|

Bloomberg
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
Michael Bloomberg นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก 2 สมัย และอาจกำลังหมายตาตำแหน่งที่สูงกว่านั้น ส่วนบริษัทที่เขาก่อตั้ง Bloomberg LP ประสบความสำเร็จอย่างสูงและเติบโตขึ้นทุกขณะ
หลังจากถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขารัก Michael Bloomberg ก่อตั้งบริษัทข้อมูลการเงิน ซึ่งแทบไม่มีใครคาดคิดว่าจะอยู่รอด แต่บริษัทของเขากลับประสบความสำเร็จอย่างสูง ขนาดสั่นสะเทือน Wall Street เขายังได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กถึง 2 สมัย และยังคงได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างชนิดที่ประธานาธิบดี George W. Bush จะต้องอิจฉา การดำรงตำแหน่งพ่อเมืองนิวยอร์กของเขา กำลังจะครบวาระในต้นปี 2010 ทำให้เกิดการคาดเดากันอย่างกว้างขวางว่า Bloomberg อาจสนใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอนาคต
Bloomberg LP บริษัทที่ Michael Bloomberg ก่อตั้งขึ้น มีโมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร และเป็นอนุสรณ์แห่งความคิดสร้างสรรค์และแรงขับของตัวผู้ก่อตั้ง Bloomberg LP เป็นบริษัทเอกชน ซึ่ง Michael Bloomberg ถือหุ้นอยู่เกือบ 68% เป็นยักษ์ใหญ่ใน Wall Street ที่เที่ยวไล่ต้อนคู่แข่ง และเป็นผู้เปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอข้อมูลการเงินแก่ลูกค้า ความลับของ Bloomberg LP : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา สนับสนุนด้วยบริการ หลังการขายที่ยอดเยี่ยม Bloomberg LP นับเป็นขุมทรัพย์ของ Michael Bloomberg ซึ่งทำให้เขามีทุนหาเสียงเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี และยังจะเป็นทุนสำหรับหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในอนาคตได้อย่างสบายๆ หากเขาอยากจะเป็นจริงๆ รวมทั้งนำไปใช้ในการทำการกุศล ซึ่งเป็นสิ่งที่ Bloomberg ให้ความสำคัญ
เมื่อเป็นนายกเทศมนตรี Bloomberg ได้วางมือจากการบริหาร Bloomberg LP และเคยกล่าวว่า จะไม่กลับไปบริหารบริษัทอีก โดยให้เพื่อนสนิทอย่าง Peter Grauer ผู้คร่ำหวอดกับ Wall Street ทำหน้าที่แทนเขา และมีทีมบริหารลูกหม้อของ Bloomberg LP คอยช่วยอีก 3 คน คือ Alexius "Lex" Fenwick CEO แต่เป็นหมายเลขสองรองจาก Grauer ซึ่งตำแหน่งเป็นประธาน Thomas Secunda หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bloomberg LP มีหน้าที่สำคัญคือ ดูแลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ Matthew Winkler ดูแลสายงานด้านสื่อทั้งหมดของบริษัท
ในขณะที่ผู้บริหารสูงสุดทั้งสี่ของ Bloomberg LP ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Bloomberg หรือบางทีลูกค้าก็เรียกว่า terminal ผลิตภัณฑ์ข้อมูลการเงินของ Bloomberg LP ที่มีการติดตั้งไปแล้ว 250,000 เครื่องทั่วโลก โดยลูกค้าจะต้องเป็นสมาชิกและเสียค่าบริการรายเดือน 1,500 ดอลลาร์ สถาบันการเงินขนาดใหญ่ทุกแห่งล้วนมี Bloomberg ซึ่งใช้งานได้ทั้งการซื้อขายหน่วยลงทุนวิจัยวาณิชธนกิจ และทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ สำนักงานกฎหมาย หรือแม้แต่ในบ้านของนักลงทุนรายย่อย
ผลิตภัณฑ์ข้อมูลการเงินของ Bloomberg ยังรวมถึงซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลการเงิน เพื่อทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องมือที่ช่วยในการสั่งซื้อหรือขายหน่วยลงทุนและข่าวสาร ทั้งจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์สิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่ง Bloomberg ผลิตเอง พร้อมคีย์บอร์ดพิเศษของ Bloomberg โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่ลูกค้าต้องปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ทันทีด้วยการดกปุ่มสีบนคีย์บอรด์นั้น
สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Bloomberg ใน Manhattan ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน ไม่มีออฟฟิศส่วนตัวสำหรับผู้บริหาร พนักงานทุกคนตั้งแต่ระดับสูงสุดจะนั่งอยู่หลังโต๊ะที่เรียงรายต่อกันเป็นแถวยาวๆ ซึ่งตั้งเต็มไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง Bloomberg
รายได้ของ Bloomberg LP มีแต่เพิ่มขึ้น ในปี 2006 อยู่ที่ระดับ 4.7 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ Bloomberg LP อยู่ในอันดับที่ 472 ใน FORTUNE 500 ซึ่งไม่เลวเลยสำหรับบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งมาได้เพียง 25 ปี ส่วนกำไรจากการดำเนินธุรกิจก่อนหักภาษีในปีเดียวกัน อยู่ที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์ และมีส่วนต่างกำไรมากกว่า 30% ของรายได้ น้อยกว่า Microsoft (37%) แต่เหนือกว่า Apple (ต่ำกว่า 15%) และเหนือกว่าคู่แข่งในธุรกิจบริการข้อมูลการเงินทุกราย ไม่ว่าจะเป็น Dow Jones, Reuters, Thomson Financial ของ Thomson Corp ซึ่งมีส่วนต่างกำไรเพียงประมาณ 20%
แม้ Michael Bloomberg จะภาคภูมิใจใน Bloomberg LP อย่างมาก แต่เขาเคยคิดที่จะขายมันเมื่อไม่นานมานี้ ให้แก่บริษัทลงทุนในหุ้นนอกตลาด (private equity) แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจไม่ขาย โดยไม่ได้อธิบายเหตุผล
เนื่องจาก Bloomberg LP แทบไม่เคยเปิดเผยฐานะการเงินของบริษัท การจะประเมินมูลค่าของ Bloomberg LP จึงต้องดูจากรายได้ของบริษัท กำไรก่อนหักภาษีของ Bloomberg LP อยู่ที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์ดังได้กล่าวแล้ว เมื่อบวกกับยอดสมาชิกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยในปี 2006 มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 26,000 ราย มูลค่าของ Bloomberg LP จึงน่าจะไม่น้อยไปกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่านั้น ซึ่งถ้าหาก Michael Bloomberg ขาย Bloomberg LP จริง ก็หมายความว่า เขาจะได้ส่วนแบ่งมากกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ จากการที่เขาถือหุ้นเกือบ 70% ซึ่งมากกว่าจำนวน 5.5 พันล้านดอลลาร์ ตามที่นิตยสาร Forbes เคยประเมินทรัพย์สินของ Michael ไว้ ในการจัดอันดับมหาเศรษฐีพันล้านครั้งล่าสุด
ส่วนมูลค่าของบริษัทคู่แข่งทั้งหลายของ Bloomberg LP นั้น Thomson Corp อดีตเชนหนังสือพิมพ์ที่ผันตัวมาเป็นผู้ให้บริการข้อมูล ตั้งแต่ข้อมูลสุขภาพจนถึงการเงิน มีมูลค่าตามราคาตลาด 26,000 ล้านดอลลาร์ ส่วน Reuters คู่แข่งที่มีหลายอย่างใกล้เคียงกับ Bloomberg LP มากที่สุดทั้งผลิตภัณฑ์และระดับรายได้ มีมูลค่าประมาณ 17,000 ล้านดอลลาร์ ส่วน Dow Jones ของ Wall Street Journal มีมูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์
Dow Jones เคยเป็นเจ้าแห่งข้อมูลการเงินที่ไร้คู่แข่งในปี 1982 ซึ่งเป็นปีที่ Bloomberg LP เพิ่งจะตั้งไข่ แต่ Dow Jones ทำผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ไปทุ่มเงิน 1.6 พันล้านดอลลาร์ซื้อ Telerate ผลิตภัณฑ์ข้อมูลการเงินอิเล็กทรอนิกส์ชั้นแนวหน้าในขณะนั้น แต่ข้อมูลการเงินที่บริษัทดังกล่าวให้แก่ลูกค้ามีแต่ข้อมูลล้วนๆ แต่ไม่มีการวิเคราะห์ Telerate จึงขาดทุนอย่างหนักในเวลาต่อมา และ Dow Jones จำต้องขายทิ้งด้วยราคาเพียง 510 ล้านดอลลาร์ หรือขาดทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ปีที่แล้ว Dow Jones มีรายได้เพียง 1.9 พันล้านดอลลาร์ และมีกำไรก่อนหักภาษีเพียง 105 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ Bloomberg LP มีรายได้ 4.7 พันล้านดอลลาร์ และกำไรก่อนหักภาษี 1.5 พันล้านดอลลาร์ การตกจากบัลลังก์เจ้าแห่งข้อมูลการเงินของ Dow Jones และการผงาดขึ้นมาแทนที่ของ Bloomberg LP อาจนับเป็นการแข่งขันที่น่าสนใจที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลกธุรกิจ
