13.00น. ของวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2534 เป็นการกำหนดการเคลื่อนขบวนศพของดร.เทียม
โชควัฒนา จากวัดเทพศิรินทราวาสไปยังสุสานมังกรทองซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านบึง
จังหวัดชลบุรี เพื่อทำพิธีฝังศพ นับเวลาได้ 45 วัน ภายหลังจากการเสียชีวิตอย่างกระทันหันด้วยอาการหัวใจวายในระหว่างการนำส่งโรงพยาบาลที่เมืองพัทยา
ในการเลี้ยงกระชับสัมพันธไมตรีของธนาคารไทยพาณิชย์กับกลุ่มผู้บริหารของสหพัฒนเมื่อวันเสาร์ที่
29 มิถุนายนที่ผ่านมา
สุสานที่ใช้เป็นที่ฝังศพของนายห้างเทียมครั้งนี้ได้ถูกจัดสร้างไว้ก่อนล่วงหน้ามานานกว่า
3 ปีแล้ว บนเนื้อที่กว่า 5 ไร่ และงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด (รวมค่าที่ดินด้วย)ถึง
10 ล้านบาททำให้สุสานที่นายห้างเทียมสร้างขึ้นครั้งนี้กลายเป็นสุสานมังกรทอง
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของสุสานที่ปรากฏคือ "สี้ฮ่งเต็ก"
ซึ่งเป็นอาจารย์ทางด้าน ฮวงจุ้ย
ลีฮ่งเต็กหรือที่ใครต่อใครเรียกกันว่า "ชินแส" นั้นเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมาอยู่เมืองไทยเมื่อ
40 ปีก่อน ในวัย 29 ปี ลี้ฮ่งเต็กเรียนจบขั้นปริญญาตรีทางด้านการค้าการตลาดรวมถึงบัญชีตามคำบอกเล่าของเจ้าตัว
เขาหนีมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ตามเพื่อน ๆ อีกหลายคน ที่หนีออกมากันก่อนหน้านี้แล้ว
โดยมาอาศัยอยู่กับลูกพี่ลูกน้องในเมืองไทย
ลี้ฮ่งเต็กเริ่มอาชีพในเมืองไทยด้วยการเป็นเสมียนในร้านขายของชำอยู่ประมาณ
1-2 ปี หลังจากนั้นก็เดินทางไปอยุ่จังหวัดตากด้วยการเป็นหลงจู๊ให้กับพ่อค้ารับซื้อขายยางพารา
ต่อมาไม่นานก็ออกมาทำกิจการรับซื้อขายยางพาราของตนเอง
เมื่อลูก ๆ เริ่มโตและปรารถนาที่จะเข้ามาศึกษาหาความรู้ในกรุงเทพฯ ทำให้ลี้ฮ่งเต็กจำใจต้องผละจากธุรกิจยางพาราไป
และ มาเริ่มต้นธุรกิจใหม่เมื่อ 20 ปี ก่อนที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งกลายเป็นธุรกิจหลักที่ปัจจุบันก็ยังคง
ดำเนินอยู่
ธุรกิจขายส่งผักร่วมกับเพื่อน ๆอีกหลายคนที่ปากคลองตลาด โดยการับซื้อผักจากทั่วประเทศเพือ่ส่งออกไปยังฮ่องกงเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับลี้ฮ่งเต็กประมาณ
ปีละ 2-3 แสนบาท (หลังจากผลกำไรได้ถูกแบ่งไปตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้นแล้ว)
การก้าวเข้ามาเป็นชินแสหรืออาจารย์ฮวงจุ้ยของลีฮ่งเต็กนั้นได้เริ่มขึ้นเมื่อ
8 ปีก่อนเมื่อเขานำวิชาที่เป็นมรดกสืบทอดมา 3 ชั่วอายุคนคือตั้งแต่รุ่นปู่
รุ่นพ่อ จนกระทั่งรุ่นของตนเองมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว
"ครอบครัวผมที่เมืองจีนตั้งแต่รุ่นปูลงมา ยึดอาชีพการเป็นอาจารย์ฮวงจุ้ยเป็นหลักจนกระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้านที่ผมอยู่
ตัวผมเองก็ได้ลืบทอดวิชานี้จากบรรพชนมา ทั้งจากการติดตามผู้ใหญ่ไป และจากการศึกษาจากตำราที่มีอยู่"
ลีฮ่งเต็ก อธิบายถึงที่มาของความรู้ทางด้านฮวงจุ้ยที่ติดตัวมาจากครอบครัวที่เมืองจีน
ลีฮ่งเต็กเข้ามาผูกพันกับนายห้างเทียม โชควัฒนาจากการแนะนำของเลียง ลิ้มอติกูล
เจ้าของเหรียญทองการพิมพ์ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยตั้งแต่นายห้างเทียมยับค้าขายอยู่ตรอกอาเนียเก็ง
และเป็นคนหนึ่งที่ไว้ใจให้ลี้ฮ่งเต็กดูแลจัดสร้างสุสานให้
สถานที่แห่งแรกที่ลี้ฮ่งเต็กไปดูให้นายห้างเทียมเพื่อสร้างเป็นสุสานอยู่ที่สระบุรี
