ได้น้ำเลี้ยงจากรัฐเต็มคราบ เครดิตลีอองแนส์ สยายปีกคลุมโลก


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา บรรดาธนาคารฝรั่งเศสต่างถูกบีบให้ต้องคิดหนัก เกี่ยวกับบทบาทของตัวเองในทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อปี 1992 ยิ่งใกล้เข้ามา และภาวะการแข่งขันก็เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งกว่านั้น ในห้วงคำนึงของผู้นำทางการเงินฝรั่งเศสก็ยังต้องครุ่นคิดถึงวิธีหามาตรการเพิ่มฐานเงินทุนให้แข็งแกร่งขึ้นให้ได้ 8% ตามกฎของบีไอเอส (BANK FOR INTERNATIONAL SETTLEMENTS)

สำหรับฝรั่งเศสซึ่งสถาบันการเงินต่าง ๆ มักอยู่ในสภาพฐานเงินทุนต่ำอยู่แล้วนั้น ต้องถือว่าเรื่องนี้ "พูด" ง่ายกว่า "ทำ"

ฝรั่งเศสมีธนาคาร "สากล" ระดับยักษ์ใหญ่ชั้นแนวหน้า 3 แบงก์ด้วยกัน "เครดิต ลีอองแนส์" ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์หมายเลขหนึ่ง และเป็นกิจการของรัฐเช่นเดียวกับ "แบงก์ เนชั่นแนล เดอ ปารีส์" (บีเอ็นพี) และโซซิเอเต้ เจเนอราล ซึ่งถูกแปรรูปไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 1987 ทั้ง 3 แบงก์ที่เบิ้มนี้ถูกโอนเข้าเป็นกิจการของรัฐในสมัยประธานาธิบดีเดอ โกลล์ และต่างอยู่ในสถานภาพเดียวกันคือ ต้องเร่งหาทางเพิ่มทุนให้ได้

สำหรับแบงก์ระดับสากลที่ดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศในทั่วโลก การเริ่มเพิ่มทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้ได้ 8% ตามกฎของบีไอเอสเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแบบหืดขึ้นคออยู่แล้ว แต่สำหรับกิจการรัฐวิสาหกิจอย่างเครดิต ลีอองแนส์และบีเอ็นพีนั้น สถานการณ์ยิ่งลำบากหนักข้อขึ้นอีก ในเมื่อการยักย้ายถ่ายโอนสินทรัพย์ทุกอย่างไม่อาจทำได้โดยเสรี เพราะความเป็นแบงก์ของรัฐนั่นเอง

โซซิเอเต้ เจเนอราล ซึ่งถูกแปรรูปเมื่อปี 1987 นั้น กลายเป็นแบงก์ที่หายใจคล่องที่สุด สามารถเร่งแผนเพิ่มุทนได้ทันทีด้วยการออกหุ้นใหม่ขาย

เมื่อปี 1989 รัฐบาลสังคมนิยมของประธานาธิบดีฟรังซัวส์ มิตแตร์รองด์ประกาศนโยบาย "NI,NI" ที่ขึ้นชื่อลือชาเป็นนโยบายซึ่งสัญญาว่าจะไม่โอนอุตสาหกรรมที่แปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้วกลับมาเป็นของรัฐอีก และจะไม่สานต่อนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลชุดก่อนด้วย

จากนโยบายนี้หมายความว่า รัฐบาลต้องแสวงหามาตรการอื่น ในการเพิ่มฐานเงินทุนให้แบงก์ วิธีการที่ตัดสินใจไปแล้วมีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนหุ้นกัน และการโยกย้ายสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการรัฐวิสาหกิจด้วยกัน

นโยบายหนึ่งแบงก์หลายแห่งนิยมใช้กัน คือการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทประกันภัน แล้วมีกิจการในลักษณ์ใหม่ออกมาที่นิยมเรียกกันติดปากเวลานี้ว่า BANCASSURANCE ซึ่งหมายถึงกิจการที่แบงก์และบริษัทประกันต่างให้ "SYNERGY" ระหว่างกันด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างขายผลิตภัณฑ์ของกันและกัน ซึ่งสายสัมพันธ์ในลักษณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศยุโรปอื่น ๆ แต่ในฝรั่งเศสประเทศเดียวเท่านั้นที่มีการทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนเป็นของธรรมดา และเป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งในฝรั่งเศสคือ บริษัทประกันใหญ่ที่สุดทั้ง 3 แห่งก็ล้วนเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจเช่นกันไม่ว่าจะเป็น ASSURANCES GENERALES DE FRANCE(เอจีเอฟ), UNION DE ASSURANCES DE PARIS (ยูเอพี) และ GROUPE DE ASSURANCES NATIONALES (จีเอเอ็น)

ตอนนี้นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ยังอยุ่ในระหว่างรอดูผลนโยบายการขยายผลิตภัณฑ์ข้ามบริษัทระหว่างแบงก์และบริษัทประกันอยู่ เท่าที่ผ่านมามีเพียงแบงก์ "เครดิต อะกริโคล" แห่งเดียวเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการขายกรมธรรม์ประกันภัย โดยใช้วิธีตั้งบริษัทประกันขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง

