ฟันธงศก.ปีหน้าโต5-6%


ผู้จัดการรายวัน(6 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตสวนกระแส 5-6% หลังการเมืองนิ่ง มีการเลือกตั้ง ส่งออกโต การลงทุนฟื้น พร้อมขยับเป้าเศรษฐกิจปีนี้เป็น 4-4.5% แนะธปท.คุมเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เหตุแข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทกระทบเศรษฐกิจ 0.2-0.3%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทางศูนย์ฯประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ขยายตัว 5-6% เป็นผลจากปัจจัยบวกโดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองที่จะมีความชัดเจนจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ ประกอบกับการส่งออกไทยที่จะขยายตัวเกินระดับ 10% ขณะเดียวกัน การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะฟื้นตัวกลับคืนมา ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

“ในมุมมองนักวิชาการ เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ตัวเลขในปีนี้และปีหน้าออกมาดี และการส่งออกก็ขยายตัวดีอยู่ รวมทั้งจากการสอบถามผู้ประกอบการยอดออเดอร์สั่งซื้อสินค้าปลายปีนี้เข้ามาต่อเนื่อง จึงไม่มีเหตุผลที่จะมองภาพเศรษฐกิจในแง่ลบ แม้เอกชนบางรายจะมองว่าเศรษฐกิจไม่ดีในช่วง 2-3 ปีนี้ก็ตาม”

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2550 ทางศูนย์ฯปรับเป้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 4-4.5% จากเดิมที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.5-4% โดยเชื่อว่าไตรมาส 3 จะเป็นจุดต่ำสุดของทุกปัจจัยทั้งความเชื่อมั่นด้านการบริโภค การลงทุน การเมือง และทุกอย่างจะกลับฟื้นตัวขึ้นมาในไตรมาส 4 เมื่อรวมกับจีดีพีที่เติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้จีดีพีจึงขยายตัวในระดับเกิน 4%

“ภาคธุรกิจในปีนี้ ได้รับอานิสงส์จากภาคส่งออกที่ขยายตัวเกิน 18% ในทุกเดือน ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งลดดอกเบี้ย กระตุ้นการใช้จ่ายจากโครงการขนาดใหญ่ ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มรับรู้เศรษฐกิจในสถานการณ์ดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทะลุเกิน 800 จุดขึ้นไป ส่วนระดับรากหญ้าคาดว่าจะกลับมารับรู้เศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4 และฟื้นความเชื่อมั่นด้านการบริโภคกลับมา”

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาสูงสุดในรอบ 10 ปี หากดูจากทิศทางรอบด้านไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการส่งออกไทยขยายตัวถึง 20% เกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 1.7 แสนล้านบาท และมีเงินจากต่างชาติเข้ามาในประเทศมาก ดังนั้น ค่าเงินบาทที่ระดับ 34-34.5 บาท/เหรียญสหรัฐ เชื่อว่าผู้ประกอบการรับได้ เพราะที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวจากผลกระทบค่าเงินบาทบ้างแล้ว แต่รัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องรักษาระดับเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วไป เพราะหากแข็งค่าขึ้นไปถึง 33 บาท ธุรกิจก็จะขาดทุนกำไร ทำให้เศรษฐกิจไทยขยับขึ้นไม่มากนัก โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท กระทบเศรษฐกิจไทย 0.2-0.3%

“การลดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาท เอกชนควรกระจายความเสี่ยงไปใช้เงินสกุลเยนและยูโรมากขึ้น เพราะหากเทียบเงินบาทกับเงินยูโรและเงินเยนแล้ว ไม่ได้แข็งตัวมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ รวมทั้งลดการพึ่งพาตลาดเอเชีย เพราะเมื่อสกุลเงินในเอเชียแข็งค่า จะกระทบต่อการส่งออกไทย เพราะเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียชะลอตัวลง ดังนั้น จึงควรหันไปเน้นตลาดอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เช่น แอฟริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ให้มากขึ้น”

ส่วนทิศทางธุรกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2550 จากการสอบถามผู้ประกอบการทั่วประเทศ 600 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-29 มิ.ย.2550 พบว่าส่วนใหญ่ตอบยอดขายและผลประกอบการไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน ที่ได้จากการสำรวจประชาชน 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนยังมีพฤติการณ์ใช้จ่ายสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันเท่าเดิม ขณะที่รูปแบบการดำเนินชีวิตของประชาชนนั้น ประชาชนจะเลือกซื้อสินค้า โดยพิจารณาด้านราคามากสุด และต้องการให้ผู้ประกอบการใช้โปรโมชั่นลดแลกแจกแถมในสินค้าจำเป็นมากขึ้น เช่น ซื้อน้ำปลาขวดใหญ่ ควรแถมขวดเล็กด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.