Reuters คู่แข่งอีกรายหนึ่งของ Bloomberg LP เป็นบริษัทข่าวเก่าแก่ของอังกฤษอายุมากกว่า 150 ปี ที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจบริการข้อมูลด้วยหุ้นและการค้าเงิน และเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ตั้งแต่ที่ Bloomberg LP เพิ่งเริ่มก่อตั้ง สิ่งที่ Reuters พลาดไปคือ ไม่เห็นบริษัทเกิดใหม่เล็กๆ อย่าง Bloomberg LP อยู่ในสายตา จึงไม่เคยคิดระวังป้องกัน Reuters ยังมีปัญหาเรื่องการวางตัวผู้บริหาร นอกจากนี้ยังต้องพบกับความอัปยศอย่างใหญ่หลวงช่วงปลายทศวรรษ 1990 เมื่อ Reuters ต้องถูก FBI สอบสวนเพราะสงสัยว่า ขโมยความลับทางการค้าของคู่แข่ง Bloomberg LP แม้ในที่สุดผลการสอบสวนจะไม่พบความผิดก็ตาม ในปี 2000 รายได้ของ Reuters มากกว่า Bloomberg LP ถึงกว่า 2 เท่า แต่ในปี 2006 Reuters กลับมีรายได้เท่ากับ Bloomberg LP ที่ 4.7 พันล้านดอลลาร์
สำหรับ Michael Bloomberg ผู้ก่อตั้ง Bloomberg LP เขาเคยเป็น trader ที่ Salomon Brothers ในช่วงทศวรรษ 1970 หลังจาก Salomon รวมกิจการกับ Phibro ทำให้ Bloomberg ถูกปลด แต่เขาจากไปพร้อมด้วยความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และหุ้นของ Phibro-Salomon ที่มีมูลค่าถึง 10 ล้านดอลลาร์ Bloomberg ก่อตั้งบริษัทที่ให้บริการข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ให้แก่บริษัทใน Wall Street และสถาบันการเงินที่ค้าหลักทรัพย์แบบให้ผลตอบแทนคงที่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Bloomberg นอกจากจะรวมข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับตราสารหนี้อย่างครบถ้วนแล้ว ยังมีเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการเงินได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณ เช่น การเปรียบเทียบมูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลกับตราสารหนี้ของเอกชน รวมทั้งระบบที่ช่วย trader ในการทำธุรกรรมและงานเอกสาร
ผลิตภัณฑ์ของ Michael Bloomberg นับว่าแปลกใหม่และในปี 1982 บริษัทของเขาซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อว่า Innovative Market Systems ก็ได้รับคำสั่งซื้อครั้งใหญ่ครั้งแรกจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Merrill Lynch ซึ่งขณะนี้ถือหุ้น 20% ใน Bloomberg LP
Grauer ประธาน Bloomberg LP เพื่อนสนิทของ Michael และเคยเป็นผู้บริหารกองทุน private equity ที่ Donaldson Lufkin & Jenrette กล่าวอย่างภาคภูมิว่า Bloomberg LP เป็นหนึ่งในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เพราะ Bloomberg เปลี่ยนแปลงวิธีที่ลูกค้าทำธุรกิจ ด้วยการปลดปล่อยการไหลของข้อมูลข่าวสารให้เป็นอิสระ และยกพื้นสนามแข่งให้สูงขึ้นโดยเฉพาะสำหรับฝ่ายผู้ซื้อ บริการหลังการขายของ Bloomberg LP ทั่วโลกไร้รอยต่อและที่ติ ในขณะที่นักลงทุนที่ใช้บริการข้อมูลของ Bloomberg เห็นด้วยว่า Bloomberg ช่วยลับคมความรู้ให้แก่ผู้ซื้อเกี่ยวกับมูลค่าของตราสารหนี้และทำให้รู้เท่าทันฝ่ายผู้ขาย หรือ trader