ที่น่าเคลือบแคลงคือ จุดประสงค์ของการรวมเป็นพันธมิตรระหว่างกันนั้น เป็นไปเพื่อทำหให้งบดุลบัญชีของแบงก์รัฐวิสาหกิจแข็งขึ้นมากกว่าเพื่อเหตุผลในการประกอบธุรกิจโดยตรง

บีเอ็นพี และยูเอพีมีการแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่างกันไปแล้ว โดยแต่ละฝ่ายถือหุ้นของอีกฝ่ายหนึ่ง 10% ต่อมาในปลายเดือนธันวาคม 1990 บีเอ็นพีก็ถือหุ้น เพิ่มอีก 10%

จีเอเอ็นเข้าถือหุ้นใหญ่ 53% ของ CREDIT INDUSTRIAL & COMMERCIAL (ซีไอซี) ในนามของรัฐบาล และยูเอพีถือหุ้น 100% ใน BANQUE WORMS แต่แบงก์ยักษ์ใหญ่ที่ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจอย่าง เช่น โซวิเอเต้ เจเนอราล, เครดิต คอมเมอร์เชียล เดอฟรานซ์ (ซีซีเอฟ) และปารีบาสต่างไม่สนใจเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจประกันภัยเลย

สำหรับเครดิต ลีอองแนส์นั้น ไม่ได้เข้าไปมีสายสัมพันธ์กับบริษัทประกันใด ๆ เลยแต่เพิ่มบทบาทของตัวเองในฐานะผู้ขายกรมธรรม์ประกันภัยหลายประเภทให้แก่ลูกค้าบรรดานักวิเคราะห์ต่างอ้างว่าเครดิต ลีอองแนส์นั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินทุนจากบริษัทประกัน เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสจะเพิ่มทุนเข้าไปให้ด้วยวิธีอื่น ๆ

กล่าวกันว่าการอัดฉีดเงินงวดแรกเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 1989 เมื่อ CAISSE DES DE POTS ลงทุน 1.3 พันล้านฟรังก์ฝรั่งเศสซื้อหุ้น 1.6 ล้านหุ้น

กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเครดิต ลีอองแนส์คือ ฌอง-อีฟส์ ฮาเบอแรร์เล่าว่า CAISSE ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1816 เป็นองค์กรที่ค่อนข้างแปลกสำหรับชาวฝรั่งเศสเพราะไม่ถือว่าเป็นเอกชนหรือรับวิสาหกิจ แต่เจ้าของคือ "ประเทศชาติ" ตามคำบอกเล่าของฮาเบอแรร์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้มีหน้าที่แต่งตั้งผู้บริการของ CAISSE ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดามากเพราะ "เครดิต เนชั่นแนล" สูงเช่นกัน

เป็นตัวกลาง

CAISSE ดำเนินงานในฐานะเป็นองค์กรของรัฐอาทิธนาคารกลางฝรั่งเศสกับตลาดเงินต่าง ๆ โดยเงินทุกส่วนใหญ่ได้รับจาก CAISSES D' EPARGNE ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยรัฐบาลส่วนท้องถิ่น แต่มีสถาบันจากส่วนกลางเป็นผู้ควบคุมและมี CAISSE DESDEPOTS ดูแลกำกับ

CAISSE เป็นแขนขาของรัฐบาลที่มีฐานเงินสดมหาศาล และดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักสังเกตการณ์ปักใจเชื่อว่า การอัดฉีดเงินสดในลักษณะนี้และการยักย้ายถ่ายโอนสินทรัพย์อื่น ๆ เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ เครดิตลีอองแนส์โดยตรงหรือไม่ก็โดยอ้อมเพื่อการเพิ่มฐานเงินทุนนั่นเอง

ฮาเบอแรร์ยอมรับว่า ทุนของเครดิต ลีอองแนส์ลดฮวบลงไปมาก เพราะภาวะเงินเฟ้อ และเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจจึงไม่สามารถเพิ่มทุนจากตลาดทุนได้ เขาเล่าต่อไปว่าเมื่อถึงปี 1988 แล้ว ถ้าเครดิตลีอองแนส์ยังไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามกฎของบีไอเอสได้

และเพราะกฎของบีไอเอสนี้เองที่ทำให้บรรดาแบงก์รัฐวิสาหกิจทั้งหลายต้องเริ่มทำในสิ่งที่ฮาเบอแรร์เรียกว่า "วิศวกรรมการเงิน" คือการออกหุ้นเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้กิจการรัฐวิสาหกิจ อื่น ๆ ซื้อไป "แต่มันไม่เป็นความจริงที่ว่า สิ่งนี้เกิด ขึ้นเพียงแค่การแลกเปลี่ยนเอกสาระหว่างกิจการรัฐ วิสาหกิจด้วยกัน"

