นโยบายขนส่งมวลชนพลิกรายวันทำนักเก็งกำไรเดี้ยงคาที่ดิน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

- นักเก็งกำไรหัวหมุน เจอนโยบายขนส่งมวลชนพลิกผันชนิดรายวัน
- คมนาคม เปิดทางเอกชนเช่าระบบรางเดินรถไฟฟ้า
- แนะรัฐดึงระบบขนส่งเชื่อมต่อชุมชนเมือง เริ่มที่จตุจักร ศูนย์มักกะสัน ศูนย์ตากสิน สนามบินสุวรรณภูมิ ยานนาวา-พระราม 3 รัตนโกสินทร์ชั้นใน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

ปัญหาจราจรติดขัดเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทำให้ประเทศต้องแบกรับภาระนำเข้าน้ำมันอย่างมหาศาล ดังนั้นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่จึงกลายมาเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองและรัฐบาลทุกชุดต้องหยิบยกมาเป็นนโยบายในการหาเสียงและดำเนินงาน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลับติดบ่วงปัญหาต่างๆ ที่ทำให้ความพยายามผลักดันไม่เคยจนประสบความสำเร็จสักครั้ง

สรรเสริญ วงค์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะเร่งดำเนินโครงการรถไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้ เพื่อให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อโครงการทันที ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถไฟฟ้าในทุกเส้นทาง แต่จะต้องผ่านขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535

การก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสาย รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างทั้งหมด และให้เอกชนนำรถมาวิ่งในลักษณะเช่าราง ซึ่งเป็นรูปแบบที่หลายประเทศในยุโรปใช้อยู่ และมีความเสี่ยงน้อยกว่ารับสัมปทานที่เอกชนจะต้องมาคำนวณค่าใช้จ่ายว่าคุ้มทุนหรือไม่ โดยจะมีการแบ่งบัญชีเชิงสังคมและธุรกิจ (Public Service Operate หรือ PSO) ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในเดือน ก.ค. นี้ ส่วนการเชื่อมต่อรถไฟที่มีอยู่หลายเส้นทางนั้นสามารถเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งหลายประเทศสามารถทำได้แม้ระบบรถไฟจะเป็นของต่างบริษัท

สำหรับหัวใจสำคัญที่รัฐบาลจะเน้น คือ รูปแบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและการพัฒนาโดยคนไทย การเขียนเงื่อนไขการประมูลจะพยายามให้คนไทยได้ประโยชน์ที่จะเข้าสู่ระบบ ซึ่งในที่สุดจะสามารถดูแลระบบรถไฟฟ้าเองได้

สรรเสริญ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) จะเป็นสายแรกที่นำผลการศึกษา พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ 2535 เข้ามาใช้ ซึ่งจะทำให้เห็นชัดว่ารูปแบบการร่วมทุนเป็นรูปแบบใด และจะประกวดราคาในเดือน ก.ย. นี้ตามแผนเดิม

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) คาดว่าจะประกวดราคาได้ใน ก.ค. ตามแผนเดิม และได้เร่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้ปรับแก้แบบในส่วนของสถานีย่อยระหว่างทางในช่วงรังสิต-บางซื่อให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะทันเปิดประมูลในปีนี้หรือไม่ โดยโครงการนี้ ครม. เคยอนุมัติไปแล้วในวงเงินก่อสร้างเดิม 53,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการขายซองประกวดราคาต้นปีหน้า

ส่วนเงินที่จะใช้ก่อสร้างนั้น ทางธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) สนใจที่จะให้การสนับสนุน ขณะที่เงินที่จะใช้ก่อสร้างสายสีม่วงนั้น ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะได้หารือกระทรวงการคลังแล้ว และหากเจบิกสามารถปรับการดำเนินการให้กู้ได้ทันก็พร้อมกู้จากเจบิก โดยจะประกวดราคาก่อน ม.ค. 51 เพื่อให้เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์

พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เสร็จ มิ.ย.

