ถ้าไม่เลิกทะเลาะกันภายใน 5 ปีอาคเนย์ฯ พัง ! ? !


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะในความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นระหว่างกลุ่มศรีกาญจนา และกลุ่มพันธมิตรบุญยรักษ์ - นิวาตวงศ์ เพื่อช่วงชิงอำนาจการบริหารที่อาคเนย์ประกันภัย มันเป็นเรื่องความขัดแย้งและการหวาดระแวงในกลุ่มของผู้ถือหุ้นแบบโบราณคร่ำครึตลอดระยะเวลา 4 ปี การทะเลาะกันในวันนี้มีแนวโน้มว่าจะทำให้บริษัทตกต่ำลงได้ ส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัยที่เคยครองอันดับ 4 ต้องตกมาอยู่อันดับ 6 หากยังทะเลาะไม่เลิก ผู้เชี่ยวชาญชี้อนาคต 5 ปีต้องอับเฉา !!

การทะเลาะกันในกลุ่มผู้ถือหุ้นที่อาคเนย์ประกันภัยได้กลายเป็นตำนานชนิดไม่มีบริษัทใดประสงค์จะเดินตามรอย

มันไม่ใช่เรื่องที่ชนรุ่นลูกไม่สามารถสืบทอดความสามัคคีปรองดองเพื่อบริหารกิจการที่ชนรุ่นพ่อร่วมกันก่อตั้งมาได้เท่านั้น

แต่มันเป็นเรื่องความขัดแย้งในแนวคิดการบริหาร ลามปามมาถึงความหวาดระแวง การรวมหัวกันเตะโด่งตระกูลที่ร่วมก่อตั้งบางตระกูลออกไป และในที่สุดกงกรรมกงเกวียนก็ย้อนมาสู่ความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันอีก

วงจรอุบาทว์เช่นนี้จะหลีกให้พ้นได้ก็ต้องใช้วิธีการปรับองค์กรอย่างรุนแรงเพื่อก้าวเข้าสู่ระบบบริหารแบบใหม่ ไม่มีเรื่องของกลุ่มตระกูลเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป

เมื่อจุลพยัพ ศรีกาญจนา ประกาศเจตนารมณ์ที่จะให้มืออาชีพเข้ามาบริหารงานที่อาคเนย์ประกันภัยตามมาตรการที่เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผู้หนึ่งเรียกร้องนั้น เขาคงจะลืมไปว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งก็ประกาศจุดยืนนี้เช่นกัน

แต่เขาเองเป็นผู้ขับไล่ผู้ถือหุ้นกลุ่มนั้นออกไปเสียจากบริษัทฯ

วันนี้ เขากำลังตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับผู้ถูกขับไล่เมื่อ 4 ปีก่อน

ต่างกันอยู่แต่ว่า เขาใจไม่ถึงพอที่จะเดินจากไปสร้างธุรกิจใหม่ของตัวเอง !!

เรื่องราวความขัดแย้งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในอาคเนย์ประกันภัยเวลานี้มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี 2530 ครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งสำคัญครั้งแรกของอาคเนย์ประกันภัย บริษัทประกันภัยเก่าแก่ที่ตั้งมานานถึง 45 ปีเต็ม

กลุ่มโชติกเสถียรและติตติรานนท์ร่วมกันขายหุ้นให้เจริญ สิริวัฒนภักดี คนขายเหล้าเจ้าของกิจการสุราทิพย์ ในจำนวน 90,241 หุ้น หรือ 45.12% ของหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ 200,000 หุ้น

หลังจากที่กลุ่มโชติกเสถียรและติตติรานนท์ออกจากบริษัทฯ ไปแล้ว กลุ่มศรีกาญจนาและบุญยรักษ์ก็เป็นตัวตั้งตัวตีจัดการตั้งบริษัทอาคเนย์โฮลดิ้งขึ้นมาซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดยกเว้นเจริญ ดังนั้นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งตั้งขึ้นมาถึง 3 บริษัทจึงได้เข้ามาถือหุ้นในอาคเนย์ประกันภัยอีกทอดหนึ่ง

เหมือนกับบริษัทโฮลดิ้งทั่วไปที่จัดตั้งขึ้นมาถือหุ้นบริษัทในเครือ

แต่การตั้งโฮลดิ้งครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายแตกต่างออกไป

ผู้รู้เรื่องราวลึกซึ้งในอาคเนย์ฯ คนหนึ่ง เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "แนวคิดที่ตั้งโฮลดิ้งขึ้นมา คือ มีความไม่มั่นใจกันเองในระยะยาว เป็นความพยายามที่จะผนึกเสียงเป็นอันเดียวกัน และหากเกิดทะเลาะกัน ก็ให้ทะเลาะกันที่โฮลดิ้ง ไม่มายุ่งกับตัวบริษัทฯ ก็ต้องยืนเสียงกันตามนั้น จะสังเกตว่า การตั้งโฮลดิ้งขึ้นมา 3 บริษัทนั้น สะท้อนความไม่วางใจต่อกันขนาดไหน คือ อาจจะมีการชนะในโฮลดิ้งแรก แต่อาจจะแพ้ในโฮลดิ้งที่ 2 และ 3 ได้อีก"

ประเด็นความยุ่งยากที่โฮลดิ้งนี่เองที่เป็นจุดปะทุให้เกิดการทะเลาะกันอย่างรุนแรง และจะเอาชนะหรือแพกันให้ได้ก็อยู่ที่การแก้ปมเงื่อนอันนี้ออกมาให้ได้เช่นกัน !!

