สุนทร อรุณานนท์ชัย"เขากำลังหวานชื่นกับโชคชะตาตัวเอง

โดย บุญธรรม พิกุลศรี
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ด้วยวัยเพียง 45 ปีสุนทร อรุณานนท์ชัย พบกับความตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตอย่างชนิดที่เขาคาดไม่ถึงเมื่อ 4 ปีก่อน เขาใช้เวลาเลียแผลอยู่นานทีเดียว แล้วเขาก็กับมาผงาดอีกครั้งกับธุรกิจที่ดินของซีพี เส้นกราฟชีวิตของเขายังจะต้องวิ่งขึ้นสู่สูงชันอีกครั้ง ตัวเขาเองก็คงจะร่ำรวยอีกมาหากเขาไม่สะดุดเหมือนคราวก่อนอีก

"พระบอกว่าไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่เคยสะดุด" นั่นเป็นคำปลอบใจตัวเองสำหรับ สุนทร อรุณานนท์ชัย นักการเงินมืออาชีพและนายหน้าพัฒนาธุรกิจที่ดินมือฉกาจที่มีเส้นกร๊าฟชีวิตวิ่งขึ้นตรงด้วยความเร็ว และแรงอย่างชนิดที่หาคนในรุ่นราวคราวเดียวกันเทียบยาก

แต่ก็เป็นอย่างที่พระเคยบอกเขา และเขาก็จำมันไว้มาบอกเพื่อนสนิท ๆ เมื่อเขาต้องมาพลาดครั้งแรกในตำแหน่งที่เรียกว่าสูงสุดแล้วในอาชีพนี้คือกรรมการผู้จัดการธนาคาร

เรื่องมันเข้าทำนอง "หมองูตายเพราะงู" สุนทรซึ่งมีภูมิหลังเป็นนักการเงินก็ต้องมาพลาดท่าเสียทีด้วยเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แท้ ๆ

แน่นอนไม่มีใครอยากจะจำมันอีกต่อไป โดยเฉพาะสุนทร อรุณานนท์ชัย จนปัจจุบันนี้ตัวเขาเาองก็ไม่ติดใจที่จะแก้ข้อกล่าวหาในมุมของเขาบ้างว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น

เหมือนกับว่าอยากจะให้ลืม ๆ ไปกับกาลเวลาอันเป็นเสมือนน้ำยาลบหมึกชั้นดี

นั่นเป็นเรื่องเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

มาวันนี้ดูเหมือนชีวิตสุนทรจะวิ่งขึ้นสู่เส้นกร๊าฟอันสูงชันอีกครั้งหนึ่งที่ใคร ๆ ก็ให้ความสนใจอย่างมาก

ปี 2534 สุนทรและครอบครัวกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง และดูแลการบริหารกิจการถึง 4 แห่ง คือโรงงานน้ำตาลราชบุรีซึ่งขณะนี้ทำกำไรให้แก่เขาปีละหลายร้อยล้านบาท โรงงานผลิตรองเท้าในนามบริษัท ออเรียนทัลฟุทแวร์ บริษัทหลักทรัพย์ยูเนี่ยน บริษัทเงินทุนยูเนี่ยนไฟแนนซ์ซึ่งอารยา อรุณานนท์ชัย ภรรยาของเขาเป็นผู้ดูแลและบริษัทสยามนำโชคซึ่งตัวเขาเองเปิดตัวในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

โดยเฉพาะบริษัทหลังสุดเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประเภทธุรกิจพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นที่จับตามองของคนในวงการอย่างมาก

การแจ้งเกิดใหม่ของสุนทรในวัยที่กำลังจะวิ่งผ่านเลข 50 ดูจะเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ในเนื้อหาแล้วยังเหมือนเดิม

สุนทรเรียนจบชั้นต้นที่อัสสัมชัญพาณิชย์ เคยสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศได้คณะบัญชีทั้งจุฬาและธรรมศาสตร์ แต่สุนทรเลือกเรียนที่จุฬา เรียนได้ไม่นานสอบทุนไปเรียนต่อต่างประเทศได้

ที่สหรัฐอเมริกาเขาเลือกเรียนการบริหารโรงงานอุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ จากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่นิวยอร์ค โดยกลางวันทำงานกลางคืนเรียนหนังสือ แต่ดูจะไม่ไหวเขาจึงกลับมาเรียนที่อาร์คันซออีกครั้งหนึ่งจนจบปริญญาโททางการเงิน เกียรตินิยม) ทางมหาวิทยาลัยให้เป็นอาจารย์สอนหนังสือและเรียนระดับปริญญาเอกต่อ แต่เรียนไปได้เพียงนิดเดียวก็กลับเมืองไทยตามคำเรียกร้องของครอบครัว

สุนทรกลับมาเมืองไทยเข้าทำงานกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ ๆ ในช่วงต้นทศวรรษ 70

ในทิศโก้สุนทรทำงานในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการคู่กับ ชุมพล ณ ลำเลียง โดยชุมพลดูแลทางด้านการวิเคราะห์ธุรกิจส่วนสุนทรดูทางด้านสินเชื่อ

