สองคน ยลตามช่อง'สยามกลการ'


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกาศตัวภายใต้ชื่อ "กลุ่มสยาม" ดูเหมือนจะมีความหมายมากต่ออนาคตทางธุรกจิของสยามกลการตามแนวคิดที่จะมุ่งสู่การเป็นบริษัทสากล แต่ภายใต้รากฐานการบริหารงานแบบครอบครัวที่มี "พรประภา" นั่งคุมบังเหียนมาเป็นเวลานานหลายสิบปี จึงเกิดข้อขัดแย้งกันอย่างมากระหว่างความก้าวหน้ากับควมล้าหลังที่ยังคงอยู่ ดังนั้นภาพรวมของกลุ่มสยามวันนี้ในสายตาของคนอกจึงไม่แตกต่างอะไรนักกับกลุ่มสยามกลการเมื่อวันวาน!!

7 กรกฎาคม 2534 คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ ได้ถือเอาฤกษ์ที่ตรงกับวันเกิดของตนเองจัดงานกาลาดินเนอร์ ประกาศเจตนารมณ์ต่อการรวมตัวของบริษัทในกลุ่มสยามกลการ 32 บริษัทภายใต้ชื่อ "กลุ่มสยาม" หรือ "SIAM GROUP" เพื่อนำธุรกิจให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ

การขยายกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการภายในประเทศ และขยายการผลิตเพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ยานยนต์ และอะไหล่มาตรฐานสุงสุดในตลาดโลก และร่วมทุนกับบริษัทข้ามชาติลงทุนในธุรกิจอีกหลากหลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยปัจจัยที่พร้อม ทั้งบุคลากร ทุนเทคโนโลยีซึ่งทั้หงดมคือคำอรรถธิบายความหมายของการก้าวไปสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติของการเป็น "กลุ่มสยาม" ในครั้งนี้

ก่อนหน้านั้น เพียง 4 วัน คือ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2534 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ใหม่ทั้งรถยนต์สำเร็จรูปนำเข้า และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป

ผลจากการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ครั้งนี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มสยามกลการ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากที่สุด คือ มีโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์อีกกว่าสิบบริษัท

การขยายตัวของสยามกลการเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนก็เพื่อการป้อนเข้าสู่โรงงานประกอบรถยนต์ของตนเองในเบื้องแรก ซึ่งแต่ก่อนสยามกลการมีโรงงานประกอบรถยนต์หลายโรงและประกอบรถยนต์ออกมาหลายแบบหลายรุ่น อย่างเช่น อัลฟ่า ซูบารุ และต่อมาก็ต้องเลิกผลิตไป

ต่อสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่แปรเปลี่ยนไปจากผลกระทบของการผ่อนคลายกำแพงภาษีนำเข้ารถสำเร็จรูปและชิ้นส่วน ทำให้ธุรกิจประกอบรถในประเทศ และชิ้นส่วนที่เคยทำรายได้หลักให้กับกลุ่มสยามกลการมาโดยตลอดหลายสิบปี ต้องถึงจุดสั่นคลอนด้านความสามารถในการทำรายได้ จนกระทั่งมีผู้กล่าวว่า สยามกลการได้ถลำลึกสู่อุตสาหกรรมยานยนต์มากเกินไปซะแล้ว

จากจุดนี้นี่เองที่เชื่อมโยงเข้าสู่ความเข้าใจที่น่าจะเป็นเหตุเป็นผลต่อการประกาศปรับปรุงโครงสร้างของกลุ่มสยามกลการเสียใหม่

ถึงแม้ว่าผู้นำกลุ่มอย่างคุณหญิงพรทิพย์จะออกมายืนยัน ถึงห้วงเวลาของการประกาศปรับโครงสร้างกับการประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของรัฐบาลว่า "ไม่เกี่ยวกันเลย เราเตรียมการมาตั้งแต่ก่อนปีใหม่ว่า เราจะเปิดตัวกลุ่มสยามโดยใช้เวลาที่ผ่านมา 6 เดือนกับการเตรียมการ PRESENTATION และถือเอาวันเกิดตัวเอง ซึ่งคิดว่าต้องเป็นวันดีที่สุด ก็พอดีรัฐบาลมาแถลงข่าวภาษีในวันที่ 3 กรกฎาคม ก็เลยมากลบข่าวกลุ่มสยามหมด ซึ่งพวกเราก็น้อยใจจุดนี้เหมือนกัน"

แต่อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกลุ่มครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษีของรัฐโดยแท้

คุณหญิงพรทิพย์ได้อธิบายถึงความเป็นมาว่า ทำไมต้องรวมกลุ่ม ความจริงก็คือได้มีการรวมกลุ่มบริษัทมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งเรียกกันภายในว่า "กลุ่มสยามกลการ" แต่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ประกอบกับการรวมกันเป็นกลุ่มแล้วเกิดการเกื้อหนุนเพื่อเสริมซึ่งกันและกันอย่างจริงจัง ยังไม่ได้มีการจัดทำ และไม่เคยประกาศกับสาธารณชนข้างนอกอย่างเป็นทางการ

การประกาศต่อสาธารณชนถึงความเป็นกลุ่มสยามครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในที่สุดอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่มสยาม เพื่อเป็นการระดมสมองให้กับกิจการของกลุ่ม

ธุรกิจของกลุ่มสยามได้ถูกจัดแบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ ประเภทอุตสาหกรรมการผลิต ประเภทการค้า ประเภทอุตสาหกรรมการผลิตและการค้า ประเภทบริการ ประเภทดนตรีศึกษา ประเภทธุรกิจการเงิน และประกันภัย ประเภทธุรกิจอื่น ๆ รวมทั้งหมด 32 บริษัท โดยที่ประเภทอุตสาหกรรมการผลิตและการค้ายังคงเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับกลุ่มมากกว่า 50% ซึ่งจากนี้ต่อไปก็ยังคงเป็นธุรกิจในกลุ่มนี้อยู่นั่นเอง

แต่เดิมชื่อที่ใช้เรียกกันว่ากลุ่มสยามกลการนั้น มีบริษัทในเครือข่ายที่คนภายในสยามกลการบอกว่ามีมากกว่า 50 บริษัท แต่ภายหลังจากการจัดแบ่งกลุ่มประเภทธุรกิจแล้ว กลับลดลงเหลือ 32 บริษัทนั่นหมายถึงอะไร

ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ การมีเครือข่ายมากกว่า 50 บริษัท ภาพพจน์ที่ออกมามันน่าจะยิ่งใหญ่กว่าสำหรับการประกาศความเป็นกลุ่มสยามฯ ซึ่งจัดสรรให้เหลือเพียง 32 บริษัทหรือไม่

เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทที่เหลือ หลายคนถึงกับสงสัยว่าศึกภายในพรประภาคงระอุเหลือเกินจนต้องมีการแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างชัเจนหรือไม่

"เราต้องย้อนกลับมาดูว่า ใน 50 กว่าบริษัทที่เหลือในกลุ่มสยามกลการเดิมนั้น มีบริษัทอะไรบ้างที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มผู้บริหารสยามกลการ และมีบริษัทใดบ้างที่อยู่นอกเหนือการบริหารและภายใต้การจัดกลุ่มใหม่ใน 32 บริษัทนั้นมีการดึงบริษัทที่อยู่นอกกลุ่มเข้ามามากน้อยแค่ไหน และบริษัทที่เหลือจากการจัดกลุ่มนั้นใครเป็นผู้ดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ในระยะหลังนี้หรือไม่ ซึ่งตัวนี้อาจเป็นแรงผลักดันเรื่องการบริหารต่าง ๆ ทำให้การสั่งงานจากสยามกลการไปยังบริษัทเหล่านี้เป็นไปด้วยความลำบากมากขึ้น" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับสยามกลการให้ข้อสังเกตต่อการจัดกลุ่มครั้งนี้

จากข้อสังเกตดังกล่าว "ผู้จัดการ" ได้สอบถามกลับไปยังเจ้าหน้าที่ของสยามกลการหลายคน ปรากฏว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดสามารถให้ความกระจ่างถึงรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัท ในเครือข่ายของกลุ่มสยามกลการได้เลยแม้แต่รายชือ่ของบริษัทที่เคยอยู่ในกลุ่มก็ไม่มี

ภายใต้การรวมเป็นกลุ่มสยามฯ ในครั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งจำนวน 12 คนขึ้นมารองรับการบริหารงานในกลุ่ม โดยให้ชื่อว่า "คณะกรรมการการบริหารกลุ่มสยาม" หรือ "SIAM GROUP POLICY COMMITTEE" ซึ่งประกอบด้วยคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้จัดการใหญ่ เกษม ณรงค์เดช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามยามาฮ่า จำกัด, ปรีชา พรประภา ประธานกรรมการ, กวีวสุวัต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคลากร, พรเทพ พรประภา รองผู้จัดการใหญ่วางแผนและส่งเสริม, พรพงษ์ พรประภา รองผู้จัดการใหญ่วิเทศสัมพันธ์, พรพินิจ พรประภา รองผู้จัดการใหญ่การตลาด, เออร์วิน มูลเลอร์ รองผู้จัดการใหญ่ประชาสัมพันธ์และกิจการทั่วไป, อัจฉรินทร์ สารสาส รองผู้จัดการใหญ่อุตสาหกรรม, ณัฐวุฒิ จินะสมบัติ รองผู้จัดการใหญ่ ENTERPRISE MARKETING, วิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ รองผู้จัดการใหญ่ INFORMATION TECHNOLOGY, และวิรัช ไพรัชพิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสการเงินและการลงทุน

ทั้งหมดเป็นผู้บริหารในบริษัทสยามกลการที่ถูกดึงให้เข้ามารับผิดชอบต่อการกำหนดทิศทางในกลุ่มสยาม ยกเว้นเกษม ณรงค์เดชซึ่งเป็นผู้บริหารภายนอกสยามกลการเพียงคนเดียวในคณะกรรมการชุดนี้

คุณหญิงพรทิพย์ พูดถึงหลักเกณฑ์ในการเลือกคนเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการบริหารกลุ่มสยามฯ ไว้ 3 ประการ คือ

ประการแรก คุณหญิงเป็นผู้เลือกเอง

ประการที่สอง ไม่ดูที่วัยซึ่งแตกต่างจากอดีตที่จัดความสำคัญของวัยไว้ในอันดับต้น ๆ ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย

ประการที่สาม เรื่องคุณสมบัติและความสามารถของแต่ละบุคคลซึ่งถือว่าทั้ง 12 คนมีความเชี่ยวชาญที่จะดูแลทั้ง 7 ประเภทได้หมด

"บอร์ดนี้จะไม่มีประธาน จะเป็นกลุ่มบริษัทที่แปลก คณะกรรมการทุกคนจะใหญ่เท่ากันหมด ไม่มีประธาน รองประธาน แต่มีคุณหญิงเป็นผู้นำกลุ่มและเป็น ORGANIZER ในการเรียกประชุมเดือนละครั้ง ทุกคนมีอิสระในการพูดคุยเสนอความคิดเห็น และเลือกเอาความคิดเห็นอันที่ดีที่สุดมาใช้ หน้าที่จริง ๆ ของคณะกรรมการบริหารชุดนี้ คือ การเข้าไปเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ไปควบคุมการบริหารงานของเขา เพราะแต่ละบริษัทมีนโยบายที่แน่ชัดของตนอยู่แล้ว" คุณหญิงพรทิพย์กล่าว

กลุ่มสยามเท่ากับเป็น CORPORATE STRATEGY ไม่ต้องนำเรื่องเสนอบอร์ด แต่จะเป็น ADVICED BUREAU สิ่งที่หวังจาก POLICY COMMITTEE ก็คือ

ข้อแรก หวังในเรื่องของการแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์ ในกรณีที่บางหน่วยงานคนอาจจะเกินในขณะที่อีกหน่วยงานหนึ่งคนขาด

ข้อสอง เรื่องของอาร์แอนด์ดี ธุรกิจในเครือข่ายของสยามกลการมีเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับไฮเทคโนโลยีมาก ซึ่งขณะนี้กระจัดกระจายมาก แต่ละบริษัทก็มีอาร์แอนด์ดีของตนเอง แต่จากนี้ไปจะมีการตั้ง R&D CENTER ขึ้นแล้วให้บริษัทเหล่านี้มารวมตัวกันจะได้ประโยชน์มหาศาลจากตรงนี้

