|
วิบากกรรม “ไทยแอร์เอเชีย”เวอร์ชั่น 3
ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ทั้งหมดของไทยแอร์เอเชียกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง และส่งผลให้ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำที่มีสโลแกนว่า “ใครๆก็บินได้”ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกแต่เป็นการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งที่สองหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไปจะเป็นการชี้ชะตาว่าไทยแอร์เอเชียจะสามารถหลุดรอดพ้นจากวิถีทางการเมืองได้หรือไม่?...
ทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสายการบินไทยแอร์เอเชียมักจะตกเป็นเป้าหมายที่โดนผลกระทบมากที่สุด ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกันเมื่อมีการอายัดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สายการบินไทยแอร์เอเชียก็ถึงเวลาปรับโครงสร้างหุ้นใหม่ขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน แม้ว่า ทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งวันนี้กลายเป็นคนไทยที่ถือหุ้นส่วนใหญ่ที่สุดของสายการบินไทยแอร์เอเชียไปแล้วจะออกมากล่าวยืนยันว่าทำทุกอย่างถูกต้องและพร้อมให้มีการตรวจสอบที่มาที่ไปของแหล่งเงินทุนก็ตาม
และด้วยเหตุผลบางประการในการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ เพียงเพื่อสร้างความโปรงใส และจะไม่มีปัญหาเรื่องนอมินี ภาพของกลุ่มชินคอร์ป-เทมาเส็ก เกี่ยวข้องกับสายการบิน เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นเป้าโจมตี และถูกโยงไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง
"เราพร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบกรณีที่ถูกระบุว่ามีการถือหุ้นแทนหรือนอมินี แต่ขณะนี้ตนได้ตัดสินใจที่จะกู้เงินจำนวนประมาณกว่า 980 ล้านเพื่อนำมาซื้อหุ้นของบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่นคืนมา เพื่อตัดปัญหาและข้อกังขาว่าเป็นการถือหุ้นแทนกลุ่มใด "ทัศพลกล่าว
หลายกรณีที่ไทยแอร์เอเชียยังคงหาบทสรุปไม่ได้ว่าผิดจริงหรือไม่เพราะขั้นตอนทุกอย่างอยู่ที่กระบวนการตัดสินความยุติธรรมของศาล ซึ่งปัจจุบันการแก้ไขปัญหาของไทยแอร์เอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใบอนุญาตไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่สัดส่วนผู้ถือหุ้นไม่เป็นไปตามกำหนดกฎหมาย ทัศพลกล่าวยอมรับว่าอยู่ขั้นตอนการฟ้องร้องดำเนินคดีและพร้อมไปเสียค่าปรับทันที
การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุดของไทยแอร์เอเชียส่งผลให้ทัศพลมีอำนาจการตัดสินใจมากที่สุดและครั้งนี้ถึงกับประกาศว่า หลังจากนี้เป็นต้นไปสายการบินไทยแอร์เอเชียพร้อมจะดำเนินการให้ถูกต้อง และขอให้ทุกฝ่ายหยุดโจมตีหรือเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
“เป้าหมายของผมคืออยากตั้งใจทำธุรกิจให้ดีที่สุด ขอให้หยุดโจมตีกันเสียที”ทัศพลตัดพ้อ
ดังนั้นเมื่อเป็นโอกาสอันดีที่ชินคอร์ปส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องการขายธุรกิจในส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป และในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมและได้บริหารสายการบินมาตั้งแต่ต้น จึงเข้าไปหารือกับชินคอร์ปและแสดงความสนใจที่จะเข้าไปซื้อหุ้น เพื่อให้สายการบินมีทิศทางการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแผน และไม่แน่ใจว่าหากชินคอร์ปขายหุ้นให้คนอื่นๆ ผู้ถือหุ้นใหม่ที่เข้ามา จะมาเปลี่ยนแปลงการทำงานที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของสายการบินที่ปัจจุบันถือว่ามีการขยายตัวที่ดี และหากยังล้างภาพการเมืองออกไปไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อพนักงานที่ทำงานกับสายการบินรวมกว่า 1,200 คนซึ่งทัศพลก็ไม่มั่นใจกับอนาคตที่เกิดขึ้น
จึงไม่แปลกที่เห็นผู้บริหารของสายการบินอีก 5 คน ได้แก่ พรอนันต์ เกิดประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน นาวาอากาศเอกธนภัทร งามปลั่ง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน ปรีชญา รัศมีธานินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม หม่อมหลวงบวรนวเทพ เทวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และ สันติสุข คล่องใช้ยา ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ ตัดสินใจที่จะเข้าไปซื้อหุ้นทั้ง 100%ในบริษัทเอเซีย เอวิเอชั่น จำกัด (AA) ซึ่งเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี ที่ถืออยู่ 50 %ในบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA)
