เมื่อชาติศิริต้องเป็นวาณิชธนากรในบอร์ดทอท.


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

การเข้ามาของ "โทนี่" หรือชาติศิติ โสภณพนิช ทายาทเจ้าสัวชาตรี ในคณะกรรมการบริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ชุดใหม่นี้ ถือได้ว่ามีความหมายในเชิงภาพพจน์ของทายาทหมายเลขหนึ่งแบงก์กรุงเทพและบทบาทใหม่อีกบทบาทหนึ่ง ในฐานะผู้บริหารการเงินการธนาคารจากภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมปรับปรุงแนวการบริหารรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสำคัญ ๆ เช่น โครงการสร้างสนามบินใหม่ที่หนองงูเห่ามูลค่าไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาทและอีก 9 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระหว่างปี 2534-2540 ตามผลการศึกษาของที่ปรึกษา LOUIS BERGER INTERINATIONAL มูลค่าลงทุน 6,800 ล้านบาท

โครงการเหล่านี้ต้องผ่านการประชุมพิจารณาอนุมัติจากคอร์ดใหม่ของทอท. 11 คนที่ได้รับการแต่ตังเกิดขึ้นหลังจากชุดเก่าได้ทำงานครบวาระ 3 ปี ประกอบด้วย พล.อ.. เกษตร โตจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นประธาน ส่วนกรรมการได้แก่ พล.อ.ท.ถาวร เกิดสินธุ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศประจำกองบัญชาการกองทัพอากาศ พล.อ.ท.สมมติ สุนทรเวช พล.อ.อ.วีระ กิจจาทร กก.ผจก.ใหญ่บริษัทการบินไทย พล.ต.ต.เกรียงไกร กรรณสูต ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมือง เมตตพุ่มชูศรี ชาติศิริ โสภณพนิช และตัวแทนกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังและกองทัพอากาศ ตำแหน่งละคน โดยมีพล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ

"การนำเอานักธุรกิจนักบริหารที่มีประสบการณ์ทางการเงินจากภาคเอกชนมาช่วยนี้จะเป็นตัวอย่างให้กับรฐวิสาหกิจอื่น ๆ ด้วยเรื่องนี้เป็นแนวความคิดของผมเองและได้เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการท่าอากาศยาน" พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ผู้ว่าการทอท.เล่าให้ฟังถึงที่ประชุมซึ่งเห็นด้วย พร้อมกับมอบให้รมว.นุกูลเป็นผู้คัดเลือกซึ่งก็ได้เสนอชาติศิริให้มาเป็นกรรมการ

เบื้องหลังการที่นุกูล ประจวบเหมาะ รมว.คมนาคม ได้แต่งตั้งชาติศิริ โสภณพนิชซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาด ธนาคารกรุงเทพเข้ามาในบอร์ดใหม่นี้ ได้กลายเป็นเรื่องที่ถูกโยงมาเกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ที่ธุรกิจในเครือข่ายของแบงก์กรุงเทพ และชาตรีจะได้โอกาศเข้ามาทำธุรกิจในโครงการของการท่า

"ท่านมขอชาติศิริโดยตรง ผมไม่รู้เรื่องมาก่อนจนกระทั่งลูกผมมาปรึกษาผมก็บอกว่าตามใจเขา ถ้าทำได้ก็เป็นเรื่องของเขา" ชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสแห่งแบงก์กรุงเทพเปิดเผยในวันแถลงข่าวเป็นกรณีเร่งด่วนที่ชั้น 26 อาคารสำนักงานใหญ่ของแบงก์ ในวันที่ 1 กรกฎาคมหลังการแต่งตั้งชาติศิริเพียง 4 วันเพื่อแสดงให้สาธารณะรับทราบว่าที่มาเรื่องนี้ไม่มีอะไรเกี่ยงพันกับตัวเขา

สายสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง นุกูล ประจวบเหมาะกับ ชาตรี โสภณพนิช นอกเหนือจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงซอยเดียวกันแล้ว ในชีวิตการทำงานทั้งคู่นับว่ามีความสัมพันธ์ยาวนาน ตั้งแต่ครั้งนุกูล ประจวบเหมาะเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติต่อเนื่องถึงการเข้าไปเป็นประธานบริหารของบริษัทสยามกลการ ซึ่งมีแบงก์กรุงเทพเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่รายหนึ่ง นุกูลได้กระทำเรื่องราวสำคัญ ๆ ที่ยังผลให้ฐานะของสยามกลการมั่นคงและเดินในแนวการบริหารที่ถูกต้องมากขึ้นในเวลาต่อมา

