|
แบงก์แข่งกระตุ้นยอดสินเชื่อบ้านธอส.ใจป้ำเสนอดอกเบี้ยคงที่3ปี4.99%
ผู้จัดการรายวัน(26 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดอสังหาฯครึ่งปีหลังคึก แบงก์โหมแคมเปญปล่อยกู้ซื้อบ้าน หวังกระตุ้นยอดช่วงโค้งสุดท้ายของดอกเบี้ยขาลง ธอส.นำทีมเปิดตัวสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี ร้อยละ 4.99 ขณะที่กรุงไทย เสนอโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำพิเศษให้กับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ มั่นใจสิ้นปีสินเชื่อที่อยู่อาศัยโตตามเป้า
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวว่ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นัดถัดไปเชื่อว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยอาร์พีลงอีก 1 ครั้งที่ 0.25% ขณะที่ในส่วนของธนาคารได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี 4.99% สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท และอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี 5.50% สำหรับวงเงินกู้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป โดยเตรียมวงเงินสำหรับสินเชื่อประเภทดังกล่าว 20,000 ล้านบาท โดยจะพร้อมให้บริการลูกค้าที่ทำนิติกรรมวันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าภายใน 3 เดือน จะสามารถปล่อยกู้ได้หมด เนื่องจากขณะนี้ธนาคารกำลังเสนอกระทรวงการคลังอนุมัติการหาแหล่งเงินทุน คาดว่าน่าจะใช้วิธีออกพันธบัตร โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน
"สาเหตุที่ธนาคารเสนอแพ็กเก็จอัตราดอกเบี้ยนี้ขึ้นมาเนื่องจากว่าการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้มียอดเพิ่มเท่าที่ควรแต่ก็ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันอยากช่วยกระตุ้นภาคอสังหาให้มีทิศทางที่ขยายตัวมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อให้สอดคล้องกับนโนบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง” นายขรรค์ กล่าว
ขณะเดียวกันธนาคารยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทลอยตัวพิเศษลงอีก 0.25% จากเดิมปีที่ 1 MRR-1.50% เป็น MRR-1.75% ปีที่ 2 MRR-1.25% เป็นMRR-1.50 และปีที่ 3 MRR-1.00 เป็นMRR-1.25% โดยในส่วนของลูกค้าเก่าหากต้องการจะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเรตใหม่จะต้องแจ้งเปลี่ยนโดยเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของวงเงินสินเชื่อ
สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึงวันที่ 22 มิ.ย. ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 42,552 ล้านบาท โดยคาดว่าในสิ้นปีจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 95,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเชื่อว่าจะสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาธนาคารสามารถทำกำไรได้ 68 ล้านบาท เดือน ก.พ. 69 ล้านบาทเดือนมี.ค. 210 ล้าน เดือนเม.ย. 190 ล้านบาท และเดือนพ.ค. 235 ล้านบาท ซึ่งในสิ้นปีเชื่อว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไปอีก เนื่องจากดอกเบี้ยรับปรับตัวดีขึ้นและดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวลดลง แม้ว่าจะต้องตั้งสำรอง IAS 39 ตามเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด แต่ธนาคารจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2551 แม้จะได้รับการยืดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2552 ก็ตาม
นอกจากนี้ ธนาคารมียอดคงค้างสินเชื่อรวมประมาณ 600,000 ล้านบาท โดยมีหนี้เสียอยู่ที่ 5.81% โดยยอมรับว่า ในช่วงเปิดเทอมมียอดหนี้เสียเพิ่มขึ้นบ้าง เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนหนึ่งมีภาระต้องจ่ายค่าเทอม ซึ่งเป็นเช่นนี้ทุกปี แต่หลังจากนั้นจะเริ่มนำเงินมาชำระหนี้ ขณะเดียวกัน จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มีโรงงานในแถบชลบุรีบางแห่งปิดกิจการ บางแห่งก็ให้พนักงานทำงานน้อยลง กระทบค่าจ้าง ก็อาจมีผลต่อหนี้เสียบ้าง ซึ่งธนาคารก็พยายามให้ลูกค้าเร่งติดต่อกับธนาคาร เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป
ด้านนายธีรินทร์ เต่าทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงไทยกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารในครึ่งปีหลังว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อเพิ่มไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16%จากยอดสินเชื่อในปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 113,000 ล้านบาท และสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่ครองอันดับ 2 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ยอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารในครึ่งปีมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าสิ้นเดือนมิถุนายนนี้จะมียอดสินเชื่อใหม่ไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยครึ่งปีแรกอยู่ที่ 122,000 ล้านบาท
"ที่ผ่านมาธนาคารทำการตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและช่วยให้ประชาชนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น เช่น คิดดอกเบี้ยอัตราพิเศษกับลูกค้าที่ซื้อบ้านในโครงการที่ธนาคารสนับสนุน การทำ Cross Selling” นายธีรินทร์ กล่าว
ล่าสุดจัดโปรโมชั่น คิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำพิเศษสำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำ รวมทั้งพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ยื่นขอสินเชื่อภายในสิ้นปี โดยมีทางเลือกถึง 3 แบบ คือ แบบที่ 1 ปีแรกคิด 3.25% ต่อปี หลังจากนั้น คิด MLR ลบ 0.50% ต่อปี (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ 7.00% ต่อปี) แบบที่ 2 ปีที่ 1-2 คิด MLR ลบ 2% ต่อปี หลังจากนั้นคิด MLR ลบ 0.50% ต่อปี และแบบที่ 3 ปีแรกคิด MLR ลบ 2.50% ต่อปี ปีที่ 2 คิด MLR ลบ 1.5% ต่อปี หลังจากนั้นคิด MLR ลบ 0.50% ต่อปี นอกจากนี้ ยังยกเว้นค่าใช้จ่ายในการประเมินราคาหลักทรัพย์ ฟรีค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิต KTC ตลอดชีพ และฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก เมื่อใช้บริการ KTB Online
สำหรับหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่ร่วมโปรโมชั่นในครั้งนี้ ได้แก่ กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง กรมสรรพสามิต สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมศุลกากร กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมการขนส่งทางบก สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรมการการอาชีวศึกษา สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย บริษัทท่าอากาศยานไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|