ว่ากันว่ามีการหารือเพื่อขอซื้อหุ้นของบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ต้องเข้าไปเจรจาขอซื้อหุ้นกับทางชินคอร์ปที่ถืออยู่ 49% และหุ้นของ สิทธิชัย วีระธรรมนูญ ที่ถืออยู่ 51% ซึ่งได้หารือกันมานานกว่า 4-5 เดือนแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาเร่งจะซื้อขายในช่วงที่มีการอายัดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ที่ปิดดิลล่าช้า เพราะต้องวิ่งเจรจาขอกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศก่อน ซึ่งธนาคารก็กลัวเรื่องการเมือง ไม่ปล่อยกู้ให้
“ยอมรับว่ารู้สึกเสียใจ จนต้องมองหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ มาตกลงกันได้กับธนาคารเครดิต สวิส สาขาสิงคโปร์ ซึ่งเป็นธนาคารที่สายการบินทำเรื่องเฮดจิ้งน้ำมันอยู่ และที่ต้องไปกู้ที่สิงคโปร์ เพราะสาขาของธนาคารเครดิต สวิส ในไทย จะทำเฉพาะเรื่องซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น ไม่มีเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ"นายทัศพล กล่าว
ขณะเดียวกันธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อกว่า 980 ล้านบาท สัญญาเงินกู้ 5 ปี ใช้หุ้นของสายการบินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน พร้อมเงื่อนไขต้องนำบริษัทไทยแอร์เอเชีย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี เพื่อระดมทุนนำเงินมาใช้หนี้ ซึ่งธนาคารดูแผนธุรกิจ 5 ปีของสายการบินแล้วมั่นใจว่าไปได้ดี จึงอนุมัติให้ซื้อหุ้นจำนวน 20.09 ล้านหุ้นที่ชินคอร์ปถืออยู่ มูลค่า472.11 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 23.50 บาท (อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นพี/อี เรโช 15 เท่าและกำไรจากการดำเนินงานในปีนี้ประมาณ 150-200 ล้านบาท) ส่วนเงินที่เหลือ จะใช้ซื้อหุ้นอีก 51% ที่นายสิทธิชัย วีระธรรมนูญถืออยู่ รวมถึงการจ้างทนายความ เพื่อตรวจรายละเอียดของสัญญา
เมื่อมีการซื้อขายหุ้นทั้งหมดจะปิดดิลและทำสัญญากันได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ และจากนั้นจะส่งรายละเอียดอย่างเป็นทางการในการปรับโครงสร้างใหม่แจ้งไปยังกรมการขนส่งทางอากาศหรือขอ.ตามขั้นตอน ซึ่งมั่นใจว่าได้ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามพรบ.เดินอากาศไทย 2597 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม2542 ที่ระบุว่าสายการบินสัญชาติไทย ต้องเป็นนิติบุคคลไทยและมีบุคคลธรรมดาถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่า 51%
หลังการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่บริษัทแอร์เอเซีย เอวิเอชั่น จำกัด แล้ว จะมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดารวม 51% และมีแอร์เอเชีย มาเลเซีย ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมก็ยังคงถืออยู่ 49% ซึ่งการปรับโครงสร้างครั้งนี้น่าจะจบลงโดยไม่มีใครติดใจโดยไม่นำเรื่องการเมืองเข้ามาโยงอีก และพนักงานก็จะได้ทำงานเต็มที่มีความรู้สึกมั่นคงต่ออนาคตเสียที เพื่อให้บริษัทนี้เดินหน้าต่อไปด้วยดี
กรณีใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยาน(ทะเบียนอากาศยานสัญชาติไทย)ที่ขาดสิทธิไปในช่วงระหว่างวันที่ 23 มกราคม-14กุมภาพันธ์2549 อันเป็นผลจากที่ชินคอร์ปขายหุ้นให้เทมาเสกนั้น บริษัทต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวน 4,000 บาทต่อเที่ยวบิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งก็พร้อมจะจ่ายเพื่อยุติปัญหาทั้งหมด เพื่อจะได้ขยายธุรกิจตามแผน 5 ปีที่ได้วางไว้ โดยจะใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางในการบิน และขยายเครือข่ายเส้นทางบินสู่ภูมิภาคอินโดจีน อินเดีย และจีนต่อไป
และภายใน 5 ปีนี้ สายการบินจะมีจุดบินรวมทั้งหมดกว่า 35 จุดบิน และมีฝูงบินใหม่แอร์บัส320 ขนาด 180 ที่นั่ง ที่เช่ามาจากสายการบินแอร์เอเชีย รวมกว่า 40 ลำ แทนเครื่องโบอิ้ง 737 โดยจะทยอยรับมอบตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อนำมาให้บริการขยายเส้นทางบินครอบคลุมทุกจุดบินทั่วภูมิภาคนี้ภายในรัศมีการบินไม่เกิน 3 ชั่วโมง และเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 4,000 คน คาดว่าผู้โดยสารและเที่ยวบินจะขยายตัวอยู่ที่ 20-30% เพราะตั้งแต่เปิดให้บริการไทยแอร์เอเชียก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีแรกขาดทุน 200 ล้านบาทมีผู้โดยสาร 1.2 ล้านคน ปีที่สอง กำไร 150 ล้านบาท ผู้โดยสาร 1.8 ล้านคน ปีที่สาม กำไร 50 ล้านบาทผู้โดยสาร 3 ล้านคน ปีนี้น่าจะกำไรอยู่ที่ 200 ล้านบาท จากผู้โดยสารจำนวน 4.2 ล้านคน