พยัพ ศรีกาญจนาผู้พ่อ และจุลพยัพผู้ลูกต้องการที่จะสลายบริษัทโฮลดิ้ง ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่า พยัพต้องการดันลูกชายหัวแก้วหัวแหวนขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนที่ ดร.ศักดา บุญยรักษ์ ซึ่งเข้ามาดูแลงานในตำแหน่งนี้ได้ประมาณ 3 ปีแล้ว
จุลพยัพเดิมมีตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการและนายทะเบียนบริษัท กับเป็นรองกรรมการผู้จัดการดูแลรับผิดชอบงานประกันภัย

เขาเพิ่งจะเข้ามาในแวดวงธุรกิจประกันภัยก็เมื่อมีการกำจัดอาทรและนรฤทธิ์ออกไปแล้วในปี 2531 จึงจัดได้ว่าเขาเป็น "มือใหม่" มากในวงการนี้

ขณะที่จุลพยัพยังเพียงแค่เริ่มเรียนรู้งานอยู่นั้น คนเก่า ๆ ที่ทำงานมานานเป็น 20 กว่าปีก็ลาออกไปเป็นจำนวนมาก

พินิจ รุจิระบรรเจิด ผู้อำนวยการฝ่ายประกันภัย ซึ่งถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการรับผิดชอบสายงานประกันภัยหลังจากที่อาทรและนรฤทธิ์ออกไป ประกาศลาออกโดยให้เหตุผลว่า ไม่มีงานให้ดูแลโดยตรง

ปัจจุบัน พินิจเป็นผู้อำนวยการฝ่ายรถยนต์ของบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด

หรืออย่าง สนิท พจน์วาที (เป็นหัวหน้าหน่วยควบคุมราคารถ) เลิศชาย ป ระภาศิริรัตน์ (ดูแลงานประกันภัยทางทะเล) รุ่งโรจน์ สัตยสัณห์สกุล (ผู้จัดการฝ่ายประกันไม่ตายตัว คือ ประกันเบ็ดเตล็ด ภัยทางทะเล และขนส่ง) และล่าสุด คือ นคร มศรีพันธ์ (ดูแลงานประกันภัยเบ็ดเตล็ด) ซึ่งลาพักร้อนและออกไปในช่วงที่มีความขัดแย้งครั้งล่าสุด เป็นต้น

คนเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจประกันภัยมานาน จุลพยัพเองก็ยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้น บริษัทมีอัตราการเติบโตที่ต่ำมาก สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการขาดแคลนบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ

ปี 2531 ที่เข้ามาบริหารงาน จุลพยัพจึงประกาศแผนงานปรับปรุงการบริหารภายใน 4 ข้อ กล่าวคือ

- สร้างความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการให้แก่พนักงานภายในองค์กรและตัวแทนขาย โดยการให้ผลประโยชน์ที่พนักงานพึงจะได้รับ

- พัฒนาทรัพยากรบุคคลเพราะที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าคู่แข่งขัน เนื่องมาจากจุดอ่อนด้านบุคลากรที่ขาดการอบรม และขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน

- ด้านการตลาดจะมีการพัฒนากรมธรรม์แบบครบวงจรเข้าสู่ตลาด คือ ให้ความคุ้มครองได้รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ทรัพย์สิน และบุคคล รมถึงการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย คือ เข้มงวดประสิทธิภาพของตัวแทนขายให้ทำการขายทั้งประกันชีวิตและวินาศภัย

- ด้านการลงทุน จะปรับจากเดิมที่ลงทุนด้านพันธบัตรและเงินฝากเป็นหลัก หันมาร่วมมือกับไฟแนนซ์ต่าง ๆ ในการปล่อยกู้เพื่อสร้างผลประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น การปล่อยกู้แก่โครงการบ้านจัดสรรต่าง ๆ เน้นการลงทุนในกิจการที่มีความมั่นคงมากขึ้น เช่น การซื้อหุ้นในบริษัทผาแดง อินดัสตรี และธนาคารพาณิชย์บางแห่ง

นอกจากนี้ ยังมีความริเริ่มที่จะนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงานในโครงการจัดทำระบบสารสนเทศ ประสานระบบข้อมูลทางการตลาดและบริหารเข้าด้วยกัน ด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท

แต่หลังจากประกาศว่าจะทำการออนไลท์ข้อมูลในสาขา 10แห่งที่กทม.ตั้งแต่กรกฎาคม 2531 จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการออนไลท์ข้อมูลระหว่างสาขาใด ๆ ทั้งสิ้น

