"ความต่างข้อกฎหมายเรื่องเครื่องบินตก"

โดย รัฐ จำเดิมเผด็จศึก
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบันนี้ ใครต่อใครหลายคนอาจมีความรู้สึกว่า โลกมนุษย์เราใบนี้มีขนาดเล็กหรือแคบลงกว่าแต่ก่อน เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทำให้เรามีความสามารถที่จะติดต่อสื่อสารถึงกันได้รวดเร็วขึ้นแต่ก่อนเป็นอันมาก

การเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ก่อนอาศัยใช้เวลาเป็นแรมเดือนหรือแรมปี บัดนี้ สามารถไปมาหาสู่กันได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือเพียงข้ามคืนเท่านั้น

"เครื่องบิน" อันเป็นพาหนะในฝันหรือในจินตนาการของมนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์ ได้กลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้วทุกวันนี้ แต่เครื่องบินที่อำนวยความสะดวกสบาย ก็สามารถสร้างภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุอันเกิดจากการเดินทางอากาศแต่ละครั้งได้น่าสยดสยองและเป็นอุบัติเหตุที่น่าสลดใจมิใช่น้อย

ซึ่งเมื่อคำนึงถึงผู้เสียหายมักเป็นคนต่างชาติต่างภาษา และต่างถิ่นฐานกันจากทุกสารทิศ การชดใช้ค่าเสียหายอันจะพึงมีในประการสถานใดนั้น หากปล่อยให้เลือกใช้กฎหมายภายในของนานาประเทศมาปรับใช้แก่คดีแล้ว ก็น่าจะคำนึงถึงกฎหมายของแต่ละชาติ มีมาตรฐานและมาตรการในเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายที่แตกต่างกัน ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน จึงอาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา

ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่าง ๆ ในโลกจึงได้เข้าร่วมมือกันในการที่จะให้ผู้โดยสารได้รับความคุ้มครองมากขึ้น และเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน จึงมีความร่วมมือกันในการผลักดันให้เกิดมีอนุสัญญา และความตกลงกันว่าด้วยความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศต่อคนโดยสารและสัมภาระ คือ อนุสัญญากรุงวอร์ซอ ค.ศ.1929

ประเทศไทยเริ่มมีการขนส่งทางอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2465 และเริ่มมีการพัฒนาการบินในเชิงพาณิชย์ขึ้นอย่างจริงจังเมื่อรัฐบาลจัดตั้งบริษัทเดินอากาศไทยขึ้นในปี พ.ศ.2476

เมื่อการบิน ขนส่ง เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าไปในเชิงพาณิชย์ขึ้น ความซับซ้อนในระเบียบกฎหมายการปฏิบัติต่าง ๆ เริ่มมีมากขึ้น ในปี พ.ศ.2465 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการเดินทางอากาศ โดยได้กำหนดให้ผู้ขนส่งทางอากาศมีความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ขนส่งทางอื่น ๆ ต่อมาในปี พ.ศ.2480 ได้มีการตราพระราชบัญญัติการเดินทางอากาศขึ้นอีกฉบับ โดยบัญญัติให้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความรับขนมาใช้ในการรับขน-โดยอากาศยาน

จนปัจจุบันพระราชบัญญัติการเดินอากาศที่บังคับใช้อยู่ดังพระราชบัญญัติเดินทางอากาศ 2497 ซึ่งก็ยังมิได้มีบทบัญญัติเรื่องการรับขนโดยอากาศยานโดยตรง เนื่องจากคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีความเห็นว่า ยังสามารถอาศัยหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการรับขนยังบังคับใช้ได้พระราชบัญญัติเดินอากาศที่กล่าวมาข้างต้น ได้ใช้เฉพาะการขนส่งภายในประเทศเท่านั้น

สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ ประเทศไทยยังมิได้เป็นภาคีในอนุสัญญากรุงวอร์ซอ ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ประกอบธุรกิจในการเดินอากาศระหว่างประเทศเป็นภาคีในอนุสัญญานี้

การเข้าเป็นภาคีมีข้อดีข้อเสียหลายประการที่ควรพิจารณา คือ ในลักษณะและขอบเขตแห่งความรับผิดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่คนโดยสาร หรือเสียหายอันเป็นผลโดยตรงจากการที่ต้องล่าช้าในการขนส่ง โดยความรับผิดของผู้ขนส่งคนโดยสารต้องเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งคนโดยสารนั้น และเป็นความรับผิดที่ค่อนข้างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้รับขนของ เช่น รับขนคนโดยสารไปแล้วรถคว่ำหรือไปชนกับรถคันอื่นผู้โดยสารที่นั่งมาได้รับบาดเจ็บ ผู้ขนส่งต้องรับผิด เว้นแต่เป็นเหตุสุดวิสัย หรือเป็นความผิดของผู้โดยสารเอง ในขณะที่อนุสัญญากรุงวอร์ซอขยายของเขตออกไปให้ผู้ขนส่งรับผิดในความเสียหายระหว่างการดำเนินการใด ๆ ในการขึ้นหรือลงอากาศยานด้วย

สำหรับการเรียกร้องค่าเสียหาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดขอบเขตของค่าเสียหายโดยแน่ชัดตายตัว หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้เสียหายที่จะนำสืบพิสูจน์ถึงความเสียหายนั้น ๆ โดยให้อำนาจศาลผู้วินิจฉัยคดีใช้ดุลพินิจในการคำนวณค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ในขณะที่อนุสัญญากรุงวอร์ซอได้กำหนดขอบเขตความรับผิดของผู้ขนส่งไว้มีมูลค่าเทียบเป็นเงินไทยไม่เกิน 2,000,000 บาท หากพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดพลาดโดยตั้งใจ หรือการปฏิบัติที่ผิดพลาด ความรับผิดของผู้ขนส่งจะรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน การกำหนดขอบเขตความรับผิดไว้ด้วย เพื่อให้คนโดยสารซึ่งต่างเชื้อชาติได้รับความคุ้มครองที่เท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติว่า คนสัญชาติใดควรได้รับความคุ้มครองเท่าใด ขณะเดียวกันควรเป็นค่าเสียหายที่มีขอบเขตที่ไม่สูงจนเกินส่วน อันจะทำให้ผู้ขนส่งทางอากาศประสบภาวะขาดทุนหรือล้มละลาย

ท้ายที่สุดแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะมิได้กำหนดขอบเขตแห่งความรับผิดเอาไว้ หากคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ แล้วกลับพบว่า อนุสัญญาวอร์ซอขยายความคุ้มครองให้กับผู้โดยสารมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอบเขตความรับผิดที่ขยายกว้างกว่า การกำหนดตัวผู้ขนส่งให้กว้างขวางขึ้น อันเป็นการคุ้มครองผู้โดยสารได้มากกว่า

นอกจากนี้ อนุสัญญากรุงวอร์ซอยังกำหนดขอบเขตความรับผิดไว้ เพื่อช่วยไม่ให้สายการบินผู้ขนส่ง ซึ่งได้รับความเสียหายอยู่แล้วในการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ต้องประสบกับปัญหาการถูกฟ้องร้องค่าเสียหายมากมายจนอาจถึงขั้นล้มละลายได้

การให้ความคุ้มครองผู้ขนส่งทางอากาศของอนุสัญญาวอร์ซอ จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีบริษัทการบินไทย จำกัด เป็นผู้ขนส่งทางอากาศ เป็นสายการบินแห่งชาติแต่เพียงสายเดียวและมีทุนทรัพย์ในการดำเนินการน้อยกว่า เมื่อเทียบกับสายการบินประเทศอื่น ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.