ฮาเบอแรร์เพิ่มเติมว่า มันก็ไม่ใช่เรื่องของการแลกเปลี่ยนหุ้นกันเป็นระยะ ๆ เหมือนกรณีที่บีเอ็นพีประกาศเมื่อปลายเดือนธันวาคมว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะให้บีเอ็นพีเข้าถือหุ้น 10% ในเปอชินีย์ ซึ่งเป็นบริษัทอะลูมิเนียมและโลหะที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วย แต่มันก็มีการจัดการในรูปแบบอื่นกับองค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มทุนของเครดิต ลีอองแนส์ ขณะที่สามารถคงไว้ซึ่งการควบคุมของรัฐได้เหมือนเดิม

การอัดฉีดเงินในลักษณ์ที่คล้ายกันเกี่ยวข้องกับ CAISSE DES DOPOTS เกิดขึ้นเมื่อ เครดิต ลีอองแนส์ประกาศว่า มีการนำหุ้นสามัญของเครดิต ลีออง แนส์ ที่ออกใหม่แลกกับหุ้นของโรน-ปูแลงก์ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของรัฐวิสาหกิจ ทำให้เครดิต ลีอองแนส์มีหุ้นในโรน-ปูแลงก์เพิ่มขึ้นอีก 9.4%

การเคลื่อนไหวล่าสุดโดยรัฐบาลที่ทำในนามของเครดิต ลีอองแนส์คือ การเข้าไปมีสายสัมพันธ์กับทอมสัน-ซีเอสเอฟ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผลิตอาวุธและสินค้าอิเล็กทรอนิสก์ของรัฐ เป็นการทำโดยให้เครดิตลีอองแนส์เข้าไปซื้อกิจการของอัลตัส ไฟแนนซ์ซึ่งเป็นบริษัทโบรกเกอร์ที่แตก หน่อมาจากธุรกิจบริหารเงินของธอมสัน

บรรดานักสังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า เพราะความไม่เชื่อมั่นในความสามารถของธอมสัน-ซีเอสเอฟที่จะควบคุมหรือบริหารอัลตัส ไฟแนนซ์ได้ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องโอนอัลตัสให้เข้าไปอยู่ในร่มเงาของเครดิต ลีอองแนส์

ในช่วงปลายปี 1990 เครดิต ลีอองแนส์ถือหุ้นของอัลตัส 65% และจากข้อตกลงครั้งนี้จะทำให้เครดิต ลีอองแนส์ถือหุ้นในอัลตัสเพิ่มเป็น 80%

ธอมสัน-ซีเอสเอฟได้รับหุ้นสามัญชุดใหม่มูลค่า 4.9 พันล้านฟรังก์ฝรั่งเศสเป็นการตอบแทน

การแลกหุ้นครั้งนี้ทำผ่าน SOCIETE DE PARTICIPATION BANQUE-INDUSTRIE (เอสพีบีไอ), ซึ่งเป็นบริษัทแม่หรือโฮลดิงคัมปะนีที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ มีรัฐบาลถือหุ้น 50% และอี 50% ถือโดยธอมสัน-ซีเอสเอฟที่เป็นกิจการรัฐวิสาหกิจเช่นกัน

นักวิเคราะห์ของไอบีซีเอในลอนดอนชี้ว่า "หุ้นของธอมสัน-ซีเอสเอฟส่วนใหญ่ที่ถือในเครดิต ลีอองแนส์ และอีก 2 ล้านหุ้นที่อยู่ในมือรัฐนั้น ถูกโอนให้เข้าไปอยู่ในมือของเอสพีบีไอทั้งหมด

เมื่อพูดในแง่ของการถือครองหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในเครดิต ลีอองแนส์แล้ว ตอนนี้รัฐบาลฝรั่งเศสถือโดยตรงถึง 72% และอีก 28% เป็นการถือโดยอ้อมผ่านทาง CAISSEDESDEPOTS (5%), ธอมสัน-ซีเอสเอฟ (4%) และเอสพีบีไอ (19%)

ในสายตาของนักวิเคราะห์หลายคนที่ประจำบริษัทเชียร์สัน เลห์แมน ต่างเชื่อว่าการถือหุ้นข้ามบริษัทกันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนเอกสารกันเท่านั้น อย่างน้อยที่สุดกับบริษัทธอมสัน-ซีเอสเอฟนั้น ถือเป็นการเพิ่มทุนโดยตรงด้วยการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์กันจริง ๆ

แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้นั้น ดูเหมือนจะได้รับผลประโยชน์ "วิศวกรรมการเงิน" ทั้งสิ้น โดยธอมสัน-ซีเอสเอฟ ได้ถือหุ้นอันแข็งแกร่งของแบงก์ ซึ่งเป็นช่องทางสร้างรายได้เข้าบริษัทในอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคที่กิจการที่เป็นธุรกิจหลักของตนกำลังฟุบเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวคราวล่าสุดที่เกี่ยวกับธอมสัน-ซีเอสเอฟคือการที่ยอดสั่งซื้อของลูกค้าหดหายไปเรื่อย ๆ และมีการประกาศปลดพนักงาน จึงทำให้มีเงินสดสำรองที่จะหนุนให้ "บาทีฟ แบงก์" ซึ่งเป็นแบงก์ภายในของตนเข้าไปมีบทบาทในตลาดเงิน และยังมีความจำเป็นน้อยลงในบริการด้านบริการเงินสดของแบงก์อื่น ๆ คือ SOCIETEDE BANQUE & DES TRANSACTIONS (เอสบีที) และธอมสัน เครดิต อินเตอร์เนชั่นแนล (ทีซีไอ)

ในส่วนของเครดิต ลีอองแนส์นั้น ได้ธุรกิจเพิ่มเข้ามามากมายบางแขนงก็มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะของผู้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่นทีซีไอ และบาทีฟ บางแขนงก็มีชื่อเสียงน้อยลงไปหน่อย อาทิ เอสบีที นอกจากนี้ เครดิต ลีอองแนส์ยังสามารถเพิ่มทุนได้มหาศาล ด้วยการออกหุ้นชุดใหม่ให้ธอมสัน-ซีเอสเอฟ ทำให้ปัจจุบันมีมูลค่าหุ้นรวม 6.3 พันล้านฟรังก์

ตอนนี้วงการได้แสดงความสงสัยเต็มที่ว่า ในลักษณะการเป็นพันธมิตรแบบนี้ฝ่ายไหนจะเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด สภาพซบเซาของธุรกิจผลิตอาวุธและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้ความหมายว่าธอมสัน-ซีเอสเอฟได้ปล่อยมือส่วนหนึ่งของบริษัทไป ซึ่งเป็นส่วนที่ตนคิดว่าแทบจะทำอะไรกับมันไม่ได้แล้ว และบางคนก็อ้างว่า บาทีฟและทีซีไอนั้นสร้างชื่อเสียงขึ้นในช่วงก่อนอุตสาหกรรมการเงินของฝรั่งเศสจะได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริงด้วยซ้ำ

เมื่อมองในภาพของภาวะการแข่งขัน บาทีฟและทีซีไออาจพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะพิมพ์เงินสร้างรายได้เข้าบริษัทเหมือนเมื่ออดีต และกิจการโบรกเกอร์เองก็มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมาก

ปัจจุบันตลาดลูกค้าประเภทสถาบันของแบงก์ในฝรั่งเศสกำลังดำเนินไปด้วยความยากลำบากยิ่ง โดยแบงก์ส่วนใหญ่ต่างยอมรับความจำเป็นของการเพิ่มวงเงินสำรองเผื่อหนี้ที่สงสัยว่าจะสูญกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อัลตัส ไฟแนนซ์สร้างชื่อให้ตัวเอง ด้วยการเข้าซื้อกิจการและสร้างสายสัมพันธ์ธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าก้าวร้าว ทะเยอทะยาน และเต็มไปด้วยการแข่งขัน

จากการที่ออกหุ้นใหม่ขายให้กับธอมสัน-ซีเอสเอฟ, CAISSE DES DEPOTS และโรน-ปูแลงก์ทำให้เครดิต ลีอองแนส์สามารถเพิ่มทุนได้ถึง 9.8 พันล้านฟรังก์เป็นอย่างน้อย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทุนแบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่ทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับแบงก์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นยักษ์หลับมากกว่า

แต่ตลอด 4 ปีที่ฮาเบอแรร์บริหารเครดิต ลีอองแนส์ เขาแก้ภาพพจน์นี้ได้อย่างสิ้นเชิง แต่จะแตกต่างจากบีเอ็นพีในแง่ บีเอ็นพีจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อให้วิ่งตามแบงก์ทั่วโลกได้ทันขณะที่เครดิต ลีอองแนส์จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อรองรับความทะเยอทะยานของตัวเองในแผนขยายงานทั่วโลก และมันแสนจะสะดวกสบายเสียนี่ซึ่งแสนจะเข้าใจแผนงานของตนอย่างนีร้

ยุทธวิธีพลิกฟื้นวิกฤตการณ์ของเครดิตลีอองแนส์

เมื่อ 4 ปีก่อน ขณะที่ฌอง-อีพส์ ฮาเบอแร์รเข้ากุมบังเหียนเครดิต ลีอองแนส์ที่กำลังฝ่อและห่อเหี่ยว ทั้งองค์กรไม่ได้ยินดียินร้ายต่อการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของเขาด้วยซื้อ เพราะภูมิหลังที่ถูกแขวนอยู่ในแบงก์ปารีบาสมานานถึง 4 ปี ช่วงนั้นปารีบาสสามารถทำกำไรได้ร่วม 3 เท่าด้วยซ้ำแต่คนในวงการก็มองว่า ฮาเบอแรร์มีแต่ตำแหน่งหาได้มีบทบาทอะไรไม่