การบุกเบิกด้านการตลาดของจุลพยัพดูเหมือนจะไม่ราบรื่นเท่าที่ควร แม้มูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของปี 2531-2533 จะเพิ่มขึ้น แต่ส่วนแบ่งการตลาดกลับลดลงเรื่อย ๆ ทุกปี จากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 4 ในปี 2530 ลดลงมาอยู่อันดับ 6 ในปี 2532

ในแง่ของการดำเนินงานนั้น จะเห็นได้ชัดว่าอัตราการเติบโตเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2533 กล่าวคือปี 2532 อาคเนย์ ฯ มีเบี้ยประกันรับโดยตรงเท่ากับ 507.75 ล้านบาทคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 4.06 % มีอัตราการเติบโตคิดเป็น 26.93 % ขณะที่การเติบโตของธุรกิจประกันภัยทั้งระบบเท่ากับ 35.81 %

ครั้นปี 2533 อาคเนย์ ฯ เก็บเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงได้ 610.19 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงเหลือ 20.17 % เท่านั้นเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดที่ขายตัวสูสีกับปีที่ผ่านมาคือ 35.69 %

เมื่อคิดส่วนแบ่งตลาดแล้วยังลดลงเหลือเพียง 3.58 % เท่านั้น

หากดูอย่างผิวเผินที่ตัวเลขเบี้ยประกันภัยรับ ฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น ก็เหมือนไม่น่าเป็นห่วงผลการดำเนินงานเท่าไหร่

แต่ดูอัตราการเติบโตแล้ว น่าตกใจ !!

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมการประกันภัยให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ดูผิวเผินในตอนนี้ไม่น่าเป็นห่วงเลย เพราะยังกินบุญเก่าไปได้อีกหลายปี"

แต่อาคเนย์ ฯ ก็มีข้อที่น่าเป็นห่วงประการหนึ่งคือในเบี้ยประกันรับสุทธิทั้งหมดมีส่วนที่เป็นเบี้ยจากการรับประกันรถยนต์สูงมาก

ปี 2532 เบี้ยประกันสุทธิจากการรับประกันรถยนต์เท่ากับ 263.97 ล้านบาทหรือคิดเป็น 69.75 % ของเบี้ยรับสุทธิ 378.45 ล้านบาท

สัดส่วนของการประกันรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกปีไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าการรับประกันประเภทนี้ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงมาก พูดง่าย ๆ คือมีรายได้ดีแต่กำไรน้อยเมื่อเทียบกับการรับประกันภัยประเภทอื่น ๆ

บริษัทประกันภัยที่เจ๊งไปแล้วอย่างบัวหลวงประกันภัยเมื่อปี 2530 ก็ด้วยสาเหตุหนึ่งที่รับประกันรถยนต์มากเกินไป โดยเฉพาะรถแท็กซี่

ความมีชื่อเสียงเก่าแก่ยาวนานของอาคเนย์ฯ ช่วยได้มากในแง่ของการดำเนินธุรกิจ กอปรกับจังหวะที่ธุรกิจเติบโตตามการขยายตัวของสังคมอุตสาหกรรม ทุกวันนี้ตัวแทนขายประกันไม่จำเป็นต้องอธิบายผลดีผลเสียของการทำประกันอย่างยืดเยื้อยาวนานเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป การทำประกันเป็นความจำเป็นในสังคมธุรกิจปัจจุบัน ประเด็นที่ต้องช่วงชิง คือ ใครให้เงื่อนไขดีกว่ากัน ใครเอาใจใส่ผู้เอาประกันมากกว่ากันเท่านั้น

การที่ผู้บริหารทะเลาะกันอย่างรุนแรงในเวลานี้ จะอ้างว่าไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานคงเป็นเรื่องที่เชื่อได้ยาก เจ้าหน้าที่คนเดิมประเมินสถานการณ์สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญในวงการประกันทั่วไปที่กล่าวว่า "หากทะเลาะกันไม่เลิกเช่นนี้ ไม่เกิน 5 ปี ธุรกิจจะเสียหายหมด"

เมื่อพิจารณาตัวเงินกองทุนของบริษัท หลังจากที่ลดลงอย่างฮวบฮาบเหลือเพียง 2.6 ล้านบาทเมื่อปี 2532 เพราะมีขาดทุนสะสมสูงถึง 74.08 ล้านบาท ซึ่งไม่ปรากฏรายละเอียดแน่ชัดว่า มีการขาดทุนสะสมเกิดขึ้นตรงจุดไหน

มาในปี 2533 ตัวเลขกองทุนพุ่งเป็น 139.36 ล้านบาท ส่วนที่เพิ่มมากขึ้นคือกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรและสำรองอื่น ๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะแต่เดิมบริษัท ฯ ใช้วิธีนำกำไรสุทธิไปสะสมไว้ในเงินสำรองประกันชีวิตทั้งหมด

ครั้นปี 2533 เปลี่ยนนโยบายการบัญชีใหม่ เป็นแสดงผลกำไรสุทธิประจำปี โดยไม่นำไปสมทบเงินสำรองประกันชีวิต ด้วยเหตุนี้ตัวเลขกำไรจึงเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น

ส่วนรายการเงินสำรองประกันชีวิตนั้นไม่ปรากฏตัวเลข !