สุนทรได้เรียนรู้งานทางด้านธุรกิจ MERCHANT BANKING (โดยผ่านแบงก์เกอร์ทรัสต์) และธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งทิสโก้เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่นำเข้าเผยแพร่ในประเทศวไทย เพราะขณะนั้นทิสโก้ได้ร่วมลงทุนกับสถาบันการเงินฝ่ายไทยตั้งตลาดหลักทรัพย์กรุงเทพหรือ BANGKOK STOCK EXCHANGE ขึ้นมาเป็นสถาบันในการซื้อขายหุ้นก่อนที่จะมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสียอีก

นอกจากนี้ยังทำให้เขามีสายสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้น กรรมการ และลูกค้าของทิสโก้ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของเมืองไทยทั้งสิ้น

สุนทรอยู่ทิสโก้ได้ 5 ปีก็ลาออกไปเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเชียของชาตรี โสภณพนิช

จากบริษัทเล็ก ๆ เขาสร้างมันขึ้นมาภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของ ชาตรี โสภรณพนิช จนกลายเป็นบริษํทเงินทุนหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในเวลาต่อมา ตัวเขาเองก็เลื่อนขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดแล้วสำหรับมืออาชีพการเงินอย่างเขา

บารมีของสุนทรีสูงเด่นในวงการธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์เมื่อสมัยเขานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทเงินทุน และเป็นรองประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ที่กรรมการภาคราชการมักจะเกรงใจและเห็นด้วยกับแนวความคิดของเขาเสมอ

บางคนถึงกับพูดว่า สุนทร อรุณานนท์ชัย คือประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ตัวจริงใจสมัยนั้น เขามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ สิริลักษณ์ รัตนากร ก่อนที่ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์จะเข้ามาแทนจนถึงปัจจุบัน

ในยามที่ประธานและผู้จัดการตลาดไม่อยู่ สุนทรก็จะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนั้นแทน

"การผลักดันให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ในสมัยนั้นเรียกได้ว่าสุนทรมีบทบาทอย่างมาก เขาเป็นคนที่คิดอะไรไกลและวางหมากเพื่อเปิดโอกาสให้ ตัวเองไว้หลายชั้นเสมอ รวมถึงการแก้ไขกฎ ระเบียบ ต่าง ๆ ของตลาด ผมว่าการที่ฝ่ายเอกชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทสมาชิกาเข้าไปมีบทบาท ในตลาดได้มากขึ้นในขณะนี้ก็เป็นผลมาจากการวางหมา การวางกติกาของสุนทรมาในอดีต "คนที่เคยใกล้ชิดกับสุนทรเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ถ้าจะเทียบอย่างทุกวันนี้ในแง่ความเชื่อถือ สุนทรในวันนั้นก็คือ วิโรจน์ นวลแข ในวันนี้

จะต่างกันอยู่บ้างก็ตรงที่วิโรจน์เป็นคนมีภาพพจน์ที่สะอาด ขณะที่สุนทรไม่ได้ถูกมองด้วยสายตาเช่นนั้น

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ธนาคารมหานคร 2529 สุนทร ก็ได้รับทาบทามให้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารมาหานครจากกล่มผู้ถือหุ้นอย่ง ชาตรี โสภณพนิช สมาน โอภาสวงศ์พัชรี ว่องไพทูรย์ และ เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ท่ามกลางการยอมรับของคนระดับสูงในแบงก์ชาติ

มีหรือที่สุนทรจะไม่รับ ในเมื่อมันก็เป็นอีกจังหวะหนึ่งของชีวิตที่น่าสนใจ เพราะงานนี้ถ้าเขาสร้างมหานครฟื้นตัวขึ้นมาสำเร็จมันจะดีเลิศสำหรับเขามาก ๆ

แต่โชคชะตาคนเรามักเล่นตลกเสมอ สุนทรเข้าไปมหานครยังไม่ทันข้ามปีเขาก็ต้องลาออก เพราะไปมีเรื่องถูกกล่าวหาจากพนักงานว่า "เบี้ยวค่าคอมมิชชั่น" ในการขายหุ้นเพิ่มทุนของธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติใช้คำว่า "มัวหมอง" กับกรณีที่เกิดขึ้นกับเขา

แต่สำหรับคนที่เข้าใจสุนทรดีจะบอกว่า "หมองูก็ต้องพลาดพลั้งโดดงูกัดเข้าสักวันหนึ่งเป็นธรรมดา"

แต่น่าเสียดายที่สุนทรต้องมาตายน้ำตื้นมากเกินไปเท่านั้นเอง

สุนทรหายไปจากวงการธุรกิจการเงินนานหลายปี

สุนทรและอารยา อรุณานนท์ชัย ภรรยาคู่ทุกคู่สุขของเขาได้ช่วยกันปลุกปั้นโรงงานน้ำตาลราชบุรีที่เรียกว่าตายไปแล้ว ให้ฟื้นขึ้นมาอย่างเงียบ ๆ

อารยา เป็นนักเรียนทุนของธนาคารกสิกรไทยและเป็นนักบัญชีการเงินที่เก่งเอามาก ๆ คนหนึ่ง ตำแหน่งสุดท้ายของเธอในกสิกรไทยคือรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและแผนซึ่งรายงานตรงต่อ บัญชา กับบรรยงค์ ล่ำซำ