เมื่อปารีบาสถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง จึงไม่มีที่ว่างให้เขาได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดอีกแล้วหลังจากนั้นฮาเบอแรร์ได้รับตำแหน่งทางการเมืองขององค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกโอนเป็นกิจการของรัฐอีกครั้ง

เมื่อฮาเบอแรร์ต้องเข้ากุมบังเหียนเครดิตลีอองแนส์ขณะที่อ่อนปวกเปียก ทำให้ความกลัวที่นักสังเกตการณ์มีมาแต่ต้นเริ่มดูเป็นจริงเป็นจังขึ้น แต่ในส่วนของฮาเบอแรร์แล้ว มีแผนบริหารแบงก์ไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเริ่มมีการปฏิบัติงานจริง

ตามปกติแล้วผู้บริหารสูงสุดของกิจการรัฐวิสาหกิจฝรั่งเศส จะได้รับอำนาจในขอบข่ายที่กว้างมากเขาสามารถยืดอกรับคำยกย่องชมเชยจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้เต็มที่ ขณะเดียวกับที่ต้องหาญรับคำตำหนิติเตียนจากความล้มเหลวได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้ฮาเบอแรร์ไม่ค่อยพอใจนัก กับการที่จะปล่อยหรือยอมให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของเครดิต ลีอองแนส์ คือรัฐบาล เป็นผู้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ทั้งหมด

เขายืนกรานในความเป็นตัวของตัวเองด้วยการชี้แจงแบบเรียบ ๆ ว่า "แผนงานบางอย่างก็มาจากมุมมองของเขาเอง" และเพิ่มเติมว่า "ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าให้เข้ามาบริหารตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ผมจะมีมุมมองแบบนี้หรือเปล่า"

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของเครดิต ลีอองแนส์ก็สะท้อนการผสมผสานระหว่างความเป็นตัวตนของตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คือฮาเบอแรร์ บุคลิกของเขา และมันสมองของเขา และฮาเบอแรร์ก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนภาพพจน์ของเครดิต ลีอองแนส์โดยสิ้นเชิง

แฮร์เว สชริค ผู้จัดการทั่วไปของแบงก์ซีเอสไอเอ ซึ่งอยู่ในเครือกรุ๊ปเป้เครดิต เนชั่นแนลพูดถึงฮาเบอแรร์ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ว่า "คุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวสตาฟ มันเป็นบรรยากาศใหม่โดยสิ้นเชิง มีพลังใหม่ที่เกิดขึ้นในเครดิต ลีอองแนส์"

เครดิต ลีอองแนส์ทุกวันนี้แปรสภาพจากยักษ์หลับแสนจะอุ้ยอ้าย เป็นยักษ์ที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าว และมีวิญญาณแห่งการแข่งขันสูงมาก มีแรงผลักดันคือกำไร มีเป้าหมายคือการผงาดขึ้นมาเป็น "แบงก์ระดับโลก" ที่มีผลิตภัณฑ์ไว้บริการหลากหลายมหาศาล และสามารถแข่งขันได้ในทุกแขนงธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบงก์ลุกค้ารายย่อย ลูกค้าประเภทองค์กร และผลิตภัณฑ์ทางการเงินในตลาดทุนซึ่งไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยกันนัก

ฮาเบอแรร์เองมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าคือ "ทำให้ยุโรปทั้งทวีปเป็นตลาดในประเทศของเครดิตลีอองแนส์" เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ต้องเป็นแบงก์ยักษ์ใหญ่หมายเลขหนึ่งของยุโรป

ในเนเธอร์แลนด์นั้น เครดิต ลีอองแนส์เป็นเจ้าของแบงก์อันดับ 4 ของประเทศ ซึ่งมีสาขากว่า 100 แห่ง เครดิต ลีอองแนส์ขยายกิจการด้วยการตั้งสาขาขึ้นมาเอง และซื้อเครือข่ายของเชสแมนฮัตตันแบงก์สหรัฐเข้ามาบริการต่อ

ที่เบลเยียมนั้นเครดิต ลีอองแนส์ก็มีเครือข่ายค่อนข้างใหญ่ มีสาขา 30 แห่ง ในอิตาลีก็เข้าไปซื้อหุ้น 49% ในเครดิโต เบอร์กามาสโก ทำให้มีสาขาถึง 95 แห่ง

เครดิต ลีอองแนส์ยังเปิดสาขาเพิ่มในอังกฤษจนมีร่วม 40 สาขา ในสเปนก็เข้าซื้อแบงโก คอมเมอร์เชียล เอสปานอล (บีซีอี) เมื่อปลายปีที่แล้ว นักสังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่าเครดิต ลีอองแนส์ควักกระเป๋าจ่ายให้แบงโก เดอ แทนแซนเดอร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบีซีอีสำหรับการซื้อสาขาทั้ง 110 แห่งทั่วสเปนเป็นเงินสูงกว่ารายได้ของแบงก์นี้ถึง 20 เท่านั่น คือเป็นมูลค่าถึง 400 โดยประมาณ

