ดาวเทียมชินวัตร : ต้องเสียก่อนจึงจะได้

โดย ขุนทอง ลอเสรีวนิช
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ในที่สุดความหวังที่ประเทศไทยจะมีดาวเทียมเป็นของตัวเองก็เป็นความจริงขึ้นมา นับเป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานโครงการแรกที่ลงทุนและดำเนินการโดยภาคเอกชน และเป็นโครงการแรกอีกเช่นกันที่คลอดออกมาอย่างไม่ยากเย็นนักในยุค รสช. ทักษิณ ชินวัตร ให้ทุกอย่างที่รัฐบาลต้องการเพื่อขอให้ได้เป็นเจ้าของสัมปทานเท่านั้น ทำไม ???.......

ในขณะที่โครงการโทรศัพท์สามล้านเลขหมายของซีพีถูกตรวจสอบอย่างหนักจาก นุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจนถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ต้องกระโดดลงมาเล่นเองเช่นเดียวกับ "เถ้าแก่" ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพีที่ไม่เคยต้องลงทุนมานั่งเจรจามาราธอนถึงหกรอบแบบนี้ ก่อนที่จะลงเอยแบบพบกันครึ่งทาง

โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศของกระทรวงคมนาคมเหมือนกันซึ่งทีแรกมีทีท่าว่าจะต้องสู้กันอย่างยืดเยื้อระหว่างค่ายชินวัตรกับวาเคไทยของ คีรี กาญจนพาสน์ ที่ฟาดฟันกันมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนยึดอำนาจ พอถึงโค้งสุดท้ายชัยชนะกลับตกเป็นของบุรุษผู้มากับคลื่นลูกที่สามอย่าง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แบบม้วนเดียวจบ ไม่ต้องเหนื่อยยากแสนสาหัสเหมือนโครงการสามล้านเลขหมาย

ทั้งสองโครงการนี้มีความแตกต่างกันอยู่ซึ่งมีผลต่อความยากง่ายของการเจรจาต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นขนาดของโครงการ โครงการสามล้านเลขหมายนั้นมีมูลค่าหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นล้านบาท เป็นโครงการใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากโครงการอุโมงค์ลอดช่องแคบอังกฤษเชื่อมระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศษเท่านั้น ในขณะที่โครงการดาวเทียมมีมูลค่า 4.500 ล้านบาท เล็กกว่าโครงการเรียลเอสเตทหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพฯ เสียอีก

แม้กระทั่งลักษณะของโครงการสามล้านเลขหมายที่ต้องเกี่ยวพันกับผู้ใช้บริการทั้งประเทศ แต่ผู้ใช้บริการดาวเทียมคือหน่วยราชการและธุรกิจเอกชนที่มีศักยภาพในการต่อรองด้วยตัวเองในระดับหนึ่งการพิจารณาในประเด็น "การผูกขาด" จึงมีความเคร่งครัดแตกต่างกัน

ปัจจัยความแตกต่างที่สำคัญที่สุดของสองโครงการนี้คือ ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน โครงการโทรศัพท์สามล้านเลขหมายมีผลตอบแทนโดยตรงจากค่าบริการการใช้โทรศัพท์ ขนาดของธุรกิจ อัตราค่าบริการ ระยะเวลาสัมปทานและผลประโยชน์ที่ให้กับรัฐจึงเป็นเรื่องที่ซีพีต้องต่อรองจนถึงที่สุด

แต่ผลตอบแทนโดยตรงจากการลงทุนในโครงการดาวเทียมนั้นไม่มีความหมายอะไร เพราะทำได้แค่คุ้มทุนก็นับว่าเก่งแล้ว ผลประโยชน์ต่อเนื่องจากดาวเทียมซึ่งปลอดจากภาระข้อผูกพันที่มีต่อรัฐต่างหากที่มีมูลค่ามหาศาล กลุ่มชินวัตรมีธุรกิจที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์นี้รองรับอยู่อย่างพร้อมมูลทั้งที่มีอยู่แล้วในตอนนี้ และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ยุทธวิธีของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการเจรจาต่อรองในโครงการดาวเทียมนี้จึงเป็นไปอย่างยืดหยุ่น ยินยอมโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลทุกประการ

