พรเทพ พรประภา"ทีพี่ผมไม่ว่า... ทีผมพี่อย่าโวย"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

พรเทพ พรประภา เป็นลูกคนที่ 7 ในจำนวนลูกทั้งหมด 13 คนของถาวร และเป็นน้องชายแท้ ๆ ของคุณหญิงพรทิพย์ที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน (ถาวร + รำไพ พรประภา)

ชีวิตในวัยเด็กของพรเทพดูจะแตกต่างจากลูกคนอื่น ๆ ของถาวร ซึ่งอาจจะเป็นเพียงลูกคนเดียวที่ได้เรียนรู้และสัมผัสกับชีวิตในลักษณะที่ "ติดดิน" เหมือนคนธรรมดาทั่วไป ในขณะที่ลูกคนอื่น ๆ ไม่เคยพบหรือได้สัมผัสชีวิตแบบนั้น

การที่พรเทพมาใช้ชีวิตอยู่กับมารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ด้วยความเป็นอยู่แบบคนธรรมดาที่ต้องนั่งรถเมล์ ขึ้นรถราง นั่งสามล้อไปเรียนทุกวัน ซึ่งเขาเองก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันว่าทำไมต้องตามมาอยู่กับแม่ตั้งแต่เล็ก ๆ และโดยส่วนตัวระหว่างเขากับถาวรผู้เป็นพ่อก็ไม่ได้มีความใกล้ชิดสนิทกันเลย เรียกว่าห่างไกลกันมาก ในขณะที่พี่ ๆ น้อง ๆ ใช้ชีวิตกันอย่างสบาย

แต่มาถึงทุกวันนี้ เขากลับมีความรู้สึกว่า เป็นเพราะใช้ชีวิตช่วงนั้นอย่างตีนติดดิน เขาจึงได้มีโอกาสเรียนรู้ความเป็นชีวิตที่ดี

ในช่วงปี 2523-2525 เป็นช่วงที่พรเทพได้มีโอกาสใกล้ชิดและเข้าใจพ่อมากที่สุดจากการเดินทางติดตามไปต่างประเทศหลายครั้งหลายครา ได้รู้จักกับรัฐมนตรี และผู้ใหญ่อีกหลายคน รวมทั้งได้เรียนรู้วิธีการทำงานและยังได้รับการสนับสนุนจากคนเหล่านั้นด้วย นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับพรเทพทีเดียว

แต่ยังไม่ทันได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพ่อนานนัก พรเทพก้ต้องเผชิญปัญหาครั้งใหญ่กับกิจการที่เข้าบริหารงานอยู่ในอาคารแสดดำ อันเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงนั้น ทำให้ชีวิตของพรเทพต้องผันผวนไป ด้วยการตัดสินใจทิ้งงานไปใช้ชีวิตอยู่ที่รัฐแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาพร้อมคอรบครัว และได้ไปจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งเล็ก ๆ ของตนเองขึ้น พร้อมกับการเปิดร้านอาหารไทย ร้านขายของชำด้วย พรเทพกลับมาเมืองไทยอีกครั้งและได้เข้าร่วมงานที่สยามกลการในตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ด้านบริหารในปี 2527 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะขณะนั้นสยามกลการประสบกับปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก

เขาได้รับมอบหมายให้เข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาสายงาน แก้ปัญหายอดขายลด โดยเข้าไปช่วยทางด้านแผนกบริการและอะไหล่ทั่วประเทศ

แต่นั่นเป็นผลงานที่ไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างนัก เมื่อเทียบกับการได้เข้าไปช่วยดูแลกิจการดนตรีของสยามดนตรียามาฮ่า ซึ่งเปิดโอกาสให้พรเทพได้แสดงผลงานชิ้นโบว์แดงให้ทุกคนสยามกลการเห็นถึงความสามารถ

