|
ทวิภพในพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย SCB's Collection Inspiration
โดย
สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
การลงทุน renovate ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยแห่งนี้ไปมากกว่า 10 ล้านบาท เพื่อ "สร้างภาพ" ร่วมฉลองวาระโอกาสอันยิ่งใหญ่ครบรอบ "๑๐๐ ปี ธนาคารไทยพาณิชย์" เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 ยังเป็นประเด็นน่าคิดว่า สามารถ create value กระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นสมดังเจตนาที่ปรากฏในสูจิบัตรหรือไม่ว่า
"เพื่อเป็นสถานที่ในการจัดแสดงสิ่งของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ด้านการเงินการธนาคารของชาติ สำหรับเป็นแหล่งค้นคว้าด้านวิชาการ อันเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง..."
เบื้องต้นถ้าวัดใจจาก 3 บรรทัดนี้สามารถดึงคนเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยได้หรือไม่? คำตอบคือ ไม่! เพราะผู้ชมประเภท "อ่านหนังสือปีละแปดบรรทัด" ซึ่งเป็นคำโดนใจในหนังเรื่อง "ทวิภพ" มีอยู่จริง
...แต่ถ้ายืนหยัดตามเจตนาทำพิพิธภัณฑ์เพื่อสังคมการเรียนรู้ ก็คงต้องมีเทคนิคเอาความรู้ที่เหมือนยาขมมาเคลือบน้ำตาล ใส่สารกระตุ้นปฏิกริยาเคมีทางสมองให้เกิดความรู้สึกอยากก้าวเท้าเข้าไปชม เพื่อเป็นทุนในใจไปแสวงหาความรู้ต่อไป มิใช่การถูกสถานการณ์บังคับ
ดังนั้นหน้าที่ของ Curator ยุคใหม่จึงไม่ใช่ภัณฑารักษ์ที่คอยเฝ้าสมบัติเก่าที่เป็น SCB's Collection เหล่านี้เท่านั้น แต่ Curator ต้องทำหน้าที่ "ตีความ" เอกสารข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์, อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในระบบการเงินตราที่เก่าแก่, ภาพเก่าบุคคลสำคัญในอดีตที่ควรค่าการเรียนรู้ที่มาแต่ละยุคสมัย จนถึง "หอจดหมายเหตุราชหฤทัย" ซึ่งสืบค้นข้อมูลเอกสารโบราณได้ด้วย เพื่อให้รู้จักคิดต่อยอดที่จับต้องได้ ด้วยทักษะ+วัฒนธรรมของธนาคารอายุร้อยปี ร่วมกับการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สร้างเรื่องเก่าให้มีประเด็น (Issue) เชื่อมโยงกับผู้ชมยุคปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
ทั้งหมดนี้เพื่อให้พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย เป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเงินการธนาคารของไทย อันมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นต้นแบบธนาคารไทย (ดูตารางก่อตั้งธนาคารฯ)
ความเข้าใจอดีตแล้วสามารถตีความหมายของประวัติศาสตร์ที่ผ่านประสบการณ์ทั้งเจ็บปวดและสุขสมของธนาคารต้นแบบไทยนี้ ล้วนเป็นเรื่องที่นายแบงก์ไทยทุกวันนี้ได้รับอิทธิพลจากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมของแบงก์สยามกัมมาจล ซึ่งเป็นธนาคารไทยแห่งแรกนี้ทั้งสิ้น
ความสำคัญของประวัติศาสตร์การเงินการธนาคารไทยเช่นนี้ Curator พิพิธภัณฑ์ฯ ยังขาดการตีความประวัติศาสตร์ของไทยพาณิชย์ (interpret the past) ที่ถูกเรียกว่าเป็นแบงก์ศักดินา อันเป็นระบบที่บางคนอยากฝังกลบให้ตายไปกับกาลเวลา มากกว่าขุดประวัติศาสตร์มาตีความใหม่
เป็นเรื่องน่าคิดว่า การใช้ฐานประวัติศาสตร์เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในกระบวนการ change program จะทำให้พนักงานเข้าใจอดีตของตัวเอง และสามารถเอาอดีตมา adapt กับปัจจุบันได้อย่างมีคุณค่าแท้จริง โดยตระหนักถึงทุกการกระทำของตนเองคือการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของธนาคาร
นี่คือพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยแห่งแรกของประเทศ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2539 หลังวิกฤติเศรษฐกิจไทยผ่านมาสิบปีเต็มบนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของสถาบันธุรกิจยักษ์ใหญ่
แต่น่าเสียดายที่พื้นที่พิพิธภัณฑ์เน้นส่งเสริมหลักการว่าด้วยความภูมิใจ เชิงสถาบันนิยมเจ้านาย มากกว่าส่งเสริมหลักการเรียนรู้ถึงที่มาและเหตุผลความจำเป็นที่ธนาคารไทยต้องมีความอิสระดำเนินธุรกรรมทางการเงินของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติเกินไป จึงก่อตั้งธนาคารไทยแห่งแรก "แบงก์สยามกัมมาจล" ที่ปัจจุบันถูกนิยามว่าเป็นแบงก์ศักดินา ทั้งๆ ที่สังคมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ขณะนั้น กลุ่ม elite group ที่เรียนรู้ฝรั่ง เพื่อสู้กับฝรั่งได้ก็คือเจ้านายชนชั้นสูง จึงเป็นหน้าที่ของผู้ชม ก็คือรับรู้ที่มาและเหตุผลประวัติศาสตร์ และควรได้รับรู้การตีความที่หลากหลายของทุกกลุ่ม มิใช่เฉพาะกรอบความคิดเพื่อเจ้านายมิติเดียว ควรเน้นสารัตถะขององค์ความรู้เก่าแก่ที่ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ที่ว่าด้วย "การเรียนรู้ฝรั่ง สู้ฝรั่ง" ซึ่งก่อให้เกิดคุณูปการแก่เศรษฐกิจไทยยิ่งกว่า จนกระทั่งทำให้เมืองไทยได้อยู่ดีกินดีจากระบบธนาคารไทยที่มีต้นแบบมาจากธนาคารไทยพาณิชย์นี้
อย่างไรก็ดี การตีความแบบสถาบันนิยมก็ควรเปิดพื้นที่ให้แก่เขาด้วย เช่น เสถียร สิงห์เจริญ อดีตผู้จัดการสาขาตลาดน้อยวัย 80 กว่าปี ผู้แต่งเพลง "ใต้ร่มไทร" และเป็นผู้ทุ่มเททำพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยพาณิชย์ขึ้นจากกรุสมบัติเก่าที่สาขาตลาดน้อย เมื่อปี 2529 เพื่อธำรงความงดงามของอดีตอันรุ่งเรืองของสำนักงานใหญ่แห่งแรกนี้ไว้ จนกระทั่งสิบปีต่อมา จากจุดเริ่มต้นได้รับการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยเต็มรูปแบบในปี 2539 ที่ย้าย Collections จากตลาดน้อย มาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารที่บริเวณตึกสำนักงานใหญ่รัชโยธิน แต่เงินงบประมาณเป็นล้านที่ใส่ไปอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่คำตอบ ถ้าขาดความเข้าใจจิตวิญญาณของอดีต พื้นที่พิพิธภัณฑ์จึงไร้ร้างตลอดสิบปีที่ผ่านมา เพิ่งจะฟื้นคืนชีวิตชีวาสว่างไสวเมื่อราวกลางปี 2549 นี้เอง
นวรัตน์ เลขะกุล ผู้อำนวยการอาวุโส และที่ปรึกษาผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้มีส่วนสำคัญคนหนึ่งในการออกแบบคอนเซ็ปต์สถานที่แห่งนี้ได้เกริ่นขณะนำชมว่า "กิจการที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งร้อยปีเช่นนี้ ย่อมไม่ธรรมดา จะต้องมีดีอะไรสักอย่าง"
ขณะกล่าวประโยคนี้ เขายืนอยู่ต่อหน้ารูปปั้นเท่าองค์จริงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย "พระบิดาแห่งธนาคารไทย" โดยมีฉากผนังใหญ่เป็นรูปตึกสำนักงานใหญ่ ตั้งแต่ของสมัยบุคคลัภย์ที่ปากคลองตลาด-แบงก์สยามกัมมาจลที่ตลาดน้อย-ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ที่ชิดลม จนถึงเอสซีบีปาร์คในปัจจุบันซึ่งต่างยุคสมัยที่ใช้วัสดุก่อสร้างต่างกัน
"เราจะบอกว่า ที่นี่เริ่มจากดินจนขึ้นมาเป็นยุคทองในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์การดีไซน์ที่นี่" นวรัตน์เล่าถึงความพยายามให้ผู้ชมรู้สึกว่าอยู่สมัยเก่าๆ