เริ่มต้นจากข้อมูลเกี่ยวกับตราสารหนี้ Bloomberg LP ค่อยๆ ขยายไปยังการให้ข้อมูลและเครื่องมือวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ หุ้น หลักทรัพย์ต่างประเทศทุกชนิด พลังงาน หลักทรัพย์จำนอง ตราสาร อนุพันธ์ กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ กองทุนเก็งกำไร จนถึงค่าเงิน ปัจจุบันยังขยายไปถึงการประเมินรายได้ของบริษัท ข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ข้อมูลการควบรวมและซื้อกิจการ เอกสารทางกฎหมาย และข้อมูลส่วนตัวของคน 1.3 ล้านคน ที่มีทั้งที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ปีเกิด การศึกษา ประวัติการทำงาน เงินเดือน แม้กระทั่งข้อมูลของครอบครัว
ผลิตภัณฑ์ของ Bloomberg ยังรวมถึงข่าว Bloomberg มีนักข่าว 2,300 คน โดยกว่าครึ่งอยู่นอกสหรัฐฯ สื่อของ Bloomberg มีทั้งนิตยสาร โทรทัศน์ 24 ชั่วโมง และวิทยุ ข้อมูลเป็นภูเขาเลากาทั้งหมดข้างต้น และเครื่องมือที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้สูงสุด คือสิ่งที่ Bloomberg LP ภาคภูมิใจมากที่สุด
ค่าบริการรายเดือนของ Bloomberg ไม่ได้ตั้งตามความมากน้อยของข้อมูลที่ลูกค้าได้รับ แต่ Bloomberg จะใช้วิธีขึ้นค่าบริการเป็นระยะๆ ประมาณ 5% ทุกๆ 2 ปี แต่โครงสร้างราคาของ Bloomberg ไม่เหมือนใคร และเป็นจุดเด่นของโมเดลธุรกิจของ Bloomberg หากลูกค้าซื้อการติดตั้ง Bloomberg เพียงจุดเดียวจะเสียรายเดือน 1,800 ดอลลาร์ แต่หากซื้อการติดตั้ง 2 จุดขึ้นไป ราคาจะลดลงเป็นหน่วยละ 1,500 ดอลลาร์ แต่จะไม่ลดไปกว่านี้ ไม่ว่าลูกค้าจะซื้อการติดตั้งแค่ 2 หรือ 2,000 จุด ก็จะต้องจ่ายรายเดือนจุดละ 1,500 นอกจากนี้ลูกค้ายังไม่สามารถจะเลือกซื้อข้อมูลเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของ Bloomberg ซึ่งตรงข้ามกับคู่แข่งอย่าง Reuters และ Thomson Financial ที่ยืดหยุ่นมากกว่าทั้งด้านราคาและการยอมให้ลูกค้าเลือกซื้อข้อมูลเพียงบางส่วน อย่างไรก็ตาม แม้ Reuters จะสามารถขายการติดตั้งผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า Bloomberg แต่กลับไม่อาจทำรายได้ต่อหน่วยได้เทียบเท่า Bloomberg และลูกค้ากลับยังคงรู้สึกว่า ผลิตภัณฑ์ของ Bloomberg คุ้มกับค่าเงินที่เสียไป และมีความภักดีต่อ Bloomberg เป็นอย่างมาก
Bloomberg LP มีพนักงานประมาณ 9,400 คน และมีระบบค่าตอบแทนพนักงานที่ไม่เหมือนใคร โดยผูกพันโดยตรงกับยอดขายการติดตั้ง Bloomberg ด้วยแนวคิดว่า "ทุกคน" ในบริษัทจะต้องเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ ขายการติดตั้ง Bloomberg ให้มากขึ้นและมากขึ้น พนักงานเกือบทุกคนของ Bloomberg LP จะได้รับโบนัสตามยอดการติดตั้ง Bloomberg LP ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา แต่จะได้รับเงินภายใน 2 ปี ซึ่งหมายความว่า หากพนักงานคนใดลาออกก่อน 2 ปี ก็จะไม่ได้รับเงินโบนัส วิธีนี้ทำให้อัตราการลาออกของ Bloomberg ต่ำเพียงประมาณ 12% ในปี 2006
ระบบของ Bloomberg LP มุ่งเน้นที่การเพิ่มรายได้ ไม่ใช่กำไรสุทธิ บริษัทนี้ไม่มีการแบ่งแยกว่าฝ่ายใดเป็น profit center และการริเริ่มทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร รายการโทรทัศน์และวิทยุ ที่รวมอยู่ในผลิตภัณฑ์ข้อมูลการเงินของ Bloomberg LP ไม่ได้ถูกตัดสินคุณค่าด้วยตัวเงินที่ทำได้ หากแต่ถูกตัดสินค่าจากการที่มีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของ Bloomberg LP กลายเป็นสิ่งที่ลูกค้าไม่สามารถจะขาดได้ ที่นี่ไม่มีการพูดเรื่องการลดรายจ่าย