เพียงแค่สายสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ไม่ใช่เหตุผลหลักที่นุกูล จะขอตัวชาติศิริมา แต่ความเป็นทายาทของชาตรีบุรุษหมายเลขหนึ่งของแบงก์กรุงเทพ ที่ง่ายต่อการเป็นสะพานเชื่มต่อกับประสบการณ์ในความเป็นนายธนาคารและวานิชธนาการของชาติศิริแล้ว ก็นับว่าเป็นภูมิหลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันด้านการเงินของโครงการใหญ่ ๆ อย่าง สนามบินแห่งชาติแห่งที่สองได้ ซึ่งอาจจะต้องมีการหาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศด้วยวิธีการต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ดีที่สุด

มองในจุดนี้การที่บอร์ดทอท.มีคนที่รู้เรื่องการเงินการธนาคารโดยเฉพาะธุรกิจการทำวานิชธนกิจอย่างชาติศิริ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้บอร์ดทอท.ทำงานด้านโครงการพัฒนาอย่างมีหลักการมากขึ้น

โดยประวัติส่วนตัว ชาติศิริเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวะกรรมเคมี(เกียรตินิยม)จาก WARCHESTER POLYTECHNIC INSTITUTE CAMBRIDGE USA. และปริญญาโทในสาขาเดียวกันจาก MASSACHUSETTS INSTITUTE OF TECHNOLOGY(MIT)CAMBRIDGE กับปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) อีกสาขาหนึ่งจากที่เดียวกัน

เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ ชาติศิริได้เริ่มทำงานที่ซิตี้แบงก์ก่อนจะทำงานกับแบงก์กรุงเทพเมื่อปี 2529 โดยเริ่มต้นที่สำนักงานค้าเงินตราต่างประเทศและสำนักจัดสรรเงิน ซึ่งมีพีระพงษ์ ถนอมพงษ์พันธ์และวิชิต สุรพงษ์ชัย คอยเป็นพี่เลี้ยงในระยะแรก ต่อมาได้มีการยกสำนักทั้งสองนี้เป็นฝ่ายและมีการตั้งฝ่ายการตลาดขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2532 โดยมีประยูร คงคาทอง เป็นผู้จัดการฝ่ายหลังจากประยูรลาออก ชาติศิริก็บริหารอยู่ในฐานะผู้จัดการอาวุโสสายบริหารการเงินและการตลาดนี้ด้วย และคาดว่าบทบาทสำคัญในสายงานหลักของแบงก์กรุงเทพ เช่น สินเชื่อ ชาติศิริคงจะได้บริหารในอนาคต

การเข้าไปเป็นกรรมการในครั้งนี้ของลูกชาย ชาตรี โสภณพนิชได้ยืนยันว่าจะไม่ทำให้ธนาคารกรุงเทพเข้าร่วมประมูลโครงการสำคัญ ๆ ในกระทรวงคมนาคมเช่นโทรศัพท์แสนล้านเลขหมายในเขตภูมิภาคโครงการ โรงแรมแอร์พอร์ต และร้านค้าปลอดภาษี

"ผมขอยืนยันว่า จะไม่มีวันลงทุนในการทำธุรกิจโรงแรมแน่นอน เรามีที่อยู่ที่ถนนวิทยุทำเลดีเหมาะกับการสร้างโรงแรม เรายังไม่สร้างเพราะเราทำไม่เป็น" นี่คือคำพูดของบิ๊กบอสแบงก์กรุงเทพ ซึ่งมีลูกค้าที่จะเข้าร่วมประมูลทั้งสามโครงการดังกล่าว

การไม่เข้าไปแข่งขันกับลูกค้าแบงก็เองประกอบกับความไม่ชำนาญในกิจการเหล่านี้นับเป็นข้อจำกัดที่ชาตรีได้อ้างถึง

"การเข้าไปของโทนี่ครั้งนี้ไม่ได้หวังอภิสิทธ์แต่อย่างใด" ชาตรีกล่าวยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจในเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด

บทบาทของชาติศิริในบอร์ดทอท.จึงเป็นก้าวที่น่าจับตาถึงความเป็น FINANCIAL ADVISER ในการดำเนินโครงงานสำคัญ ๆ ของทอท. มากกว่าบทบาทเสริมการเข้าไปประมูลทำโครงการเสียเองของแบงก์กรุงเทพ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.