ชนินท์ทำดินขาวขอส่วนแบ่งตลาด 10 % ป้อนโรงงานเซรามิค


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัท เหมืองบ้านปูน จำกัดของชนินท์ ว่องกุศลกิจ เป็นที่รู้จักดีในธุรกิจถ่านหินแต่เมื่อปี 2530 ได้มีการสำรวจพบแหล่งดินขาวคุณภาพสูงที่ตำบลหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง จึงจัดตั้งบริษัท มินเนอรัลรีซอร์สเซส ดีเวลลอปเมน้ท์ จำกัดขึ้นเพื่อทำธุรกิจดินขาวโดยตรง

เหมืองดินขาวของบริษัทมินเนอรัล ฯ บนเนื้อที่ 9,085 ไร่ จัดเป็นดินขาวคุณภาพดี

ซึ่งเป็นวัตถุสำคัญของอุตสาหกรรมเซรามิค โดยมีการขยายตัวสูงถึง 30 % ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ขณะที่ความต้องการดินขาวในปีนี้ประมาณ390,000ตัน ปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 470,000 ตัน และคาดว่าถ้าอัตราเพิ่มเฉลี่ยปีละ 15 % นี้ไปจนถึงปี 2539 ความต้องการดินขาวจะเพิ่มเป็นกว่า 860,000 ตัน

ทุกวันนี้ การใช้ดินขาวเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องชนิดต่าง ๆ จะมีสัดส่วน 25-38 % ส่วนเครื่องสุขภัณฑ์จะใช้ประมาณ 20-32 %

โดยการผลิตกระเบื้องจะเป็นตลาดที่โตที่สุดถึง 75 % ของตลาดเซรามิครวม (คิดโดยน้ำหนัก) ส่วนเครื่องสุขภัณฑ์คิดเป็น 12 % ของตลาด

ทั้งนี้ เครื่องสุขภัณฑ์ต้องการดินขาวที่มีคุณภาพสูงกว่า โดยมากจะมาจากแหล่งระนอง ซึ่งเป็นแหล่งดินขาวที่มีคุณภาพดีที่สุดในขณะนี้ ส่วนกระเบื้องจะใช้ดินขาวจากแหล่งอื่นโดยเฉพาะลำปางเป็นหลักเมื่อเทียบราคาบวกค่าขนส่งแล้วดินลำปางจะถูกกว่าดินระนองกว่า 50 %

บริษัท มินเนอรัล ฯ จึงมุ่งป้อนดินขาวเข้าตลาดเครื่องสุขภัณฑ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องการขึ้นรูปและต้องการความคงทนมากกว่าการผลิตกระเบื้อง

ตอนนี้ โรงงานกำลังอยู่ระหว่างทดลองเครื่อง และจะเปิดตัวเข้าตลาดอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ โดยตั้งเป้าหมายว่าในปีแรก (ปี 2534/35) ตามปีงบประมาณจะเริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม -30 มิถุนายน

จะผลิตประมาณ 20,000 ตัน และเพิ่มจนเต็มกำลังการผลิตเป็น 120,000 ตันในปีที่ 5

การรุกตลาดจะเน้นตลาดเครื่องสุขภัณฑ์กว่า 40 % ของกำลังการผลิตรองลงมาจะเป็น TABLEWAER หรือเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารประมาณ 30 % ที่เหลือจะป้อนอุตสาหกรรมเซรามิคอื่น

มินเนอรัล ฯ จึงอยู่ระหว่างการแนะนำตัวในตลาดด้วยการส่งตัวอย่างดินขาวให้ลูกค้าทดลองใช้นับสิบราย เช่น สยามซานิทารีแวร์ เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีคุณสมบัติบางส่วนีท่ยังไม่ตรงตามสเปกเนื่องจากแต่ละรายจะมีสเปกในการใช้ต่างกันเล็กน้อย

สำหรับตลาดดินขาวระนองนั้น จะมีผู้ผลิตรายใหญ่อยู่ไม่กี่ราย เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยเกาลีน จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้ผลิตมากที่สุดกว่า 3 หมื่นตัน คิดเป็น 60 % ของกำลังผลิตดินขาวแหล่งระนองทั้งหมด รองลงมาเป็นเหมืองของประดิษฐ แก้วโชติช่วงกุล ผลิตได้ราว 18 % เหมืองของเสถียร โสดาบรรลุ 7-8 % เหมืองบริษัท บ้านบอมลำปาง ไมนิ่ง จำกัด ประมาณ 4-5 % นอกจากนั้นจะเป็นรายย่อย

แม้แต่ในลำปาง ผู้ผลิตดินขาวจะมีรายใหญ่ไม่กี่รายส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็กเช่นเดียวกัน

การเกิดขึ้นของมินเนอรัล ฯ จึงเหมือนกับการแทรกตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่นในตลาดดินขาวด้วยขนาดกำลังการผลิตเต็มที่ถึง 120,000 ตัน

"โรงแต่งแร่ดินขาวนี้จัดเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุด และทันสมัยที่สุดในขณะนี้ จะมีระบบกรองน้ำด้วยการพักน้ำที่ใช้ในการล้างแร่ แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้อีกโดยไม่ทำให้เกิดน้ำเสียต่ดสภาพแวดล้อม และทำให้สงวนน้ำมาใช้ในการแต่งแร่ดินขาวได้ตลอดปีจึงทำให้ผลิตดินขาวได้คุณภาพสม่ำเสมอตลอดปี" เมธี เอื้ออภิญญกุล กรรมการรองกรรมการผู้จัดการมินเนอรัล ฯ กล่าว