ด้านประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า บริษัทที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาการเดินรถตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 ของสายสีม่วงให้ รฟม. ภายในปลายเดือน มิ.ย. นี้ และจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ฯ เพื่อพิจารณาผลศึกษาพร้อมให้ข้อเสนอแนะก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน ส.ค.นี้

ส่วนขั้นตอนการคัดเลือกคุณสมบัติผู้รับเหมาอยู่ระหว่างการเจรจากับเจบิก โดยทาง รฟม.ต้องการให้รวมขั้นตอนการคัดเลือกเข้ากับการยื่นข้อเสนอ โดยจะมี 3 ซอง คือ ซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค และซองราคา เพื่อให้การดำเนินโครงการรวดเร็วยิ่งขึ้น

ตั้งกรรมการคุมระบบตั๋วร่วม

ในขณะที่ สนข.ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร( กทม.) ทั้งนี้คณะกรรมการฯมีหน้าที่ จัดทำระบบตั๋วร่วม ซึ่งจะเป็นตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ตั๋วใบเดียวกับระบบสาธารณะอื่น เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม

ในเบื้องต้นจะเชื่อมโยงรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้าด้วยกันก่อน และจะเชื่อมกับรถเมล์ และเรือในอนาคต โดยจะผลักดันให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะจะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องมีระบบกำกับดูแลและบริษัทจัดเก็บเงิน (Clearing House) โดยอาจจะหาธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแลเรื่องการจัดเก็บเงิน

ด้านบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) ผู้บริหารรถไฟฟ้า BTS แนะว่ารัฐควรลงทุนโครงการเองทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาเอกชนลงทุนเอง 100% แล้วประสบปัญหาด้านการเงิน ซึ่ง BTS มองว่าหากรัฐเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดจะเหมาะสม เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนโดยรัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธา และให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าในสัดส่วน 80:20 เชื่อว่ายังทำให้การดำเนินงานของเอกชนลำบาก เพราะต้องแบกรับภาระเงินลงทุน

ในขณะที่บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) มีความพร้อมในการให้บริการรูปแบบทั้งการเดินรถแบบรับสัมปทานและการเช่าราง หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

ราคาที่ดินขานรับแนวรถไฟฟ้า

ด้านธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กล่าวถึงแนวโน้มราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าว่า ราคาที่ดินจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีความชัดเจนของโครงการเป็นลำดับ ได้แก่ หากมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างราคาที่ดินเพิ่ม 10% เริ่มก่อสร้างราคาที่ดินเพิ่ม 30% และเมื่อเปิดให้บริการราคาที่ดินจะเพิ่มสูงถึง 2 เท่าหรือ 100% (ดูกราฟประกอบ) หลังจากนั้นราคาที่ดินจะทรงตัวไม่สูงขึ้นมาก เนื่องจากอยู่ในภาวะอิ่มตัว นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ต้องการซื้อที่ดินควรจะซื้อในช่วงของที่เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งราคาที่ดินจะยังไม่สูงมากนัก

ส่วนทำเลที่ยังคงมีราคาสูง คือ รัชดา, สุขุมวิท 62-101, และพหลโยธิน ที่มีการขยับเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วง 7 ปีก่อน ส่วนราคาที่ดินในส่วนต่อขยายคาดว่าจะมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่อย่างไรก็ตามภาคเอกชนเริ่มระมัดระวังตัวในการเข้าไปเก็งกำไรราคาที่ดิน เนื่องจากมองว่ายังมีความเสี่ยงสูง เช่น ความไม่แน่นอนของโครงการ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาที่ดินที่เป็นต้นทุนหลักของการพัฒนาโครงการ

ชงระบบขนส่งเป็นนโยบาย

ด้านมานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเดินทางเข้ามาสู่เมืองเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีประชาชนเดินทางเข้าเมืองกว่า 15 ล้านคน และคาดว่าอีก 10 ปีจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 18 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งรองรับ

“ผมอยากเสนอให้นำประเด็นระบบขนส่งเข้าเป็นนโยบายทางการเมือง ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านผู้นำประเทศไม่ค่อยให้ความสนใจกับระบบขนส่งมากนัก รวมถึงกระทรวงที่รับผิดชอบปล่อยให้เป็นงานของระดับกรมแทน” มานพกล่าว

นอกจากนี้ในอนาคต กทม. จะมีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ คือ พระราม 3 เนื่องจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจปัจจุบันอย่าง สีลม สาทร เริ่มแออัด ดังนั้นทาง กทม. ได้เตรียมที่จะขยายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันเริ่มมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม ถนน ทางด่วน ซึ่งคาดว่าน่าจะได้เห็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่เต็มรูปแบบอีกไม่กี่ปีนี้

โดยการลงทุนในระบบขนส่งของรัฐบาลจะต้องเชื่อมต่อกับชุมชนเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีก 7 จุด คือ จตุจักร ศูนย์มักกะสัน ศูนย์ตากสิน สนามบินสุวรรณภูมิ ยานนาวา-พระราม 3 รัตนโกสินทร์ชั้นใน และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งทั้ง 7 จุดนี้ถือว่าเป็นทำเลสำคัญในการเดินทางของประชาชน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.