|

พานาฯอัพเกรดพลาสม่าต่อชีพจรสู้กระแสแอลซีดี
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
พานาฯส่งพลาสม่า 50 นิ้ว ราคา 99,990 บาท พร้อมลบจุดอ่อนเรื่องความร้อนหน้าจอและเพิ่มความสว่าง หวังต่อชีพจรสินค้าหลังกระแสแอลซีดีทีวีมาแรง เบียดสัดส่วนแซงพลาสม่า ส่วนฟากแอลซีดีทีวีพยายามเพิ่มขนาดหน้าจอรับกระแส Big Screen ในขณะที่แนวโน้มเรื่องราคาของจอพาเนลทั้งพลาสม่าและแอลซีดีลดลงเฉลี่ย 30-35%
สมรภูมิทีวีในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะทีวีประเภทพาเนลหรือจอบางซึ่งได้แก่ พลาสม่าทีวี และแอลซีดีทีวี เนื่องจากสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่อาศัยในคอนโดมิเนียมมากขึ้นทำให้มีพื้นที่ใช้สอยน้อยลง การใช้ทีวีที่บางเบาแต่จอใหญ่และให้ภาพคมชัดจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้น
พัฒนาการของทีวีจาก CRT TV จอโค้ง เปลี่ยนมาสู่จอแบน จากนั้นก็มีโปรเจกชั่นทีวีเข้ามาตอบสนองความต้องการรับชมภาพจอใหญ่เหมือนอยู่ในโรงภาพยนตร์แต่เนื่องจากโปรเจกชั่นทีวีมีจุดอ่อนหลายประการไม่ว่าจะเป็นมุมมองที่แคบ ถ้ามองด้านข้างก็จะเห็นภาพไม่ชัดเจน อีกทั้งยังไม่สู้แสง ถ้าวางในห้องที่มีแสงสว่างมากๆหรือในที่กลางแจ้งก็จะไม่เห็นภาพ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้โปรเจกชั่นทีวีไม่ได้รับความนิยม จากนั้นไม่นานก็มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาคือพลาสม่าทีวี ซึ่งในช่วงแรกมีราคาเป็นหลักแสนบาท มีขนาดหน้าจอ 40 นิ้วขึ้นไป ในขณะที่แอลซีดีในช่วงนั้นมีขนาด 32 นิ้วลงมา
เทคโนโลยีพลาสม่าและแอลซีดีทีวีถูกแบ่งด้วยขนาดหน้าจอ แต่เนื่องจากแนวโน้มความต้องการในการรับชมจอภาพขนาดใหญ่มีมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตแอลซีดีต่างพัฒนาเทคโนโลยีแอลซีดีให้สามารถรองรับจอขนาดใหญ่ได้ จนในที่สุดก็สามารถพัฒนาจอแอลซีดีที่มีขนาดใหญ่กว่า 40 นิ้วแข่งกับพลาสม่าได้ แต่มีราคาแพงกว่า 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับพลาสม่าทีวี ดังนั้นผู้ผลิตแอลซีดีทีวีจึงชูจุดเด่นในเรื่องของจอภาพที่ดีกว่าในเรื่องของแสงสว่าง การถนอมสายตา ความร้อนจากหน้าจอที่น้อยกว่าพลาสม่า และประหยัดไฟมากกว่า แต่ในช่วงดังกล่าวแอลซีดีทีวีก็มีจุดด้อยตรงที่ไม่สามารถรองรับภาพเคลื่อนไหวเร็วๆได้ เพราะภาพจะเบลอ
การแข่งขันของเทคโนโลยีจอใหญ่ทั้ง 2 รูปแบบมีมากขึ้น ประกอบกับตลาดก็ให้ความสนใจมากขึ้น จนมี Economy of Scale ที่มากพอทำให้พาเนลจอใหญ่มีราคาต่ำกว่าหลักแสนบาท ซึ่งในส่วนของแอลซีดีทีวีเองก็มีการลบจุดด้อยด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี 100 เฮิรตซ์ ทำให้สามารถรองรับภาพเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นโดยภาพไม่มีการเบลอเหมือนในอดีต