แม้ผู้บริหารอาคเนย์ฯ สามารถทำให้ตัวเลขกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีเดียวด้วยวิธีการทางบัญชี

แต่วิธีเช่นนี้ก็ไม่อาจปกปิดสถานะที่แท้จริงของบริษัทฯ ได้

ตราบใดที่อัตราประกันใหม่ลดลงและกำไรหดหาย กองทุนก็มีวันที่จะกลายเป็นตัวแดงโดยไม่สามารถใช้วิธีการทางบัญชีใด ๆ ช่วยได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงพูดว่า ถ้าไม่ปรับปรุงเรื่องการดำเนินงาน ก็คงจะกินบุญเก่าไปได้ไม่นานนัก !

เมื่อเกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้ถือหุ้น ดูเหมือนไม่มีใครตระหนักในเรื่องอัตราการเติบโตที่เริ่มถดถอยลงของบริษัทสักเท่าใด สิ่งที่ฝ่ายพยัพตระหนักเป็นอย่างดี คือ เวลา 3 ปีที่ผ่านมาผู้ที่กุมอำนาจในบริษัทฯ ไว้ได้มากยิ่งกว่าตัวเลขที่เป็นประธานกรรมการฯ คือ ศักดา

ศักดาได้เข้ามาดูแลสายงานประกันชีวิตตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ

ผลงานในธุรกิจประกันชีวิตมีตัวเลขที่ตกต่ำไม่แพ้ธุรกิจประกันภัย ระหว่างปี 2529 - 2532 มีขาดทุนสุทธิทุกปี ที่มากที่สุด คือ ปี 2532 ซึ่งขาดทุนสุทธิ 36.55 ล้านบาท

ส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจประกันชีวิตของอาคเนย์ฯ ก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ เมื่อปี 2528 เคยมีส่วนแบ่งฯ สูงถึง 41.6% ครั้นปี 2533 ลดลงเหลือเพียง 2.03% ด้วยมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ 393.90 ล้านบาท

อัตราการเติบโตก็ลดลงโดยตลอด ปี 2528 มีอัตราการเติบโต 20.44% แต่ปี 2533 เหลือเพียง 15.77%

ไม่นับว่าใน 3 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตต่ำกว่า 10% ทั้งนั้นขณะที่อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตทั้งระบบอยู่ระหว่าง 23% - 34%

เฉพาะปี 2533 นั้น ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราขยายตัวถึง 34.35%

ตัวเลขที่ "ผู้จัดการ" รวบรวมมาจากกรมการประกันภัยเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการบริหารที่ขาดประสิทธิภาพอย่างชัดเจน ตัวเลขขนาดนี้ยังไม่ถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต แต่หากเกิดสะสมต่อเนื่องอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้ ก็มีสิทธิ์ที่จะกลายเป็นวิกฤติของบริษัทฯ ได้เช่นกัน

ความตกต่ำของอาคเนย์ฯ เวลานี้ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า "แย่ถึงขีดสุดแล้ว คือ มันมีทั้งความขัดแย้งในกลุ่มผู้ถือหุ้น ผลการดำเนินงานลดต่ำลงอย่างมาก กำลังคนที่มีคุณภาพก็หดหายไปหมด ที่มีอยู่เวลานี้ เป็นเพียงพวกที่อยู่ไปวัน ๆ เท่านั้น คนใหม่ก็ไม่รู้เรื่องงานประกันภัยประกันชีวิตนั้น จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีความรู้ประสบการณ์ถ่ายทอดอบรมให้คนใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้ามาสู่วงการ นอกจากนี้ หากบริษัทประกันต่อต่างประเทศถอนตัวออกไป ก็ไม่รู้จะไปทำธุรกิจกระจายความเสี่ยงกับใคร"

แหล่งข่าวให้ความเห็นด้วยว่า "อาคเนย์ฯ นั้นแตก เพราะคนเพียงคนเดียวที่เพิ่งเข้ามา เพราะเมื่อก่อนนี้มีการประนีประนอมกันมาได้ตลอด ฝ่ายพยัพต้องการอะไรก็มักจะเจรจารอมชอมกันได้เสมอ เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่จะต้องมาแตกในที่สุด เท่าที่ทราบตอนนี้ความน่าเชื่อถือของอาคเนย์ฯ ในตลาดประกันภัยไม่มีแล้ว"

หนทางที่จะแก้ไขบริษัทฯ ให้ดีขึ้น ข้อแรกที่จะต้องทำ คือ การหันหน้าเข้าเจรจารอมชอมกัน แม้ต่างฝ่ายจะฟ้องร้องเป็นความในศาลหลายคดีแล้วก็ตาม แต่วิธีที่จะเอาชนะอย่างเด็ดขาดนั้นยังอีกยาวไกล