เรียกว่า เป็นโครงการที่พี่มีแต่ให้ เพราะพี่รู้อยู่เต็มอกว่าให้ไปแล้วพี่จะไก้อะไรกลับมาบ้าง

"ผมเองเป็นคนธาตุดินไม่ถูกกับน้ำ แต่เป็นคนถูกกับฟ้า ดังนั้นจะต้องสมหวังในโครงการดาวเทียม" ทักษิณเคยพูดกับสื่อมวลชนฉบับหนึ่งไว้อย่างนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2533 ก่อนที่จะรู้ผลแน่นอนว่าใครจะได้ชัยชนะ ระหว่างผู้เข้าชิงสามกลุ่มคือ ชินวัตร ไทยแสท และวาเคไทย

ความเชื่อมั่นของเขาอาจจะเกิดจากความมั่นใจในสายสัมพันธ์ที่หว่านไปทั่วอันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอาณาจักรธุรกิจโทรคมนาคมของเขา

แต่นั่นเป็นดรื่องเมื่อสี่ห้าปีที่แล้วตอนที่เขาเริ่มรุกเข้ามาในธุรกิจนี้ใหม่ ๆ มาถึงปัจจุบันทักษิณคือผู้ที่ช่ำชองที่สุดในธุรกิจนี้รู้ว่าพัฒนาการทางด้านนี้จะไปในทิศทางไหน และรู้ว่าจะต้องยอมเสียบ้างเพื่อแลกกับผลประโยชน์ก้อนใหญ่กว่าที่จะตามมา

แม้ว่า มนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลชาติชายจะเซ็นคำสั่งทิ้งทวนก่อนที่รัฐบาลจะลาออกเพียงวันเดียวเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2534 ให้กลุ่มชินวัตรเป็นผูได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียม

แต่เรื่องยังไม่จบง่าย ๆ เมื่อผู้พลาดหวังอย่างวาเคไทยทำหนังสือประท้วงขอความเป็นธรรมต่อรัฐบาลใหม่ที่มีสมัคร สุนทรเวช มานั่งกระทรวงคมนาคมแทน

จนกระทั่งหลังการยึดอำนาจของ รสช.มีการหยิบโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับอนุมัติไปแล้วในรัฐบาลก่อนขึ้นมาทบทวนใหม่ สงครามทั้งปิดลับและเปิดเผยระหว่างชินวัตรกับวาเคไทยก็ยิ่งทวีความดุเดือดแหลมคมขึ้นทุกที

เมื่อเจอกับการตั้งป้อมสู้อย่างเหนียวแน่นของวาเคไทย ทักษิณ ชินวัตร ก็จำต้องใช้วิธียืดหยุ่นปรับตัวตามสถานการณ์ทั้งยินยอมและให้ผลประโยชน์เพิ่มแก่รัฐบาล และเพิ่มเติมเงื่อนไขนอกเหนือจากที่ได้ระบุเอาไว้ใน TOR ตั้งแต่แรก เพื่อเอาโครงการนี้มาไว้ในกำมือให้ได้

จากเดิมที่เคยเสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐตลอดอายุสัมปทาน 30 ปีเป็นเงิน 1.300 ล้านบาท รวมทั้งการยกช่องสัญญาณดาวเทียมให้ทางราชการใช้ฟรี 1 ช่องหลังจากที่ทางวาเคไทยเกทับด้วยข้อเสนอนี้ก่อน

นอกจากนั้น ยังยินยอมในเงื่อนไขเพิ่มเติมคือจะต้องยิงดาวเทียมสำรองทันทีที่ยิงดาวเทียมดวงแรกขึ้นไปในวงโคจรแล้ว และจะต้องยิงภายใน 1 ปี ในกรณีที่ดาวเทียมใกล้จะหมดอายุใช้งานแต่ยังคงใช้งานต่อไปได้ ทางชินวัตรจะต้องลดเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมแก่ผู้ใช้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามหลักสากล และบริษัทแม่คือชินวัตร คอมพิวเตอร์จะต้องเป็นผู้เซ็นสัญญากับกระทรวงคมนาคมหรือหากจะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท และชินวัตรคอมพิวเตอร์ต้องเข้าไปถือหุ้นอย่างน้อย 51 % เพื่อเป็นพันธกรณีที่จะต้องลงทุนเองกับโครงการนี้อย่างจริงจัง