บีซีอีมีสาขาย่อยในทุกเมืองใหญ่ของสเปนอย่างน้อยเมืองละ 1 สาขา ซึ่งนักสังเกตการณ์ในลอนดอนกล่าวว่า เป็นตัวอย่างที่คลาสสิกมากสำหรับระบบธนาคารแบบ "ร้านรับพนัน" ของสเปน แต่ก็มีบางคนตั้งคำถามว่าเมื่อฝรั่งเศสเข้าไปเป็นเจ้าของแบงก์ของสเปนแล้ว จะมีลูกค้าเงินฝากหรือเงินกู้ชาวสเปนสักี่คนที่เดินเข้าไปใช้บริการของบีซีอี จนกระทั่งทำให้แบงก์นี้สร้างรายได้ขึ้นมามากพอจนใช้สำหรับจ่ายเป็นค่าซื้อกิจการได้

แต่ตัวฮาเบอแรร์นั้นมีแต่ความเชื่อมั่น เขากล่าวว่าเครดิต ลีอองแนส์มีชื่อเสียงเกียรติประวัติดีในสเปน และเมื่อผ่านไประยะหนึ่งแล้ว กิจการต่าง ๆ ที่ซื้อมาก็จะสามารถกลืนเข้ากับเครดิต ลีอองแนส์ได้

ปัจจุบันถ้าไม่นับฝรั่งเศสแล้ว เครดิต ลีอองแนส์ มีสาขาทั่วยุโรปร่วม 500 แห่ง

เกี่ยวกับตัวเลขผลประกอบการนั้น ยากแก่การประเมินได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมธนาคารในอิตาลี อังกฤษ และกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ ได้รับการพัฒนามาอย่างดี มีการแข่งขันสูงมาก และปัจจุบันไม่ค่อยทำกำไรมากนัก จึงเป็นเรื่องยากที่จะมองดูว่าเครดิตลีอองแนส์ต้องเสนออะไรไปบ้างในส่วนที่ยัไงม่มีในท้องถิ่นนั้น ๆ มีการพูดกันแต่เพียงว่า ผลตอบแทนสำหรับแบงก์ที่เพิ่งซื้อกิจการเข้ามานั้นพอไปได้ แต่จะดีพอที่จะถือว่าการทุ่มเงินซื้อเครือข่ายในราคาสูงขนาดนั้นคุ้มกันหรือไม่เป็นเรื่องที่ยังสงสัยกัน

เครดิต ลีอองแนส์ยังขยายธุรกิจสู่การเงินเฉพาะด้านอย่างรวดเร็วด้วยการซื้อกิจการหลายบริษัททั่วยุโรป แต่มาถึงจุดสะดุดเมื่อปี 1990 เมื่อเจอไม้แข็งของปีเตอร์ ลิลลีย์รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอังกฤษ ซึ่งสั่งให้มีการสอบสวนให้แน่ใจว่าการซื้อกิจการวูสเตอร์ อินเวสต์เมนท์ ของเครดิต ลีอองแนส์นั้นเป็นไปด้วยความยุติธรรม

เรื่องของเรื่องมีว่าเมื่อวูสเตอร์ อินเวสต์เมนท์ ซึ่งเชี่ยวชาญในธุรกิจเช่าซื้อและการลงทุนเสนอตัวจะเข้าไปอยู่ในเครือเครดิต ลีอองแนส์ มันจะกลายเป็นการยอมเป็นกิจการของรัฐโดยทางอ้อมนั่งเอง ซึ่งในประเทศที่เดินนโยบายเน้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างอังกฤษ ถือว่าการทำอย่างนี้จะไม่เป็นผลดีต่อการแข่งขันในเชิงธุรกิจ

ฮาเบอแรร์ปฏิเสธไม่ยอมพูดถึงความเป็นไปได้ของผลการสอบสวน แต่อ้างว่ารู้สึกประหลาดใจกับการโยงเรื่องเข้าด้วยในลักษณะนี้ และเชื่อว่าเป็นการกระทำที่มีแรงผลักดันทางการเมือง ทำให้นายแบงก์บางคนวิเคราะห์ว่า มันจะส่งผลให้การอนุมัติโครงการ บาร์เคลย์ แบงก์ของอังกฤษเข้าซื้อกิจการ EUROPEENE DE BANQUE ของฝรั่งเศสจากบริษัทเครดิต คอมเมอร์เชียล เดอ ฟรานซ์ ต้องล่าช้าออกไปด้วย


การผจญภัยด้วยราคาแพง

การแข่งขันทำให้เครดิต ลีอองแนส์ประสบปัญหาในตลาดทุนของลอนดอนด้วย โดยเฉพาะการซื้อกิจการโบรกเกอร์ "อเล็กซานเดอร์, แลงก์แอนด์ คริคแชงค์" ในช่วงที่อังกฤษดำเนินนโยบายเปิดเสรีการเงินเต็มที่นั้น กลายเป็นบทเรียนการผจญภัยที่ต้องซื้อด้วยราคาแพง ส่งผลให้มีการปรับโครงสร้างหลายครั้งในเครดิต ลีอองแนส์แคปิตอล มาร์เก็ต ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของเครดิต ลีอองแนส์ แต่มีกิจกรรมทางธุรกิจในลอนดอนลดน้อยลงไปมาก