ฝ่ายพยัพ ศรีกาญจนา จำเป็นต้องอาศัยอำนาจศาลเป็นที่พึ่งเพื่อต่อสู้ให้ได้ครองอำนาจบริหาร ซึ่งปัจจุบันฝ่ายศักดา บุญรักษ์ และวิชัย นิวาตวงศ์ โดยมีกุนซือสำคัญ คือ พิชัย พืชมงคล นักกฎหมายจากสำนักงานกฎหมายธรรมนิติ ซึ่งเพิ่งมีชื่อในกรรมการชุดใหม่ที่ศักดาประกาศแต่งตั้ง เป็นผู้ครอบครองอำนาจการบริหารทั้งหมดอยู่

หากฝ่ายพยัพได้กลับมาครองอำนาจการบริหารอีกครั้งหนึ่ง เขาก็ยังทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการเพิ่มกรรมการในส่วนที่เป็นคนฝ่ายเขาเข้ามา

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่การแก้ปมเงื่อนไขบริษัทโฮลดิ้งทั้ง 3 บริษัทต่างหาก เพราะการที่หุ้นทั้งหมดในโฮลดิ้งผูกกันไว้อย่างเหนียวแน่นด้วยข้อบังคับว่า หากจะมีการขายหุ้นต้องขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน และหากขายให้คนนอกต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเดิมเช่นกัน นอกจากนี้ คะแนนเสียงที่จะลงมติใด ๆ ก็ตามต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของกรรมการ 3 กลุ่มที่เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น 3 กลุ่ม

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีใครสามารถจบมือกับเจริญ ซึ่งถือหุ้นอาคเนย์ฯ ในนามบริษัทสนิทเสถียรให้ได้เสียงข้างมาก เพื่อหาโค่นล้มกลุ่มที่เหลือได้

มันเป็นเทคนิคที่พยัพและศักดารู้จักดี ตั้งแต่สมัยที่พยัพขายหุ้นแบงก์แหลมทองของตัวให่กับสุระจันทร์ศรีชวาลา จนทำให้สุระสามารถกว้านซื้อหุ้นแบงก์ได้มากพอที่จะนำมาโค่นอำนาจการบริหารของสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ และสุระได้รับชัยชนะในท้ายที่สุดได้

บริษัทอาคเนย์โฮลดิ้ง 1, 2, 3 มีทุนจดทะเบียนบริษัทละ 4 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 40,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท

โครงสร้างผู้ถือหุ้นทั้งสามบริษัทเหมือนกันหมด คือ มีผู้ถือหุ้นรวม 35 ราย เป็นบุคคลธรรมดา 30 ราย นิติบุคคล 5 ราย

ผู้ถือหุ้นทั้งหมดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่ม ก. เป็นตระกูลศรีกาญจนา, ศักดิเดช ภาณุพันธ์ และวรรธนะกุล ซึ่งถือหุ้นรวมกันเป็นจำนวน 17,886 หุ้น หรือคิดเป็น 44.71%

กลุ่ม ข. คือ ตระกูลบุญยรักษ์เพียงตระกูลเดียว ซึ่งใช้นิติบุคคลเข้ามาถือหุ้นด้วย 4 ราย รวมเป็นหุ้นทั้หงมดที่ถืออยู่เท่ากับ 11,605 หุ้น หรือคิดเป็น 29.01%

กลุ่ม ค. คือ ตระกูลนิวาตวงศ์, ชุมพล และศตวุฒิถือหุ้นร่วมกัน 8,401 หุ้น หรือคิดเป็น 21% ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 2,108 หุ้น หรือ 5.27% เป็นผู้ถืออื่น ๆ

ทั้งที่เมื่อเทียบสัดส่วนการถือครองหุ้นแล้ว กลุ่ม ก. เป็นผู้ถือหุ้นในโฮลดิ้งมากที่สุด แต่พยัพกลับยินยอมออกเสียงเป็นหนึ่งเสียงเท่ากับบุญยรักษ์ในกลุ่ม ข.

นี่ถือเป็นก้าวผิดพลาดสำคัญของฝ่ายพยัพก้าวแรกตั้งแต่ปี 2531 ที่ก่อตั้งโฮลดิ้งขึ้นมา

การที่จะรอมชอมกันในอาคเนย์ประกันภัยให้ได้จำเป็นที่จะต้องเปิดฉากรอมชอมในเวทีโฮลดิ้งให้ได้เสียก่อน

กรรมการในโฮลดิ้งอาจจะขอเรียกประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นมาได้เพื่อเจรจากันในเรื่องนี้ แต่คงจะไม่มีฝ่ายใดยินยอมกันอย่างง่าย ๆ

ล่าสุด ฝ่ายศรีกาญจนาเรียกประชุมผู้ถือหุ้นอาคเนย์โฮลดิ้ง 1 ในวันที่ 24 กรกฎาคม โดยมีวาระ 2 ข้อ คือ

วาระแรก พิจาณราเรื่องการเข้าประชุมและมอบอำนาจให้ผู้แทนเข้าร่วมประชุม

และวาระสอง เรื่องกำหนดตัวบุคคลเพื่อแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการบริษัทอาคเนย์ประกันภัย

การประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะแก้เกมเรื่องใบมอบอำนาจที่ศักดานำมาใช้เรียกประชุมขับไล่พยัพนั่นเอง !!