ทั้งสองพบและรักกันตั้งแต่สมัยเรียนอยู่สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงได้แต่งงานกัน

โรงงานน้ำตาลราชบุรีเดิมชื่อโรงงานน้ำตาลราชบุรีอุตสาหกรรม ซึ่งมีกลุ่ม วัลลภ ธารวณิชยกุล และวิชัย มาลีนนท์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และบริหารร่วมกันกับ กีรติ อรุณานนท์ชัย ญาติห่าง ๆ ของสุนทรนั่นเอง

แน่นอนโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ใช้เงินกู้จากธนาคารเอเชียทรัสต์ของวัลลภหรือจอห์นนี่มาร์ วงเงินประมาณ 800 ล้าน

เมื่อธนาคารเอเชียทรัสต์มีปัญหาจะล้มละลาย แบงก์ชาติจึงเข้าควบคุม แหล่งเงินที่เคยได้รับมาหมุนในกิจการโรงงานก็หยุดชะงักลง และยิ่งกว่านั้นคณะผู้บริหารชุดใหม่ของเอเชียทรัสต์เตรียมจะเข้าไปยึดเอาด้วย ฐานที่เป็นบริษัทของผู้บริหารเดิม

ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกขณะนั้นตกต่ำอย่างหนัก ผู้บริหารชุดใหม่ก็เลยขายให้แก่สุนทรไปในราคาถูก ๆ เพียง 500 ล้าน

"น้ำตาลดิบในสต็อคเวลานั้นมีค่าประมาณเกือบ 300 ล้าน สินทรัพย์ถาวรมี 500 ล้านรวมแล้วตก 800 ล้าน ซึ่งพอ ๆ กับมูลหนี้ แต่ความที่สุนทรช่วยเจรจาประนีประนอมหนี้ของช่อง 3 สำเร็จก็เลยได้โบนัสโรงงานน้ำตาลนี้ไปใน ราคาถูก ๆเป็นการตอบแทน" พีรพงศ์ สาคริกเล่าให้ฟัง

เช่นนี้แล้วมีหรือคนอย่างสุนทรจะไม่รีบคว้าไม่ทันที

ความจริงปัญหาของโรงงานน้ำตาลราชบุรีมีไม่มาก ว่ากันที่จริงราคาน้ำตาลตกต่ำนี่ก็โดนกันทุกโรงงาน ปัญหาใหม่ก็คือว่าโครงสร้างเงินกู้ที่ผูกกับแบงก์เอเชียทรัสต์มากและก็เหมือนกับโรงงานน้ำตาลอื่น ๆ คือมีการดับเบิ้ลแพ็คกิ้งเครดิต

อย่างไรก็ตามทรัพย์สินของโรงงานน้ำตาล ขณะที่ซื้อขายนั้นนอกจากจะมีตัวโรงงานแล้ว ยังมีน้ำตาลอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งประเมินราคาซื้อขายกันตามตลาดโลกซึ่งต่ำมาก แต่พอซื้อมาแล้วเรียบร้อยปรากฎว่านำมาขายตลาดในประเทศซึ่งสูงกว่ากันเป็นเท่าตัว

เพียงแค่นี้สุนทรก็ได้กำไรไปแล้วเหนาะ ๆ

สุนทรกับอารยาใช้เทคนิคทางการเงนจัดระบบที่เขาทั้งสองชำนาญเข้าไปแก้ไขปัญหาโรงงานน้ำตาลราชบุรี จากนั้นก็นั่งกินกำไรอย่างเดียว โดยเฉพาะในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงอย่างน่าพอใจ

"รายได้เข้าครอบครัวสุนทรในทางนี้ก็มากทีเดียว" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเรื่องนี้กล่าว

โชคชะตาคนเรามักเป็นเช่นนี้เสมอ บางครั้งมีขึ้นบางครั้งมีลงสุนทก็ตกอยู่ในข่ายนี้เหมือนกัน

"ช่วงที่สุนทรได้รับบาดแผลมาจากมหานครใหม่ ๆ นั้นคนที่โทรศัพท์ไปหาเขาคนแรก ๆ ไม่ใช่ใคร เขาคือ ดำหริ ดารกานนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท สหยูเนี่ยนนั่นเอง เพื่อปลอบใจ และให้กำลังใจ พร้อมกับเปิดทางให้สุนทรเข้ามาทำอะไรก็ได้ในสหยูเนี่ยน" คนใกล้ชิด สุนทรคนเดียวกันบอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงจุดต่อของสุนทรกับดำหริ

แล้วมีหรือที่สุนทรจะยอมพลาดโอกาสอันงามที่ดำหริเสนอ

ความจริง สุนทร อรุณานนท์ชัย รู้จักมักคุ้นกับครอบครัวของ ดำหริ จงรัก ดารกานนท์ มานานกว่า 20 ปี ซึ่งขณะนั้นสุนทรเพิ่งจะอายุเพียง 26 ปี แต่มีตำแหน่งเป็นถึง รองกรรมการผู้อำนวยการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ดูแลบัญชีลูกค้ารายที่ชื่อว่าบริษัทหสยูเนี่ยนมาตั้งแต่ตัน ซึ่งมีดำหริเป็นผู้จัดการจงรักษ์เป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี

สหยูเนี่ยนเป็นลูกค้าของทิสโก้โดย มี สุนทร อรุณานนท์ชัย เป็นผู้ดูแลบัญชีลูกค้ารายนี้จนกระทั่งเขามาเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเชียก็ยังให้บริการแก่กันอยู่

สุนทรมักจะเล่าถึงความสัมพันธ์ที่เขามีต่อสหยูเนี่ยมว่าเขาดูบัญชีนี้มาตั้งแต่ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท การเพิ่มทุนของบริษัททุกครั้งเขาเป็นคนดำเนินการให้หมด จนปัจจุบันสหยูเนี่ยมมีทุนจดทะเบียนถึง 3,000 ล้านบาท

ฉะนั้นตำแหน่งที่ไม่เป็นทางการของ สุนทร อรุณานนท์ชัย ในสหยูเนี่ยนก็คือที่ปรึกษาทางการเงิน

"คือถ้ามีปัญหาทางการเงินผมเป็น NUMBERONE ที่คุณดำหริจะโทรถึง" สุนทรกล่าว

ยิ่งกว่านั้นในการนำบริษัทในเครือสหยูเนี่ยนเข้าตลาดหลักทรัพย์ และจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของกลุ่มทุกครั้งสุนทรก็ลงทุนส่วนตัวซื้อหุ้นตัวนี้ไว้ไม่น้อยทีเดียว

สุนทรชวนกลุ่มซันฮังไกซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าหลักทรัพย์ที่อยู่ในอันดับ 1 ใน 5 ของฮ่องกงที่เขามีสายสัมพันธ์อย่างแนบแน่นตั้งแต่สมัยอยู่ สินเอเชียเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ยูเนี่ยนสถาบันการเงินในเครือสหยูเนี่ยนของดำหริ ดารกานนท์

ดำหริตั้งบริษัทหลักทรัพย์ยูเนี่ยนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2517 เพราะเขาเห็นในต่างประเทศนั้นถือว่าเป็นธุรกิจแขนงหนึ่งที่จะต้องมีไว้อยู่เหมือนกัน แต่ดำหริก็ไม่ได้ ใส่ใจบริหารมันอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามบริษัทนี้ก็มีศักยภาพอยู่ในตัวมันไม่น้อย เพราะเป็นถึงบริษัทสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์เป็นโบรกเกอร์หมายเลข 10

"เมื่อก่อนบริษัทนี้มันไม่ค่อยแอคทีพมีปัญหาขาดทุนเพราะการควบคุมทางการเงินไม่ค่อยดี ทุนจดทะเบียนก็ไม่เท่าไหร่ เป็นเพราะคุณดำหริแกเป็นคนไม่ชอบเล่นหุ้นอยู่ด้วย คุณสุนทรก็เข้ามาพร้อมกับซันฮังไกถือหุ้นรวมกัน 50% ทีเหลือก็เป็นของสหยูเนี่ยนหลังจากนั้นคุณอารยาภรรยาคุณสุนทรก็เข้ามาบริหารเต็มตัวในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ" แหล่งข่าวที่รู้เรื่องนี้ดีเท่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในช่วงเวลาไล่ ๆ กันนั้นสุนทรก็ชวน ให้ดำหริเข้าซื้อกิจการบริษัทเงินทุนบางกอกทรัสต์ซึ่งเป็นของคนในตระกูล ณ ระนอง

บางกอกทรัสต์ เป็นสถาบันการเงินเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2513 ต่อมาได้มีกลุ่ม ตระกูล ณ ระนอง เข้าร่วมหุ้นด้วย ปี 2529 ก่อนที่สุนทรจะเข้าไปซื้อนั้นมีทุนจดทะเบียนเพียง100 ล้านบาทสินทรัพย์ 180 ล้านบาท ผลประกอบการขาดทุนสะสาม 23 ล้านบาท ทุนส่วนผู้ถือหุ้น 77 ล้านบาท ใบหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่จำนำไว้กับธนาคารกรุงเทพ

นับว่าเป็นบริษัทเงินทุนที่ดีมากบริษัทหนึ่งถ้าเทียบกับบริษัทเงินทุนต่าง ๆ ที่อยู่ในโครงการ 4 เมษา ข่าวที่ทราบกันวงในขณะนั้นก็คือว่าเจ้าของเดิมต้องการขายเพียง 43 ล้านบาทเท่านั้น

สุนทรทราบเรื่องนี้จากธนาคารกรุงเทพซึ่งสุนทรีมีสายสัมพันธ์อยู่ในนั้นอย่างแนบแน่น จึงชวนดำหริเข้ามาซื้ออีกบริษัทโดยลงหุ้นกันคนละครึ่ง

จนปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทเงินทุนยูเนี่ยนไฟแนนซ์ซึ่งมีผู้ถือใหญ่อยู่สองกลุ่มคือเครือสหยูเนี่ยนและครอบครัวของสุนทร โดยอารยา อรุณานนท์ชัย เป็นผู้ดูแลการบริหารบริษัทนี้ด้วยตัวเองอีกบริษัทหนึ่ง

