Siam@Siam โรงแรมแรกแห่ง "พรประภา"

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายคนคงนึกภาพไม่ออกว่า เมื่อผู้บริหารระดับอาวุโสที่คลุกคลีอยู่ในบริษัทยานยนต์ที่เก่าแก่ติดอันดับของประเทศมานานกว่า 30 ปี อย่าง "พรพินิจ พรประภา" ลุกขึ้นมาทำโรงแรมเองแล้วนั้น หน้าตาของโรงแรมจะเป็นอย่างไร ถ้าอยากรู้ก็ลองตามไปดู กับโรงแรมที่มีชื่อว่า "Siam@Siam"

หากใครเคยใช้เส้นทางถนนพระราม 1 ในยามค่ำคืน คงจะสะดุดตากับรูปปั้นเท้าขนาดยักษ์ที่วางอยู่ด้านหน้าอาคารสูงโดดเด่น ด้วยแสงไฟสีส้มที่สะท้อนกับกระจก ปูนเปลือย และไม้หมอนรถไฟขนาดใหญ่ นั่นคือที่ตั้งของ Siam@Siam Design Hotel & Spa

แสงสีและดนตรีจาก Party House One ห้องอาหารสไตล์โมเดิร์นที่ดูจัดจ้านด้วยเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เก๋ ทั้งโต๊ะเก้าอี้ โซฟา โคมไฟ และบาร์เครื่องดื่มตรงกลางห้อง ยิ่งดึงดูดสายตาของผู้ผ่านไปมาให้ต้องหยุดหันเข้าไปมองดูลีลาสบายๆ ของเหล่าคนเมืองที่ไปนั่ง "ชิลๆ" อยู่ในนั้น

ทว่า ความโดดเด่นของอาคารด้านนอกกลับดูจืดจางลงไปทันที เมื่อได้เข้าไปสัมผัสกับการตกแต่งภายในของโรงแรมแห่งนี้

ตัวตึกของโรงแรมมีทั้งสิ้น 22 ชั้นชั้น 1 เป็นที่ตั้งของห้องอาหาร "Party House One" ส่วนชั้น 2-9 เป็นลานจอดรถ ชั้น 10 เป็นที่ตั้งสปาที่ชื่อว่า "Spa Ten" ชั้น 11 จึงเป็นล็อบบี้ และ "Bar Eleven" ส่วนชั้นที่ 14-24 เป็นชั้นห้องพัก โดยตัดชั้น 12 และ 13 ออกไปตามความเชื่อ

เพราะล็อบบี้ตั้งอยู่บนชั้น 11 จึงทำให้แขกมองเห็นผืนหญ้าสีเขียวของสนามศุภชลาศัยและทิวทัศน์ของอาณาบริเวณย่านนั้น หาก ท้องฟ้าแจ่มใสอาจมองเห็นได้ไกลถึงภูเขาทอง เรื่อยมาถึงพระบรมมหาราชวังได้อีกด้าน กลายเป็นภาพประทับใจเหนือคำ "ยินดีต้อนรับ" ใดๆ

ถัดจากล็อบบี้เป็นสระว่ายน้ำกลางแจ้งที่ดูจะเป็นทั้งจุดชมวิว จุดถ่ายรูป และไฮไลต์ของที่นี่

"สระน้ำในยามโพล้เพล้ พอมีไฟสะท้อนลงไป มันยังกับภาพ ลวงตา เรียกว่าสวยแปลกๆ" สัญญา แสงบุญ ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรม แห่งนี้เล่าถึงหนึ่งในหลายมุมโปรดที่แขกไม่ควรพลาดชม

สัญญามีชั่วโมงบินด้านงานโรงแรม มากว่า 30 ปี ทั้งในกรุงเบอร์ลิน นครนิวยอร์ก และฮาวาย รวมถึงเคยนั่งในตำแหน่ง GM ของโรงแรมโอเชียนมารีน่าที่พัทยามาก่อน และเขายอมรับว่าไม่เคยได้ทำงานในโรงแรมที่มีดีไซน์สูงขนาดนี้มาก่อน