ข้อที่สาม การเป็นบริษัทในกลุ่มสยามย่อมได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในเรื่องของการฝึกอบรมพนักงานมากกว่าการที่แต่ละบริษัทจะติดต่อกันไปเอง

ข้อที่สี่ อำนาจการต่อรองซึ่งแน่นอนว่าเสียงต้องใหญ่และดังกว่าเดิม กรณีที่เห็นชัดที่สุด คือ การซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากไอบีเอ็ม การรวมกลุ่ม 32 บริษัททำให้ไอบีเอ็มต้องถือปฏิบัติเป็น 1 ลูกค้ารายใหญ่

ข้อที่ห้า เป็นการลดปัญหาเรื่องการลงทุนซ้ำซ้อนลงไปได้

หากมองโดยภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการบริหารในครั้งนี้ก็นับได้ว่า เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่งของกิจการที่ผูกขาดอยู่กับการบริหารแบบครอบครัวมานานหลายสิบปี

ในขณะที่คนใกล้ชิดกับสยามกลการกลับรู้สึกถึงโครงสร้างใหม่ว่า "เป็นแรงผลักดันที่เกิดขึ้นจากความไม่คล่องตัวในการสั่งงาน ซึ่งแต่เดิมคนกลุ่มนี้เป็นผู้บริหารของสยามกลการ ถ้าสั่งในนามสยามกลการคงจะไม่สะดวก จึงดึงผู้บริหารกลุ่มนี้ขึ้นมาสั่งงานในรูปของกลุ่ม ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่แตกต่างจากการบริหารแบบเดิมเพียงแต่สร้างภาพพจน์ใหม่ขึ้นมาสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ และเพื่อให้อะไรมันชัดเจนขึ้นมาเท่านั้น ส่วนที่ว่ามันสมองกลุ่มนี้เมือ่สั่งงานไปแล้วบริษัทในกลุ่มจะทำตามมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่เขามีพาวเวอร์ขนาดไหน"

การที่เกษม ณรงค์เดช เป็นผู้บริหารที่อยู่นอกบริษัทสยามกลการเพียงคนเดียวที่ก้าวเข้ามาเป็น 1 ในคณะกรรมการบริหารกลุ่มสยาม จึงทำให้ถูกมองว่า การปรับโครงสร้างของกลุ่มสยามกลการครั้งนี้ คนที่อยู่เบื้องหลังก็คือเกษม

เกษมเป็นคนเอาจริงเอาจังในเรื่องการทำงานอย่างมาก ไม่จำเป็นแล้วเขาจะไม่ออกนอกหน้านอกตาเป็นอันขาด ความเป็นจริงนี้ไม่ใช่รับรู้แค่การทำงานร่วมกับพี่ชาย (ประสิทธิ์ ณรงค์เดช) เท่านั้น หากเมื่อเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามยามาฮ่า ซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งของพ่อตา และภรรยา เกษมก็ทำหน้าที่ที่ได้รับขึ้นก่อผลกำไรให้กับบริษัทอย่างสูงตลอดมา

ว่ากันว่าช่วงที่บริษัทสยามกลการประสบมรสุมด้านหนี้สินจากค่าเงินเยนแข็งตัวเมื่อเทียบกับเงินบาทประมาณปี 2526 เกษมและพรทิพย์ได้นำบริษัทสยามยามาฮ่าเข้ามาช่วยทั้งในรูปเงินให้ยืม (ไม่คิดดอกเบี้ย) และค้ำประกัน L/C ให้

นอกจากนี้ ผลกำไรสะสมของสยามยามาฮ่าที่ได้จากฝีมือการบริหารงานของเกษม ณ สิ้นปี 2529 ร่วม 500 บาท ยังถูกนำไปจุนเจือให้กับหลายบริษัทในเครือสยามกลการในช่วงที่ประสบปัญหาการขาดทุนอีก

เกษมไม่เคยออกหน้าที่จะเข้าไปบริหารในสยามกลการ ไม่เคยมีตำแหน่งในสยามกลการ และไม่เคยประกาศว่าตนเองมีส่วนอยู่เบื้องหลังการแก้ไขวิกฤตการณ์ของสยามกลการในช่วงปี 2527-2529

ความสามารถในเชิงการบริหารประกอบกับแนวคิดที่ก้าวหน้าของเกษมนี่เองที่มีส่วนผลักดันให้สยามกลการก้าวสู่ยุคที่เรียกว่า "MODERNIZED SIAM MOTORS" หลังการจากไปของนุกูล ประจวบเหมาะ

การประกาศทุ่มทุนกว่า 300 ล้านบาทซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มเมนเฟรมเพื่อนำมาใช้พัฒนางานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ครบวงจรของคุณหญิงพรทิพย์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2532 เป็นการตัดสินใจลงทุนครั้งสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารองค์กรสมัยใหม่ของสยามกลการ

ที่สำคัญต่อมา คือ การดึงวิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ มือดีด้านคอมพิวเตอร์จากธนาคารกสิกรไทยมาเป็นผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ INFORMATION TECHNOLOGY เพื่อมาควบคุมโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์

ซึ่งนอกเหนือจากการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการควบคุมการผลิตในโรงงานแล้ว ยังได้นำคอมพิวเตอร์เข้าแทรกซึมทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบบัญชี บริหารบุคคล ระบบการบริการเช่าซื้อและการตลาด โดยเฉพาะการทยอยติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ให้กับสาขาของบริษัททั้ง 111 สาขาทั่วประเทศ

นอกจากนั้นแล้ว สยามกลการยังได้ลงทุนเพิ่มโดยการใช้บริการ "ดาต้าเน็ท" จากบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงานใหญ่และสาขาต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมของบริษัทสามารถเทเลคอมมาใช้ประกบกับระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์และดาต้าเน็ท

ข้อสำคัญการนำ "INFORMATION TECHNOLOGY" เข้ามาใช้ในสยามกลการจะมีรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลชัดเจน 3 ด้าน คือ

หนึ่ง ระบบการผลิต

สอง ระบบการบริหารภายในที่จะทันสมัยและรวดเร็วมากขึ้น

สาม ระบบการบริการลูกค้าหลังการขายที่จะสะดวกสบาย และจะกลายเป็นจุดขายที่สำคัญในอนาคตโดยอาศัยคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย

คุณหญิงพรทิพย์กล่าวถึงการลงทุนที่มีต่อเนื่องว่า "เราได้ลงทุนในส่วนคอมพิวเตอร์ไปประมาณ 350 ล้านบาท และถ้าหากรวมการลงทุนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งกลุ่ม คาดว่าจะใช้งบประมาณถึงกว่า 1,000 ล้านบาท เพราะขณะนี้เรากำลังพัฒนาก้าวสู่ทศวรรษใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาใช้มากขึ้น รวมทั้งเตรียมการพัฒนาบุคลากรและปรับปรุงระบบงานอยู่ตลอดเวลา"

การพลิกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของสยามกลการครั้งนี้ แน่นอนว่า เป็นแรงผลักดันที่มาจากเกษม

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเกษมมากได้เล่าให้ฟังว่า "โดยส่วนตัวของเกษมเองแล้ว เป็นคนที่ชอบและให้ความสนใจในเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์มาก ๆ ช่วงที่จะเอ็นทรานซ์ เกษมต้องการที่จะเรียนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์เช่นเดียวกับพี่ชาย (ประสิทธิ์ ณรงค์เดช) แต่พ่อเห็นว่า พี่น้องไม่ควรที่จะเรียนเหมือนกัน ควรจะเรียนบัญชีมากกว่าเพื่อว่าจบมาจะได้ช่วยกันได้ เกษมจึงต้องหันไปเลือกเรียนทางด้านบัญชีแทน แต่ความสนใจเรื่องนี้ของเกษมไม่ได้หมดสิ้นลง จะเรียกว่าบ้าก็ได้ ทุกวันนี้ไปดูที่บ้านของเขาได้เลยมีแต่คอมพิวเตอร์และพวกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เต็มไปหมด"

นั่นอาจจะเป็นเหตุผลส่วนตัวประการหนึ่งที่มาสนับสนุนเข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของสยามกลการในช่วงปี 2528-2529

"ภายหลังจากที่เราประสบปัญหาในช่วงปี 2528-2529 จนกระทั่งมีการเปลี่ยนผู้บริหาร (สมัยที่นุกูล ประจวบเหมาะ เข้ามารับตำแหน่งประธานบริษัท) ก็เริ่มมีการศึกษากันว่า เหตุของการพลาดพลั้งนั้นมาจากอะไร ซึ่งเราพบว่าปัญหาประการหนึ่งก็คือ เรายังไม่มีระบบที่ทันสมัยในเรื่องข้อมูลที่ทางผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางต้องใช้ในการตัดสินใจแต่ละวัน เพราะแม้เราจะใช้คอมพิวเตอร์มานาน แต่ก็เป็นเครื่องที่เก่ามาก ความสามารถในเรื่องจัดเก็บข้อมูลก็มีจำกัด" วิรัช ไพรัชพิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสการเงินและการลงทุนของสยามกลการกล่าว พร้อมทั้งยอมรับว่า ที่ผ่าน ๆ มาการตัดสินใจหลายครั้งของทีมผู้บริหารใช้ความรู้สึกและประสบการณ์มากกว่าข้อมูล

ถึงแม้ว่าคนในสยามกลการจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ความคิดในเรื่องการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ของสยามกลการนี้ เกิดจากคุณหญิงพรทิพย์ในฐานะประธานกรรมการปฏิบัติการ ที่ต้องการจะให้การตัดสินใจของบริษัทเป็นไปตามระบบข้อมูลที่ทันสมัย ในขณะที่คนภายนอกกลับมองว่าความคิดนี้น่าจะมาจากเกษม ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดปกติอะไรมากมายนัก สำหรับการเป็นสามีภรรยาที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หากเกษมจะเสนอแนวความคิดนี้ไป แล้วคุณหญิงพรทิพย์ดำเนินการตาม

เช่นเดียวกับการปรับโครงสร้างเป็นกลุ่มสยามในครั้งนี้ บางคนสงสัยว่าเป็นการประกาศถึงบทบาทที่แท้จริงของคนชื่อเกษม ณรงค์เดชจริงหรือไม่ ซึ่งแท้จริงของคนชื่อเกษม ณรงค์เดชจริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยสำหรับคนที่คุ้นเคยและรู้จักสยามกลการเป็นอย่างดี กับการที่จะมีชื่อของเกษม ณรงค์เดชรวมอยู่ในคณะกรรมการบริหารกลุ่มด้วย

เหตุผลประการแรกก็คือ เกษมเป็นคนฉลาดและเก่ง เหมาะสมที่จะดึงเข้ามาเป็นมันสมองของกลุ่ม

เหตุผลประการที่สอง เกษมเป็นสามีของคุณหญิงพรทิพย์ ซึ่งเป็นทายาทคนสำคัญที่จะสานต่อกิจการทั้งหมดของกลุ่มแทนถาวร พรประภา

"คุณเกษมเป็นลูกเขยคนเดียว ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสยามกลการมากที่สุดขณะนี้ ซึ่งแต่เดิมทีสยามยามาฮ่าภายใต้การบริหารของเกษม แยกตัวเป็นเอกเทศไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มสยามกลการ แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าระยะหลังเกษมเข้ามาช่วยทั้งในเรื่องการเงินและบุคลากรในกรณีที่คนของสยามกลการขาดเรียกว่า คนของสยามยามาฮ่าอยู่ในสยามกลการมานานแล้วเพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยออกมาโดยตำแหน่ง การที่จะออกนอกหน้าได้แสดงว่าคนในกลุ่มต้องยอมรับกันมากขึ้น การปรับโครงสร้างเป็นกลุ่มสยามก็เป็นช่วงจังหวะเหมาะต่อการก้าวเข้ามาของเกษม โดยมีคุณหญิงปูทางไว้ให้ ซึ่งการเป็นกลุ่มสยามย่อมถือว่าใหญ่กว่าสยามกลการ แต่ไม่ได้ถึงกับเชิดชูอะไรขึ้นมา เพียงแต่เป็นการเปิดตัวให้รู้ว่าเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วนะ" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับสยามกลการให้ข้อคิดเห็นต่อการเข้ามาในกลุ่มสยามของเกษม ณรงค์เดช