แม้ว่าฝ่ายพยัพจะเรียกประชุมได้สำเร็จจริง แต่เมื่อต้องออกเสียงในที่ประชุม ฝ่ายพยัพก็ยังมีโอกาสที่จะพ่ายได้อีก เพราะถือเสียงในโฮลดิ้งเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ถือหุ้นกลุ่ม ข. และ ค.

เว้นเสียแต่ว่า ฝ่ายพยัพจะไปแย่งชิงพันธมิตร ข. และ ค. กับทั้งผู้ถือหุ้นอื่น ๆ มารวมเป็นพวกได้

แต่มันเป็นเรื่องที่ยากมาก แหล่งข่าววงในเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ทางกลุ่มวิชัยนั้นดูเหมือนจะกลายเป็นพรรคพวกของศักดามาตั้งแต่ร่วมกันตีอาทรและนรฤทธิ์ ส่วน ม.ร.ว.พฤทธิสาณ มีผลประโยชน์อะไรไม่แน่ชัด แต่คงจะเกรงใจทางฝ่ายศักดาอยู่ไม่น้อย เพราะภรรยาก็ทำงานอยู่ในอาคเนย์ฯ ในฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งอยู่ในการบังคับบัญชาของศักดาโดยตรง"

แหล่งข่าวสำคัญที่รู้เรื่องอาคเนย์ฯ ดี กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "มันเป็นความตั้งใจของศักดาที่จะให้ผู้ถือหุ้นกอดหุ้นอาคเนย์ฯ ไปจนตลอด โดยไม่อาจมายุ่งเกี่ยวกับอำนาจการบริหารได้ และจะขายหุ้นออกไปก็ไม่ได้ด้วย"

นี่คือประสบการณ์ที่นรฤทธิ์เคยเจอมาเมื่อปี 2530

มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2530 ที่พยัพและศักดาใช้วิธีนี้กว้านซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยจนราคาหุ้นอาคเนย์ที่มีมูลค่าที่ตราไว้ 100 บาทพุ่งพรวดเป็น 1,500 บาทได้

ราคาหุ้นอาคเนย์เวลานี้ต้องไม่ใช่แค่ ,500 บาทเหมือนเมื่อ 3 ปีที่แล้วแน่ !!

มันเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือภาษาชาวบ้านเรียกว่ากงกรรมกงเกวียน

ใครจะเป็นผู้กำชัยชนะในท้ายที่สุด ยังไม่ปรากฏตัวชัด

แต่ผู้ที่กำผลประโยชน์จากการทะเลาะเบาะแว้งคราวนี้ชัดเจน คือ กลุ่มเจริญ ซึ่งตัวแทนของเขาในงานนี้คือ ชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ ผู้จัดการบริษัทสนิทเสถียร

ชูเกียรติ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมวางตัวเป็นกลางในกรณีนี้ ใครจัดประชุมเรียกผมเข้าร่วม ผมก็ไปทั้งนั้น"

การวางตัวเป็นกลางของเจริญมีเงื่อนไขว่าต้องให้พยัพในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียวในเวลานี้เป็นประธานบริษัทฯ ต่อไป ด้วยเหตุผลของความอาวุโส

เงื่อนไขข้อแรกก็เป็นที่รับไม่ได้สำหรับกลุ่มศักดาและยังมีข้ออื่น อีกที่ศักดาไม่เคยมีท่าทีว่าจะสามารถทำได้

การแต่งตั้งกรรมการต้องทำตามสัดส่วนการถือหุ้น หานักบริหารมืออาชีพเข้ามาดำเนินงาน และดำเนินการเพื่อนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

นี่คือเงื่อนไข 4 ข้อที่เจริญเรียกร้องและฝ่ายพยัพช่วงชิงขานรับในทันทีจนทำให้ดูประหนึ่งว่าพยัพจะได้เจริญเป็นพวก

เรื่องนี้แหล่งข่าวระดับสูงที่รู้จักทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างดีวิเคราะห์ไว้ว่า "ถ้าเจริญต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว พยัพจะเป็นตัวเลือกที่เจริญหยิบ เพราะเจริญสามารถกำหนดนโยบายอะไรๆ ก็ได้ เพียงแต่ให้รักษาหน้าตาพยัพไว้ ขณะที่ศักดานั้นเป็นคนที่มีอะไรของเขาเอง พูดง่าย ๆ คือ เจริญคงจะคุมศักดาไม่ได้"

แต่ศักดาจะเอาเจริญหรือไม่ ในระยะเฉพาะหน้าจะเห็นได้ชัดเจนว่า มีการยกตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารให้วรรณา สิริวัฒนภักดี ภรรยาเจริญ ซึ่งเจ้าตัวได้ออกมาปฏิเสธไม่รู้เห็นเรื่องราวในทันทีทันควัน

ส่วนในระยะยาวนั้น มีหรือเสือสองตัวจะอยู่ถ้ำเดียวกันได้ !!

