ช.การช่างสนรับช่วงN-PARKใช้BECLซื้อหุ้นBMCLแทนเลี่ยงเทนเดอร์ฯ


ผู้จัดการรายวัน(27 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ช.การช่าง เผยเอ็นพาร์ค ยื่นข้อเสนอขายหุ้น BMCL ให้ ระบุอยู่ระหว่างพิจารณาราคาเสนอ ชี้อาจให้ BECL เข้าซื้อแทนเหตุปัจจุบัน CK ถือหุ้นอยู่แล้ว 24.5% ห่วงต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ “ประเสริฐ” เผยฟันกำไรจากการขายหุ้นน้ำประปาปทุมธานีให้น้ำประปาไทยกว่า 600 ล้านบาท มั่นใจรายได้ไตรมาส 2/50 พลิกมีกำไรแน่แม้มีกำไรสะสมอยู่ 35 ล้านบาท

นายประเสริฐ มริตตนะพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)หรือ CK เปิดเผยว่า บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน)หรือ N-PARK ได้เสนอขายหุ้นบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCLให้กับบริษัทแต่ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นใน BMCL อยู่แล้ว 24.5% ซึ่งหากซื้อเพิ่มทำให้เกิด 25%นั้นบริษัทจะต้องมีการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (เทรนเดอร์ออฟเฟอร์) โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษารวมถึงรอราคาเสนอขายว่าจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งหากราคาเสนอขายน่าสนใจบริษัทอาจจะให้บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL เข้าไปซื้อแทน

“ที่ผ่านมาเอ็นพาร์ค ได้ติดต่อที่จะเสนอขายหุ้น BMCLให้กับช.การช่าง แต่บริษัทคงซื้อไม่ได้ เพราะขณะนี้ CK ถือหุ้นใน BMCLอยู่แล้วถึง 24.5% หากซื้อเพิ่มอีกจะต้องมีการทำเทนเดอร์หุ้นทั้งหมด แต่หากราคาที่จะเสนอขายน่าสนใจอาจจะให้ BECL เข้าไปซื้อแทน”นายประเสริฐกล่าว

นอกจากนี้บริษัทได้มีการขายหุ้นบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด หรือ PTW ให้กับบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TTW จำนวน 5.06 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 340 บาท มูลค่ารวม 1,722.9 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ดังกล่าวเข้ามาในช่วงไตรมาส 2/50 โดยบริษัทงมีต้นทุนการถือหุ้น PTW ในราคา 220 บาทต่อหุ้น และเมื่อหักต้นทุนดังกล่าวแล้วบริษัทจะมีกำไรจากการขายหุ้นครั้งนี้หุ้นละ 120 บาท รวมมูลค่า 608.08 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทยังมีหุ้นอีก 5 แสนหุ้น หรือคิดเป็นเงิน 170 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้มีการเสนอขายให้กับน้ำประปาไทย เช่นเดียวกันบริษัท นครหลวงค้าข้าว ที่ยังมีหุ้นเหลืออีก 5.61 แสนหุ้น ที่ยังไม่ได้มีการเสนอขาย ซึ่งคาดว่าจะโอนและรับชำระค่าหุ้นในภายหลัง แต่จะโอนก่อนวันที่ น้ำประปาไทย จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายประเสริฐ กล่าวว่า คาดรายได้ของบริษัทในไตรมาส2/50 จะมีรายได้ใกล้เคียงกับไตรมาส1/50 ที่มีรายได้รวม 2,985.18 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้งานในมือที่มี 2.2-2.3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะกลับมามีกำไรได้จากไตรมาส1/50 ที่มีผลขาดทุนสุทธิประมาณ 35 ล้านบาท เพราะบริษัทจะมีกำไรจากการขายหุ้นประปาปทุมประมาณ 600 ล้านบาทเข้ามา โดยบริษัทคาดว่าจะล้างขาดทุนสะสมที่มีประมาณ 35 ล้านบาทได้ภายในไตรมาส2/50

“ปีที่ผ่านมาบริษัทมีขาดทุนสะสมของบริษัทนั้นที่มีอยู่ 800 ล้านบาท บริษัทได้นำล้ำมูลค่าหุ้นมาล้างขาดทุนสะสม เหลือเพียง 2 แสนบาท และไตรมาส1/50 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 35 ล้านบาท ทำให้บริษัทยังมีผลขาดทุนสะสมเพิ่มเป็น 35 ล้านบาท และคาดว่าจะล้างได้หมดในไตรมาส2/50 จากที่บริษัทมีกำไรจากการขายหุ้นประปาปทุมธานี” นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลงานของโรงพยาบาลศิริราช มูลค่า 5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ และ บริษัทอยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญางานด่านเก็บเงินวงแหวนด้านใต้มูลค่า 2 พันล้านบาท รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาในการสร้างเขื่อนในประเทศลาว ซึ่งหากมีการก่อสร้าง ทางช.การช่างก็จะเข้าไปรับเหมาก่อสร้างงานดังกล่าว และเตรียมที่จะประมูลโครงการรถไฟฟ้า ส่วนเรื่องการฟ้องร้องเรื่องค่าโง่ทางด่วนนั้น บริษัทกำลังศึกษาอยู่ว่าจะมีการดำเนินการฟ้องอย่างไร ซึ่งบริษัทยังมีเวลาในการฟ้องร้องภายในสิ้นปีนี้ก่อนที่อายุความคดีดังกล่าวจะหมดลง

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)หรือ CK กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัททำสัญญา Undertaking กับผู้ให้สินเชื่อของบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากการที่บมจ.น้ำประปาไทย จะเข้าทำสัญญากู้เงินจากธนาคารผู้ให้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นส่วนแรกจำนวน 3,000 ล้านบาทเป็นหนี้เงินกู้ระยะสั้น มีกำหนดเวลาชำระคืนภายใน 1 ปี และเงินกู้อีกส่วนหนึ่ง จำนวน 1,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะยาว มีกำหนดเวลาชำระคืนภายใน 6 ปี เพื่อนำเงินมาชำระค่าหุ้นของบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทในกลุ่ม รวมทั้งบริษัท มิตซุย จำกัด ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนเข้าทำสัญญา Undertaking สำหรับหนี้เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 3,000 ล้านบาท โดยเงื่อนไขในสัญญา Undertaking ว่า หากภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับจากวันที่เบิกเงินกู้ บมจ.น้ำประปาไทย ไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ได้หรือกรณีที่บมจ.น้ำประปาไทยจดทะเบียนในตลท.ได้ แต่เงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท

บริษัทและบริษัทในกลุ่ม รวมถึงบริษัท มิตซุย จำกัด จะต้องนำเงินมาชำระคืนให้แก่ผู้ให้สินเชื่อ โดยอาจจะเป็นในรูปของการเพิ่มทุนในบมจ. น้ำประปาไทย หรือการให้เงินกู้ประเภทด้อยสิทธิ โดยในส่วนของบริษัทนั้นจะรับผิดชอบใน สัดส่วน 50.10% ของวงเงิน 3,000 ล้านบาท หรือเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 1,503 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.