ผู้บริหารนอกพรประภาที่เกษมเป็นผู้ชักชวนเข้ามามี อัจฉรินทร์ สารสาส มาคุมฝ่ายผลิตแทนกวี วสุวัต ลูกหม้อเก่าแก่ วิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ จากธนาคารกสิกรไทยเพื่อมาสร้างเครือข่ายการบริหารระบบคอมพิวเตอร์ เออร์วิน มูลเลอร์ มาคุมด้านการประชาสัมพันธ์ ณัฐวุฒิ จิตะสมบัติ อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาดภาคอุตสาหกรรมของไอบีเอ็มมาดูแลด้านการวางแผนงานด้านการตลาด

แนวคิดของการเป็นบริษัทสากล มีระบบบริหารงานสมัยใหม่โดยใช้นักบริหารมืออาชีพเพื่อรองรับการขยายข่ายงานตามแผน "GLOBAL PLAN" หรือ "แผนทะลวงโลก" ซึ่งเป็นแผนการขยายตลาดครั้งยิ่งใหญ่ โดยร่วมมือกับนิสสันมอเตอร์ ญี่ปุ่นนั้น เป็นแนวคิดที่ถาวรได้พูดถึงทิศทางของสยามกลการในอนาคตเมื่อครั้งที่เปิดหมวกอำลาสยามกลการเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2529

และผู้ที่ถูกวางตัวให้มานั่งเป็นประธานกลุ่มสยามกลการเพื่อสืบต่อการบริหารงานตามปณิธานของเจ้าสัวถาวรก็คือ นุกูล ประจวบเหมาะ

แต่ในครั้งนั้น แนวคิดของการเป็นบริษัทสากลยังไม่ทันสัมฤทธิ์ผล นุกูลก็ชิงลาออกเสียก่อนเพราะเบื่อหน่ายในสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันระหว่างตนเอง (ระบบสากล) กับคนพรประภาซึ่งเป็นแบบครอบครัวโดยเฉพาะการมีปัญหาขัดแย้งกับคุณหญิงพรทิพย์

"ผมเข้าไปรับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2529 ก็พยายามที่จะหาทางแก้ไขปรับปรุงกิจการให้มีประสิทธิภาพ พยายามให้มีการบริหารงานแบบมืออาชีพเลิกระบบครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดการต่าง ๆ และพยายามแก้ไขปัญหาเงินกู้ดอกเบี้ยสูง และการขาดทุนเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยน" นุกูลให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่ได้ทำไปตลอดช่วง 1 ปีกับ 5 เดือนเศษที่เข้าไปบริหารสยามกลการ

ซึ่งนั่นอาจจะเป็นรากฐานของโครงสร้างในระบบสากลที่มืออาชีพอย่างนุกูลได้วางไว้ให้กับสยามกลการ ขึ้นอยู่แต่เพียงว่าผุ้ที่จะมาบริหารสืบสานต่อในตำแหน่งของนุกูลจะมีแนวความคิดที่เห็นพ้องต้องกันกับระบบนี้หรือไม่

ตลอดช่วง 3 ปีหลังการจากไปของนุกูล ต้องยอมรับว่า สยามกลการได้พยายามปรับตัวอย่างมากโดยเฉพาะการปฏิบัติการในเชิงรุก กรณีอย่างเช่นการปรับองค์กรใหม่ การสร้างเครือข่ายการตลาดที่แข็งแกร่ง การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการควบคุมการผลิต การลงทุนในห้องพ่นอบสีที่ทันสมัยที่สุดมูลค่า 160 ล้านบาท หรือแม้กระทั่งการประกอบรถยนต์ด้วยระบบหุ่นยนต์ก็ตาม ถือได้ว่าเป็นความพยายามของสยามกลการในการสร้างภาพพจน์ต่อความก้าวหน้าขององค์กรที่ออกจะประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว

ในขณะเดียวกันกับความพยายาม ในการปรับโครงสร้างการบริหารภายใน ที่หลายคนกลับมองสวนทางว่าเป็นการปรับเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในองค์กรหรือ "ศึกสายเลือด" ใน "พรประภา" นั่นเอง

เมื่อครั้งที่นุกูลลาออกจากการเป็นประธานกรรมการของสยามกลการ ถาวรได้ปรับตัวผู้บริหารระดับสูงในบางตำแหน่งเพื่อความเหมาะสม คือ ให้ปรีชา พรประภา ผู้จัดการใหญ่ขึ้นมาเป็นประธานบริหารอีกตำแหน่งหนึ่ง และให้คุณหญิงพรทิพย์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานปฏิบัติการ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ซึ่งครั้งนี้นี่เองที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เป็นการประกาศอย่างเด่นชัดถึงทายาทที่จะเข้ามารับช่วงการบริหารงานต่อจากถาวร

และคนผู้นั้นไม่ใช่ใครนอกจากคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดชนั่นเอง

หลังจากนั้น สยามกลการได้มีการปรับปรุงผู้บริหารระดับสูงใหม่อีก 2 ระลอก

ระลอกแรกเป็นการปรับครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2533 ซึ่งครั้งนั้นมีการประกาศแต่งตั้งผู้บริหารในตำแหน่งใหม่ถึง 14 คน คือ

คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสสยามกลการ เป็นประธานปฏิบัติการ

กวี วสุวัต รองผู้จัดการใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเป็นรองผุ้จัดการใหญ่อาวุโสพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคลากร

วิรัช ไพรัชพิบูลย์ รองผุ้จัดการใหญ่ด้านการเงิน เป็นรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสการเงินและการลงทุน

เออร์วิน มูลเลอร์ รองผู้จัดการใหญ่ด้านบริหารเป็นรองผู้จัดการใหญ่ประชาสัมพันธ์และกิจการทั่วไป

พรเทพ พรประภา รองผู้จัดการใหญ่ด้านสินค้าพิเศษ เป็นรองผู้จัดการใหญ่วางแผนและส่งเสริม

พรพงษ์ พรประภา ผู้ช่วยรองผุ้จัดการใหญ่ด้านอุตสาหกรรม เป็นรองผู้จัดการใหญ่วิเทศสัมพันธ์