ข้อต่อรองสำคัญซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านเศรษฐกิจตั้งไว้เป็นด่านสุดท้ายคือการคุ้มครองการลงทุนตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่ายาวเกินไปจนจะกลายเป็นคนผูกขาดจึงขอให้ลดระยะเวลาในการคุ้มครองลงมา

ครั้งแรกทักษิณยอมลดอายุการคุ้มครองลงมาเหลือ 15 ปี แต่คณะกรรมการกลั่นกรองมีความเห็นว่าไม่ควรนานเกิน 8 ปี ซึ่งในที่สุดทักษิณก็ยอมตามเงื่อนไขนี้ เพียงแต่ขอให้เริ่มนับจากวันที่ยิงดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศแล้ว "เรายอมลดเงื่อนไขลงตามที่คณะกรรมการเสนอมา แต่ขอจากวันเซ็นสัญญาเป็นวันที่เริ่มใช้ดาวเทียม แต่ถ้าไม่ให้ก็ไม่ว่า เราพร้อมที่จะทำไปอยู่แล้ว เรื่องจะได้จบเสียที" เขากล่าวอย่างเหนื่อยหน่ายต่อความยืดเยื้อของการต่อรองนี้

วันที่ 4 มิถุนายน 2534 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์เป็นผู้รับสัมปทานดาวเทียมเป็นระยะเวลา 30 ปี และจะได้รับการคุ้มครองเป็นระยะเวลา 8 ปี โดยรัฐบาลจะห้ามไม่ให้เอกชนรายอื่นเข้ามาลงทุนในโครงการนี้แข่งกับชินวัตรในช่วง 8 ปีนี้

สำหรับการเริ่มนับอายุการคุ้มครอง 8 ปี ความเห็นอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมการที่กระทรวงคมนาคมตั้งขึ้นมาทำงานร่างสัญญาให้เริ่มนับตั้งแต่วันเซ็นสัญญาเลย ซึ่งเท่ากับว่าเมื่อหักเวลาในการเตรียมส่งดาวเทียม 2 ปีแล้ว ชินวัตรจะได้รับการคุ้มครองจริง ๆ เพียง 6 ปีเท่านั้น

ปัจจุบันหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนในประเทศไทยเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมปาลาปา อินเทลแซท และเอเชียแซทรวมกัน 9.05 ทรานสปอนเดอร์ และมีแนวโน้มที่จะขอเพิ่มช่องสัญญาณเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 ทรานสปอนเดอร์ภายหลังจากหมดสัญญาเช่า ซึ่งส่วนใหญ่สัญญาเช่าจะหมดอายุในปี 2536

เงื่อนเวลาตรงนี้เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ชินวัตรยอมรับเงื่อนไขของรัฐบาลทุกอย่าง เพื่อจะรีบเร่งส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรอยู่ในห้วงอวกาศให้ได้ภายในปี 2536

ถ้าช้ากว่านั้นแล้วก็จะต้องรอให้สัญญาเช่าดาวเทียมฉบับใหม่หมดอายุก่อนซึ่งปกติแล้วอายุสัญญาการเช่าดาวเทียมจะทำกันประมาณ 5 ปี ขณะที่อายุการคุ้มครองมีเพียงแค่ 6 ปีนับจากวันส่งดาวเทียม

แม้ว่าความต้องการการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในระยะสองสามปีข้างหน้าจนไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องจำนวนผู้ใช้ แต่ถ้าส่งขึ้นไปได้ภายในสองปีนี้ก็จะได้กลุ่มผู้ใช้ในปัจจุบันนี้โดยอัตโนมัติ ส่วนความต้องการที่เพิ่มขึ้นมาก็ให้ไปใช้ช่องสัญญาณของดาวเทียมสำรอง เป็นการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น