ทั้งนี้ เจริญเคยแสดงท่าทีให้เห็นแล้วว่า ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารด้วย ต้องการได้ตำแหน่งกรรมการตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งจำนวนที่ถืออยู่ล่าสุดคิดเป็น 39.08% ของหุ้นทั้งหมด ควรจะได้ตำแหน่งกรรมการ 3 คนในจำนวน 8 คนที่ร่วมเป็นคณะกรรมการของบริษัทฯ

แต่ทั้งพยัพและศักดาต่างไม่ยินยอมให้ฝ่ายเจริญเข้ามา

สไตล์ของเจริญนั้นจะต้องเข้าไปบริหารในกิจการที่เขาครอบครองหุ้นจำนวนมากไว้เสมอ นั่นหมายความว่างานนี้เขาต้องชนกับศักดาซึ่งได้พยายามวางเส้นสายคนของตัวไว้ในบริษัทฯ แทบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายศักดาพยายามที่จะทำให้เห็นว่า เขาสามารถเป็นพันธมิตรกับเจริญได้ด้วยการประกาศจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกหลังจากที่ไม่เคยมีการจ่ายมาหลายปี

พิชัย พืชมงคล กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "มันเป็นเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็พยายามที่จะทำให้เห็นว่านี่เราเอามาคำนับคุณเจริญนะ"

ฝ่ายศักดาไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจศาลเป็นที่พึ่ง เพราะเวลานี้ถือว่าเป็นต่ออยู่มาก คือ เป็นผู้คุมอาคารสถานที่ทำการของบริษัทฯ คุมอำนาจการบริหารและพนักงาน รวมทั้งถือใบรับมอบอำนาจที่อ้างว่ากรรมการของบริษัทโฮลดิ้งทั้ง 3 เป็นผู้เซ็นมอบให้ทำการแทนบริษัทฯ ได้

ด้วยใบมอบอำนาจนี่เองที่ศักดานำมาใช้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทอาคเนย์ฯ ได้

ฝ่ายศักดา อ้างว่า มีการจัดการประชุมกรรมการบริษัทในวันที่ 17, 18, 25 มิถุนายนขับไล่พยัพออกจากตำแหน่งประธานกรรมการฯ ส่วนวันที่ 8 กรกฎาคม เป็นกาประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2534

อย่างไรก็ดี เรื่องใบมอบอำนาจเป็นเรื่องที่ต้องทำการพิสูจน์กันในชั้นศาล ข้อได้เปรียบในส่วนของฝ่ายพยัพ คือ การได้รับอนุญาตตามคำร้องขอต่อศาลที่ไม่ให้กรมทะเบียนการค้ารับจดการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารชุดใหม่

ทางการต่อสู้ในชั้นศาลสำหรับเรื่องนี้ ยังกินเวลาอีกนานนัก ซึ่งยิ่งยาวนานเท่าไหร่ ฝ่ายพยัพยิ่งเสียเปรียบมากเท่านั้นเช่นกัน

ในส่วนของบริษัทโฮลดิ้งที่เป็นปมเงื่อนซึ่งฝ่ายพยัพต้องพยายามแก้ออกให้ได้นั้น ก็ลำบากมาก ใบมอบอำนาจที่ฝ่ายศักดาใช้อยู่ในเวลานี้เป็นใบมอบอำนาจซึ่งมีการเซ็นกันไว้ตั้งแต่การประชุมบริษัทโฮลดิ้งครั้งก่อน คือ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2533

ใบมอบอำนาจชุดนี้มีช่องว่างอย่างมโหฬารถึงขนาดที่พิชัย พืชมงคล ทนายความสำคัญในฝ่ายศักดาอ้างว่าสามารถใช้ได้ผลตลอดกัลปาวสาน

พิชัยคนนี้เป็นผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในอาคเนย์ฯ ตั้งแต่สมัยที่ฝ่ายศักดาและพยัพยังสามัคคีปรองดองร่วมกันขับไล่อาทรและนรฤทธิ์ออกจากบริษัทเมื่อปี 2530 พิชัยจึงรู้ตื้นลึกหนาบางในบริษัทดีคนหนึ่ง

การมีพิชัยอยู่ในฝ่ายศักดาเป็นข้อได้เปรียบอย่างมหาศาลของศักดาด้วย เพราะเขา และสำนักงานกฎหมายธรรมนิติเคยมีประสบการณ์ในคดีเกี่ยวกับการยื้อแย่งอำนาจการบริหารมาแล้วจากกรณีแบงก์แหลมทอง

ขณะที่ฝ่ายพยัพใช้ชินวัฒน์ ชินแสงอร่ามจากสำนักงานกฎหมาย อิน-ดิ-เพน-เดนซ์ ซึ่งไม่ใคร่เป็นที่รู้จักว่ามีความชำนาญในเกมการต่อสู้เช่นนี้มากน้อยเพียงใด

