไปกล่าวกันว่า ฝ่ายธารวณิชกุลเกรงว่าจำนวนหุ้นที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้อำนาจการควบคุมกิจการลดลง
ความขัดแย้งตรงนี้นำไปสู่การโค่นกันในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนเมษายน
2525 ฝ่ายหมอสมภพ - ดร.รชฎ ได้วางแผนปฏิบัติเงียบ โดยวิ่งเต้นขอเสียงจากผู้ถือหุ้นต่าง
ๆ ตั้งแต่กระทรวงการคลัง แบงก์กรุงไทย กรมชลประทาน และตระกูลกำภู เพื่อให้ได้
PROXY มาล้มพวกเอเชียทรัสต์ออกจากบอร์ดบริหาร
ขณะนั้น ในบรรดาผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับซึ่งรวมจำนวนหุ้นถึง 2,182,290
หุ้น หรือ 47.94% เป็นของแบงก์กรุงไทย 12.38% กระทรวงการคลัง 7.79% และฝ่ายกลุ่มเอเชียทรัสต์ถึง
23.04% หรือ 1,047,505 หุ้น โดยถือในนามของบริษัททิพวัล เจ้าของหมู่บ้านทิพวัล
บริษัท ที.ที.โฮลดิ้ง บริษัทธารวณิช ทินกร ธารวณิชกุล ศิริ วิจิตรานนท์ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
เอ.เอฟ.ที. กับ บงล.นทีทอง
"ในที่ประชุมวันนั้น ทางเอเชียทรัสต์เขาตกใจมากและนึกไม่ถึงว่าเขาจะถูกโค่น
เรียกได้ว่าโกรธอย่างมาก ๆ เลย พวกเขาทั้หงมดเดินออกจากที่ประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน
และดร.รชฎ กับหมอสมภพ ก็รู้ว่าสงครามเกิดขึ้นแล้ว" แหล่งข่าวย้อนอดีตให้ฟัง
รายการชำระความแค้นที่ถูกหยามศักดิ์ศรีครั้งนั้น นอกจากมียุทธการปล่อยข่าวลือใบปลิวต่าง
ๆ ที่จะรบกวนฝ่ายตรงข้ามแล้ว
ฝ่ายเอเชียทรัสต์ยังได้ ณรงค์ จุลชาต อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นเพื่อนสนิทกับ
นิรันดร์ วิจิตรานนท์ น้องชายคุณหญิง มาช่วยเป็นเสนาธิการวางแผนกว้านซื้อหุ้นให้มากที่สุด
ยอดซื้อขายหุ้นทั้งเดือนพฤษภาคม 2525 รวมแล้ว 6 แสนหุ้นเป็นเงินร่วม 100
ล้านบาท ทำให้ฝ่ายเอเชียทรัสต์มีหุ้นในครอบครองเกินกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน
และเตรียมเรียกประชุมให้ปลดฝ่ายตรงข้ามออกไป
ดูเหมือนกลุ่ม ดร.รชฎและหมอสมภพจะรู้ว่าต้านศึกนี้ไม่อยู่ จึงขายหุ้นทิ้ง
โดยหมอสมภพขายออกในนามส่วนตัวบริษัทรวมแพทย์จำนวน 18,939 หุ้น ๆ ละ 125.5
บาท และพากันลาออกพร้อมกับ พล.ต.อ.พิชัย กุลละวณิชย์ นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต
โพธิพงษ์ ล่ำซำ และชนัตถ์ ปิยะอุย ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2525
"ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คุณหมอกับดร.รชฎ ไม่เคยที่จะเอ่ยถึงประสบการณ์ชีวิตการทำงานในช่วงนี้
คุณสังเกตในประวัติการทำงานทั้งคุ่จะไม่พบหรือข้ามตรงนี้ไปมันเป็นอดีตที่อัปยศมาก"
แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง
ชลประทานซีเมนต์ไทยยุคตระกูลธารวณิชกุลครอบครอง จึงเป็นระบอบการปกครองแบบครอบครัวที่มีคุณหญิงเป็นผู้ทรงอำนาจแต่ผู้เดียว
มีการแต่งตั้งณรงค์ จุลชาตเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ เป็นบำเหน็จความดีความชอบที่ทำให้วันนี้มีตระกูลธารวณิชกุล