ประเด็นเรื่องการแข่งขันจากผู้ลงทุนรายอื่นในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีความหมายเลย เพราะคงหาผู้ที่จะเข้ามาลงทุนแข่งขันได้ยาก

"การลงทุนในโครงการดาวเทียมเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้ม ไม่มีใครเข้ามาแข่งหรอก" ผู้บริหารระดับสูงจากกรมไปรษณีย์โทรเลขกล่าว

การคุ้มครองการลงทุนของชินวัตรเพียงแค่ 8 ปีจึงไม่มีความหมายเท่าไรนักต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแข่งขันหลังจากพ้นระยะเวลาคุ้มครองไปแล้ว

ดาวเทียมที่ชินวัตรจะส่งขึ้นไปนั้นมีช่องสัญญาณ 12 ช่อง ราคาค่าเช่าช่องสัญญาณตามมาตรฐานตลาดโลกประมาณ 1.5 ล้านเหรียญต่อหนึ่งช่องสัญญาณต่อปี อายุการใช้งานของดาวเทียมประมาณ 10 ปี

ภายใน 10 ปีนี้ ชินวัตรจะมีรายได้จากการให้เช่าช่องสัญญาณเป็นเงิน 180 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 4.500 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลตอบแทนแค่เสมอตัว เพราะมูลค่าการลงทุนในโครงการนี้ทั้งหมดคือ 4.500 ล้านบาทเช่นกัน

นอกจากนี้ชินวัตรยังมีข้อผูกมัดที่จะต้องจ่ายผลประโยชน์ให้ดับรัฐเป็นเปอร์เซนต์ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแต่เมื่อรวมผลประโยชน์ตอบแทนรวมกัน 30 ปีจะต้องไม่ต่ำกว่า 1.400 ล้านบาท เรื่องจะมีกำไรจากการลงทุนนั้นจึงอย่าหวัง

สิ่งที่ชินวัตรจะทำได้ดีที่สุดคือควักเนื้อให้น้อยที่สุดโดยอาศัยค่าเช่าจากช่องสัญญาณของดาวเทียมสำรองมาจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐ

ผลตอบแทนที่ไม่มีวันจะคุ้มกับการลงทุนเช่นนี้เป็นเสมือนปราการสกัดคู่แข่งไปในตัว ทำให้ทักษิณยอมรับเงื่อนไขการลดอายุคุ้มครองเหลือเพียง 8 ปีได้อย่างไม่ต้องคิดมากเพราะว่าผลประโยชน์ที่เขาหวังจะได้จากดาวเทียมนั้นไม่ใช่ค่าเช่าช่องสัญญาร

แต่เป็นธุรกิจโทรคมนาคมของเขาที่จำเป็นต้องใช้ดาวเทียมเป็นสื่อ

ความได้เปรียบของทักษิณที่ทำให้เขาตัดสินใจลงทุนในโครงการดาวเทียมได้ง่ายกว่าคนอื่นคือมีธุรกิจทางด้านโทรคมนาคมรองรับอยู่แล้ว

ธุรกิจที่อยู่ในลักษณะสัมปทานจากทางการของเขาในขณะนี้ได้แก่ โครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูลาร์ 900 ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งดำเนินการในนามบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ระบบวิทยุติดตามตัว "โฟนลิงค์" ในนามบริษัทชินวัตรเพจจิ้ง จำกัด ระบบโทรศัพท์แบบพกพาโฟนพ้อยด์ ซึ่งเป็นโทรศัพท์ชนิดเรียกออกได้ทางเดียวในรัศมีประมาณ 100-200 เมตรจากสถานีรับสัญญาณ ระบบดาต้าเน็ท ซึ่งเป็นระบบส่ง-รับสัญญาณเสียงและข้อมูลตามสายโทรศัพท์ และไอบีซีธุรกิจเคเบิ้ลทีวี