ช่องว่างระหว่างราคาแอลซีดีที่แพงกว่าพลาสม่าทีวี 2-3 เท่าในอดีตลดลงมาเหลือไม่กี่หมื่นบาททำให้แอลซีดีได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในปี 2548 พลาสม่าทีวีมีปริมาณความต้องการในตลาดอยู่ที่ 10,000 กว่าเครื่อง ในขณะที่แอลซีดีทีวีมีความต้องการ 6,000 เครื่อง แต่ในปีที่ผ่านมาปริมาณความต้องการแอลซีดีทีวีเพิ่มขึ้นเป็น 58,000 เครื่อง ซึ่งมากกว่าความต้องการพลาสม่าทีวีที่มีเพียง 29,000 เครื่อง และในปีนี้มีการคาดการณ์กันว่าปริมาณความต้องแอลซีดีทีวีจะเพิ่มเป็น 236,000 เครื่อง ขณะที่พลาสม่าทีวีจะมีความต้องการ 44,000 เครื่อง
แนวโน้มดังกล่าวเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าพลาสม่าทีวีกำลังจะตกที่นั่งลำบากถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงค่ายพานาโซนิค และ ไพโอเนียร์ เพียง 2 แบรนด์เท่านั้นที่ประกาศตัวชัดเจนว่าจะให้ความสำคัญกับพลาสม่าทีวีเป็นหลัก แต่พานาโซนิคเองก็เริ่มมีการพัฒนาแอลซีดีทีวีเข้าสู่ตลาดด้วย ส่วนไพโอเนียร์เน้นเจาะตลาดไฮเอนด์เป็นหลักโดยชูคุณภาพของภาพและเสียงแต่มีราคาที่ค่อนข้างแพงกว่าคู่แข่ง ในขณะที่แบรนด์ญี่ปุ่นและเกาหลีต่างหันมาโฟกัสแอลซีดีทีวีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้งพลาสม่าทีวีเพราะตลาดยังมีความต้องการอยู่บ้าง
แนวทางในการอยู่รอดของพลาสม่าทีวีคือการทำขนาดจอให้ใหญ่ขึ้นไป เส้นแบ่งระหว่างพลาสม่าและแอลซีดีที่เคยอยู่ที่ 37 นิ้ว วันนี้ขยับขึ้นไปเป็น 50 นิ้ว เนื่องจากขนาดที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตจอแอลซีดีสูงขึ้นด้วย ฉะนั้นช่องว่างของราคาจะแตกต่างกันมากขึ้นในขนาดจอที่ใหญ่ขึ้น เรียกได้ว่ายังมีที่ยืนสำหรับพลาสม่าทีวี ซึ่งพานาโซนิคได้ใช้แนวทางดังกล่าวในการรักษาวงจรชีวิตของพลาสม่าให้อยู่ในตลาดต่อไปได้ พร้อมกันนี้ยังใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการจูงใจผู้บริโภคโดยในปีที่ผ่านมาพลาสม่าทีวี 50 นิ้วของพานาโซนิคมีราคาอยู่ที่ 219,990 บาท โดยมีการทำโปรโมชั่นเงินผ่อน 0% นาน 6 เดือน พร้อมกับของแถม เช่น ขาตั้งหรือที่แขวนพลาสม่าทีวี และในบางโปรโมชั่นก็จะมีการแถม กล้องวิดีโอร่วมด้วย ส่วนในปีนี้พานาโซนิคได้ลอนช์พลาสม่า 50 นิ้วรุ่นใหม่โดยมีราคาเพียง 99,990 บาท พร้อมกับฟังก์ชั่นการใช้งานและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
ก่อนหน้านี้พานาโซนิคมีการพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานของพลาสม่าทีวีด้วยการชูการเชื่อมต่อผ่าน เอสดีการ์ด ซึ่งในกลุ่มภาพและเสียงของพานาโซนิคล้วนมีฟังก์ชั่นในการเชื่อมต่อดังกล่าวทำให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ โดยพลาสม่าทีวีรุ่นล่าสุดของพานาโซนิคมีการพัฒนาคุณภาพของภาพและเสียงให้ดีขึ้นพร้อมกับชูฟังก์ชั่นเวียร่าลิงก์ หรือการใช้รีโมตพลาสม่าทีวีในการควบคุมการใช้งานพื้นฐานของอุปกรณ์ภาพและเสียงของพานาโซนิคเช่นเครื่องเล่นดีวีดี เครื่องเสียง ชุดโฮมเธียเตอร์ และยังลบจุดอ่อนของพลาสม่าทีวีในเรื่องของความร้อนของหน้าจอให้น้อยลง และการปรับความสว่างให้มากขึ้น พร้อมกับชูประสิทธิภาพของคอนทราสต์เรโช 10,000:1 ซึ่งมากกว่าแอลซีดีทีวีทั่วไป