เป็นจ้าวอาณาจักรที่ชลประทานซีเมนต์ได้
ส่วนวราวุธ วงศ์วิเศษ ก็เป็นกรรมการผู้จัดการทั่วไป พลโทปุ่น วงศ์วิเศษ เป็นประธานกรรมการบริหาร
งานเร่งด่วนชิ้นแรกที่ณรงค์ทำก็คือ การยกเลิกสัญญาเก่าและให้มีการประมูลใหม่โดยในที่สุดทางบริษัท
FULLER ก็ได้งานไป และก็เป็นผู้จัดหาเงินกู้มูลค่า 48.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ด้วย แต่ติดขัดที่ไม่สามารถหากลุ่มธนาคารในประเทศที่จะเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ก้อนนี้
งานนี้แบงก์กรุงเทพขอถอนตัว โดยบอกว่าขอคิดดูก่อน เบื้องหลังการปฏิเสธโครงการนี้ก็เนื่องมาจากนโยบายของผู้ใหญ่แบงก์นี้ก็ไม่ต้องการจะทำธุรกิจอะไรกับเอเชียทรัสต์มาตั้งแต่สมัยชิน
โสภณพนิช แล้วประกอบกับข่าววงในขณะนั้นมีสัญญาณบ่งบอกถึงสถานะอันง่อนแง่นของกลุ่มฯ
"เราก็บอกเขาไปในทำนองที่ว่า เราอยากให้เขาเพิ่มทุน และให้ศึกษาโครงการขึ้นมาใหม่
ซึ่งเรากู้รู้แล้วว่าเขาต้องเพิ่มทุนอย่างน้อยอีกเท่าตัว และคงเป็นไปไม่ได้ในสภาพอย่างนั้น
ยิ่งมาเจอวิกฤตการณ์แบงก์เอเชียทรัสต์ล้ม ก็ทำให้ตระกูลนี้เผชิญปัญหาการเงินหนักขึ้นไปอีก
มีหนี้สินจำนวนมหาศาล" แหล่งข่าวในแบงก์เล่าให้ฟัง
จนถึงทุกวันนี้ ชลประทานซีเมนต์ก็ยังไม่สามารถดำเนินการเพิ่มทุนได้ และได้กลายเป็นปมปัญหาใหญ่ที่ทำให้ชลประทานซีเมนต์กลายเป็นยักษ์แคระในที่สุด
เมื่อวราวุธพยายามนำญี่ปุ่นเข้ามาปรับปรุงเทคโนโลยีและเสนอให้มีการเพิ่มทุนขยายโรงงานปูน
ก็มีข่าวลือว่าถึงการเข้ามาถือหุ้นเงียบของต่างประเทศ ที่ทำให้คุณหญิงเกิดความระแวงไม่พอใจและมีการแก้ไขข้อบังคับของบริษัทในส่วนการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างด้าวจากเดิมไม่เกิน
37% เหลือเพียง 25% ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 เมษายน 2533
"ชลประทานถึงจุดคุ้มทุนมานานแล้ว แต่ที่ไม่เพิ่มทุนเพราะมีเหตุระแวงกันและมีอะไรลึกๆ
ซ่อนอยู่ซึ่งคุณณรงค์รู้ดี จุดหนึ่งที่คุณหญิงก็อยากจะขยายกำลังผลิตแต่ก็เกรงว่าจะถูกยึดหรือเปล่า
? ตราบใดที่คดียังไม่ยุติแกก็ทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้แกก็อายุมากและเหนื่อย สู้อยู่อย่างนี้สบาย
ๆ ดีกว่า" แหล่งข่าววงในกล่าว
การบริหารของตระกูลธารวณิชกุลดูเสมือนจะดำรงอยู่ได้แต่ในกิจการประเภทผูกขาด
เฉกเช่นอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ซึ่งมีผู้ผลิตเพียง 3 แห่งในอดีต แต่ในอนาคตการแข่งขันจะทวีความดุเดือดมากภายใต้การค้าเสรีที่จะเกิดโรงปูนยักษ์ใหญ่รายใหม่ขึ้นไม่ว่าจะเป็นทีพีไอโพลีนของเลียวไพรัตน์
หรือปูนซีเมนต์เอเชียของแบงก์กรุงเทพ
ถึงเวลานั้นแล้ว การบริหารแบบสบาย ๆ สไตล์เศรษฐีผู้ดีเก่าของผู้บริหารในชลประทานซีเมนต์อาจจะให้ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงว่า
ฉายาที่เคยเรียกในท้องตลาดว่าปูนเล็กอาจจะเป็น "ปูนจิ๋ว" ไปในที่สุด