ระบบสื่อสารเหล่านี้ ใช้คลื่นความถี่วิทยุ สายโทรศัพท์ และคลื่นไมโครเวฟเป็นพาหะในการส่งผ่านข้อมูลที่เป็นทั้งตัวอักษร เสียงและภาพ ข้อจำกัดของพาหะแบบนี้คือ ไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลได้ และบางทีก็ไม่อาจทะลุทะลวงตึกสูง ๆ ที่กั้นกลางอยู่ได้

ขีดจำกัดเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการขยายบริการเข้าไปในตลาดภูมิภาค เว้นเสียแต่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างสถานีย่อยในจุดต่างๆ ๆเพื่อรับการส่งสัญญากันเป็นทอดๆ ซึ่งต้องใช้เวลานาน

สัญญาณผ่านดาวเทียม คือพาหะตัวใหม่ที่สามารถ ขยายรัศมีการส่งสัญญาณของระบบสื่อสารเหล่านี้ ได้อย่าไม่มีขีดจำกัด เป็นการขยายตลาดได้ในเวลาสั้น และลงทุนไม่มาก

ทั้งระบบเซลลูลาร์ 900 โฟนลิ้ค์ และเคเบิ้ลทีวี เป็นระกิจของชินวัตรที่มีคูแข่งขัน ดาวเทียมจะเป็นอาวุสำคัญของชินวัตรในการแข่งขันกับคู่แข่งไม่ว่าจะเป็น ระบบ เซลลูลาร์ 800 ในเรื่องของโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพจจิ้งกับเพจโฟน รวมทั้งไทยสกายทีวีโดยอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

แม้ว่าสัญญาที่จะทำกับกระทรวงคมนาคมจะต้องมีเงือนไขคับ ให้ชินวัตรได้อย่างเสมอภาค กับผู้ขอใช้บริการทุกราย แต่ในฐานะเจ้าของดาวเทียมทักษิณย่อมมสีโอกาสในการใช้เทคนิค เพื่อแตะถ่วงการเปิดระบบบริการผ่านสื่อสารดาวเทียมให้คู่แข่งหรือแม้กระทั่งการตั้งราคาที่จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจของตน

ผลประโยชน์จากธุรกิจเหล่านี้ จะเพิ่มหากใช้ชื่อดาวเทียมคือสิ่งที่เรายอมทำตามเงือนไขทุกประการ ดาวเทียมไม่ใช่เพียงแต่เป็นตัวที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจโทรคมานคมใหม่ๆ ด้วย ธุรกิจนี้มีอัตราการเจริญเติมโตที่รวดเร็วมาก ในขณะเดียวกันก็มีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นกัน ความอยู่รอดของธุรกิจนี้ก็คือ ต้องพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
ไม่มีใครรู้ว่าทักษิณกำลังคิดโครงการอะไรอยู่ แต่เชื่อว่าเขาคงพอใจเพียงแค่มีดาวเทียมสำหรับขยายธุรกิจที่มีอยู่แล้วเท่านั้น

ดาวเทียมทำให้เขาสร้างโครงการใหม่ๆ ได้งานขึ้น เท่าที่เห็นกันอยู่ตอนนี้คือ การขอสัมปทานบริการโทรศัพย์รระหว่างประเทศของการสื่อสารแห่งประเทศไทย มีรายได้จากบริการนี้ถึง 8, 021 ล้านบาทหรือเท่ากับ 80% ของรายได้ทั้งหมดของการสื่อสาร ปลายเดือนมกราคมปีนี้ทักษิณเคยยื่นขออนุญาตให้โทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศในนามบยริษัทยูอาร์อี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งได้รับอนุญาตจากศรีภูมิ สุขเนตร ปลัดกระทรวง โทรคมนาคม ในขณะนี้และเป็นประธานกรรมการกศท. ด้วยแล้ว แต่ก็ถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงานงาน โทรคมนาคม กสท. และเกิดการยึดอำนาจขึ้นเสียก่อน เรื่องตึงเงียบไปชั่วคราว