จุดเด่นของมินเนอรัล ฯ "ก็คือการใช้เทคนิคและระบบบการผลิตของนิวซีแลนด์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท NEW ZEALAND CHINA CLAY ผสมผสานกับเทคโนโลยีของเยอรมันแล้วนำมาประยุกต์ออกแบบโรงงานโดยวิศวกรของเรา ซึ่งจะมีการปรับปรุงพัฒนาเทคนิคไปอีก เราจะเน้นการผลิตวัตถุดิบตอนนี้ยังจะไม่เข้าไปเป็นผู้ผลิตสินค้าเซรามิคเพราะเห็นว่าจะช่วนสร้างความชำนาญได้ดีกว่า แต่จะกำหนดว่าไม่ทำเลยก็ไม่ได้เป็นเรื่องอนาคต" ชนินท์กล่าวถึงจุดเด่น และจุดยืนการทำะรกิจของตนในการทำเหมืองดินขาวขณะนี้

การผลิตของที่นี่จะเริ่มด้วยการทำเหมืองในระบบเปิดด้วยการใช้เครื่องจักรหนักในการเปิดหน้าดิน และตักดินลำเลียงเข้าโรงแต่งแร่

ขั้นตอนต่อไปก็นำแร่ดินขาวมาฉีดน้ำด้วยแรงดันสูงให้หินแตก ให้ส่วนที่เป็นหินใหญ่ถูกแยกออกไป ส่วนที่เหลือก็จะผ่านเครื่องคัดขนาดต่าง ๆ ในระบบที่วางไว้อย่างต่อเนื่องเป็นขั้นตอน จนได้ดินขาวแล้วจึงเอาไปรีดน้ำออกจนเหลือความชื้นเพียง 25 %

น้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำเหมืองดินขาว โดยทั่วไปจะใช้น้ำตามธรรมชาติทั้งในการฉีดเหมืองและโรงแต่งแร่แล้วปล่อยน้ำทิ้ง จึงมีปัญหาในหน้าแล้งช่วงเดือนมกราถึงเมษายน เมื่อขาดน้ำฝนทำให้เหมืองส่วนใหญ่ต้องหยุดการผลิต

แต่มินเนอรัล ฯ ไม่ใช้น้ำในขั้นต้น แต่จะใช้น้ำเฉพาะการแต่งแร่ และมีบ่อพักน้ำขุ่นและบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่สำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง

การผลิตที่ไม่ต่อเนื่องจึงทำให้โรงงานเซรามิครายเล็กมักจะเดือดร้อนเพราะเหมืองหลายแห่งจะหยุดการผลิตดินขาว ขณะที่โรงงานรายใหญ่จะซื้อสต๊อกไว้ แต่ถ้าบางรายสต๊อกไว้ไม่มากพอก็มีปัญหาอีก ต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเสียเวลา และอาจจะได้ดิน ที่ใช้งานไม่ได้ดีเท่าที่ต้องการ เนื่องจากดินขาวของต่างประเทศมักจะแห้งมากมีความชื้นต่ำเกินไปเพียง 2-3 % ทำให้ฟุ้งกระจายเกิดการสูญเสียในการผลิต ทำให้ต้นทุนเพิ่ม เวลาขึ้นรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูปก็จะแตกง่าย

ช่องโหว่ของตลาดดินขาวส่วนนี้จึงเป็นจุดที่มินเนอรัล ฯ จะเข้าไปรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการทดแทนการนำเข้าในหน้าแล้งการแทรกตัวในส่วนที่เหมืองอื่นจะขยาย หรือการเบียดส่วนครองตลาดจากผู้ผลิตรายเดิมเพราะแหล่งสำรองดินขาวของบางรายกำลังจะหมด

พร้อมกันนี้ก็จะเสริมการบริการด้วยการติดตามผลหลังการขาย นอกเหนือจากการตรวจคุณภาพดินตั้งแต่หน้าเหมือง

สำหรับปริมาณสำรองดินขาวที่จะทำสินค้าสำเร็จรูปได้ 3 ล้านตัน ใช้ได้ 30 ปี "นี่เป็นตัวเลขการสำรวจขั้นต้น" ชนินท์กล่าวถึงแหล่งวัตถุดิบและการลงทุนเพิ่มจากระยะ 2,000 ตัน ไปเป็น 120,000 ตันในอีก 5 ปี ว่า "มีแนวทางจะให้ต่างประเทศเข้าร่วม และจากทุนจดทะเบียนที่ลงไป 20 ล้านบาท มีนโยบายที่จะเพิ่มอีกประมาณ 20 ล้านบาท"

แม้ว่ามินเนอรัล ฯ จะมีข้อได้เปรียบกว่าผู้ผลิตรายอื่น ๆ แต่ก็อยู่ระหว่างการเลือกเส้นทางขนส่งดินขาวไปยังโรงงานว่าควรจะเส้นทางใด เนื่องจากโรงงานเซรามิคส่วนใหญ่จะอยู่แถวสระบุรี ปทุมธานี

การขนส่งจากระนองไปสระบุรี ถ้าใช้รถยนต์ค่าขนส่งสูงถึงตันละ 500 บาท

"กำลังดูการแข่งขันโดยรถไฟ เพราะแม้ค่าขนส่งจะเท่ากัน แต่ก็ประหยัดค่าน้ำมันช่วยลดต้นทุนได้" ชนินท์กล่าวถึงทางออกในการขนส่งเพื่อเสริมจุดขายอื่นที่มีอยู่แล้ว

อีก 5 ปี มินเนอรัล ฯ จะครองตลาดได้ตามเป้าหมาย 10 % ได้สำเร็จหรือไม่ ก็คงต้องคอยติดตามกันต่อไป…!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.