ขณะเดียวกันด้าน ชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) มีการเปิดเผย ข้อมูลสัดส่วนหุ้นในบริษัทไทยแอร์เอเชีย ที่แจ้งต่อกรมการขนส่งทางอากาศปัจจุบัน ระบุว่าบริษัทมาเลเซีย แอร์เอเชีย(ต่างชาติ) ถือหุ้น 49% นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ถือหุ้น 1% และบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น ถือหุ้น 50% ซึ่งมีนายสิทธิชัย วีระธรรมนูญ ถือหุ้น 51% และบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น ถือหุ้น 49% ใน บ.เอเชีย เอวิเอชั่น
ปัจจุบันทาง ขอ.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การถือหุ้น 51% ของนายสิทธิชัยใน บ.เอเชียเอวิเอชั่น เป็นการถือหุ้นแทน ก็จะทำให้ไทยแอร์เอเชียถือหุ้นโดยต่างชาติ 99% คือหุ้นของมาเลเซีย แอร์เอเชีย รวมกับหุ้นของเอเชียเอวิเอชั่น มีคนไทยถือเพียง 1% และขาดคุณสมบัติทันที แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้คำตอบ จึงยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
ทั้งนี้ การถือหุ้นเดิม มีคนไทยถือ 70% และมาเลเซีย แอร์เอเชีย 30% ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหุ้น โดยบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นเข้ามาถือหุ้น 50% มาเลเซีย แอร์เอเชียถือหุ้น 49% และนายทัศพลถือหุ้น 1% เนื่องจากบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีคนไทยถือหุ้นน้อยกว่า 51% จึงทำให้สายการบินไทยแอร์เอเชียขาดคุณสมบัติและใบอนุญาตประกอบการบินจะสิ้นสุดลงทันที ตั้งแต่ 22 ก.ย.2547 ถึง 14 ก.พ.2549 เพราะในวันที่ 14 ก.พ.2549 บริษัทแอร์เอเชียได้แจ้งเปลี่ยนสัดส่วนหุ้น (ช่วงขายหุ้นเทมาเส็ก) โดยมีบริษัทมาเลเซีย แอร์เอเชีย(ต่างชาติ) ถือหุ้น 49% นายทัศพล ถือหุ้น 1% และบริษัทเอเชียเอวิเอชั่น ถือหุ้น 50% พร้อมขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจการบินในนามของการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหุ้นครั้งล่าสุด
"โดยในช่วงที่บริษัทชินคอร์ปอเรชั่นเข้ามาถือหุ้น 50% ทำให้ขาดคุณสมบัติในการได้รับใบอนุญาตประกอบการบิน ขอ.ได้ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีไว้ที่สถานีตำรวจดอนเมืองแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการระหว่างส่งเรื่องให้อัยการเพื่อดำเนินคดี ฟ้องร้องในขั้นศาลต่อไป"
ก่อนหน้านี้ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บอกว่า ตนเองได้มาติดตามกรณีสายการบินไทยแอร์เอเชีย กระทำผิดและไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจการบินที่กำหนดให้ต้องมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% จึงได้เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางอากาศได้พิจารณาเพื่อสั่งระงับการเงินของไทยแอร์เอเชียโดยเร็ว หากดำเนินการล่าช้าถือว่ามีการทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
"การเอาผิดไทยแอร์เอเชียย้อนหลังต้องเอาผิดทางแพ่งด้วย เพราะถือว่าได้ทำผิดมาตั้งแต่ต้น หากไทยแอร์เอเชียต้องการเปิดให้บริการจะต้องจดทะเบียนสายการบินใหม่ และดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายหากตรวจสอบว่าใบอนุญาตใช้สิทธิทางการบินเป็นโมฆะจะต้องระงับการบินทันที" พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวพร้อมกับเสริมว่า ไทยแอร์เอเชียจดทะเบียนเครื่องบินที่ให้บริการในประเทศไทยจำนวน 9 ลำ แต่ปัจจุบันมีเพียงเครื่องบินแค่ลำเดียวเท่านั้นที่ใช้ชื่อไทยแอร์เอเชีย ส่วนอีก 8 ลำนั้นยังคงใช้โลโก้แอร์เอเชียซึ่งเป็นของมาเลเซียบินอยู่ และด้วยจำนวนเที่ยวบินที่ไทยแอร์เอเชียบินอยู่ในหนึ่งปีมีการสำรวจพบว่าสูงถึง 2.39 หมื่นเที่ยวบิน
“หากไทยแอร์เอเชียยังคงมีปัญหาและไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้แล้ว เชื่อได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินภายในประเทศของไทยอย่างแน่นอน”พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|