หลังจากนั้น พรเทพได้รับมอบหมายให้ช่วยคุมกิจการรถยนต์นิสสันในเขตกทม.ทั้งด้านบริการและอะไหล่ทั้งหมด ซึ่งในขณะนั้นมียอดขายลดลงไปจากเดิมมาก

เช่นเดียวกับที่บางกอกมอเตอร์เวอคส์ ซึ่งเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่พรเทพได้รับมอบหมายให้เข้ามาช่วยดูแลเมื่อ 6 ปีก่อนในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่

ความที่พรเทพเป็นน้องชายแท้ ๆ ของคุณหญิงพรทิพย์ และมีส่วนสนับสนุนให้พรเทพได้เข้าไปรับผิดชอบบริหารงานบริษัทในเครือข่ายของสยามกลการมากถึง 11 บริษัทในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเทียบกับพี่น้องพรประภาคนอื่น ๆ (ไม่รวมคุณหญิงพรทิพย์) แล้วถือว่ามากทีเดียว

ในปี 2533 ยอดขายผลิตภัณฑ์ทั้งกลุ่ม 11 บริษัทมีรายได้ถึง 5,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2532 ถึง 20% บริษัทที่ทำยอดขายได้มาก คือ บริษัทบางกอกมอเตอร์เวอร์คประมาณ 1,800 ล้านบาท บริษัทสยามกลการอะไหล่ 900 ล้านบาท บริษัทสยามกีกิ 900 ล้านบาท บริษัทสยามไดกิ้นเซลส์ 500 ล้านบาท บริษัทเอ็นเอชเค แบริ่งส์ (ประเทศไทย) 500 ล้านบาท บริษัทสยามเอลลิเวเตอร์ 500 ล้านบาท

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาภาพความขัดแย้ง ระหว่างพี่น้องในตระกูลพรประภา ต่อการแย่งชิงความเป็นใหญ่ในสยามกลการจะฉายภาพไม่ชัดเจนนัก อาจมีก็แต่เพียงความไม่พอใจต่อตำแหน่งหรืออำนาจที่ตนได้รับไม่ชัดเจนนัก อาจมีก็แต่เพียงความไม่พอใจต่อตำแหน่งหรืออำนาจที่ตนได้รับ

บางคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะที่ผ่านมาการเข้าควบคุมอำนาจของ THINK EARTH โครงการด้านพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่เขาให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง

การปฏิเสธที่จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่สยามกลการของพรเทพในเวลานี้ อุปมาอุปมัยมันก็เหมือนกับ "ทีพี่ผมไม่ว่า ทีผมบ้างพ่อย่าโวย" ดูไม่จืดแน่เมื่อถึงเวลานั้น

ก็คงไม่ใช่ความผิดอะไรหากวันหนึ่งพรเทพเกิดเผลอประกาศรวมบริษัท 11 แห่งเป็นกลุ่มบางกอกมอเตอร์เวอร์คขึ้นมาบ้าง คุณหญิงจะว่าอย่างไร

เครือข่ายธุรกิจ 11 บริษัท ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ พรเทพ พรประภา 1. บริษัท บางกอกมอเตอร์เวอร์ค จำกัดตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ 2. บริษัท สยามกีกิ จำกัด ตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ 3. บริษัท เอ็น เอส เค แบริ่งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตำแหน่ง ประธานกรรมการ 4. บริษัท สยามเอลลิวิเตอร์ จำกัด ตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ 5. บริษัท สยามกลการอะไหล่ จำกัด ตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ 6. บริษัท กีกิเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ 7. บริษัท สยามไดกิ้น จำกัด ตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ 8. บริษัท บางกอกโคมัตสุอินดัสตรีส์ จำกัด ตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ 9. บริษัท แมชีนเนอรี่ แอนด์ พาร์ทส จำกัด ตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ 10. บริษัท แมชีนเนอรี่ แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด ตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ 11. บริษัท ไดกิ้นแอร์คอนดิชั่นนิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.