ความสามารถของอารยาในด้านบัญชีและการวางระบบนั้น เป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการสหยูเนี่ยนทุกคน จนได้รับความไว้วางใจให้เข้าเป็นกรรมการบริหารของบริษัทด้วย เนื่องจากในการประชุมทุกครั้งจะต้อง มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินอยุ่แล้วทุกครั้งแต่เนื่องจากปัจจุบันเธอต้องไปทุ่มเทเวลาให้กับโรงงานทำรองเท้า อย่างมาก ๆ จึงได้ขอลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวไปแล้ว

จากการที่บริษัทหลักทรัพย์ยูเนี่ยนเป็นบริษัท สมาชิกในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนยูเนี่ยนก็เป็นบริษัทที่ยังเล็กง่ายต่อการพัฒนาอย่างมาก ทำให้คนในวงการคาดกันว่าหลังจาก สุนทรหลุดออกจากมหานครเขาคง จะปั้นบริาทนี้ให้ขึ้นมาเป็นดาวเด่นในวงการโบรกเกอร์ภายในเวลาอันรวดเร็ว เพราะมันเป็นงาน อาชีพที่ สุนทรเองเขาถนัดและเชี่ยวชาญเอา มาก ๆ ด้วย

แต่ก็ไม่ได้เป็นดั่งคาดหมาย การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยูเนี่ยนเมื่อเทียบกับโบรกเกอร์ตัวอื่นแล้วยังอยู่ในอันดับท้าย ๆ ทั้ง ๆ ที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้วเป็นยุคที่เรียกว่าหุ้นบูมมากที่สุด

คงเป็นเรื่องที่พูดลำบากว่าทำมสุนทรจึงไม่ทำสองบริษัทนี้อย่างเต็มไม้เต็มมือของเขา

บางคนบอกว่าเป็นเพราะดำหริไม่ค่อยชอบเรื่องหุ้น ธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ในแนวคิดของดำหรินั้นเป็นแบบไม่ต้องการสุ่มเสี่ยงมากไม่ว่าจะในแง่ของลูกค้าหรือผู้ถือหุ้นบริษัท

เขาต้องการให้ทำธุรกิจกับลูกค้าที่มีความมั่นคงสูงแม้ว่ากำไรจะน้อย

ว่ากันว่าแม้แต่บริษัทในเครือของสหยูเนี่ยนกว่า 30 บริษัทยังไม่เคยใช้แหล่งเงินกู้จกาสองบริษัทนี้เลยเพราะว่าสามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้ดอกเบี้ยถูกกว่าอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องระดมเงินจากประชาชนมากแต่ให้เอาเงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้เพราะได้ส่วนต่างมากกว่ากันเยอะ

ส่วนตัวบริษัทหลักทรัพย์นั้นก็มีหน้าที่เพียงคอยดูหุ้นของบริษัทในกลุ่มสหยูเนี่ยนอย่าให้มีการถ่ายเทกันมาก เพื่อปกป้องการเทคโอเวอร์จากกลุ่มทุนอื่น ๆ เพราะหุ้นของตระกูลดารกานนท์ในเครือสหยูเนี่ยนบางบริษัทนั้นมีเพียง 30% เศษ ๆ เท่านั้นเอง

ในขณะนี้กำลังเร่งสะสมให้เต็ม 50% ทุกบริษัท

"ราคาหุ้นในตลาดเมืองไทยมันราคาเกินจริงจนน่าเกลียด" ดำหริมักจะพูดถึงเหตุที่เขาไม่ชอบเล่นหุ้นกับคนใกล้ชิดเสมอในขณะที่สุนทรพูดถึงดำหริว่า

"ท่านเป็นนักอุตสหากรรมท่านจึงไม่ค่อยสนใจเรื่องเงินทุนและหลักทรัพย์เท่าไหร่นัก"

จะกล่าวอย่างนั้นก็คงไม่ผิดนัก ดำหริไม่ค่อยเชื่อ อย่างฝังใจกับทฤษฎีการเล่นหุ้นใด ๆ ที่จะนำมาใช้กับ ตลาดหุ้น เมืองไทยสิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน นับตั้งแต่นำหุ้นใหม่เข้าตลาดแต่ละครั้งราคาจะไม่สูงมากนักและในขณะทีหุ้นอยู่ในตลาดราคาก็จะไม่หวือหวา

ไม่เป็นหุ้นที่เหมาะจะเล่นเก็งกำไร

แต่ดำหริก็เป็นคนประเภท ชอบทดลองคน เขาเคยให้เงินแก่ ดอกเตอร์นักบรรยายเรื่องหุ้นและที่ปรึกษาหลายบริษัทไป 10 ล้านบาท เพื่อให้เอาไปเล่นหุ้นตามทฤษฎีของอาจารย์คนนั้นตามคำแนะนำของสุนทร แต่ปรากฏว่าเจ้งอย่างไม่ เป็นท่า ยิ่งทำให้ดำหริเชื่อหนักเข้าไปอีกว่าการเล่นหุ้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี

"ผมอยากจะลองดูว่าอาจารย์ที่ไปเที่ยวสอนคนอื่นจะเก่งแค่ไหน ถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็อย่าไปเที่ยวบรรยายให้คนอื่นเขาเชื่อ" ดำริพูดด้วยความสะใจ