เมื่อมองภาพนอกเหนือทวีปยุโรปออกมา เครดิตลีอองแนส์กำลังรุกคืบเข้าตลาดเอเชียขนานใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้ว มีการประกาศตั้งสำนักงานสาขาใหม่ ๆ อีกหลายแห่ง สำหรับที่เวียดนามนั้นมีการตั้งสำนักงานตัวแทนขึ้น 2 แห่ง เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อนซึ่งอาจเป็นสัญญาเตือนให้รู้ว่าฝรั่งเศสเริ่มหวนกลับคืนสู่อินโดจีนอีกครั้งหนึ่งแล้ว

แต่ความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจเข้าไปในตลาดใหม่ ๆ และห่างไกลนั้น ต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย ตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้ว เมื่อเซอร์เกโบติสโซผู้จัดการของเครดิต ลีอองแนส์สาขาไต้หวัน ซึ่งมีความกระตือรือร้นเกินขนาด ตัดสินใจที่จะขยายกิจการและบทบาทของสาขาที่ตนคุมอยู่ เขาเน้นยุทธวิธีการเป็นแบงก์ระดับท้องถิ่น แล้วหันหลังให้กับธุรกิจที่แบงก์ชาติทั้งหลายให้ความสำคัญมาโดยตลอด

เขายังเดินหน้าการทำธุรกิจด้วยวิธีนี้ต่อไป ทำให้วงการต้องตั้งฉายาให้แบงก์ฝรั่งเศสแห่งนี้ว่า "ลีอองแนส์ผู้บ้าคลั่ง" นักสังเกตการณ์ก็มองนโยบายปล่อยสินเชื่อของโบติสโซว่า เริ่มไม่มีความมั่นคงเหมือนที่เคยเป็นมา เพราะเงินที่ปล่อยสินเชื่อออกไป ถูกนำไปลงในธุรกิจที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งแม้แต่แบงก์เจ้าถิ่นเองก็ยังต้องถอยห่างไม่ยอมเอาด้วย

อย่าไรก็ตาม วงการยังติดตามผลที่เกิดขึ้นจากการขยายกิจการสู่ต่างประเทศของเครดิต ลีอองแนส์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในแง่ของความยากลำบากหรืออุปสรรคที่ต้องเผชิญในธุรกิจธนาคารระดับโลกนอกจากนี้ การใช้วิธีซื้อกิจการข้ามพรมแดนซึ่งมีการพูดกันถึงเรื่อง SYNERGY เป็นหลัก ก็เห็นได้ชัดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ซ้ำร้ายกว่านั้น เครดิต ลีอองแแนส์ยังตกที่นั่งเดียวกับแบงก์ฝรั่งเศสทั้งหลาย ซึ่งประจักษ์แล้วว่ายุคทองแห่งความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจในประเทศในช่วงปลายทศวรรษ 1980 นั้นมาถึงจุดจบแล้วสำหรับฝรั่งเศสนั้น เมื่อเริ่มปีแรกของทศวรรษ 1990 ก็ส่อสัญญาณไม่ค่อยดีออกมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวอย่างหนักเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ รวมทั้งเงินสกุลฟรังก์ฝรั่งเศส ทำให้เกิดเสียงระงมด้วยความเจ็บปวดกันถ้วนหน้า ฝรั่งเศสยังคาดหมายว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างมากตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นไป

ในส่วนของงบดุลบัญชีก็ยุ่งเหยิงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อแบงก์เติบโตขยายกิจการออกไปทุกทิศทาง ซึ่งก็ยิ่งทำให้ตัวเลขผลประกอบการสับสน เห็นได้จากตัวเลขรวมของกำไรในครึ่งแรกของปี 1990 เพิ่มขึ้น แต่กำไรที่แท้จริงจากธุรกิจธนาคารในประเทศกลับลดฮวบลงรวม 50 ฮาเบอแรร์ออกตัวเรื่องผลประกอบการรวมทั้งปีว่แต่ละแบงก์ต่างก็เผชิญกับเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป

ฮาเบอแรร์เล่าว่า เครดิต ลีอองแนส์เพิ่มพูดผลกำไรด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และซื้อกิจการใหม่ ๆ เข้าอยู่ในเครือ "เราทำเงินด้วยกิจกรรมทางธุรกิจแนวใหม่โดยสิ้นเชิง"

การชะลอตัวลงของผลประกอบการนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ที่ชะลอตัวลงด้วยแต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเริ่มใช้รูปแบบการออมแบบใหม่ด้วย ทำให้แบงก์ชั้นนำต่าง ๆ ดาหน้าแข่งกันก่อตั้งกองทุนตลาดเงิน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในหมู่นักออมฝรั่งเศส