แต่ล่าสุดซัมซุงก็มีการลอนช์แอลซีดีทีวีรุ่นใหม่ M8 ซึ่งมีคอนทราสต์เรโชสูงถึง 15,000:1 และรองรับสัญญาณภาพระดับ Full HD โดยมีขนาดจอใหญ่สุด 52 นิ้ว ในราคา 199,990 บาท ขณะเดียวกันก็ยังมีแอลซีดีทีวี S8 ขนาด 46 นิ้ว ในราคา 99,990 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เท่ากับพลาสม่า 50 นิ้วของพานาโซนิคในขณะที่หน้าจอต่างกันเพียง 4 นิ้ว พร้อมกันนี้ซัมซุงก็ยังทำพลาสม่า Q9 ขนาด 50 นิ้วในราคา 89,990 บาท ซึ่งต่ำกว่าพลาสม่า 50 นิ้วของพานาโซนิค 10,000 บาท ส่วนแอลจีมีพลาสม่า 50 นิ้วราคา 99,990 บาท โดยมีการทำโปรโมชั่นเงินผ่อน 0% นาน 6 เดือน แต่ถ้าเป็นพลาสม่า 50 นิ้ว รุ่นไทม์แมชชีนทีวีซึ่งสามารถบันทึกรายการทีวีลงเครื่องได้จะมีราคา 119,990 บาท
เส้นทางการอยู่รอดของพลาสม่าทีวีนอกจากจะถูกไล่ล่าโดยแอลซีดีทีวีแล้ว เมื่อขยับขึ้นไปทำจอใหญ่ก็ยังต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีเอ็มดีโปรเจกชั่นของโซนี่ที่ใช้ชื่อรุ่นว่า SXRD ที่พัฒนาจอใหญ่ขึ้นมาเพื่อตอบสนองตลาดในขณะที่แอลซีดีทีวียังก้าวไปไม่ถึง โดย SXRD ของโซนี่มี 3 ขนาด คือ 50 นิ้ว 60 นิ้ว และ 70 นิ้ว โดยมีราคา 129,990 บาท 149,990 บาท 199,990 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี SXRD มีข้อเสียคือมีน้ำหนักมากและหนากว่าพลาสม่า แต่ก็มีข้อดีตรงที่รองรับสัญญาณภาพในระดับ Full HD 1920x1080 หรือ 2 ล้านพิกเซล ในขณะที่พลาสม่าของพานาโซนิคมีความละเอียดสูงสุดของจอภาพเพียงระดับ WXGA 1366x768 หรือ 1 ล้านพิกเซลในรุ่น 50 นิ้ว
แต่ล่าสุดโซนี่ได้เปิดตัวแอลซีดีทีวี 70 นิ้ว ราคา 1,300,000 บาท ที่ให้ภาพในระดับ Full HD ในงาน Paragon Electronica Showcase ที่สยามพารากอนโดยยังคงคอนเซ็ปต์ HD World ในการทำการตลาด ซึ่งเป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆของโซนี่เพื่อให้ได้สัญญาณภาพที่คมชัดไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องวิดีโอ เครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ และเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่น 3 อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้พานาโซนิคได้เปิดตัวพลาสม่าทีวี 103 นิ้ว ในราคา 3 ล้านกว่าบาท