ดูเหมือนอาจารย์ท่านนั้นก็ได้เงียบไปมาก แม้จะยังหากินอยู่กับตลาดหุ้นปัจจุบันอยู่ก็ตาม

ในปลายปี 2530 สุนทรกับภรรยาก็ชวนดำหริร่วมลงทุนอีกโครงการหนึ่งคือโครงการทำผลิตรองเท้าชื่อว่าบริษัทออเรียนทัลฟุทแวร์ ซึ่งว่ากันที่จริงมันเป็นธุรกิจที่ดำหริถนัดเอามาก ๆ เพราะในเครือก็มีโรงงานทำรองเท้าไนกี้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากสนุทรและภรรยาสนใจที่จะทำเรื่องนี้และถือหุ้นใหญ่อยู่ด้วยก็เลยให้อารยาเป็นผู้บริหารอย่างเต็มตัว

สุนทรไม่ค่อยเปิดตัวในธุรกิจนี้นัก แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าด้านการวางแผนและนโยบายนั้นเขาเป็นคนกำหนด ส่วนอารยาเป็นผู้ดำเนินการบริหาร

ออเรียนทัลฟุทแวร์ถูดวาดขึ้นมาตามแนวคิดของสุนทร ซึ่งจะต้องเป็นโรงงานขนาดใหญ่มีกำลังการผลิตมาก ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและตีตลาดให้ได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งในแนวคิดนี้ดำหริไม่ค่อยเห็นด้วยกับสุนทร

ดำหริต้องการให้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อสร้างทักษะความชำนาญและค่อย ๆ ซึมเข้าไปในตลาดทีละน้อย ๆ แต่สุนทรก็สั่งเครื่องจักรลงทีเดียว 10 โรงเพื่อให้ได้เป้าหมายตามที่เขาวางไว้

แต่ปรากฏว่าล้มเหลว

เพราะรองเท้าที่รับจ้างผลิตนั้น ถูกตีกลับเป็นจำนวนมาก แม้จะมีออร์เดอร์มากแต่ก็ไม่สามารถผิลตให้ดีได้เพราะวาคนงานยังไม่มีทักษะที่ดีพอ จนปัจจุบัน นี้โรงงานเดินเครื่องได้จริง ๆ เพียง 3 โรงเท่านั้น ส่วนที่ เหลืออีก 7 โรงก็ปิดไว้เฉย ๆ และก็เป็นตัวสำคัญที่ทำ ให้บริษัทนี้ขาดทุนอยู่ในปัจจุบัน

อารยาต้องทำงานอย่างหนักที่โรงงานทำรองเท้า จนไม่มีเวลามาดูแลงานทางด้านบริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์เลยในขณะนี้สำหรับเธอแล้วคงจะไม่ยอมแพ้ มันง่าย ๆ

บางคนจึงพยายามพูดว่าความสัมพันธ์ระหว่างดำหริกับสุนทรเริ่มเหินห่างกันมากขึ้นแล้วในระยะหลัง ๆ โดยเฉพาะสุนทรได้มาทำงานให้กับซีพีมากขึ้น เขาให้เหตุผลว่าทางซีพีมีวิธีคิดและการทำงานแบบสากลมากกว่าสหยูเนี่ยน อย่างชนิดที่เรียกว่าคนละสุดขั้วทีเดียว

สุนทรมาเปิดตัวอย่างจริงจังในปี 2533 ที่ผ่านมานี้นี่เองในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทสยามนำโชคเจ้าของโครงการฟอร์จูนพลาซ่า-ทาวเวอร์ หรือรัชดาสแควร์เดิมนั่นเอง

สุนทรเก็บตัวเงียบเพื่อทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2531 โดยการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มยูนิเวสท์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่เดิมอันเนื่องมาจกาประสบปัญหาด้านเงินทุนในการดำเนินการก่อสร้าง

จากเดิมที่เป็นเพียงที่ปรึกษาทางการเงินก็เลยต้องกระโดดเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการอย่างเต็มตัว ซึ่งก็ดูจะสมศักดิ์ศรีของเขาดีเพราะมีสินทรัพย์จนถึงปัจจุบันสูงกว่า 2,000 ล้านบาทจากการที่สุนทรปลุกปั้นมันเข้าตลาดหลักทรัพย์

บริษัทสยามนำโชคเดิมทีเดียวเป็นของ ชวน รัตนรักษ์ ประธานใหญ่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและเจ้าของสัมปทานช่อง 7 สี ชวนให้ชื่อบริษัทนี้ถือครองที่ดินกว่า 50 ไร่บริเวณหัวโค้งอโศก-ดินแดงหรือที่เรียกกันติดปากในสมัยนั้นว่าโค้งทรราช

กล่าวกันว่าโค้งตรงนั้นเป็นการจงใจตัดถนนอโศกจากถนนเพชรบุรีเข้าไปหาที่ดินของกลุ่มผู้ครองอำนาจบ้านเมือง (สมัยถนอม-ประภาส) ในบริเวณหัวโค้งนั้นอย่างไม่มีเหตุผลแล้วก็หักมุมเข้าสู่ถนนดินแดงทำให้เป็นโค้งต้นซึ่งไม่มีทางทะลุไปทางอื่นต่อไปได้อย่างน่าเกลียดที่สุด คนเขาก็เลยเรียกว่าโค้งทรราช

