|
SC หาทางชิ่งออกจากตลาดหุ้น เลี่ยง “คตส.-ก.ล.ต.” ล้วงหลักฐานฟัน “ทักษิณ”
ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 มิถุนายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เอสซี แอสเซท อ่วม ทั้งโดนอายัดบัญชีในบริษัทย่อยของครอบครัว แถมดีเอสไอฟันธง “ทักษิณ” เข้าข่ายซุกหุ้นไม่ยื่นบัญชี มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ถึงขั้นเจอคุก 5 ปี คาดไม่ช้า SC ออกจากตลาดหุ้น ใช้เงินไม่ถึงพันล้านซื้อหุ้นคืนเพื่อเลี่ยง “คตส.-ก.ล.ต.” สาวข้อมูลเชิงลึกดำเนินคดี “ทักษิณ-พจมาน”
การอายัดทรัพย์จำนวน 21 บัญชี ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เมื่อ 11 มิถุนายน 2550 ตามมาด้วยการอายัดเพิ่มเติมอีก 7 บัญชีเมื่อ 18 มิถุนายน หลังจากที่ตรวจสอบผลว่าเงินหายไปจากบัญชีอีก 8 พันล้านบาท ถัดมาอีก 1 วันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้สรุปสำนวนสอบสวนในเรื่องการถือครองหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC
จากโครงสร้างอันสลับซับซ้อนในการถ่ายหุ้นไปมา ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของหุ้นและเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการเกี่ยวกับหุ้น SC และสงสัยว่าบริษัท วินมาร์ค และกองทุนในต่างประเทศที่รับโอนหุ้น SC อาจเป็นนิติบุคคลอำพรางการถือหุ้น (Nominee) ของทักษิณกับครอบครัว
ข้อสรุปของ “ดีเอสไอ” ชัดเจนว่า การดำเนินการโยกย้ายหุ้นของ SC ในครั้งนี้เข้าข่ายไม่แสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน และอาจเป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่อาจถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งถือเป็นคนละคดีกับคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย รวมถึงเข้าข่ายความผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่มีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนับจากนี้ไป ผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างอดีตนายกรัฐมนตรีจะต้องชี้แจงเรื่องที่มาที่ไปของหุ้นดังกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อ 20 มิถุนายน 2550 ทาง ตคส.ยังได้อายัดบัญชีเพิ่มเติมอีก 7 บัญชีมูลค่า 4.957 พันล้านบาท รวมแล้วทาง คตส.อายัดบัญชีของบุคคลในครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ทั้ง 35 บัญชี
ผลจากคำสั่งอายัดทรัพย์ในบัญชีของคนในครอบครัวชินวัตร และดามาพงศ์ ได้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของ SC ลดลงจาก 10.60 บาท เหลือ 8.55 บาท ลดลงไป 19.34%
เพิกถอนโดยสมัครใจ
แหล่งข่าวจากวงการหุ้น กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ SC นั้นถือเป็นผลกระทบจากจิตวิทยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีการโอนหุ้นกันไปมา ในส่วนของปัจจัยพื้นฐานของตัวธุรกิจ SC ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รายได้หลักจากค่าเช่าต่างๆ ยังเหมือนเดิม เชื่อว่าปัญหาใน SC อาจจะยังไม่จบสิ้นจากผลทางคดีที่เชื่อมโยงไปยังคนในครอบครัวชินวัตร ดังนั้นราคาหุ้นมีสิทธิที่จะอ่อนตัวลงได้อีก
ด้านแหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า หากปัญหาที่เกิดขึ้นกับ SC ยืดเยื้อต่อไป ความเป็นไปได้สูงว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของอาจตัดสินใจนำหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการออกจากตลาดหลักทรัพย์ด้วยความสมัครใจ
เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการถือหุ้นปัจจุบัน ทั้ง แพทองธาร พิณทองทา และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และบรรณพจน์ ดามาพงศ์ (พี่ชายบุญธรรม) ถือหุ้นรวมกัน 211.134 ล้านหุ้น มีหุ้นที่เหลือที่ไม่ใช่คนในครอบครัวอีก 109.87 ล้านหุ้น การใช้เงินทำการซื้อหุ้นคืนเพื่อขอออกจากตลาดหลักทรัพย์ หากยึดจากราคาที่ 8.55 บาท จะใช้เงินราว 939 ล้านบาทเศษเท่านั้น เงินจำนวนนี้คงไม่ใช่ปัญหาสำหรับครอบครัวชินวัตร
แต่อาจจะใช้เงินน้อยกว่านี้ หากผู้ถือหุ้นปัจจุบันตามรายชื่อที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 5 เมษายน 2550 เป็นตัวแทนถือหุ้นให้กับครอบครัวชินวัตรหลังจากที่กองทุนโอเวอร์ซีส์ และกองทุนออฟชอร์ ไดนามิกฟันด์ ได้ขายหุ้นออกมาเมื่อพฤษภาคม 2549