ด้วยเหตุนี้ ขณะก้าวข้ามมิติประวัติศาสตร์จากส่วนแรกว่าด้วยเรื่องวิวัฒนาการเงินตราซึ่งถือเป็นสินค้าของธนาคาร ระเรื่อยมาถึงส่วนที่สอง-วิวัฒนาการธนาคาร ที่นำเสนอเรื่องราวกำเนิดบุคคลัภย์ ก่อนจะกลายเป็นต้นแบบธนาคารไทย แบงก์สยามกัมมาจลที่อยู่ในส่วนที่สาม จนถึงส่วนสุดท้ายคือ ธนาคารไทยพาณิชย์กับก้าวสู่ยุคปัจจุบัน จะสังเกตเห็นว่าวัสดุปูพื้นของพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยได้เปลี่ยนไปจากพื้นหินหยาบ-พื้นหินเรียบ พื้นไม้สัก จนกระทั่งลอดอุโมงค์กระจกหลายด้านสู่พื้นเหล็กสีเงินวาววับในยุคดิจิตอลที่พร่างพราวด้วยสีม่วงสดใส
น่าเสียดายที่พิพิธภัณฑ์ขาดการเน้นประเด็นสำคัญที่จะสื่อให้ผู้ชมได้เห็นและจับต้องได้ถึงสินทรัพย์อันแท้จริงก็คือ "ปัญญาเรียนรู้ฝรั่งและสู้กับฝรั่งได้" ซึ่งเป็นบ่อเกิด sophisticated capitalism ร่วมกับคุณธรรมความซื่อสัตย์และกล้าหาญอันเป็นของดีที่บรรพชนได้ส่งต่อให้คนรุ่นหลัง
"ความละเอียดลออของผู้ใหญ่สมัยก่อน ท่านศึกษาหาความรู้การทำธุรกิจธนาคาร ซึ่งสมัยก่อนฝรั่งเขาปิดเป็นความลับ ไม่ยอมสอนคนไทย ซึ่งนี่คือโนว์ฮาว เขาเก็บไว้กินคนเดียว ท่านเป็นผู้ดีจะทำการอะไรก็ไม่อยากจะให้เจ๊ง จึงทดลองงานนี้อยู่สองปีในชื่อบุคคลัภย์ (Book Club) ก็กำไรดี ท่านจึงตั้งธนาคารขึ้นมา เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสและอังกฤษร่วมกันบีบท่านจนต้องลาออก เพื่อรักษากิจการนี้ไว้ นี่คือความเสียสละครั้งแรก" นวรัตน์เล่าให้ฟัง
ขณะที่ฟังก็ได้เห็นเช็คใบแรกที่ออกโดยบุคคลัภย์ ที่ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบธุรกรรมของธนาคารไทย น่าเสียดายที่นี่ไม่มีคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์ แต่พบได้ในหนังสือ "๑๐๐ ปีจากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์" ที่อัดแน่นด้วยประวัติศาสตร์ และ ค้นคว้าให้ลึกในประเด็นของผลกระทบของเช็คใบแรกนี้ ที่ทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ธุรกิจของธนาคารและลูกค้า อันมีผลสร้างสรรค์ให้ธุรกิจธนาคารไทยสมัยบุคคลัภย์รุ่งเรืองมีกำไร ซึ่งน่าจะดีกว่าการโชว์กระดาษเช็คใบแรกไว้ในตู้กระจกเพื่อดูเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า องค์ความรู้ของไทยพาณิชย์ร้อยปีนี้กระจัดกระจายและขาดการจัดการประสานงานเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ในพิพิธภัณฑ์หรือหอจดหมายเหตุ เพราะภายในเนื้อหาหนังสือ "๑๐๐ ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์" สามารถนำมาตีความให้กลายเป็นมิติของนิทรรศการหมุนเวียนของพิพิธภัณฑ์ได้อย่างลึกและน่าสนใจได้หลายร้อยเรื่อง
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าจะทำนิทรรศการว่าด้วย "ตราประจำของธนาคารไทยพาณิชย์" ซึ่งชาวไทยพาณิชย์ก็มีเจ้าของผลงานออกแบบโลโกแบงก์ที่ใช้กันอยู่ อย่างสุพจน์ จิตสุทธิญาน ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นตัวอย่างของชาวไทยพาณิชย์ที่รู้จักนำคุณค่าประวัติศาสตร์เก่าแก่ของธนาคารมาต่อยอดความคิดให้กลายเป็นผลงานสร้างสรรค์โลโกได้อย่างน่าทึ่ง ทักษะพื้นฐานที่เรียนจบสถาปนิก จุฬาฯ กับความเข้าใจคุณค่าวัฒนธรรมองค์กรที่เขาทำงานมาตั้งแต่ปี 2516 ทำให้สุพจน์สามารถตีความหมายใส่ดีไซน์ลงในงานได้อย่างลงตัว