อย่างไรก็ตาม ชวน รัตนรักษ์ได้ซื้อที่ดินแปลง นี้หลังจากที่ได้มีการตัดโค้งดังกล่าวแล้วจากลุ่มผู้มีอำนาจสมัยนั้นคนหนึ่ง และเมื่อปี 2522 พลเอกเกรียงศักด์ ชมะนันท์นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวงในยุคนั้นได้สั่งให้มีการตัดถนนเส้นใหม่จากถนนวิภาวดีรังสิตมาเชื่อมกับหัวโค้ง ดังกล่าวแล้วให้ชื่อมันว่าถนนรัชดาภิเษกในปัจจุบัน

ชวนซื้อมาในราคา 90 ล้านบาท หลังจากรู้จำนวนพื้นที่เวนคืนแล้วแน่นอน 13 ไร่

ที่ตรงนั้นก็เลยเป็นที่ดิน ที่สวยที่สุดบนถนนรัชดาฯ เพราะกินพื้นที่ตรงสี่แยกถึงสองด้านซึ่ง ปัจจุบันบริเวณ ตรงกันข้ามอีกด้าน หนึ่งนั้นคือที่ทำการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกไฟแนนซ์ปัจจุบันนี้นี่เอง" แหล่ง ข่าวคนเดียวกัน ชี้ให้ "ผู้จัดการ" ดูที่ดินที่ชวนพัฒนา ขายไปก่อนแล้วหน้านั้นแล้วบางส่วน

ต่อมาชวนได้ขายที่ดินแปลงที่เหลือให้แก่ โยธิน บุณดีเจริญ เจ้าของกิจการในกลุ่มยูนิเวสท์ซึ่งมีทั้งสถาบันการเงินอย่างบริษัทเงินทุนยูนิเวสท์และโครงการพัฒนาที่ดินอย่างเมืองเอกและก็รัชดาสแควร์

โยธิน บุญดีเจริญ ตัวจริง ๆ ของเขาในอดีตคือผู้คุมโครงการพัฒนาที่ดินสำคัญ ๆ ให้แก่ มงคล กายญตนพาส์ท ภายใต้ชื่อบริษัทบางกอกแลนด์ไม่ว่าจะเป็นโครงการบางกอกบาร์ซาตรงราชดำริ โครงการหมู่บ้านเมืองทอง หรือโครงการเมโทร

เมื่อมงคลต้องจากเมืองไทยไปนานหลายปี โยธิน จึงคิดทำโครงการของตัวเองขึ้นมา โดยเริ่มที่เมืองเอก โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก ชาตรี โสภณพนิช ทั้งในขั้วของธนาคารกรุงเทพและขั้วบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเชีย

แน่นอน สุนทร อรุณานนท์ชัย เป็นผู้ดูแลบัญชีลูกค้ารายนี้

ในขณะที่ซีพีก็เป็นลูกค้าที่ดูแลมาตั้งแต่อยู่ทิสโก้มาจนถึงสินเอเชีย ความสัมพันธ์ของเขากับ ธนินทร์ เจียรวนนท์ จึงแนบแน่นอย่างยิ่ง ตำแหน่งที่ไม่เป็นทางการของสุนทรก็คือที่ปรึกษาทางการเงินของธนินทร์

สุนทรมักออกตัวกับเพื่อน ๆ ว่าเขาเป็นเพียงที่ปรึกษาคนหนึ่งในหลายสิบคนที่ธนินทร์เลือกใช้

"คุณธนินทร์เป็นนักบริหารที่มีมันสมองเป็นเลิศ คิดงานเร็วและก็คิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นคนก้าวหน้าในเชิงธุรกิจคิดการณ์ไกล ใช้คนมากมาย" สุนทรพูดถึงธนินทร์ในขณะที่พูดถึงดำหริว่าเป็นคน คอนเซอร์เวทีพ ทำงานด้วยตัวเองทุกอย่าง ชอบเก็บตัวไม่ออก สังคมซึ่งเป็นคนละอย่าง กับธนินทร์ แต่โชคดีที่ได้คนดี ๆ อยู่ข้าง ๆ

กลับมาที่ โยธินอีกครั้งหนึ่งเพราะเป็นจุดต่อที่สำคัญที่สุนทรเข้ามานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามนำโชค

โยธินซื้อบริษัทสยามนำโชคจากชวนเพื่อทำโครงการรัชดาสแควร์แต่ปรากฏว่าดำเนินการยังไม่เท่าไหร่ เกิดปัญหาเรื่องเงินทุนขึ้นมาก่อน เพราะเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่และราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนั้น ด้านการขายก็มีปัญหา

สุนทรได้เข้ามาในจังหวะนี้พอดี

สุนทรได้ชวน ธนินทร์ เจียรวนนท์ เข้ามาซื้อบริษัทสยามนำโชคเมื่อปี 2532 ไปกว่า 70% (รวมทั้งส่วนของสุนทรซื้อเองด้วย) เป็นเงิน 350 ล้านบาท พร้อมกับรับภาระหนี้ได้อีกด้วย 120 ล้านบาท การชำระเงินที่ซื้อมาส่วนหนึ่งเป็นการโอนที่ดินบริเวณฝั่งตรงข้ามเป็นการแลกเปลี่ยนโดยตีมูลค่า 200 ล้านบาท

