|
Western Digital ในไทย
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีแบบธรรมดาทั่วไปที่ไม่นิยมประกอบเครื่อง หรือเดินหาซื้อไส้ในคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเองเพื่อการใช้งานที่ต้องการ คงน้อยนักที่จะรู้จักชื่อผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูล ไม่ว่าจะทั้งชื่อ Seagate, Western Digital, Hitachi หรือแม้แต่ Maxtor ซึ่งภายหลังถูก Seagate เข้าซื้อกิจการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ในทางกลับกันสำหรับผู้ที่หาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ด้วยตนเอง ชื่อของแบรนด์เหล่านี้ก็ดูเหมือนจะทั้งติดหูและคุ้นตากันอย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะสุดท้ายทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นตัวเลือกในการเปรียบเทียบทั้งราคาและคุณภาพก่อนการตัดสินใจควักเงินในกระเป๋าซื้อหามาใช้งานกันแทบทั้งสิ้น
ปัจจุบันผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์แทบทุกยี่ห้อต่างเปิดโรงงานขนาดใหญ่ในไทยแล้วทั้งสิ้น เหตุผลสำคัญไม่เพียงแต่ค่าจ้างแรงงานที่ปัจจุบันเรียกได้ว่าแทบจะมีระยะห่างที่ไม่ต่างจากจีนมากนัก แต่ยังเป็นเพราะไทยเป็นขุมกำลังสำคัญของภูมิภาคเอเชียที่ไม่เพียงแต่ใช้เป็นที่ผลิต แต่ยังเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
เช่นเดียวกันกับ Western Digital หรือ WD ที่ตัดสินใจมาเปิดโรงงานในประเทศไทย และกลายเป็นโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ 1 ใน 3 ของ WD
ทั้งสองโรงงานของ WD ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ้างงานกว่า 46,000 อัตรา ทำลายสถิติโรงงานที่จ้างพนักงานเพื่อผลิตสินค้ามากที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน
และในปีที่ผ่านมาโรงงานทั้งสองแห่งนี้ยังให้กำลังการผลิตฮาร์ดดิสก์เพื่อส่งไปยังทุกพื้นที่ของโลกกว่า 85 ล้านตัว หรือคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าที่ WD วางขายทั้งหมดในแต่ละปี โดยมีมาเลเซียที่แม้จะเปิดโรงงานก่อนแต่ก็ช่วยสร้างสินค้าให้กระจายออกไปได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ขณะที่ทั้งตลาดโลกนั้นมีการบริโภคฮาร์ดดิสก์อยู่ที่ 436 ล้านตัว
แต่ดูเหมือนจะบอกว่าเป็นโรงงานผลิตก็ดูจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันบ้างเล็กน้อย เพราะจริงๆ แล้ว อุปกรณ์ชิ้นเดียวที่ WD ผลิตก็คือ ชุดหัวอ่าน หรือหัวเขียนในฮาร์ดดิสก์ ที่เหลือเป็นการสั่งผลิตจากคู่ค้าหรือพันธมิตรแทบทั้งสิ้น ดังนั้นหลายคนจึงให้นิยามของโรงงานเหล่านี้ในไทยว่า เป็นโรงงานประกอบสินค้าก็ไม่ปาน
แต่แม้จะเป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วน แต่ด้วยกระบวนการทั้งหมดที่ต่อจากต้นน้ำ จะให้ปลายน้ำจากโรงงานทั้งสองในไทย จึงทำให้โรงงานของ WD นั้นสำคัญขึ้นมาภายในทันที
อุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ค่อนข้างมีผลกระทบกับภาพรวมของอุตสาหกรรมสินค้าไอทีอย่างอื่นด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะด้วยอัตราการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ และแบบพกพา ขณะที่ตัวเก่าที่ใช้การไม่ได้ก็จะถูกเปลี่ยนตัวใหม่เข้ามาแทนที่ นอกเหนือจากนั้นอุปกรณ์ไอทีบางอย่าง ยังนิยมใช้ฮาร์ดดิสก์เป็นสื่อในการบันทึกข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะกับอุปกรณ์เครื่องเล่นเพลงแบบพกพา หรือกล้องถ่ายภาพบางประเภท
สารจากซีอีโอที่มีถึงพนักงานของ WD ในไทย ในวารสารที่พิมพ์แจกจ่ายให้กับพนักงานเมื่อไม่นานมานี้ มีใจความตอนหนึ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ เมื่อ Seagate ซึ่งเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ เบอร์หนึ่งของโลกตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ Maxtor ก็ส่งผลให้คู่แข่งในตลาดลดน้อยลงอีกหนึ่งราย ดังนั้นการที่ WD จะมีโอกาส มากขึ้นก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
ต่อให้ไม่ได้เป็นที่หนึ่ง แต่ผลประกอบการล่าสุดก็ไม่หล่นหรือหายไป แต่กลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่ผู้บริหารของ WD เน้นย้ำเป็นอย่างมาก
โรงงานของ WD ในไทยจึงไม่เป็นเพียงกำลังสำคัญในการที่จะช่วยให้ WD นั้นเติบโตได้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นที่มั่นสำคัญของ WD ในการแย่งชิงส่วนแบ่งและรายได้ในตลาดฮาร์ดดิสก์มาด้วย
ส่วนเราในฐานะผู้บริโภคและเจ้าบ้าน จะมีอะไรดีกว่าการได้ภาษีจากเม็ดเงินการลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจโดยรวมมั่นคงยิ่งขึ้น ที่สำคัญก็ก่อให้เกิดการจ้างงานมากมายหลายหมื่น อัตรา ต่อให้ราคาสินค้าของ WD ที่ผลิตในไทยจะทำให้เราใช้สินค้า ในระดับราคาเดียวกันกับผู้บริโภครายอื่นทั่วโลกก็ตามที
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|