|

MFCตั้ง2บริษัทที่ปรึกษาเสริมธุรกิจกองทุนรวม
ผู้จัดการรายวัน(2 กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งบริษัทย่อยเพิ่มอีก 2 บริษัท ซึ่งจะเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (เอฟเอ) และบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยทั้ง 2 บริษัทนี้คาดว่าจะดำเนินการขอจัดตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แล้วเสร็จประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้
ทั้งนี้ สาเหตุที่ บลจ.เอ็มเอฟซี มีแนวคิดจัดตั้งบริษัทย่อย 2 ดังกล่าวบริษัทขึ้นมา เนื่องจากมองว่าทั้ง 2 บริษัทนี้จะช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจของ บลจ.เอ็มเอฟซี ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับตัวบริษัทด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นไปตามแผนการเป็นโฮลดิ้งคอมพานี ที่บริษัทเคยวางแผนไว้แล้วก่อนหน้านี้
นายพิชิตกล่าวว่า สำหรับบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินนั้น จะเน้นการศึกษาข้อมูลของบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหลัก โดยจะเน้นวิเคราะห์ถึงแนวโน้มธุรกิจและตัวบริษัทดังกล่าวเองว่ามีความจูงใจให้เข้าไปลงทุนมากแค่ไหน ซึ่งการทำงานในส่วนนี้ จะมีส่วนช่วยต่อการบริหารจัดการกองทุนไพรเวทอิควิตี้ ที่เน้นลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ฯ ให้มีความคล่องตัวมากขึ้นโดยในปัจจุบันบริษัทก็มีกองทุนประเภทดังกล่าวบริหารอยู่แล้ว
"กองทุนประเภทไพรเวทอิควิตี้ โดยปกติแล้วเวลาจะลงทุนอะไร เขาจะต้องจ้างเอฟเอเข้าไปดูพื้นฐานของบริษัทก่อน ดังนั้นหากเรามีบริษัทซึ่งคอยทำหน้าที่นี้ ก็จะช่วยให้กองทุนทำงานกันง่ายขึ้น และไม่ต้องไปจ้างเอฟเอภายนอกมาดูด้วย"ดร.พิชิตกล่าว
ส่วนบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้น จะทำหน้าที่เข้าไปดูแลอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบลจ.เอ็มเอฟซี ซึ่งการตั้งบริษัทดังกล่าวเข้ามาช่วย จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนได้มากยิ่งขึ้น
"ปกติแล้วเมื่อเราซื้ออสังหาริมทรัพย์มา ก็ต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูแลอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ซึ่งปกติก็ไม่พ้นเจ้าของเดิม แต่ถ้าเรามีบริษัทที่ดูแลในเรื่องนี้ขึ้นมา ทางบริษัทก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย ซึ่งช่วยให้เราสามารถควบคุมการบริหารจัดการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น"ดร.พิชิตกล่าว
ทั้งนี้ การขยายธุรกรรมไปด้านการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของ บลจ.เอ็มเอฟซี นั้น ถือเป็นไปตามแผนงานที่บริษัทได้วางเป้าหมายเอาไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ และธุรกิจที่ทั้ง 2 บริษัทให้บริการนั้น ถือเป็นธุรกิจที่ บลจ. สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ บลจ.เอ็มเอฟซี ได้รับการทาบทามจากกระทรางการคลังให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อศึกษาสถานะการทำธุรกิจของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจว่าจะเพิ่มทุนธนาคารทหารไทยหรือไม่ หลังจากธนาคารทหารไทยประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การทาบทามดังกล่าว เป็นเพียงการหารือในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งยังต้องมีการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปและตกลงเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการก่อน โดยปัจจุบันบริษัทเองก็อยู่ระหว่างหาข้อมูลการทำธุรกิจของธนาคารทหารไทย เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป
"ความเห็นของเราจะเป็นความเห็นของผู้ลงทุนสถาบันรายหนึ่ง เพื่อเป็นข้อมูลหนึ่งในการตัดสินใจของกระทรวงการคลังว่าจะเพิ่มทุนหรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่เราจะพิจารณาก็จะเป็นข้อมูลการลงทุนปกติเท่าที่สถาบันรายหนึ่งจะให้ได้"นายพิชิตกล่าว
นายพิชิตกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังเองมีคำถามอยู่ในใจอยู่แล้ว เกี่ยวกับความกังวลว่าจะทำการเพิ่มทุนหรือไม่ และจะทำด้วยวิธีใด ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ในธนาคารทหารไทย(TMB) ประมาณ 30% ซึ่งการแก้ปัญหาในครั้งนี้ ก็เพื่อผลประ- โยชน์แก้ผู้ถือหุ้นทุนฝ่าย ทั้งคลังเองในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงผู้ถือหุ้นรายอื่นและนักลงทุนรายย่อยด้วย ในขณะที่ธนาคารทหารไทยเองก็ต้องการเป็นสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่งต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|