ชื่อสุสานโผวเล้งซึ่งเป็นชื่อเดียวกับอำเภอบ้านเกิดของนายห้าง แต่เมื่อดูแล้วทำเลไม่เหมาะจึงไม่เอา
ต่อมามีคนแนะนำที่ดินบริเวณสุสานมังกรทอง(ซึ่งเป็นที่ตั้งสุสานปัจจุบัน)
และเมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่าทำได้จึงได้เริ่มลงมือก่อสร้างในปี 2529
จนกระทั่งปี 2530 สุสานของนายห้างเทียมจึงเสร็จสมบูรณ์นับเป็นสุสานที่ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่าสุสานรายอื่น
ๆ คือ ปีเศษ ทั้งนี้เป็นเพราะสุสานทั่ว ๆ ไปจะใช้ปูนซีเมนต์เป็นหลักในขณะที่สุสานของนายห้างเทียมใช้หินทั้งหมด
ความยากง่ายจังอยู่ที่ตรงนี้ ประกอบกับการก่อสร้างสุสานครั้งนี้มีจำนวนถึง
3 หลุม คือหลุมที่อยู่กลางจะเป็นหลุมที่สร้างสำหรับฝังอัฐิ พ่อและแม่ของนายห้าง
ในขณะที่หลุมทางด้านขวา (หันหน้าเข้าสุสาน) จะเป็นของนายห้างเองและภรรยา
ส่วนหลุมที่เหลือทางด้านซ้ายจะเป็นของลูกชายคนโตคือบุญเอกและภรรยา
ลี้ฮ่งเต็กได้อธิบายถึงความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งสุสานของนายห้างเทียมตามยุทธศาสตร์ฮวงจุ้ยว่า
เป็นทำเลที่สร้างแล้วจะทำให้ลูกหลานเจิรญก้าวหน้าคือที่ดินบริเวณนั้นเป็นธาตูทองด้านหลังมีเขานั่นหมายถึงการมีคนหนุน
ด้านข้างทั้ง 2 ด้านมีเขาหมายถึงเงินทองไม่รั่วไหล ส่วนด้านห้ามีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่หมายถึงการเงินสมบูรณ์ดี
การสร้างสุสานให้กับนายห้างเทียมครั้งนี้ถือเป็นงานใหญ่ทีสุดที่ลี้ฮ่งเต็กได้ทำมาตลอดช่วง
8 ปีของการเป็นอาจารย์ ฮวงจุ้ย ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพหลักก็ตาม
แต่ทุกวันนี้เวลาส่วนใหญ่กลับอยู่ที่การเดินทางไปดูฮวงจุ้ยตามที่ต่าง ๆ มากกว่าภาระกิจขายผักส่งออกที่ตกเป็นภาระของบรรดาลูกจ้างไป
สุสานที่ลี้ฮ่งเต็กสร้างมาตลอดช่วง 8 ปีมีประมาณ 50-60 แห่งมีทั้งใหญ่และเล็ก
ที่ใหญ่ ๆ มีอย่างเช่น สุสานของคนในตระกูลพร้อมพันธ์ สุสานของเหรียญทองการพิมพ์สุสานของนายห้างเทียมเป็นต้น
ถึงแม้ว่า ภาระกิจในการสร้างสุสานให้กับนายห้างเทียมจะเสร็จสิ้นลงแล้ว
แต่ลี้ฮ่งเต็กยังคงผูกพันกับนายห้างเสมือนหนึ่งเป็นพนักงานคนหนึ่งของสหพัฒนทีเดียว
นั่นอาจเป็นเพราะความมีน้ำใจของนายห้างเทียมที่ลี้ฮ่งเต็กไม่สามารถปฏิเสธได้
ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมานายห้างนายห้างเทียมจ่ายเงินเดินให้ลี้ฮ่งเต็กทุกเดือน
ๆ ละ 6,000 บาท ในขณะที่ลี้ฮ่งเต็กก็ตอบแทนความีน้ำใจของนายห้างเทียมด้วยการดูแลสุสานเป็นอย่างดี
"โดยปกติแล้วเมื่อการสร้างสุสานเสร็จ อาจารย์ฮวงจุ้ยผู้นั้นก็จะได้เงินก้อนจำนวนหนึ่งไป
เป็นอันว่าหน้าที่จบสิ้นลง ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเป็นเช่นนั้น แต่กรณีของนายห้างเยมถือว่าเป็นกรณีพิศษที่แสดงถึงความมีน้ำใจของนายห้าง"
ลี้ฮ่งเต็กเล่าให้ฟัง
สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีให้กับลี้ฮ่งเต็กภายหลังจากที่ได้รู้จักกับนายห้างเทียม
นั่นก็คือการที่ลี้ฮ่งเต็กเป็นคนบ้านเดียวกันกับนายห้างเทียม คือมาจากอำเภอโผวเล้งมณฑลแต้จิ๋วรวมทั้งใช้แซ่เดียวกันคือแซ่ลี้อีก้วย
การเสียชีวิตอย่างกระทันหัน ของนายห้างเทียมครั้งนี้ ทำให้ลี้ฮ่งเต็กองไม่แน่ใจในภาระหน้าที่ของตนเองต่อการดูแลสสุสานว่ายังคงต่อเนื่องไปหรือไม่ภายใต้การนำของ
"โชควัฒนา" รุ่นที่ 2 แต่อย่างน้อยความยิ่งใหญ่ของสุสานนายห้างเทียมได้กลายเป็นต้นแบบของลี้ฮ่งเต้กต่อการแนะนำลูกค้ารายต่อไป