พาณิชย์ยอมธนสินยืดเวลาเพิ่มทุนแย้ม2บริษัทประกันส่อเค้ามีปัญหา


ผู้จัดการรายวัน(26 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

“พาณิชย์”ยอมธนสินประกันภัยยืดเวลาเพิ่มทุน 200 ล้านบาทออกไปอีก ทั้งๆ ที่เช็คจ่ายเพิ่มทุนเด้งกราวรูด 10 ใบ อ้างผู้ถือหุ้นใหม่ยังมีความพยายามจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกัน พร้อมเตรียมแผนสอง ประสานสมาคมประกันวินาศภัยเข้ามารับช่วงต่อลูกค้ากรณีมีการสั่งปิดเกิดขึ้น แย้ม “สัมพันธ์ประกันภัย-แอ๊ดวานช์ อินชัวรันส์” ส่อแววมีปัญหาอีก

นางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาฐานะทางการเงินของบริษัท ธนสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) ว่า บริษัท ทวีเฮาส์ แอนด์บิลดิ้ง คอนสตรักชั่น ผู้ถือหุ้นรายใหม่ของบริษัท ได้แจ้งเข้ามาว่าจะขอยืดระยะเวลาการเพิ่มทุนเป็นเงินสดอีกประมาณ 174 ล้านบาท จากจำนวน 200 ล้านบาทออกไปอีกระยะหนึ่งก่อน หลังจากที่เช็คสั่งจ่ายลงวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมาจำนวน 10 ใบๆ ละ 20 ล้านบาทไม่สามารถขึ้นเงินสดได้ หรือเช็คเด้ง

พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้ส่งแผนการดำเนินธุรกิจมาให้กรมการประกันภัยพิจารณาด้วยตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนั้น กรมการประกันภัยจะไปพิจารณาอีกครั้งว่าแผนดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

“ที่เรายังรีรอ ไม่ดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพราะเห็นว่า บริษัทยังมีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกัน และผู้ถือหุ้นใหม่ได้เพิ่มทุนไปแล้ว 26 ล้านบาทจาก 200 ล้านบาท อีกทั้งได้มีการจ่ายเงินไปแล้วประมาณ 10 ล้านบาท จากมูลหนี้กว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจากนี้ไป ได้มอบหมายให้กรมการประกันภัยไปเตรียมแผนติดต่อสมาคมประกันวินาศภัยเพื่อให้รับช่วงต่อกรมธรรม์ของธนสินที่ยังไม่หมดอายุ หากมีการปิดธนสินจริง ผู้เอาประกันจะไม่ได้รับผลกระทบ” นางอรนุชกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทประกันอีก 3-4 แห่งที่มีปัญหาขาดเงินทุน และฐานะทางการเงินไม่มั่นคง ซึ่งอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ และกรมการประกันภัยได้เผยแพร่บนเว็บไซต์แล้ว แต่ยังไม่ได้สั่งให้หยุดขายกรมธรรม์ชั่วคราว มีเพียงธนสินประกันภัยรายเดียวเท่านั้นที่สั่งให้หยุดขายกรมธรรม์ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหากบริษัทเหล่านั้นไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ตามแผนที่กำหนด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายขั้นสูงสุด

ด้านนางสาวชำเลือง ชาติสุวรรณ รองอธิบดีกรมการประกันภัย กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ถือหุ้นใหม่ของธนสินประกันภัย ส่งแผนฟื้นฟูกิจการเข้ามาแล้ว กรมฯ จะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของแผนก่อน ซึ่งต้องเร่งพิจารณาโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ปัญหายืดเยื้อยาวนาน หากเห็นว่า บริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทันที ส่วนที่กรมฯ ยังไม่ดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพราะเห็นว่า บริษัทยังมีความพยายามจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกัน ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นใหม่นำเข้ามาเพิ่มทุนเป็นที่ดินกว่า 700 ไร่ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาทนั้น จะแปลงเป็นเงินสดได้หลังจากที่กรมฯ อนุมัติแล้ว 60 วัน

“หากสั่งปิดกิจการแล้ว กว่าผู้เอาประกันภัยจะได้เงินค่าสินไหมทดแทนอีกนาน เพราะกรมฯ ต้องตั้งคณะกรรมการชำระบัญชี เพื่อดูหนี้สิน และทรัพย์สินของบริษัท หากไม่มีเงินสดพอจะต้องขายทรัพย์สิน เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ แต่หากยืดเวลาเพิ่มทุนให้อีก ผู้เอาประกันก็ยังจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนได้ ซึ่งกรมฯ ต้องชั่งน้ำหนักร่วมกับแผนใหม่ที่ได้ส่งมาให้กรมพิจารณา” นางสาวชำเลืองกล่าว

รายงานข่าวจากกรมการประกันภัยแจ้งว่า บริษัทประกันวินาศภัยที่มีปัญหาขาดเงินกองทุน และฐานะทางการเงินไม่มั่นคง ได้แก่ บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ที่ผู้บริหารมีแผนจะเพิ่มทุนอีกประมาณ 1,000 ล้านบาทให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ บริษัท แอ๊ดวานซ์อินชัวรันส์ จำกัด ที่ถูกสั่งปรับเป็นรายวันๆ ละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2549 เพราะไม่สามารถแก้ไขเงินกองทุนให้ครบถ้วน หรือ 10% ของเบี้ยรับสุทธิ หลังจากที่ถูกสั่งปรับไปแล้ว 125,000 บาทตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2549 ซึ่งรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท ล่าสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2548 พบว่า มีสินทรัพย์ (ราคาประเมินตามประกาศนายทะเบียน) 347.38 ล้านบาท แต่มีหนี้สิน 466.62 ล้านบาท และเงินกองทุนขาดอยู่ 119.24 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทประกันชีวิตที่มีปัญหา ได้แก่ บริษัท สหประกันชีวิต จำกัด ที่กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการควบคุมกิจการ บริษัท ฟินันซ่าประกันชีวิต ถูกสั่งปรับ 125,000 บาทตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2550 เพราะเงินกองทุนไม่ครบถ้วน และบริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด ถูกสั่งปรับ 250,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.2550 ด้วยฐานความผิดเดียวกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.