|

ฝรั่งเก็บบิ๊กแคปดันดัชนีพุ่ง
ผู้จัดการรายวัน(4 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลายวันที่ผ่านมา ได้รับอานิสงส์จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อหุ้นในกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/50 ที่จะประกาศออกมาจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยดัชนีกลุ่มพลังงานวานนี้ (3 ก.ค.) ปิดที่ 17,369.06 จุด เพิ่มขึ้น 481.34 จุด หรือ 2.85% ขณะมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 10,507.60 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ดัชนีปิดที่ 315.71 จุด เพิ่มขึ้น 19.63 จุด หรือ 6.63% มูลค่าการซื้อขาย 8,998.80 ล้านบาท
ทั้งราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นหุ้นบมจ.ปตท. หรือ PTT ราคาปิดที่ 284 บาท เพิ่มขึ้น 6 บาท หรือ 2.16% มูลค่าการซื้อขาย 2,373.72 ล้านบาท, หุ้นบมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ราคาปิดที่ 76 บาท เพิ่มขึ้น 4.50 บาท หรือ 6.29% มูลค่าการซื้อขาย 2,203.08 ล้านบาท, หุ้นบมจ.ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม หรือ PTTEP ราคาปิดที่ 115 บาท เพิ่มขึ้น 5 บาท หรือ 4.55% มูลค่าการซื้อขาย 1,693.49 ล้านบาท, หุ้นบมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง หรือ RRC ราคาปิดที่ 19.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ 1.02% มูลค่าการซื้อขาย 1,550.89 ล้านบาท
ด้านราคาหุ้นธนาคารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY ราคาปิดที่ 29.50 บาท เพิ่มขึ้น 3.50 บาท หรือ 13.46% มูลค่าการซื้อขาย 991.85 ล้านบาท, ธนาคารนครหลวงไทย หรือ SCIB ราคาปิดที่ 21.10 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 7.65% มูลค่าการซื้อขาย 781.38 ล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ราคาปิดที่ 82 บาท เพิ่มขึ้น 5.50 บาท หรือ 7.19% มูลค่าการซื้อขาย 1,445.70 ล้านบาท, ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ราคาปิดที่ 80 บาท เพิ่มขึ้น 5 บาท หรือ 6.67% มูลค่าการซื้อขาย 1,043.23 ล้านบาท, ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ราคาปิดที่ 12.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.80 บาท หรือ 6.61% มูลค่าการซื้อขาย 1,955.92 ล้านบาท
นางวิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด เปิดเผยว่า วานนี้การที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวเพิ่มขึ้น มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่มาจากกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องมาจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าผลประกอบการของกลุ่มดังกล่าวในไตรมาส 2 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในกลุ่มพลังงานคาดว่าในไตรมาส 2 บริษัทที่มีผลประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน คือ บริษัท ปตท สำรวจและผลิตปิโตเลียม หรือ PTTEP และบมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ส่วนในกลุ่มของธนาคารพาณิชย์นั้น ผลประกอบการก็น่าจะปรับตัวขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ซึ่งน่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคาในกลุ่มธนาคารนั้นมีการปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้หลายธนาคารราคาใกล้เต็มมูลค่าแล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในระยะสั้นการเพิ่มขึ้นของราคาในหุ้นกลุ่มดังกล่าวไม่มากนัก ส่วนในกลุ่มพลังงานนั้น แม้ราคาจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังห่างจากมูลค่าเหมาะสมค่อนข้างมาก ทำให้น่าจะมีอีกหลายบริษัทที่ราคายังสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นตอบรับข่าวที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) อาจจะมีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนพฤษภาคม ไม่สูงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยผลประกอบการของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ในไตรมาส 2 น่าจะปรับตัวขึ้นมาก ส่วนธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก อาจจะมีอัตราการเติบโตที่ไม่มากนัก เพราะยังมีบางธนาคารที่ยังตั้งสำรองเงินไม่ครบตามระบบบัญชีใหม่
ขณะที่กลุ่มพลังงานได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติใหม่ในรอบเกือบ 1 ปี ทำให้ราคาหุ้นหลายบริษัทในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวขึ้น โดยคาดว่าน่าจะยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงกลั่น ที่ราคาการกลั่นยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สมาคมนักวิเคราะห์เล็งสำรวจใหม่
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ภายในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าสมาคมฯจะมีการสำรวจความคิดเห็นบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ เกี่ยวกับแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯในสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆจะปรับประมาณการดัชนีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 780-840 จุด จากเดิมค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 731 จุด
ทั้งนี้ การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากตัวแปร 2 ปัจจัยหลัก ซึ่งประกอบด้วยอันดับแรกคือ นักลงทุนคลายความกังวลปัจจัยทางการเมืองที่มีความชัดเจนจากที่ 2 เดือนที่ผ่านมากระแสการต่อต้านจากกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเบาบางลง ขณะที่ก่อนหน้านี้เป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยคาดว่านักวิเคราะห์จะมีการปรับลดเป้าอัตราดอกเบี้ยปีนี้ต่ำกว่าครั้งที่ผ่านมาที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% เพราะในตลาดพันธบัตรมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3% ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ยังคาดว่าค่า P/E ตลาดหุ้นไทยในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 11-12 เท่าจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ระดับ 10 เท่า เนื่องจากจากการปรับเพิ่มของดัชนีภายหลังจากที่สถานการณ์การเมืองที่ดีขึ้น และมองว่าหุ้นขนาดใหญ่หุ้นหลายบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น พลังงาน และธนาคารพาณิชย์ที่ปัจจุบันราคายังไม่เต็มมูลค่าที่มีการประเมินไว้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|