แต่เนื่องจากพาเนลทีวีที่มีขนาดหน้าจอใหญ่มากจะมีราคาแพง ดังนั้นพานาโซนิคจึงวางกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นผู้ใช้ตามครัวเรือนทั่วไป และกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยจะจำแนกตามการใช้งานของลูกค้าเช่นในศูนย์การค้าก็จะผลักดันพลาสม่าทีวีจอใหญ่เนื่องจากมีพื้นที่กว้าง การใช้จอใหญ่จะสามารถสื่อสารและดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้มากกว่า ในขณะที่ตลาดโรงแรมซึ่งไม่ได้เน้นจอใหญ่ก็จะผลักดันแอลซีดีทีวี ทั้งนี้ปัจจุบันพานาโซนิคมีสัดส่วนลูกค้าองค์กร 20% ในกลุ่มสินค้าแอลซีดีทีวี และ 30% ในกลุ่มพลาสม่าทีวี
ปัจจุบันพานาโซนิคเป็นผู้นำตลาดพลาสม่าทีวีโดยในปีที่ผ่านมามีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 24% ส่วนในปีนี้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 35% ในขณะที่ตลาดแอลซีดี พานาโซนิคเพิ่งเริ่มต้นในปีที่ผ่านมาโดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 8% ส่วนปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 20%
ล่าสุดพานาโซนิคทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาททำแคมเปญ ONE NIGHT CASTLE ภายใต้แนวคิด Leader of Technology No Compromise เพื่อโปรโมตสินค้ากลุ่มทีวีรุ่นใหม่โดยร่วมกับร้านค้าหลักกว่า 250 ร้านค้าจัดดิสเพลย์ใหม่เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์รวมถึงใช้โอกาสดังกล่าวในการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคได้เห็นถึงจุดเด่นของพลาสม่าทีวี นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรมในต่างจังหวัดเช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี โดยมีการเล่นเกม และมอบของที่ระลึกให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้พานาโซนิคยังเตรียมแคมเปญอื่นๆเพื่อสร้างความต่อเนื่องในการทำการตลาดโดยจะโฟกัสไปที่พลาสม่าทีวี เวียร่าลิงก์ และเอสดีเน็ตเวิร์กกิ้ง เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นถึงการทำงานที่เชื่อมต่อกันเป็นโซลูชั่นเมื่อใช้สินค้าของพานาโซนิค
การต่อชีพจรของสินค้าให้คงอยู่มิได้มีเพียงแค่พลาสม่าทีวีเท่านั้น แต่ CRT TV หรือทีวีจอแก้วที่มีความหนาก็พยายามพัฒนาตัวเองไปสู่ สลิมฟิตทีวี ซึ่งมีความหนาของหน้าจอน้อยลง 30% บางและเบา พร้อมกับการดีไซน์หน้าจอให้เหมือนพาเนลทีวี แต่สลิมฟิตจะมีราคาแพงกว่า CRT TV ปกติ 2-3 พันบาท ซึ่งยังมีช่องว่างในตลาดเพราะด้วยขนาดหน้าจอที่เล็กและราคาที่ถูกกว่าพาเนลทีวีจึงยังเป็นที่ต้องการของตลาดส่วนใหญ่ ในขณะที่ SXRD ของโซนี่ซึ่งเป็น MD Projection ซึ่งเป็นการอัพเกรดเทคโนโลยีโปรเจกชั่น แต่เมื่อแอลซีดีทีวีสามารถทำหน้าจอให้ใหญ่และมีราคาที่ลดลงมากกว่านี้ SXRD ก็คงต้องหายไปจากตลาดในที่สุด ถ้าไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้มากกว่าที่เป็นอยู่
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|