เมื่อสหภาพแรงงานต้องถูกยุบไปตามคำสั่งของ รสช. และโครงการดาวเทียมที่เป็นตัวกลางที่สำคัญ ในการบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศก็อยู่ในมือแล้ว ทักษิณคงจะต้องรื้นฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่อย่างแน่นอน จะเป็นเมื่อไหร่เท่านั้น

โครงการดีพีแซด หรือเขตประมวลข้อมูลและบริการสารสนเทศที่เริ่มขึ้นมาโดยรัฐบาลชาติชาย ตั้งแต่ปี 2532 และขณะนี้ผลการศึกษาความเป็นไปได้ ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว น่าที่จะเป็นหนึ่งอีกเป้าหมายหนึ่งของทักษิณ

หัวใจสำคัญของดีพีแซดข้อหนึ่ง คือ ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สำหรับรับและกระจายข้อมูล ระหว่างประเทศและภายในประเทศ ข้อนี้จำกัดในเรื่องการสื่อสารเรื่องดาวเทียมที่ยังต้องเช่า ประเทศอื่นอยู่ และประสิทธิภาพการบริการโทรศัพท์ ทำให้ความหวังที่จะเกิดดีพีแซลขึ้นดูเลื่อนลอย

แต่เมื่อมีดาวเทียม ปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างดีพีแซลกับโลกภายนอกก็หมดไปทันที จนอย่าหวังวันนี้กลุ่มชินวัตรมีความพร้อมที่สุดที่จะเป็นผู้ลงทุนจัดตั้งเทลเพร์ท ซึ่งเป็นศูนย์กลางการสื่อสารโทรคมนาคมในดีพีแซดที่จะหน้าที่ประมวลและบริการขนส่ง สินค้าที่เป็นข้อมูลข่าวสารโดยผ่านทางสัญญาณดาวเทียม ระบบข่ายสายใยแก้ว และการสื่อสารเรื่องระบบไม่โคเวฟ

ทักษิณเคยพูดไว้ว่า "เราเข้าใจธุรกิจโทรคมมาคม อย่างลึกซึ้ง เข้าใจว่าจะใช้เทคโนโลยี่อย่างไรถ้ามีการประมูลอะไรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคมเราพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลหมด"

โครงการดาวเทียมเป็นอาวุธที่ทำให้เขาเป็นสุดยอด แห่งวงการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยไปแล้ว คำพูดข้างต้นไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอยแน่นอน ก้าวย่างของเขาต่อจากนี้ไปเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง และแยกไม่ออกจากอนาคตอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย

ธุรกิจ โทรคมนาคมมีความเติบโตเร็วมากและให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงเหมือนกัน การขยายอาณาจักรโทรคมนาคม ของทักษิณจึงต้องมีอาณาจักรที่กว้างขวางกว่าการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์หรือพึ่งเงินกู้จากตลบาดภายในประเทศ

โครงการดาวเทียมนอกจากที่จะทำให้ชินวัตรก้าวขึ้นมา เป็นผู้นำทางธุรกิจโทรคมนาคมแบบครบวงจรแล้ว ยั่งเป็นเสมือนกระดานหักส่งให้กลุ่มชินวัตรเข้าไปยื่นอยู่ภายในตลาดการเงินระหว่างประเทศได้อย่างเต็มตัว เพราะสถานะการเป็นเจ้าของโครงการดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของประเทศไทยนั้น ย่อมมีภาพพจน์ เกียรติภูมิมากกว่าเจ้าของโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเจ้าของกิจการเคเบิ้ล ทีวี อย่างแน่นอน

โครงการดาวเทียมต้องใช่เงินลงทุนทั่งสิ้น 4.500 ล้านบาท ใช่เงินสองแหล่งด้วยกันคือ การเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 400 ล้านบาทเป็น 1,000 ล้านบาท และออกหุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นหุ้นสามัญอีกจำนวน 1000 ล้านบาท

ในส่วนของเงินกู้มีจำนวน 3,400 ล้านบาท สำหรับค่าดาวเทียมและจรวจ ชินวัตร ซื้อดาวเทียม 2 ดวง พร้อมระบบควบคุมดาวเทียมภาคพื้นดินและอุปกรณ์จากบริษัทฮิวส์ คอมมิวนิเคชั่น มูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท โยได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าจากสหรัฐเอริกา 85% หรือ 1,275 ล้านบาทเป็นเวลา 10 เช่นเดียวกัน

