บาทแข็งไม่เลิกส่อหลุด34


ผู้จัดการรายวัน(6 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง วันนี้ส่อหลุด 34 บาท/ดอลลาร์ "ฉลองภพ" ชี้เงินบาทแข็งค่าระยะสั้น "ธาริษา" ท่องคาถาบอกเงินไหลเข้ามากเงินบาทก็ต้องแข็งค่า เตือนผู้ส่งออกอย่าแตกตื่นเทขายดอลลาร์ออกมาซ้ำเติมบาทแข็ง พร้อมสอน "โฆสิต" เงินตลาดหุ้นช่วงนี้เป็น "เงินร้อน" หม่อมอุ๋ยโผล่อุ้มผู้ว่าฯ ธปท. ด้าน รองฯ นายกฯ โชว์วิสัยทัศน์แก้บาทแข็งด้วยการให้รัฐบาลเร่งลงทุน เพื่อให้มีการนำเข้าสูงขึ้น

วานนี้ (5 ก.ค.) ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง โดยปิดตลาดที่ระดับ 34.00/02 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 34.15/17 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าสุดของวันที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 34.15 บาท/ดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การที่เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากยังมีแรงเทขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกเข้ามาตลอดทั้งวัน ขณะที่ไม่มีแรงซื้อของผู้นำเข้า ส่วนค่าเงินเยนและค่าเงินยูโร วันนี้ก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามอุปสงค์และอุปทาน

"คาดว่าวันนี้ (6 ก.ค.) เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.90-34.15 บาท/ดอลลาร์ โดยคืนวันที่ 5 ก.ค. จะมีการรายงานผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานเดือน มิ.ย.ของสหรัฐ" เขากล่าว

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเกิดจากเงินทุนเข้ามาซื้อหุ้นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวคงเป็นเพียงช่วงระยะสั้น จึงไม่วิตกกังวลแต่อย่างใดและเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นผู้ดูแล ด้านอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั้นเห็นว่าในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เป็นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ต้องขึ้นอยู่กับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ว่าจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่าง ๆ ได้เริ่มปรับสูงขึ้นแล้ว เห็นได้จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องเพราะมีเงินต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดเมื่อเงินไหลเข้ามามากก็ยิ่งกดดันให้เงินบาทแข็งค่า แต่ผู้ส่งออกอย่าแตกตื่นในการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐออกมา เพราะอาจจะยิ่งกดดันให้เงินบาทแข็งค่าอีก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ภาคเอกชนควรมีการนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาในประเทศ เพื่อการลงทุนให้มีมากขึ้น เพราะภาวะต่างๆ เอื้ออำนวยการในลงทุนทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้การนำเข้าสินค้าถูกลง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นช่วงที่เหมาะในการขยายการลงทุน และจะช่วยสร้างความสมดุลของค่าเงินบาทให้มีมากขึ้นในภาวะที่มีเงินไหลเข้ามาในประเทศมากด้วย

ตอบท่านรองฯ โฆสิต "เงินร้อน"

สำหรับประเด็นที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ธปท.ช่วยตรวจสอบเงินไหลเข้ามาในไทยช่วงนี้เป็นเงินร้อนหรือไม่นั้น ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า เงินที่เข้ามาในตลาดหุ้นเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นเงินร้อนอยู่แล้ว โดยในช่วงเช้าดัชนีการซื้อขายของตลาดหุ้นระหว่างวันปรับตัวลดลง 4 จุดแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเงินที่เข้ามาในตลาดหุ้นมีทั้งเงินไหลเข้าออกอยู่

“กรณีที่สภาอุตสาหกรรมฯ เสนอให้แบงก์ชาติเข้าดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไปนั้น ขณะนี้เรากำลังดำเนินการอยู่แล้วคงยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา แต่คงบอกไม่ได้ว่าต่อไปจะมีเงินไหลเข้าออกมาในไทยมากน้อยแค่ไหนที่จะกดดันให้เงินบาทแข็งค่าอีก ซึ่งเราจะเข้าไปดูเมื่อค่าเงินบาทมีสปีดของค่าเงินที่แข็งมากเกินไปเท่านั้น แต่คงไม่ได้ดูเฉพาะว่าค่าเงินบาทควรอยู่ที่อัตราเท่าใด” ผู้ว่าการธปท.กล่าว

หม่อมอุ๋ยโผล่อุ้ม "ธาริษา"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธปท.และรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธปท.มีการดำเนินการดูแลค่าเงินบาทในขณะนี้ดีอยู่แล้ว ซึ่ง ธปท.รู้ดีว่าควรดูแลอย่างไรให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ เชื่อว่าช่วยเหลือผู้ส่งออกได้ และเชื่อว่าธปท.จะสามารถรับมือกับเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศจำนวนมากได้

โฆสิตโชว์เร่งลงทุนภาครัฐแก้บาท

วานนี้ (5 ก.ค.) นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม เผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นขณะนี้ มีผลกระทบต่อภาคส่งออก ซึ่งรัฐบาลจะพยายามเร่งรัดการลงทุน เพื่อให้การนำเข้าสูงขึ้น

"ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มีผลกระทบต่อการส่งออก ถ้าเราเร่งการลงทุนได้ การนำเข้าจะสูงขึ้น วิธีนี้จะทำให้ค่าเงินบาทบริหารได้ง่ายขึ้น" นายโฆสิตกล่าวและว่า เงินบาทที่แข็งค่าที่ระดับ 34.10 ต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น มีผลกระทบต่อบางอุตสาหกรรมและบางสาขาที่ต้องมีความยากลำบาก ซึ่งบางสาขาต้องปรับตัว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามจะเร่งรัดการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น

"ค่าเงินบาทในขณะนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ ผมไม่มีความเห็น แต่นักวิชาการมองว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่จุดไหนในช่วงเศรษฐกิจนั้นๆ ถ้าเทียบเป็นส่วนรวม"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.