ดัชนีหุ้นไทยทุบสถิติ"ยุคแม้ว"-ต่างชาติไล่เก็บครึ่งปีแสนล.


ผู้จัดการรายวัน(4 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหุ้นไทยทำนิวไฮด์ในรอบ 10 ปี ดัชนีทะลุจุดสูงสุดในช่วงรัฐบาลทักษิณ โดยดัชนีปิดที่ 813 จุด หลังต่างชาติซื้อสุทธิครึ่งปี 1 แสนล้านบาท "ก้องเกียรติ" เชื่อตลาดหุ้นไทยยังขึ้นได้อีกเยอะ คาดเงินนอกพร้อมไหลเข้าอีกไม่ต่ำกว่าแสนล้าน ย้ำต้องมีการเลือกตั้งสิ้นปี เชื่อโบรกฯเตรียมปรับประมาณการกำไรบจ. เหตุสมมุติฐานต้นทุนจากน้ำมันผิดเกือบหมด ด้าน TFEX ทำนิวไฮด์ตั้งแต่เปิดตลาดเทรดเฉียดหมื่นสัญญา ขณะที่เงินบาท ต่อดอลลาร์ 34.31 แข็งค่าสุดรอบ 10 ปี ธปท. เผยยังไม่แทรกแซง

ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ วานนี้ ( 3 ก.ค.) ดัชนียังเดินหน้าทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ติดต่อหลังนักลงทุนต่างชาติยังเข้ามาไล่เก็บหุ้นขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคลายกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ สอดรับกับภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มดีขึ้นซึ่งน่าจะส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/50 ดีกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยดัชนีปิดที่ 813.52 จุด เพิ่มขึ้น 20.81 จุด หรือ 2.63 % ซึ่งเป็นการทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 10 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจไทย โดยจุดสูงสุดระหว่างวันอยู่ที่ 818.98 จุดและจุดต่ำสุดอยู่ที่ 797.14 จุด มูลค่าการซื้อขาย 46,927.77 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 6 เดือนหลังธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกันสำรอง 30 % เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.49

นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 7,833.08 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,008.58 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 8,841.65 ล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิแล้วกว่า 1.06 แสนล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1.85 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 8.83 หมื่นล้านบาท

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเนื่องจากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยผันผวนอยู่ในกรอบแคบๆมาโดยตลอด ในบางช่วงดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคประมาณ 80 %

ทั้งนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยในรอบนี้สอดรับการปรับตัวของตลาดหุ้นทั่วโลกหลังสภาพคล่องในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา ประกอบกับข่าวร้ายที่เข้ามากระทบต่อจิตวิทยาในการลงทุนเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี หลายฝ่ายมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในสิ้นปีนี้

ขณะที่ข่าวดีที่น่าจะเข้ามาหนุนให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง คือ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่น่าจะดีขึ้น โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3/50 ผลการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนจะดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้เนื่องจากสมมติฐานที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันเปลี่ยนไปจากที่คาดการณ์อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม คาดว่าข่าวดีที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มอย่างน้อย 1 แสนล้านบาทเพราะช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาต่างชาติซื้อสุทธิมากกว่า 1 แสนล้านบาท

“บนสมมติฐานที่ว่าจะมีการเลือกตั้งปลายปีนี้ตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวไปถึงระดับ 900 จุดในช่วงสิ้นปีและในปีหน้าน่าจะถึงระดับ 1,000 จุด”นายก้องเกียรติ กล่าว

นางสาววิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า การปรับตัวขึ้นของดัชนีในวานนี้ เกิดมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลาย การคาดหมายว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ทันในช่วงปลายปี และการที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะมีการปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการที่หลายฝ่ายคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มหลัก เช่น กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับในขณะนี้ PE ตลาดหลักทรัพย์ไทย ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเม็ดเงินต่างชาติไปแล้ว โดยในระยะสั้นดัชนีน่าจะปรับตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 820 จุด และให้แนวรับ 805 จุด

กองทุนปรับเป้าดัชนีสิ้นปี

นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับเป้าดัชนีตลาดหลักทรัพย์สิ้นปีขึ้นเป็น 820-850 จุด จากเดิมที่คาดว่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 800 จุด เนื่องจากเราเห็นว่าตัวเลขการส่งออกยังขยายตัวได้ทุกปีทั้งๆ ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตลาดใหม่โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และแอฟริกา

ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินหยวนของประเทศจีน

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เชื่อว่าในช่วง 12 เดือนหลังจากนี้ มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้ โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะมีการปรับลดลงได้อีกแต่คงไม่มากนัก หลังจากนั้นก็จะขยับขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ เพราะมองว่าในช่วงกลางปีหน้า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาระเริ่มมีการใช้เงิน ซึ่งมีโอกาสทำให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นได้ แต่อาจจะไม่เร็วนัก

TFEX ทำนิวไฮท์ตั้งแต่เปิด

ด้านภาวะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ (TFEX) วานนี้ (3 ก.ค.)มีปริมาณการซื้อขาย 9,894 สัญญา ซึ่งสูงสุดตั้งแต่เปิดตลาดซื้อขาย(28 เม.ย.2549)โดยสัญญาที่มีการซื้อขายมากที่สุดคือ S5OU07 ซึ่งจะครบอายุสัญญา เดือนกันยายน อยู่ที่ 9,086 สัญญา โดยจากข้อมูลการซื้อขายพบว่าปริมาณการซื้อขายแบ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,327 สัญญา สถาบันในประเทศขายสุทธิ 263 สัญญา และนักลงทุนรายย่อยในประเทศขายสุทธิ 3,064 สัญญา

นายกิดาการ สุวรรณธรรมา หัวหน้าฝ่ายอนุพันธ์ บล.ฟิลลิป กล่าวว่า ปริมาณการซื้อขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดตั้งแต่เปิดซื้อขายอนุพันธ์ เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในหุ้น SET50 และตลาดอนุพันธ์มากขึ้น จากปัจจัยทางการเมืองที่มีความชัดเจน และจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้ได้ตามที่กำหนดไว้ จึงทำให้ตลาดอนุพันธ์มีสภาพคล่องในการซื้อขายที่มากขึ้น

“ทั้งนี้สัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดอนุพันธ์เดือนมิถุนายน 2550 อยู่ที่ 30 % ซึ่งในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมากอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา”

นายมนู ตังทัตสวัสดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธุรกิจอนุพันธ์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า การที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดอนุพันธ์จำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจาก มีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุน จากปัจจัยทางด้านการเมืองที่มีความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้ง และเศรษฐกิจไทยก็มีการเติบโตที่ดีขึ้น และนักลงทุนในประเทศมั่นใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น

บาทแตะ 34.31 แข็งค่ารอบ 10 ปี

วานนี้ ( 3 ก.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 34.31/33 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบ 10 ปีหลังมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อ 2 ก.ค. 40 จากระดับเปิดที่ 34.41/42 บาท/ดอลลาร์ โดยในระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าสุดที่ 34.31 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 34.45 บาท/ดอลลาร์ นักบริหารเงินธนาคารกรุงเทพเปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวานนี้ เป็นความต่อเนื่องหลังจากทิศทางดอลลาร์ค่อนข้างอ่อน ประกอบกับการไหลของเงินลงทุนต่างประเทศเข้ามาในตลาดหุ้นไทย

“วันนี้ (4 ก.ค.) กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 34.25-34.35 บาท/ดอลลาร์”เขา กล่าว

ธปท.เผยยังไม่เข้าแทรกแซงบาท

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า การแข็งขึ้นของค่าเงินบาท เป็นการแข็งขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 2 วันที่ผ่านมา เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ดัชนีเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มออกมาไม่ดี ทำให้เกิดแรงเทขายเงินดอลลาร์ออกมา ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นทุกสกุล ค่าเงินบาทเป็นสกุลหนึ่งที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาในตลาดหุ้นไทยจำนวนมากตั้งแต่ต้นปีก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และแม้ว่าเงินทุนต่างประเทศที่เข้ามาผ่านตลาดหุ้นจะไม่ต้องเข้ามาตรการกันสำรอง 30 % หรือการทำประกันความเสี่ยง 100 % เพราะมีเกณฑ์ยกเว้นก็ตาม แต่ ธปท.เชื่อว่า จะไม่สร้างปัญหาให้กับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินบาท โดยสามารถดูแลเงินไหลเข้าจำนวนนี้ได้

ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงว่า ค่าเงินบาทที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศ (off shore) ที่แข็งค่าขึ้นมา อยู่ที่ระดับ 31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น เป็นส่วนที่ทำให้ค่าเงินบาทในประเทศแข็งค่าขึ้นตามหรือไม่ รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ไม่คิดว่าค่าเงินบาทในประเทศจะแข็งค่าตามตลาดต่างประเทศ เพราะตลาดในขณะนี้แยกกันอย่างชัดเจน และหลังจากการออกมาตรการกันสำรอง 30 % ธุรกรรมการซื้อขายเงินบาทในตลาดต่างประเทศค่อนข้างเบาบาง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.