พรพินิจ พรประภา ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ด้านการตลาด เป็นรองผู้จัดการใหญ่การตลาด

ประพัฒน์ เกตุมงคล รองผู้จัดการใหญ่ด้านการตลาด เป็นรองผู้จัดการใหญ่ ENTERPRISE MARKETING

อัจฉรินทร์ สารสาส ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ด้านอุตสาหกรรม เป็นรองผู้จัดการใหญ่อุตสาหกรรม

วิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ ผู้จัดการทั่วไป (อาวุโส) ฝ่ายคอมพิวเตอร์ เป็นผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ INFORMATION TECHNOLOGY

สมชาย พงษ์เพ็ชร์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการกลางและรักษาการทั่วไปฝ่ายอะไหล่นิสสัน เป็นผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ขายและบริการ

เฉลิมวงศ์ กัมปนาทแสนยากร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายกิจการทั่วไป เป็นผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่บริการกลางและอะไหล่

ศิริชัย สายพัฒนา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เป็นผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่กิจการการตลาด

การที่ไม่มีชื่อของปรีชา พรประภาในรายชื่อประกาศครั้งนี้ทำให้มองไปว่าเกิดการยึดอำนาจการบริหารขึ้นในสยามกลการ จนทำให้ปรีชาต้องออกมาปฏิเสธอข่าดังกล่าวพร้อมทั้งพูดถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครอบครัวและตำแหน่งที่คนภายนอกมองว่า "ถูกแขวน"

"ความขัดแย้งก็มีเป็นธรรมดาไม่ว่าบริษัทไหนที่มีการขยายงาน ซึ่งก็อาจจะมีคนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะในหน่วยงานมีต้องหลายฝ่าย อย่างสยามกลการก็เป็นบริษัทใหญ่ที่มีบริษัทลูกหลายบริษัท ก็มีการแบ่งบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันไปตามขอบเขตของกฎระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ โดยบางคนก็อาจจะมีอำนาจน้อย บางคนก็อาจจะมีอำนาจมากในด้านของการบริหาร บางคนก็ดูถึง 3 บริษัท บางคนก็ดูเพียงแห่งเดียว

ในตำแหน่งที่คนมองว่า ถูกแขวนนั้นคงไม่ใช่ เพราะจะให้เราลงไปอยู่อย่างสมัยก่อนเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ที่ต้องเดินไปดูตามโรงงานประกอบรถยนต์คงเป็นไปไม่ได้ เราสามารถโปรโมทคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนได้ ตอนนี้เราขึ้นมาถึงระดับประธาน เราก็ควรคุมเฉพาะนโยบายเท่านั้น จะไปคุมน็อตคุมสกรูเหมือนในอดีตคงไม่ได้ การจัดสรรหน้าที่ในปัจจุบันนี้แต่ละคน ก็ดูแลไปตามสายงานไม่มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างที่เป็นข่าว และในแต่ละสายงานเราก็พยายามโปรโมทให้เขามีความสามารถพึ่งตนเองได้ โดยให้แต่ละคนได้รับผิดชอบในสายงานของตนอย่างเต็มที่ตามนโยบายที่เราได้กำหนด"

จากท่าทีในครั้งนี้ดูเหมือนว่าปรีชาจะยอมรับบทบาทที่ถูกมอบหมายให้กับการเป็นผู้คุมนโยบาย เพราะอย่างน้อยระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาก็คงจะทำให้ปรีชาทำใจคุ้นเคยกับมันได้

อีก 3 เดือนต่อมา การปรับระลอกสองจึงเกิดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน ในงานเลี้ยงที่จัดโดยถาวร พรประภา ประธานกิตติมศักดิ์ของสยามกลการ เพื่อเป็นเกียรติให้กับคุณหญิงสุเนตร พงษ์โสภณ ในฐานะที่ปรึกษาของบริษัทที่ได้เลื่อนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นขั้นทุติยจุลจอมเกล้า

ถาวรได้ประกาศท่ามกลางผู้บริหารระดับสูงของบริษัทว่า ได้มีคำสั่งปรับปรุงองค์กรบริหารและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหม่ โดยเลื่อนปรีชาจากผู้จัดการใหญ่ขึ้นไปเป็นประธานกรรมการของบริษัท และให้คุณหญิงพรทิพย์จากประธานปฏิบัติการขึ้นมาเป็นผู้จัดการใหญ่แทน

ซึ่งการประกาศแต่งตั้งครั้งนี้เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่ปรีชากำลังอยู่ระหว่างการดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น จึงไม่ได้มีโอกาสรับรู้ถึงการประกาศแต่งตั้งในครั้งนี้

ไม่ว่ากระแสแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเรื่องการปรับเปลี่ยนองค์กรจะออกมาในรูปใดก็ตาม ความเพียรพยายามของคนในสยามกลการที่ต้องการอธิบายภาพลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่ออกมาว่า เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากการขยายตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และเพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทันต่อเหตุการณ์รวมทั้งทำให้บริษัทเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นความจริง สำหรับภาพพจน์ต่อการนำมืออาชีพเข้ามาร่วมบริหารงาน เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ความเป็นระบบครอบครัวของพรประภาลดน้อยลงไปถึงครึ่งหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบการทำงาน ถึงแม้ว่ามีมืออาชีพเข้ามาช่วยก็ไม่ได้หมายความว่า มืออาชีพจะเข้ามาช่วยให้การบริหารงานประสบผลสำเร็จได้ ถ้าผู้กุมอำนาจสูงสุดไม่ยอมปล่อยมือ

จะสังเกตเห็นได้จากโครงสร้างการบริหารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ระดับรองผู้จัดการใหญ่ซึ่งรับผิดชอบงานในฝ่ายโดยตรง แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเองถึงแม้เรื่องนี้จะได้รับมอบหมายให้กระทำแล้วก็ตาม ก็ยังคงต้องส่งเรื่องขออนุมัติความเห็นชอบกลับจากคุณหญิงพรทิพย์ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

แรงผลักดันที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการรวมเป็นกลุ่มสยาม ก็คือ การเข้ามาของนิสสันมอเตอร์ญี่ปุ่น

