"ตราพระอาทิตย์" ปูนยี่ห้อแรกของทีพีไอ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ตราบใดที่ปัญหาปูนขาดแคลนอยู่ ตลาดก็ยังเป็นของผู้ผลิต และบริษัททีพีไอโพลีน-โรงงานปูนซีเมนต์แห่งที่สี่ของประเทศไทยที่มีเจ้าของเป็นคนในตระกูล "เลี่ยวไพรัตน์" ก็เริมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว จนกระทั่งมีข่าวว่าในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ ผู้บริหารบริษัททีพีไอ โพลีนก็จะนำเข้าปูนเม็ดจากปอร์ตแลนด์และจีนแดงเข้ามาบดเป็นปูนผงขายใส่ถุงปูนซีเมนต์ ที่เป็นโลโก้พระอาทิตย์ทอแสงเจิดจ้า

กว่าจะคิดค้นโลโก้ปูนตราพระอาทิตย์นี้ขึ้นมาได้ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงถกเถียงกันมากว่าจะทำอย่างไรให้ฉีกแนวแตกต่างไปจากตราสิงสาราสัตว์ที่คู่แข่งมีอยู่

"ผมก็แนะนำเขาว่าให้ใช้ตราทีพีไอ เพราะใคร ๆ ก็รู้จักยอมรับกันแล้ว จากนั้นก็แบ่งเป็นสีแดง สีเขียว สีเหลืองสำหรับปูนแต่ละประเภทเช่นปูนฉาบ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงใจ" สรร อักษรานุเคราะห์ รองประธานบริหารของบริษัทเล่าให้ฟัง

ในที่สุดประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททีพีไอโพลีนก็ได้ตราพระอาทิตย์มีการวางแผนทำ PRE MARKETING เพื่อทดสอบการตลาดในระยะแรก

โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของทีพีไอโพลีนนี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างบริษัทปูนซีเมนต์ไทย และบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงบนที่ดินขนาด 1,786 ไร่ที่จังหวัดสระบุรี เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 7,300 ล้านบาท มีขนาดกำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี โดยประชัยเลือกใช้เครื่องจักรของ KRUPP POLYSIUS ของเยอรมนี

ส่วนปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรในอุตสาหกรรมก่อสร้างนี้ ก็ทำให้มีการซื้อตัวมืออาชีพและฝ่ายช่างปฏิบัติการจากหลายแหล่งมาประจำอยู่ที่โรงปูนทีพีไอ อาทิเช่น มีการเคลื่อนย้ายวิศวกรบางส่วนจากชลประทานซีเมนต์หรือปูนนครหลวงบ้างไปอยู่ที่ใหม่ โดยได้รับเงินเดือนมากกว่าที่เดิมสองเท่าตัว

ด้านแหล่งวัตถุดิบของโรงปูนแห่งใหม่นี้ ดร.โกศล สินธวานนท์ กรรมการรองผู้จดการใหญ่เคยกล่าวไว้ว่า เป็นแหล่งหินปูนหินดินดาลที่สามารถผลิตปูนได้นานนับ 100 ปีและได้มีการขอสัมปทานไปแล้ว 151 แปลง ๆ ละ 200-300 ไร่ และล่าสุดคณะกรรมการตามพรบ.แร่อนุมัติประทานบัตรทำแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมที่จังหวัดสระบุรีจำนวน 895 ไร่รวม 3 แปลงแก่ทีพีไอโพลีนด้วย

อย่างไรก็ตาม "การเกิดย่อมเจ็บปวดอย่างทรมาน" เฉกเช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของทีพีไอ โพลีนที่ต้องผจญกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดมูลค่านับแสนล้านบาท

"ระหว่างที่เราทำการติดตั้งเครื่องจักร และจะทดลองทำการบดปูนผงออกขายในราวปลายปีนี้เราก็เคยติดต่อขอซื้อปูนซีเมนต์จากสองโรงที่อยู่ข้าง ๆ แต่เขาบอกว่า ถ้าจะซื้อให้ไปซื้อจากกรุงเทพเอง" แหล่งข่าวเล่าให้ฟังว่าประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ชักมีอารมณ์เมื่อเจอลูกเล่นแบบนี้

"ประชัยเป็นคนพูดแรงเสมอ นิสัยค่อนข้างใจร้อนด้วยซ้ำ ตามแบบธรรมเนียมคนจีนแต่ต้องยอมรับว่าเขาเป็นนักสู้ตัวจริงคนหนึ่ง" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง

ดังนั้นทางออกของประชัยก็คือการนำเข้าปูนเม็ดจากต่างประเทศ เช่นปอร์ตแลนและจีนแดง มาบดเป็นปูนผงบรรจุถุงวางขายแข่งกับคู่แข่ง

ตามแผนการในอนาคตประชัยไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่โรงงานแห่งแรกที่จะเริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศราวกลางปี 2535 แต่ทีพีไอ โพลีนยังได้แตกหน่อไปทำอีกหลายโครงการ เป็นลักษณะการทำให้ครบวงจรของวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ทีพีไอได้มีการลงทุนเพิ่มอีก 40 ล้านบาทจัดตั้งบริษัททีพีไอ คอนกรีตที่เน้นการผลิต การค้าการรับจ้างผลิตคอนกรีตผสมเสร็จและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ โดยทีพีไอเข้าไปถือหุ้น 99 % และจะเริ่มดำเนินการพร้อมกับที่โรงปูนทีพีไอเดินเครื่อง

"จุดประสงค์หลักของทีพีไอก็ต้องการให้ทีพีไอ คอนกรีตรองรับปูนซีเมนต์จากโรงปูนใหญ่ของทีพีไอที่จะแล้วเสร็จกลางปีหน้านี้" ดร.โกศลกล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่จะป้อนให้กับบริษัทดังกล่าวควบคู่กับการขนส่งและบริการให้กับลูกค้า ด้วยการลงทุนซื้อรถขนส่งเพิ่มอีกนับร้อยคัน

ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ไปภาวะการแข่งขันเป็นที่คาดว่าจะรุนแรงยิ่งข้น เมื่อผู้ผลิตรายใหม่รายอื่นเช่น วิศณุซีเมนต์ซึ่งมีกำลังการผลิต 1.5 ล้านตัน ปูนซีเมนต์เอเซียของโสภณพนิช (1.35ล้านตัน) อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กรุงเทพ (1.3ล้านตัน) และสหซีเมนต์ที่จะผลิตในปี 2537 อีก 1.8 ล้านตัน

ถึงกระนั้นผู้บริหารทีพีไอก็ยังคิดว่าไม่มีปัญหา เมื่อเห็นอนาคตปริมาณความต้องการปูนซีเมนต์ในภาครัฐและเอกชนก็ยังขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งปีละไม่ต่ำกว่า 10 % (ในปี 32 ขยายตัวสูงถึง 30 %) ขณะที่ปริมาณการผลิตของยักษ์ใหญ่ทั้งสามโรงปูนนั้นทำได้ 15.15 ล้านตันซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการที่มีถึง 16.45 ล้านตันในปีที่แล้ว

ยิ่งมีการเกิดขึ้นของโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น โครงการทางด่วนขั้นที่สองมูลค่า 7,662 ล้ายบาท ที่เพิ่งจะเริ่มปี 2533 และจะสิ้นสุดปี 2536 ก็ยิ่งทำให้ "ผู้มาใหม่" อย่างทีพีไอไม่วิตกกังวลเลย และยังมีแผนคิดการณ์ไกลจะไปตั้งโรงงานใหม่แห่งที่สองและโรงงานใหม่ที่ประเทศเวียดนามในอนาคตอีกด้วย !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.