ดาบสองคม

อย่างไรก็ตาม มันกลายเป็นดาบสองคมสำหรับแบงก์เช่นกัน เมื่อนักออมพากันถอนเงินที่ได้จากการออมซึ่งมีต้นทุนต่ำ แล้วนำไปลงในเครื่องมือการลงทุนที่มีส่วนต่างกำไรต่ำ ทำให้แบงก์มีกำไรน้อยมาก
กองทุนตลาดเงินมีข้อดีข้อใหญ่ 2 อย่างคือ ทำให้สามารถเข้าถึงอัตราดอกเบี้ยสูงที่เกิดขึ้นจากผลของการที่ต่าเงินฟรังก์แข็งตัวและกำไรที่ได้ก็เสียภาษีเพียง 17% ประมาณครึ่งหนึ่งของภาษีเงินฝากเท่านั้น
นับจากปี 1986 จึงมีเงินไหลเข้าสู่กองทุนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว และมีมูลค่าเกือบเท่ากองทุนในบัญชีเดินสะพัด
ซาซา เซาราฟิมอว์สกี้ แห่งมอร์แกน สแตเลย์ ย้ำว่า "เราต้องไม่ดูเบาผลกระทบที่เกิดขึ้น" และการเติบโตอย่างรวดเร็วย่อมหมายถึง การที่กำไรของธุรกิจธนาคารรายย่อยในประเทศจะต้องลดฮวลลงแน่
โซพี ชิลด์แห่งไอบีซีเอพูดถึงแรงหนุนเต็มที่ของรัฐบาลฝรั่งเศสที่มีต่อแบงก์ชั้นนำของประเทศ ด้วยการเปรียบเทียบเหมือนการที่รัฐบาลอังกฤษให้หลักประกันกับแบงก์เนชั่นแนล เวสต์มินสเตอร์ หรือบาร์เคลย์นั่นเอง ส่วนนักสังเกตการณ์อื่น ๆ ชี้ให้เห็นถึงสถานภาพพิเศษของเครดิต ลีอองแนส์ว่า เป็นแบงก์ที่รัฐบาลฝรั่งเศสคัดเลือกให้นำประเทศไปสู่ยุคยุโรปใหม่
ดังนั้น จึงมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าไปหนุนหลังของรัฐบาลฝรั่งเศสนั้น มีอะไรมากว่าหลักประกันในกรณีที่กิจการล้ม โดยเฉพาะการถือหุ้นข้ามบริษัทระหว่างกิจการรัฐวิสาหกิจด้วยกัน เป็นเครื่องชี้บทบาทที่มีควาหมายมากในการสนับสนุนและเป็นการให้เงินช่วยเหลือการขยายกิจการด้วย

มั่นคงแข็งแกร่ง

ไอบีซีเอยังคงจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้เครดิต ลีอองแนส์ในระดับสูงอยู่ ขณะที่บริษัทมูดี้ส์ของสหรัฐ ฯ กลับมีความเชื่อมั่นไม่มากเท่าสำหรับความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งอาจอธิบายได้ว่าเป็นเพราะธรรมชาติของระบบการจัดอันดับไม่เหมือนกัน

บริษัทอเมริกันมีพื้นฐานการวิเคราะห์อยู่กับฐานะการเงินของสถาบันนั้น ๆ เป็นหลัก ส่วนไอบีซีเอเน้นที่ฐานสนับสนุนทางกฎหมายที่มีให้กับแบงก์ต่าง ๆ รวมทั้งฐานะการเงินของแบงก์นั้น ๆ ด้วย

นโยบายของไอบีซีเอเป็นอย่างนี้นั้น ส่วนหนึ่งเพราะอาจเกิดความเป็นไปได้ที่แบงก์จะดำเนินธุรกิจแบบประมาท นโยบายนี้เป็นการสะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า แบงก์ในยุโรปเข้าไปผูกมัดกับรัฐมากกว่าในสหรัฐฯ

ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ ในอันที่จะวัดผลประกอบการที่แท้จริงของเครดิต ลีอองแนส์ จึงมีแนวโน้มค่อยไปในทางที่ผิดพลาดในลักษณะเดียวกับตัวเลขสถิติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแบงก์อยู่ในฐานะที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก หุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดล้วนมีรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงหรือไม่ก็โดยอ้อม นอกจากนี้ ยังมีหุ้นบุริมสิทธิ์ที่ไม่มีสิทธออกเสียงจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นปารีสด้วยแต่ปรากฏว่าไม่เป็นที่นิยมรัก และเป็นเครื่องฟ้องที่เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ไม่น่าพอใจเอาเลย

ขณะนี้จึงคงมีข่าวลือหนาหูในแวดวงเครดิตลีอองแนส์ว่า ฮาเบอแรร์จะประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ในเดือนเมษายน จะอย่างไรก็แล้วแต่ สงครามและภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเป็นเครื่องทดสอบเครดิต ลีอองแนส์ "ยุคใหม่" ได้เป็นอย่างดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.