การตกแต่งที่ดูเหมือนจะแฝงปรัชญาชีวิตบางอย่าง ผ่านการโชว์เปลือยให้เห็นถึงความแข็งของเหล็ก ความดิบหยาบของปูน ความอบอุ่นของไม้ แทนที่จะปกปิดไว้ด้วยฝ้าที่ฉาบสีไว้อย่างเรียบร้อย ก่อนจะทับอีกชั้นด้วยวอลล์เปเปอร์สวยงามสะอาดตา เฉกเช่นโรงแรมหรูอื่นๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดขายของที่นี่

แม้จะโดดเด่นด้วยสไตล์ Industrial Unfinished หรือ Loft ที่ดูดิบจากปูนเปลือย ไม้ อิฐ และท่อต่างๆ บนเพดาน แต่ก็ถูกลดทอนความหยาบดังกล่าวลงด้วยอารมณ์ที่ตรงกันข้าม ผ่านการให้รายละเอียดในเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่เกินปกติ และ ของตกแต่งที่ดูราวกับงานจิตรกรรมและประติมากรรม อาจทำให้หลายคนเผลอคิดไปได้ว่าที่นี่เป็นแกลเลอรีแสดงงานศิลปะมากกว่าโรงแรม

ภายในห้องพักทั้ง 203 ห้อง ถูกประดับด้วยภาพประติมากรรมขนาดใหญ่ โดยฝีมือช่างศิลป์ 10 คนเป็นผู้รังสรรค์ให้ texture และสีสันของแต่ละภาพแตกต่างกันไปในแต่ละห้อง โดยอยู่ภายใต้ปรัชญาเดียวกันคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้

นอกจากนี้โคมไฟทรงกลมและทรงเหลี่ยมสีสันสดใส บ้างมีเสาทำจากกิ่งไม้สามง่าม บ้างก็เป็นไม้ท่อนเดียวก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ทำให้คนรักงานศิลป์ชอบใจได้ไม่ยาก สีหลักที่เห็นได้บ่อยในโรงแรมนี้ หรือแม้แต่นามบัตร ของผู้จัดการทั่วไปก็ยังเป็น "สีส้ม" อันเป็นสีที่สื่อถึงความร่าเริงและสนุกสนานอย่างชัดเจน แต่ขณะเดียวกัน ดีไซเนอร์ก็มักใช้สีขั้วตรงข้ามอย่างสีม่วงเข้ามาตกแต่งด้วยเกือบทุกครั้ง

ความเรียบง่ายของโรงแรมที่ถูกตัดด้วยความมาก มายและความประณีตในรายละเอียดต่างๆ หรือแม้แต่การใช้เฉดสีที่ตัดกัน เหล่านี้กลายเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวและขัดแย้งที่ทำให้หลายคนชื่นชอบ โดยระบุไม่ถูกว่าเพราะอะไร เหมือนๆ กับที่บางคนก็บอกไม่ได้ว่า ทำไมถึงไม่ชอบ

"คนชอบความแปลก ชอบงานศิลป์ ชอบสไตล์ที่ไม่เหมือนกับสิ่งทั่วไปที่หาที่ไหนก็ได้ก็น่าจะชอบที่นี่ แต่ที่ผ่านมา ก็มีสถาปนิกบางคนเหมือนกันที่เคยมาที่นี่ แล้วบอกรับไม่ได้"ผู้จัดการทั่วไปเล่าอย่างชอบใจ

สัญญาเล่าย้อนไปกว่า 1 ปีก่อน เมื่อครั้งที่เข้ามารับบรีฟเกี่ยวกับบุคลิกและสไตล์ของโรงแรม พร้อมกับได้เห็น perspective ของโรงแรมเป็นครั้งแรก เขาก็มั่นใจแล้วว่าการทำงาน ในโรงแรมแห่งนี้น่าจะสนุกกว่าที่ไหนๆ เท่าที่เขาเคยมีประสบการณ์มา