"ปี 2516 คุณประจิตรมองเห็นว่าธุรกิจของธนาคารอื่นๆ เขามีโลโกของตัวเอง เช่น แบงก์กรุงเทพ แบงก์กสิกรไทย ก็มีแล้ว ธนาคารเราก็ควรจะมีโลโกเพื่อลูกค้าจดจำได้ง่าย ผมเข้ามาก็ทำผลงานออกแบบนี้เลย โดยตอนนั้นผมเอาฟอร์มของใบโพธิ์ของบุคคลัภย์มา เอามาเฉพาะส่วนเนกาทีฟแล้วเอามาจัดองค์ประกอบใหม่ เดินด้วยเส้นสายที่เป็น geometric form ทรงเรขาคณิตเป็นเส้นๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เก่ากับใหม่อยู่ด้วยกันได้ เก่าคือความเป็นธรรมชาติของใบโพธิ์ และใหม่คือทรงเรขาคณิต เป็นเหลี่ยมเป็นแท่ง ที่เป็นโมเดิร์นไนซ์ แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันได้ทั้งเก่าและใหม่ พัฒนาไปพร้อมๆ กัน" สุพจน์เล่าอย่างภูมิใจถึงผลงานออกแบบชิ้นแรกของเขาเมื่อ 34 ปีที่แล้ว ซึ่งแบงก์ยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ปรับสีและ space ที่เน้นสีม่วงและมีเส้น move
น่าแปลกใจ ทำไมในพิพิธภัณฑ์จึงไม่นำเอาเบื้องหลังประวัติจากอดีตถึงปัจจุบันของโลโกธนาคารมาจัดทำนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของ Brand Image เรียงตามลำดับตามกาลเวลา 100 ปีให้เห็นคุณค่าวิวัฒนาการ ตั้งแต่ตราเครื่องหมาย จากบุคคลัภย์ถึงไทยพาณิชย์
"ตราอาร์มแผ่นดินเป็นตราอาร์มของพระมหากษัตริย์ไทยที่ประกอบขึ้นตามศาสตร์ Heraldry ของอังกฤษ ...ตราอาร์มแผ่นดินไทย มีรูปราชสีห์และคชสีห์ค้ำจุนไว้ เพราะราชสีห์เป็นตราสมุหนายกซึ่งคือพลเรือน และคชสีห์เป็นตราสมุหกลาโหมซึ่งเท่ากับทหารตรงโล่ห์จะมีภาพไอยราพต (ช้างสามเศียร) และรูปกฤช ซึ่งคงหมายถึงภาคต่างๆ ของไทย ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้" ข้อความนี้ได้ค้นจากหนังสือเล่ม "ฝรั่งศักดินา" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
วันนั้นหลังจากจบการนำสื่อมวลชนชมพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย องค์อร อาภากร ณ อยุธยา ในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริหารงานสื่อสารองค์กร ซึ่งรับผิดชอบกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ "๑๐๐ ปี ธนาคารไทยพาณิชย์" ทุกงานนับตั้งแต่ Big event จัดงานฉลองอันยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 30 มกราคม ก่อนหน้านั้นก็ทุ่มงบส่วนใหญ่ทำหนังสือร้อยปีที่มีคุณค่า จัดทำแสตมป์ และทำเหรียญที่ระลึก "๑๐๐ ปี ธนาคารไทยพาณิชย์" ได้กล่าวจบท้ายไว้ว่า
"ทั้งหมดนี้ เราดำเนินการภายใต้กรอบหรือตั้งสัจจะกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งให้ไว้เมื่อครั้งท่านเดินทางเสด็จมาฉลองธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ท่านได้ให้พระราชดำรัสว่า เราต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศ และเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพราะฉะนั้นเราก็ยึดมั่นอันนี้เป็นกรอบการดำเนินงานของพวกเราจนกระทั่งถึงทุกวันนี้"
วันนี้ การดำเนินกิจกรรมพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยถือเป็นหน้าที่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์จะต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น/ลูกค้า/พนักงาน/สังคม ในแง่ที่ยังต้องสร้างความเข้าใจรากเหง้าอดีตของตนเองให้ปรากฏอย่างแท้จริง แทนที่จบการดูพิพิธภัณฑ์ด้วยการหยอดแลกเหรียญที่ระลึกแบบไม่เรียนรู้กว่าเดิมเลย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|