|
ย้อนรอย10ปีวิกฤติเศรษฐกิจไทยเก็งกำไรบาท-หนี้นอกทำระบบพัง
ผู้จัดการรายวัน(29 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยย้อนรอย 10 ปีวิกฤติเศรษฐกิจไทย ระบุสาเหตุจากการปล่อยให้เกิดการเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ขาดความยืดหยุ่น และการก่อหนี้ต่างประเทศที่ขาดความสมดุล ขณะที่ความท้าทายในปัจจุบันแบงก์ชาติต้องดำเนินเการพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทท่ามกลางกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่างๆทั่วโลก และเร่งบริหารทุนสำรองของประเทศเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันกับในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 จะพบว่า ความแตกต่างหลักอยู่ที่ว่าในช่วงก่อนวิกฤตินั้น เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะฟองสบู่โดยมีการเก็งกำไรอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ภาวะการใช้จ่ายเกินตัวของภาคเอกชนในประเทศได้นำมาสู่ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งถูกชดเชยโดยการก่อหนี้ต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ขาดความยืดหยุ่นในช่วงนั้น นอกจากจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศด้วย ทั้งนี้แม้ว่าในขณะนั้นทางการไทยจะใช้ระบบตะกร้าเงิน (Basket of Currencies) แต่ในทางปฎิบัติแล้ว เงินบาทมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก โดยเกือบจะผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ระดับประมาณ 25.3 บาท/ดอลลาร์ฯ ในปี 2539 ในขณะที่เงินเยนของญี่ปุ่นได้อ่อนตัวลงในช่วงปี 2538-2539 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข็งขันด้านการส่งออกของไทย จนถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้การส่งออกของไทยหดตัวในปี 2539
ทั้งนี้ในภาพรวมแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ขาดความยืดหยุ่น และยอดหนี้ต่างประเทศที่พุ่งเหนือระดับทุนสำรองของประเทศ อันเป็นผลจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เรื้อรัง ประกอบกับการส่งออกที่หดตัวลงในปี 2539 ล้วนเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการโจมตีค่าเงินบาท จนนำมาสู่การตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540
และหลังการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวดังกล่าว เงินบาทได้อ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ภาระในการชำระหนี้ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยประสบกับภาวะถดถอยในช่วงปี 2540-2541 แต่อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนตัวลงนั้นได้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกไทยเพิ่มสูงขึ้น จนดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศสามารถกลับมาเกินดุล หลังจากที่ขาดดุลอย่างต่อเนื่องยาวนานในช่วงก่อนวิกฤติ ทั้งนี้ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวได้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถทยอยชำระหนี้ต่างประเทศที่ก่อไว้ในช่วงฟองสบู่ได้ จนยอดหนี้ดังกล่าวได้ปรับลดลงสู่ระดับที่สมดุลกับฐานะทุนสำรองของประเทศ ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยได้ทยอยฟื้นตัวขึ้นโดยได้รับแรงหนุนหลักจากการส่งออก จนธนาคารแห่งประเทศไทยได้หันมาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปี 2547 หลังจากที่ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมาตั้งแต่ปี 2541
ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า การกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวของธปท.ล้วนเป็นปัจจัยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะในปี 2549 ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 13 จากกระแสเงินทุนไหลเข้า จนทำให้ธปท.ต้องออกมาตรการกันสำรองสำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นในเดือนธันวาคม 2549 สำหรับในปี 2550 ที่ผ่านมานั้น แม้ว่า ธปท.จะได้หันมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอตัวลงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่เงินบาทก็ยังคงเดินหน้าแข็งค่าขึ้น และยังมีแนวโน้มว่าอาจจะยังคงขยับค่าขึ้นอีก โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และจากดุลบัญชีเดินสะพัด ที่คาดว่าน่าจะยังคงเกินดุลในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
สำหรับบทเรียนที่เศรษฐกิจไทยได้รับจากวิกฤติในปี 2540 ก็คือ การปล่อยให้เกิดการเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในระบบเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเกินตัวของประชาชนในประเทศ ตลอดจนการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ขาดความยืดหยุ่น รวมทั้งการก่อหนี้ต่างประเทศที่ขาดความสมดุล ล้วนเป็นชนวนที่จะนำมาสู่ปัญหาเสถียรภาพที่รุนแรงในระยะยาวได้ แม้ว่าในระยะสั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะยังคงดูดี และความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นจะอยู่ในระดับที่สูงก็ตาม
อย่างไรก็ตามในด้านความท้าทายที่ทางการไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ความท้าทายหลักในขณะนี้ก็คือ การดำเนินเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทท่ามกลางกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่าง ๆ ทั่วโลก ในขณะที่การดำเนินการต่าง ๆ ของทางการไทยเองก็ต้องเป็นที่ยอมรับของตลาดเงินว่า สอดคล้องกับหลักสากลและการทำงานของกลไกตลาด รวมทั้งเป็นไปเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งภายในและนอกประเทศ นอกจากนี้ ความท้าทายอีกด้านของธปท.ก็คือ การบริหารทุนสำรองของประเทศเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากธปท.ยังคงมีภาระในการที่จะต้องจ่ายชำระคืนเงินต้นของหนี้ที่กระทรวงการคลังได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนฟื้นฟูฯหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ในขณะที่การบริหารทุนสำรองดังกล่าวก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์และสกุลเงินตราต่าง ๆ เพื่อที่จะลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากเงินดอลลาร์ฯเผชิญกับความผันผวนจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญในยุคเงินบาทลอยตัวคือ การปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางของผันผวนของค่าเงินบาทดังกล่าว โดยในระยะสั้น ผู้ประกอบการอาจจะบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น สัญญาการซื้อขายล่วงหน้าประเภทต่าง ๆ ที่นำเสนอบริการโดยธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งอาจจะพยายามกระจายสกุลเงินที่ใช้ในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศเพื่อที่จะลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงในค่าเงินดอลลาร์ฯ/บาท แต่สำหรับในระยะยาวแล้ว ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออก อาจจะต้องทำการประเมินว่า ถ้าหากเงินบาทยังคงเดินหน้าแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับปัจจุบัน ผู้ประกอบการจะสามารถรับผลกระทบจากรายได้ในรูปเงินบาทที่จะลดลงได้เพียงใด
ทั้งนี้ในที่สุดแล้ว การปรับลดต้นทุนการดำเนินงาน ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกโดยการแปรรูปหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาจจะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะชดเชยกับรายได้ที่จะลดลงตามการแข็งค่าของเงินบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนของการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลาง (Import Content) ค่อนข้างต่ำ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|