บริษัทสยามกลการและนิสสันเป็นผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียวในประเทศไทยขณะนี้ที่ไม่มีบริษัทแม่ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเข้าร่วมในการลงทุน ขณะที่บริษัทอื่น ๆ ที่บริษัทแม่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเข้ามาถือหุ้นมากกว่าครึ่ง

นั่นเป็นเพราะความเป็นพรประภาที่ไม่ต้องการให้ใครเข้ามามีบทบาทโดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ

แต่เมื่อสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมรถยนต์เปลี่ยนแปลงไปตามจำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สยามกลการต้องยอมเปิดให้นิสสันมอเตอร์ ญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นกิจการในเครือข่าย หลังจากที่บริษัทนี้ได้ใช้ความเพียรพยายามในการเจรจามานานกว่า 8 ปี

สาเหตุที่นิสสันมีความเพียรพยายามที่จะขอเข้ามาร่วมทุนกับสยามกลการ จากการศึกษานโยบายของนิสสันมอเตอร์ ญี่ปุ่นนั้น จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นิสสันเน้นเรื่องแผนโลกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการอาศัยประเทศอื่น ๆ เป็นฐานการส่งออก

"ก็ต้องแลกเอา ถ้าอยากจะโดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต และมีผู้บริหารจากญี่ปุ่นเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดจนประสบผลสำเร็จในการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกอย่างบริษัทยูลุง บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวันที่นิสสันเข้าไปถือหุ้นจำนวนมาก โดยส่งทั้งคนและเทคโนโลยีไปช่วยจนทำให้บริษัทนี้ยิ่งใหญ่ในเรื่องการส่งออก" แหล่งข่าวในวงการรถยนต์กล่าว

ตามข้อตกลงบริษัทนิสสันมอเตอร์ ญี่ปุ่น จะเข้าถือหุ้น 25% ในบริษัทของกลุ่ม 2 บริษัท คือ บริษัทสยามกลการและนิสสัน จำกัด และบริษัทสยามอุตสาหกรรมรถยนต์ จำกัด ซึ่งทุนที่นิสสันมอเตอร์ลงทุนร่วมครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญว่าจะต้องขยายธุรกิจการจำหน่ายรถยนต์ไปต่างประเทศรวมถึงการเพิ่มความสามารถในด้านเทคโนโลยีด้วย

ดังนั้น การจะก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทสากลหรือขยายตัวไปในต่างประเทศไม่ว่าจะโดยทิศทางใดก็ตาม กลุ่มสยามกลการไม่อาจลดการพึ่งพานิสสันได้ กลับต้องเพิ่มดีกรีแห่งความร่วมมือไปเรื่อย ๆ ในด้านการใช้เครือข่ายทางการตลาด เพราะนิสสันมีความเข้มแข็งในด้านนี้

"ประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าเทคโนโลยีหรือการบริหารงานก็ตาม สยามกลการจะต้องพึ่งพาต่างชาติอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่บริษัทรถยนต์เผชิญอยู่เช่นทุกวันนี้ย่อมต้องใกล้ชิดมากขึ้น ในที่สุดนิสสันมอเตอร์จะต้องเรียกร้องในเรื่องหุ้นเพิ่มเติมจากกลุ่มสยามกลการมากขึ้น และเมื่อถึงเวลาหนึ่งกลุ่มสยามก็ต้องผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น" แหล่งข่าวระดับสูงในวงการรถยนต์ให้ข้อคิดเห็น

ซึ่งในเรื่องดังกล่าวสามารถยืนยันได้จากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัททั้ง 2 แห่งที่นิสสันมอเตอร์ เข้าถือหุ้น ซึ่งมีจำนวนถึง 33.3% ไม่ใช่ 25% อย่างที่ผู้บริหารของสยามกลการกล่าว

จำนวนหุ้นตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทสยามกลการและนิสสัน จำกัด ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533 ระบุว่าหุ้นของบริษัท นิสสันมอเตอร์ จำกัด มีจำนวน 3,333 หุ้น (มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท) จากจำนวนทั้งหมด 13,332 หุ้น ส่วนที่เหลือจำนวน 9,999 หุ้นเป็นหุ้นของคนในตระกูลพรประภาทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับจำนวนหุ้นของบริษัทสยามอุตสาหกรรมรถยนต์ จำกัด (เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท นิสสัน ออโตโมบิล จำกัด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2533) ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2533 บริษัท นิสสันมอเตอร์ จำกัด ถือหุ้นจำนวน 33,333 หุ้น (มูลค่าหุ้นละ 100 บาท) จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 133,332 หุ้น

หุ้นจำนวน 33.3% ที่นิสสันมอเตอร์ถือใน 2 บริษัทดังกล่าว เป็นหุ้นที่มาจากการขายหุ้นเพิ่มทุนของทั้ง 2 บริษัท จากเดิมมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพิ่มเป็น 13,332,000 บาท (ทั้ง 2 บริษัทเพิ่มทุนในอัตราที่เท่ากัน)

และผลสืบเนื่องจากข้อตกลงของสัญญาร่วมทุนที่ได้กำหนดสัดส่วนของคณะกรรมการบริษัทว่า จำนวนกรรมการให้เป็นไปตามอัตราส่วนของผู้ถือหุ้น คือ ฝ่ายไทยมี 9 คน กรรมการฝ่ายญี่ปุ่นมี 3 คน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของนิสสันที่เข้ามาเป็นกรรมการของบริษัททั้ง 2 แห่ง คือ มร.เทซูโอะ ทาบาตา มร.ทาเกฮิโกะ ทานิกูชิ มร.จิโร่ โอมูระ

การที่ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานบริษัทในกลุ่มนี่เอง ที่นักวิชาการทางด้านการจัดการธุรกิจวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญของการประกาศปรับตัวเป็นกลุ่มสยาม เพื่อจัดขบวนรับต่อการบุกเข้ามาของญี่ปุ่น

เช่นเดียวกับที่สมัยหนึ่งสยามกลการต้องหาทางออกให้กับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของตนเองจากการที่นิสสันมอเตอร์ส่งผู้บริหารฝีมือดีมาเป็นที่ปรึกษา และนั่งประจำอยู่ในสยามกลการ และที่โรงงานสยามกลการและนิสสันเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือและทำหน้าที่ประสานงานกับทางญี่ปุ่น ด้วยการดึงนุกูลเข้ามาเป็นเครดิตอิมเมจ สร้างความเชื่อมั่นทั้งหมดของสยามกลการให้กลับคืนมา เป็นการหยุดการบุกของญี่ปุ่นชั่วคราว ในขณะที่ข้างในก็มีเวลาจังหวะหายใจและปรับปรุงอะไรให้มันดีขึ้น

ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากคำพูดให้มันดีขึ้นของคุณหญิงพรทิพย์ขณะให้สัมภาษณืถึงกรณีที่รัฐบาลไทยมีการปรับโครงสร้างภาษี สยามกลการได้มีการพูดคุยกับบริษัทรถยนต์อื่น ๆ หรือไม่ คำตอบที่ได้ คือ

"บริษัทรถยนต์อื่น ๆ ในประเทศไทยเป็นต่างชาติหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า ฮอนด้า คนญี่ปุ่นบริหารงานหมด ญี่ปุ่นตอนนี้ถ้าเราไปพูดกับเขา (ขอความช่วยเหลือจากนิสสัน) จะเหมือนชักศึกเข้าบ้านหรือเปล่า เราพยายามช่วยตัวเอง ยิ่งไปเอาญี่ปุ่นเข้ามาดีไม่ดีเขาเห็นจุดอ่อนของเราก็ยิ่งตีเละเลย ดีไม่ดีล้างบริษัทไทยไปเลย เราต้องคิดหนักว่าการที่เราไปปรึกษาเขาจะทำให้เราเสียเกียรติ เสียภาพพจน์ หรือดีไม่ดีเสียเอกราชเลย แค่นี้เราก็เหนื่อยมากแล้ว"

ทิศทางของกลุ่มสยามที่จะก้าวต่อไปสู่ความเป็นสากลจากคำประกาศของคุณหญิงพรทิพย์ คือ การขยายการลงทุนเข้าไปในต่างประเทศโดยมุ่งที่จะทำกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังทำอยู่ โดยรูปแบบของการลงทุนจะมีทั้งการร่วมลงทุน และการซื้อกิจการ เพื่อทำการผลิต และป้อนตลาดให้กับอุตสาหกรรมในประเทศนั้น ๆ รวมถึงการส่งออกด้วย โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตของผู้ร่วมลงทุนในประเทศนั้น ๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลงทุนในอเมริกา กับแม็กซิโก

ที่ผ่านมาความไม่พร้อมทางด้านบุคลากรทำให้สยามกลการไม่สามารถขยายกิจการออกไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ จะเห็นได้จากคำพูดของคุณหญิงพรทิพย์ที่กล่าวว่า "ความสนใจมีมานานแล้วแต่ลูกทีมไม่มี ใครเอาด้วยไม่มีใครอยากจากเมืองไทย ครั้งหนึ่งเคยจะไปลงทุนในจีนก็ไม่มีใครไป คุณหญิงไปแต่ลูกน้องไม่ไปก็จบ"

การจัดขบวนทัพครั้งใหม่ที่คุณหญิงพรทิพย์เป็นหัวหอกและขนาบข้างด้วยเกษม ณรงค์เดช สามีคู่คิดดูจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับอนาคตของกลุ่มสยามได้ไม่น้อย

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงของวิธีการบริหารของคนทั้งสองมากกว่า อย่างกรณีการปฏิเสธแนวคิดเรื่องการนำสยามกลการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของคุณหญิงพรทิพย์ที่มีต่อผู้บริหารหลายคนในบริษัท ด้วยเหตุผลที่ตนเองไม่มีความรู้ในเรื่องตลาดหลักทรัพย์ ไม่เคยซื้อหรือเล่นหุ้นก็เลยไม่สนใจ ถึงแม้ในแง่ของนักการจัดการด้านธุรกิจจะมองว่าไม่ใช่ความคิดที่ผิดก็ตาม แต่มันได้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทการเป็นผู้นำที่ยังยึดติดกับความเป็นระบบครอบครัวอยู่

การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นมันสะท้อนวิธีคิดทางการบริหารที่ยอมรับการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรแบบมืออาชีพ เพราะการอยู่ในตลาดหุ้นต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทุกด้านอย่างเปิดเผย เนื่องจากบริษัทเป็นของมหาชนไม่ใช่ครอบครัวหนึ่งครอบครัวใด

การที่คุณหญิงปฏิเสธการเข้าตลาดหุ้น ทั้งที่บรรดาลูกน้องระดับสูงพวกนอกพรประภาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิรัชหรือณัฐวุฒิต่างนั่งลุ้นกันให้คุณหญิงเห็นชอบด้วยนั้น มันจึงสะท้อนวิธีคิดทางการบริหารของคุณหญิงอย่างชัดเจนที่ต้องการพิทักษ์ระบบครอบครัวเอาไว้

ความไม่ชัดเจนของโครงสร้างใหม่ที่ประกาศออกมา ความรีบร้อนในการรวมกลุ่มมีมากจนลืมเก็บข้อมูลรายละเอียดที่สำคัญของแต่ละบริษัทในกลุ่ม รวมถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกลุ่ม ทำให้วิเคราะห์ไปว่าการประกาศครั้งนี้เป็นเพียงขั้นตอนแรกของการรวมตัวเป็นกลุ่มสยาม ซึ่งยังคงมีขั้นตอนของการพัฒนาต่อ ๆ ไป และนั่นอาจหมายความถึงการปรับโครงสร้างของกลุ่มที่จะต้องมีต่อไปอีก

เช่นเดียวกับความสมดุลย์ในเรื่องของบทบาท และอำนาจของคนในพรประภา ที่ต้องมีการปรับก่อนที่ประวัติศาสตร์ของการแยกทางจะเกิดขึ้นเฉกเช่นสมัยที่ถาวรแยกทางที่พี่ชาย (สิน พรประภา)

กลุ่มสยามในวันนี้จึงเปรียบเสมือนการเปลี่ยนป้ายชื่อใหม่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม และสิ่งนี้ก็หมายความถึงความต้องการที่จะนำกลุ่มสยามสู่ความเป็นสากลด้วยการนำธุรกิจออกสู่ต่างประเทศอันเป็นกลยุทธ์ใหม่ขององค์กร จริง ๆ แล้วมันก็เพียงคำคุยเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.