Touch ทำในสิ่งที่ Plus ไม่ทำ


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ยิ่งมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าไร การก้าวต่อไปยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะขนาดที่ใหญ่โต บุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือที่มากมายอาจจะเป็นทั้งข้อดีและข้อด้อย

แสนสิริก็เช่นกัน ด้วยขนาดของบริษัท จำนวนโครงการที่มีอยู่ในมือ ไม่ได้หมายความว่าจะคิดทำอะไรได้ง่ายๆ แต่เมื่อลงมือทำแล้วก็ต้องมั่นใจได้ว่า ต้องเห็นผลลัพธ์ที่ออกมาดี

Touch property ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวของแสนสิริ ที่น่าจะเรียกได้ว่า เพิ่มธุรกิจใหม่ สะสางธุรกิจเดิม ให้เป็นระบบและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เมธา จันทร์แจ่มจรัส ประธานอำนวยการ บริษัท ทัช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด อธิบายถึงการเริ่มธุรกิจใหม่ว่า พระราชบัญญัติควบคุม อาคาร พ.ศ.2522 ได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมความปลอดภัยในอาคาร ต้องมีการตรวจสอบโดยวิศวกร ซึ่งตามกฎหมายนี้มีอาคารเข้าข่ายถึง 13,000 อาคารทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีถึง 5,000 อาคาร

"การแข่งขันในธุรกิจตรวจสอบอาคารจะมีมากขึ้นและรุนแรง ขึ้น ขณะนี้มีบริษัทขอจดทะเบียนเพื่อทำการตรวจสอบอาคารในไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมาถึง 200 ราย และจะเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสต่อไป อาจจะสูงถึง 300 รายก็ได้"

ในส่วนของทัชเองแทบเรียกได้ว่าไม่ต้องลงทุนอะไรใหม่เพิ่มเติม เพราะวิศวกร สถาปนิกต่างๆ ก็มีอยู่แล้ว เครื่องไม้เครื่องมือก็พร้อม กลุ่มลูกค้าในมือก็มี รวมถึงชื่อเสียงของกลุ่มแสนสิริ ก็เพียงพอต่อการสร้างความเชื่อถือ ธุรกิจใหม่ของทัชจึงไม่ใช่การเริ่มนับหนึ่ง และได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นไม่น้อย

เขาคาดหวังว่าในปีแรกจะมีลูกค้าให้ตรวจสอบอาคารประมาณ 50 อาคาร เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนค่าตรวจสอบราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 4-12 ขึ้นอยู่กับอาคารแต่ละประเภท

อาจจะเป็นธุรกิจใหม่ที่ไม่ต้องเหนื่อยมากก็ได้

ส่วนการสะสางธุรกิจเดิมให้เป็นระบบ ก็คือ การรับบริหารการขายโครงการ การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ และที่ปรึกษาด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมธาบอกว่า งานส่วนนี้ทำอยู่แล้วในพลัส พร็อพเพอร์ตี้ แต่จากนี้ไปงานส่วนนี้จะโอนมาให้ทัชเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด และต่อไปพลัส พร็อพเพอร์ตี้ จะทำโครงการเอง ขายเอง

เหตุผลที่ต้องแยกบริษัทออกมาอย่างชัดเจน เมธาให้เหตุผลว่า มีผู้ประกอบการหลายรายขอให้พลัสช่วยในเรื่องการบริหารงานขาย การบริหารโครงการ แต่ก็กลัวว่าจะไปขัดแย้งกับพลัส เพราะขายสินค้าเหมือนกัน และการรับงานของพลัส ลูกค้าเชื่อว่าจะทำเฉพาะ โครงการใหญ่ เล็กๆ ไม่ทำ จึงต้องแยกออกมาให้ชัดเจนว่า บริษัทสามารถทำได้ โดยไม่ขัดกับธุรกิจหลัก และพร้อมให้บริการกับผู้ประกอบการทุกระดับ

การปรับมาจับกลุ่มลูกค้าระดับเล็กลงมา น่าจะมาจากแนวโน้ม ของการทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มกระจายตัว มีการเปิดโครงการขนาดเล็กมากขึ้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในเมือง ซึ่งมีทั้งรายใหม่และรายเก่า

สร้างโครงการไม่ยาก ทุกคนสามารถทำได้ แต่การขายคือสิ่งที่ยากสำหรับเจ้าของโครงการ ยิ่งมือใหม่ ก็ต้องแสวงหาตัวช่วยอื่นๆ เข้ามา

การขายหรือบริหารโครงการไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทัช พร็อพเพอร์ตี้ แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าก็คือ การทำอย่างไรให้ลูกค้าเห็นอย่างชัดเจน ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับพลัส ซึ่งเรื่องนี้เขาจะอาศัยเวลา และการทำความ เข้าใจกับลูกค้าอย่างต่อเนื่องว่า แยกกันเด็ดขาดชัดเจน

แค่เห็นชื่อก็พอจะสรุปได้ว่า กลุ่มแสนสิริจะทำตลาดในระดับ กลางมามากขึ้น

touch คือสิ่งที่แตะต้องสัมผัสได้ ไม่ยากเกินไป

plus ก็ต้องบวกเพิ่มเข้าไป เลยทำให้สัมผัสได้ยาก

ตอนนี้ขึ้นอยู่กับลูกค้าแล้วว่าต้องการสัมผัส หรือแค่มองดู


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.