สำหรับจรวดใช้ของบริษัทแอเรียน สเปส แห่ง ฝรั่งเศสราคา 1,500 ล้านบาท ใช้เงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าออกฝรั่งเศส 85 % หรือ 1,275 ล้านบาทเป็นเวลา 10 เช่นเดียวกัน

โครงการดาวเทียมจึงเป็นจุดเริ่มต้น อย่างเป็นทางการของชินวัตร ที่จะเชื่อมเข้ากับตลาดเงินของโลกเพื่อแสวงหาแหล่งเงินทุนสำหรับ โครงการอื่นๆ ในอนาคต "ต้นทุนการเงินเป็นหัวใจสำคัญของบริษัทในไทยที่จะออกไปแข่งกับบริษัทอื่นๆ ได้ เราต้องการแหล่งเงินที่ถูกที่สุดในโลกมาใช้ ไม่เช่นนั้นเราจะสู้กับประเทศอื่นไม่ได้" ดร. ทะนง พิทยะ รองกรรมการผู้อำนวยการ อาวุธฝ่ายการเงินของกลุ่มชินวัตรกล่าว

จากนี้ไป จึงเป็นห้วงเวลาที่ชินวัตรที่จะสร้างสายสำพันธ์ กับตลาดการเงินที่สำคัญๆ ทั่วโลกเพื่อเป็น "กำลังภายใน" ในการขยายอาณาจักรธุรกิจโทรคมนาคมในระดับสากลต่อไป

"เราเริ่มวางแผนที่จะไปสู่ตลาดเงินวอลสตรีท" ก้าวแรกของแผนการตามที่ทนงพูดถึงการเตรียมออก ADR - (AMERICAN DEPOSITORY) ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งคลายกับหุ้นผู้ถือไม่มีสิทธิออกเสียงแต่สามารถนำไปซื้อขาย เปลี่ยนมือได้ในตลาด OVER THE COUNTER (OTC) "เพื่อที่จะให้บริษัทเข้าไปเป็นที่รู้จักกลุ่มโบรคเกอร์ในวอลสสตรีท และผู้ลงทุนรายย่อยสหรัฐฯ เพื่อเตรียมตัวที่จะทำโปรแกรมทางการเงินในด้านอื่นๆ ด้วย " ทนงพูดถึงแผนการระดมทุนของชินวัตรในตลาดทุนวอลสตรีท

นอกจากที่เข้าไปวอลสตรีทแล้วชินวัตรยังวางแผนที่จะตั้งสำนักงานในฮ่องกงและสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดเงินที่ใหญ่ของโลก เช่นเดียวกันเพื่อเป็นแขนขาในการติดต่อกับสถาบันการเงินในสองตลาดนี้

"ถ้ากฎหมายและกรรมวิธีที่เอื้อนวยมากขึ้นเราจะออกตราสารหนี้บริษัทสกุลยูโรบอนด์ในยุโรป" ทนงพูดถึงข้อต่ออีกอันหนึ่งของสายสัมพันธ์กับตลาดการเงินระดับโลก

ทักษิณ ลาออกจากการเป็นตำรวจเมื่อปี 2530 เพื่อมาทำธุรกิจคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมอย่างจริงจัง ชั่วเวลาเพียงสองปีเขขาสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ทางด้านธุรกิจการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่บุกเบิกเปิดโลกธุรกิจโทรคมนาคม ขึ้นมาในประเทศไทยเป็นคนแรก

จากธุรกิจที่ใช้คลื่นความถี่เป็นปัจจัยในการแสวงหารายได้ วันนี้เขายกระดับไปเล่นกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มากับสัญญาณดาวเทียมซึ่งเป็นเทคโนโลยี่การสื่อสารที่ก้าวหน้าที่สุด พ.ต.ท.ดร.ทักษิณชินวัตร กำลังที่จะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของธุรกิจโทรคมนาคม ของไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.