เกมช่วงชิงอำนาจครั้งนี้ยังต้องดำเนินไปอีกยาวนาน ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจกินเวลาสักปีหนึ่งในการขึ้นโรงขึ้นศาล เว้นเสียแต่ว่าจะมีใครยอมเลิกราไปก่อน

โดยข้อเท็จจริงและสถานะของแต่ละฝ่ายเวลานี้ก็ไม่มีใครจะยอมรามือกันง่าย ๆ

พยัพไม่มีธุรกิจใดหลงเหลืออยู่อีกหลังจากที่ขายหุ้นในแบงก์แหลมทองไป อาคเนย์ฯ เป็นกิจการที่เขาสร้างขึ้นมากับมือ เป็นหน้าตา และเป็นประหนึ่งกิจการของตระกูล

ศรีกาญจนา คือ อาคเนย์ฯ และพยัพคงไม่เคยคิดว่าอาคเนย์ฯ จะขาดศรีกาญจนาได้

หากพยัพจำเป็นที่จะต้องหาเงินมาทุ่มซื้อหุ้นอาคเนย์ฯ อีกสักครั้งเพื่อรักษาสถาบันของตัว เขายังพอมีช่องทางที่จะทำได้

เพราะ ม.ร.ว.ทินศักดิ์ และศิริกาญจน์ ลูกเขยและลูกสาวซึ่งเป็นเจ้าของตกมณียาอยู่ในเวลานี้พอจะมีทุนรอนอยู่มากพอสมควร หากไม่ไปจมอยู่ในโครงการพัฒนาที่ดินที่ไหนเสียก่อน

แต่พยัพจะซื้อหุ้นอาคเนย์ฯ ได้ก็ต่อเมื่อมีการสลายบริษัทโฮลดิ้งได้ก่อน แล้วค่อยไปไล่ซื้อเอาจากผู้ถือหุ้นรายย่อย

หรือจะซื้อจากส่วนของเจริญ ซึ่งตอนนี้คงจะตั้งราคาไว้แพงลิบลับ

และไม่แน่ว่าเจริญจะขายให้หรือไม่

ศักดาเองเล่าก็ไม่น้อยหน้าพยัพในเรื่องทุน เขามีธุรกิจอื่น ๆ อีกพอสมควรซึ่งแม้จะไม่มีกำรี้กำไรมากมาย หรือติดจะขาดทุนก็เรียกว่าเขายังมี

โรงพยาบาลกรุณาพิทักษ์ บริษัททิพย์พิทักษ์ บริษัทรัชดาออฟฟิศปาร์ค ทำธุรกิจเรียลเอสเตท กับบริษัทปริตภา และบริษัทปรุสภา ซึ่งต่างถือหุ้นอยู่ในอาคเนย์โฮลดิ้ง 1, 2, 3

ศักดาไม่ใช่คนที่ยอมถอยง่าย ๆ ตามประวัตินั้น เขาเป็นคนที่ฉลาดปราดเปรื่องเอาการ เมื่อเข้ามาบริหารงานในอาคเนย์ฯ ใหม่ ๆ ความที่ไม่รู้เรื่องกิจการประกันภัยเลย เพราะจบการศึกษามาทางด้านวิศวกรรม เขาได้ไปสมัครเรียนบริหารที่จีบ้า เมื่อจบมานั้นว่ากันว่าเขาติดลักษณะวิชาการอย่างมาก ถึงขนาดนำทฤษฎีการบริหารที่ร่ำเรียนมาซักถามกิจการในห้องประชุม

แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า "สิ่งที่ศักดาต้องการในงานนี้คือการบดขยี้ เขาไม่มีเหตุผลทางธุรกิจอะไรเลย ไม่ใช่เหตุผลทางการเงิน หรือหน้าตาเกียรติยศเพราะงานสังคมเขาก็ไม่ออก งานแจกรางวัลตัวแทนก็ไม่ไป ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สามารถเจรจาต่อรองกันได้หมด ไม่จำเป็นต้องมาขับไล่กันในลักษณะที่ทำอยู่ในเวลานี้"

แต่ศักดาก็ทำ แม้โดยข้อเท็จจริงนั้น ฝ่ายพยัพเป็นคนเปิดฉากก่อนด้วยการเรียกประชุมเพื่อสลายบริษัทโฮลดิ้ง แล้วศักดาเผอิญได้รู้และอ่านเกมนี้ออก จึงชิงปฏิบัติการตอบโต้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นฝ่ายรุกและได้เปรียบอยู่ในเวลานี้

ศักดาจึงไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เช่นกัน

การต่อสู้ในชั้นศาลที่กินเวลายาวนานเป็นปี จะก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อกิจการประกันภัยที่เริ่มทรุดโทรมลงสักแค่ไหนยังไม่มีใครทำนายได้ แม้ต่างฝ่ายจะช่วยกันพูดถึงแต่แง่ดีของผลประกอบการ แต่คนในวงการประกันภัยรู้ดีว่าอาคเนย์วันนี้เริ่มนับถอยหลังแล้ว

การทะเลาะกันในวันนี้เป็นความแตกแยกครั้งสำคัญที่นำไปสู่อนาคตอันอับเฉาต่อไป !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.