การที่บุคลิกของโรงแรมโดดเด่นออกมาได้ สัญญาเชื่อเหลือเกินว่า สาเหตุหลักมาจากเจ้าของโรงแรมพร้อมและกล้าที่จะทำอะไร "เจ็บ" และ "สนุก" แบบนี้

เจ้าของโรงแรมแห่งนี้คือ พรพินิจ พรประภา กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามกลการ หนึ่งในทายาทรุ่น "พร" แห่งตระกูล "พรประภา"

พรพินิจจบการศึกษาด้านท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น และเคยมีประสบ การณ์ด้านการโรงแรมในพัทยามาบ้าง แต่ยังมีอีกสาเหตุที่สำคัญก็คือ เขามีบริษัททัวร์ของตัวเองที่ชื่อ SMI Travel

"ท่านเป็นคนมีอารมณ์ขัน ง่ายๆ และสุภาพ"

สัญญาให้ความเห็นว่า ตัวตนของพรพินิจส่วนนี้อาจไม่ได้สะท้อนอยู่ในบุคลิกของโรงแรม อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เป็น "พรพินิจ" จริงๆ ที่เห็นได้ในโรงแรมนี้ก็คือ ความชื่นชอบในศิลปะและดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร

"ผมอยากสร้างโรงแรมสักแห่งหนึ่งที่มีความแปลก ใหม่ แตกต่างในด้านงานดีไซน์ เป็นตัวของตัวเอง และไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน" พรพินิจเคยกล่าวในวันเปิดตัวโรงแรมแห่งนี้ อันเป็นวันครบรอบวันเกิดของ ดร.ถาวร พรประภา บิดาผู้ล่วงลับ ผู้ก่อตั้งกลุ่มสยามกลการขึ้นราว 55 ปีก่อน

โรงแรมแห่งนี้ใช้เงินลงทุนถึง 600 ล้านบาท ในการเนรมิตพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของมูลนิธิ ดร.ถาวร-อุษา พรประภา ที่ปัจจุบันย้ายไปตั้งอยู่บนชั้น 19 ของอาคารสยามกลการ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวโรงแรม

พรพินิจถือหุ้นอยู่ในโรงแรม 80% พรเทพซึ่งเป็นพี่ชายของเขาและเป็นกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ บริษัท สยามกลการ ถือหุ้นอีก 10% และอีก 10% ที่เหลือถือหุ้นโดย "ตระกูลพรประภา"

พรพินิจเคยออกมาประกาศตัวเองชัดเจนว่า กลุ่มของสยามกลการกำลังจะก้าวเข้าสู่วงการท่องเที่ยวและบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ โดยก่อนหน้านี้สยามกลการก็มีธุรกิจสนามกอล์ฟชื่อ "สยามคันทรีคลับ" ในพัทยา และกำลังจะสร้างสนามกอล์ฟที่ใหญ่ที่สุดในเขตเมืองพัทยาอีกแห่ง

สนนราคาห้องพักเริ่มต้นที่ 4,200 บาทไปจนถึง 6,400 บาท หวังกลุ่มลูกค้าจากยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐฯ โดยตั้งเป้า รายได้ปีแรกอยู่ 180 ล้านบาท และมีอัตรายอดจองห้องพัก 55%

แม้ทุกวันนี้ พรพินิจจะไม่ได้ลงมาดูแลกิจการของโรงแรมอย่างเต็มตัว แต่การทุ่มเท อย่างหนักก่อนที่โรงแรมจะเปิด และการมีส่วนร่วมสูงในทุกรายละเอียดดีไซน์ของโรงแรม ก็แสดงให้เห็นชัดว่า โรงแรมแห่งแรกของตระกูลนี้เป็นอีกสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.