หากบริษัทลูกค้าของ Bloomberg LP เลิกกิจการ ซึ่งจะตามมาด้วยการยกเลิกการใช้ Bloomberg ผลกระทบต่อ Bloomberg LP ในระยะสั้นจะไม่รุนแรง เนื่องจากลูกค้าต้องจ่ายค่าบริการล่วงหน้า 3 เดือน และก่อนที่ลูกค้าจะยกเลิกบริการ Bloomberg มีนโยบายให้ผู้ใช้ Bloomberg ที่ต้องตกงาน เนื่องจากบริษัทเลิกกิจการสามารถใช้ Bloomberg โดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านต่อไปได้อีก 4 เดือนฟรีๆ และเมื่อลูกค้าได้งานใหม่ก็มักจะติดตั้ง Bloomberg ต่อไปเหมือนเดิม วิธีนี้ช่วยให้ Bloomberg LP สูญเสียลูกค้าน้อยที่สุด
ทีมผู้บริหารสูงสุดของ Bloomberg LP ต่างมีมีบุคลิกภาพที่เข้มแข็ง พูดน้อยต่อยหนัก และทำงานหนัก หัวเรือใหญ่คือประธาน Grauer ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ Michael Bloomberg เป็นผู้นำที่เป็นที่นิยมและยกย่อง ส่วนตัว Grauer เองเคยกล่าวยกย่อง Secunda หนึ่งใน 4 ผู้บริหารของ Bloomberg และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bloomberg LP ว่าเป็นคนที่สำคัญที่สุดใน Bloomberg เพราะเขาเป็นคนที่รู้จักผลิตภัณฑ์ Bloomberg ดีที่สุด และเป็นผู้ดูแลการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ยอดเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก กลยุทธ์ของทีมบริหาร Bloomberg คือความระมัดระวัง หลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากฟองสบู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แตกทีมบริหาร Bloomberg ตัดสินใจหยุดรับพนักงาน จากปี 2001 ถึง 2005 จำนวนพนักงานของ Bloomberg LP จึงคงที่ที่ 7,800 คน จนเมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้นในปีที่แล้ว Bloomberg LP จึงเริ่มขยายตัวอีกครั้ง และกำลังจะมีพนักงานถึง 10,000 คน ซึ่งนับว่าสวนทางกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมข่าวที่กำลังลดพนักงาน
แต่ต่อไปนี้ Bloomberg LP อาจจะเติบโตและชนะคู่แข่งได้ยากเย็นกว่าที่ผ่านมา เพราะ Reuters เพิ่งได้รับคำสั่งซื้อ 2 รายใหญ่ จาก Citigroup และ HSBC ส่วน Thomson Financial ได้ติดตั้งผลิตภัณฑ์ 28,000 จุด บนโต๊ะของตัวแทนของ Merrill Lynch ทั้งๆ ที่ Merrill Lynch ถือหุ้นถึง 20% ใน Bloomberg LP นอกจากนี้ Thomson ยังกำลังรุกขยายงาน ด้านข่าว
Grauer ยอมรับว่า ตลาดกำลังแข่งขันกันอย่างหนักหน่วง แต่เขายังคงเชื่อว่า Bloomberg LP มีอนาคตที่ยิ่งใหญ่รออยู่ข้างหน้า เขาทำนายว่า การเติบโตของบริษัทต่อจากนี้จะมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะเอเชีย Grauer ชี้ด้วยว่า มีการทำนายว่ามูลค่าของสินทรัพย์ด้านการเงินทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 140 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2005 จะเพิ่มขึ้นเป็น 214 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2010 และตลาดที่กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ นี้สอดคล้องกับจุดแข็งของ Bloomberg LP ซึ่งยังมีจุดแข็งอีกประการคือ ความเชื่อที่ว่าพวกเขาสามารถทำได้ทุกอย่าง และสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ทุกราย รวมทั้งชนะในทุกสงคราม
แต่สิ่งที่ผู้บริหาร Bloomberg LP กังวลมากที่สุด อาจเป็นความหลงลำพอง Fenwick ผู้บริหารหมายเลขสองของ Bloomberg กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของบริษัทคือ "ตัวเอง" พนักงานของ Bloomberg LP มีชีวิตที่สุขสบาย ได้รับค่าตอบแทนสูง และทำงานอยู่ในธุรกิจที่ขยายตัวจนใหญ่โต ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ยาก แต่ Fenwick ก็ชี้ว่า ทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและทำในสิ่งที่แตกต่าง
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
แปลและเรียบเรียง
ฟอร์จูน 28 พฤษภาคม 2550
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|