ตามแผนของสุนทรในการเข้ามาแก้ไขปัญหาการเงินของสยามนำโชค ก็คือต้องนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนเพื่อระดมเงินจากตลาดหลักทรัพย์ สุนทรจึงถูกกำหนดตัวให้เป็นกรรมการผู้จัดการ เพราะมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้มากและเป็นผู้ทำแผนเอง

สุนทรจัดการนำบริษัทสยามนำโชคเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จในต้นปี 2532 โดยการแปลงมูลค่าหุ้นจาก 100 บาทเป็นหุ้นละ 10 บาท แล้วจัดการเพิ่มทุนจาก 100 ล้านบาทเป็น 450 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 350 ล้านบาท ขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในราคาพาร์หุ้นละ 10 ตามสัดส่วน 1 หุ้นเก่าต่อ 3 หุ้นใหม่หรือประมาณ 30 ล้านหุ้น ส่วนที่เหลือ 5 ล้านหุ้นขายให้แก่ประชาชนทั่วไปในอัตราราคาหุ้นละ 45 บาท เป็นเงินส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่เข้าบริษัทล้วน ๆ จำนวน 175 ล้านบาท

เพียงแค่นี้กลุ่มซีพีกับยูนิเวสท์ก็ได้ทุนคืนไปแล้วเรียบร้อย ยังไม่รวมส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่แต่ละคนถือไว้อยู่ในมืออีกต่างหากซึ่งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,050 ล้าน บาท

ว่ากันว่าเฉพาะตัวสุนทรนั้นได้ไปไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ยังไม่รวมราคาหุ้นใน ตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้ราคาตกหุ้นละ 116 บาท (21 มิถุนายน 2534) และเคยขึ้นไปสูง สุดถึงหุ้นละ 262 บาทมาแล้วครั้งหนึ่ง

ในด้านการตลาด สุนทรได้ใช้สายสัมพันธ์ผ่าน ทางซีพีดึงกลุ่มเยาฮันซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นและมีสาขาอยู่ทั่วโลกถึง 116 แห่ง เข้ามาร่วมทุนและเช่าพื้นที่ในโครงการเกือบทั้งหมด

โครงการรัชดาสแควร์ซึ่งมาเป็นฟอร์จูนสแควร์นั้นประกอบไปด้วย 4 ส่วนใหญ่ ๆ คือส่วนของห้าง สรรพสินค้าจำนวน 5 ชั้นมีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 44,676 ตารางเมตร ซึ่งได้ให้บริษัทไทยเยาฮันอันเป็นบริษัทที่ร่วม ทุนกันอีกชั้นหนึ่งระหว่างกลุ่มเยาฮันญี่ปุ่นกับผู้บริหารสยามนำโชคเช่าไปเป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นเงินค่าเช่ารวมทั้งสิ้น 760 ล้านบาท โดยทยอยลงบัญชีรายได้รับเป็นรายปี

ส่วนที่ 2 เป็นชอปปิ้งพลาซ่าจำนวน 4 ชั้นรวมพื้นที่ทั้งสิ้น 27,866 ตารางเมตรโดยมอบให้บริษัทยักษ์ใหญ่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของโลกจอห์นแลงวูทตันสาขาสิงคโปร์เป็นตัวแทนจำหน่าย

ส่วนที่ 3 เป็นอาคารสำนักงานฟอร์จูนทาวเวอร์จำนวน 30 ชั้นรวมพื้นที่ทั้งสิ้น 37,193 ตารางเมตรมอบให้จอยสแลง เป็นผู้แทนจำหน่ายเช่นกัน ส่วนที่ 4 เป็นอาคารโรงแรมจำนวน 25 ชั้นขนาด 429 ห้องพักมีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 33,140 ตารางเมตร มอบให้บริษํทพาเลชวิวโฮเต็ล เมนเนจเมนทส์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกันระหว่างกลุ่มพาเลชวิวกับผู้บริหารสยามนำโชคเป็นผู้บริหารโรงแรม

ทั้งนี้มี ธนินทร์ เจียรวนนท์ เป็นประธานกรรมการ และ โยธิน บุญดีเจริญ เป็นประธานกรรมการบริหาร

ภาระของสุนทรในบทบาทนี้ยังไม่จบ ในขณะนี้เขายังมีแผนงานที่จะขยายโครงการออกไปอีกหลายแห่ง เช่น โครงการสยาม มีมี ซึ่งจะทำเป็นอฟาร์มเม้นท์ ชั้นดีและสำนักงานให้เช่าบนถนนรัชดา โครงการฟอร์จูนทาวเวอร์บนถนนชิดลม และโครงการฟอร์จูนซิตี้บางปู

ที่แน่นอนกว่านั้นสุนทรจะนำบริษัทในเครืออย่างไทยเยาฮันและพาเลชวิวโฮเต็ลเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเร็ว ๆ นี้

ถ้าไม่สะดุดเสียก่อนสุนทรก็คงจะต้องรวยไปอีกเยอะ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.