“เท่าที่ทราบมาหากมีการซื้อคืนหุ้น SC เพื่อออกจากตลาดหลักทรัพย์ ทางผู้ถือหุ้นใหญ่จะมีการบวกเพิ่มราคาให้ในระดับหนึ่ง”
จากนั้นการต่อสู้ทางคดีก็ดำเนินต่อไปโดยไม่กระทบต่อราคาหุ้น แต่จะทำให้มูลค่ารวมของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หายไปราว 2.8 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มาก
ตามข้อมูลยากขึ้น
แม้ว่าการออกจากตลาดหุ้นของ SC จะทำให้บริษัทไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนตอนที่อยู่ในตลาด ตามเกณฑ์ที่รัฐบาลไทยรักไทยได้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% เป็นระยะเวลา 5 รอบบัญชี แต่หากออกจากตลาดหลักทรัพย์ได้เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับครอบครัวชินวัตรมากกว่า
ทั้งนี้ การออกจากตลาดหลักทรัพย์ แม้ว่าจะไม่ช่วยให้คดีที่เกิดขึ้นในเวลานี้ลดความเข้มข้นลง แต่หากคดียืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ การติดตามหรือสืบคืนข้อมูลของครอบครัวชินวัตรก็จะยากขึ้น รวมถึงไม่ต้องมาเสี่ยงกับความผิดที่จะเกิดขึ้นจากการรายงาน ไม่รายงาน หรือการปกปิดข้อมูลที่ต้องแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกต่อไป
ที่สำคัญ หากคดียืดเยื้อออกไป ผ่านพ้นรัฐบาลชุดปัจจุบัน เอสซี แอสเซท จะกลายเป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญให้กับครอบครัวชินวัตรในการดำเนินการใดๆ และการตรวจสอบจะไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกต่อไป
“ทักษิณ” พลาด
เขากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาหลังจากครอบครัวชินวัตรขายหุ้นชินคอร์ป ออกไปให้กับเทมาเส็ก โฮลดิงส์ จากสิงคโปร์ เมื่อ 23 มกราคม 2549 แต่ยังเหลือกิจการที่เป็นของครอบครัวจริง ๆ ที่ถือครองหุ้นใหญ่และมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ คือ บริษัท เอสซี แอสเซท จำกัด (มหาชน) ดังนั้น บริษัทแห่งนี้จึงกลายเป็นที่จับตาของคนทั่วไปว่าจะกลายเป็นฐานธุรกิจที่สำคัญของครอบครัวชินวัตร
เมื่อมีการยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 19 กันยายน 2549 ครั้งนั้นยังไม่มีการดำเนินการยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ได้มีการอายัดทรัพย์จริงๆ คือในวันที่ 11 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา
“ไม่รู้ว่าเป็นความประมาท หรือมั่นใจอะไรสำหรับครอบครัวชินวัตร ที่โอนเงินจากการขายหุ้นมูลค่า 7.3 หมื่นล้านมาลงในบัญชีของลูกๆ และเครือญาติในบริษัทย่อยของ SC ทั้งๆ ที่คุณทักษิณเป็นคนที่รอบคอบมาก ซึ่งในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการนั้นการโอนเงินเหล่านี้ไปยังบัญชีในต่างประเทศคงทำได้ไม่ยาก”
ด้วยความที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นต้องมีการเปิดเผยธุรกรรมต่างๆ ต่อตลาดหลักทรัพย์ตลอดเวลา การสืบค้นข้อมูลทั้งตัวบริษัท SC และบริษัทย่อยต่างๆ ทำได้ไม่ยากนัก อีกทั้งบริษัทอื่นๆ ที่ถูกอายัดบัญชีนั้นก็ตรวจสอบได้ด้วยการตามเส้นทางของเงินที่โอนไปตามที่ต่างๆ ที่ คตส.ใช้อยู่
บริษัทย่อยเหล่านี้รวมถึงบัญชีเงินฝากล้วนแล้วแต่อยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้น ดังนั้น การตรวจสอบจึงทำได้ค่อนข้างง่าย อีกทั้งคุณนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัวยังแจกแจงบัญชีที่โอนเงินจากการขายหุ้นไปบัญชีเงินฝากต่างๆ ทำให้ คตส.ดำเนินการอายัดในเวลาต่อมา
แม้ว่าเงินจากการขายหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาทนั้น อาจจะยังอยู่ในประเทศไทย การอายัดนั้นไม่ได้หมายความว่าจะยึดเงินในบัญชีเหล่านั้นได้ทั้งหมด หากคนในครอบครัวชินวัตรสามารถนำเอาหลักฐานมาชี้แจงได้
อย่างไรก็ตาม การเดินหมากเพื่อแก้เกมที่ คตส.และหน่วยงานของรัฐที่ไล่บี้ทรัพย์สมบัติของครอบครัวชินวัตร คงไม่มีแค่เพียงการนำเอา SC ออกจากตลาดหุ้นเท่านั้น เงินบัญชีอื่นๆ หรือวิธีการแปรรูปเงินไปในรูปแบบของการลงทุนต่างๆ ที่ยังรอดพ้นการตรวจสอบ น่าจะยังมีมากพอที่จะนำมาใช้ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากอย่างเช่นปัจจุบัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|