39 ปีที่ วีระ สุสังกรกาญจน์ เคี่ยวกรำในงานรับราชการ โดยเฉพาะในกระทรวงอุตสาหกรรมที่เขาได้เกิด
และเติบโตจากนักอุตสาหกรรมโทหนุ่ม เมื่อ 34 ปีที่แล้ว จนกระทั่งได้เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อปี
2525-27 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
การที่คนๆหนึ่งจะดำรงตนอยู่ได้ท่ามกลางผลประโยชน์ของบางกลุ่มระดับยิ่งใหญ่
เป็นเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะแต่ละกลุ่มผลประโยชน์ในธุรกิจอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่เช่นอุตสาหกรรมเหล้า
หรืออุตสาหกรรมรถยนต์ที่ว่ากันเป็นตัวเลขนับหมื่นนับแสนล้านบาท
ชีวิตของข้าราชการระดับบริหารอย่างวีระจึงเปรียบเสมือนการไต่เส้นลวด !
ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยวีระ ยังดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระททรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี
2527 เขาก็ได้เคยผ่านความเจ็บปวดช้ำชอกใจมาแล้ว จาการโดนย้ายอย่างสายฟ้าแลบเข้าประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เพราะไม่สนองตอบต่อนโยบายของนักการเมืองอย่างอบ วสุรัตน์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนั้น
ในกรณีนโยบายการรวมบริษัทเหล้าสองบริษัท คือสุรามหาราษฎรและสุราทิพย์เข้าด้วยกัน
จากวันคืนอันขมขื่นใจตั้งแต่ปี 2527 จนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อปีที่แล้ว
เป็นเวลาห้าปีเต็มๆ ที่วีระต้องตกอยู่ในสภาพ "คนนอก" มาตลอด แบบข้าฯรู้ข้าฯเห็น
แต่ข้าฯทำอะไรไม่ได้
แต่วันนี้ วีระมีอำนาจของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ในมือที่จะตัดสินใจเรื่องทมี่เขาคิดว่าไม่เป็นธรรม
และนโยบายเปิดเสรีก็เป้นทางออกหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการสะท้านฟ้าสะเทือนดินกันทั้งวงการอุตสาหกรรม
"บางคนบอกว่า นโยบายเสรีเป็นดาบสองคมที่อาจทำให้อุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วพังไปเลยก็ได้
มันก็คงจะไม่ใช่อย่างนั้น เพราะผมอยู่ในวงการอุตสาหกรรมมานานพอสมควร เรารู้ว่าเป็นอะไรเป็นอะไรที่เสรีนั้นเป็นการแก้เรื่องความไม่เป็นธรรมเป็นส่วนใหญ่
ไม่ใช่เสรีจนไปทำให้ผู้ประกอบการที่มีอยู่ล้มหายตายจากไป" ถ้าผู้ประกอบการฟังถ้อยคำของวีระก็คงจะร้องว่าไม่จริง
แต่สำหรับประชาชนทั่วไปต่างยินดีแซ่ซ้องสรรเสริญนโยบายการแก้ไขการผูกขาด-ตัดตอน
หนึ่งนโยบายที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินมโหฬาร ก็คือนโยบายปล่อยให้อุตสาหกรรมรถยนต์มีการแข่งขันเสรีด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีรถยนต์ทั้งระบบ
ตั้งแต่วัตถุดิบที่ผลิตชิ้นส่วน ภาษีรถยนต์สำเร็จรูปและภาษีชิ้นส่วนนำเข้าซีเคดี
โดยเป็นการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม-พาณิชย์และคลังแล้วผ่านเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการกลั่นกรองซึ่งมี
สุธี สิงห์เสน่ห์เป็นประธาน
"ความจริงบริษัทรถยนต์คิดว่ารัฐบาลจะไม่ทำจริง จึงไม่มีการเตรียมตัว
แต่พอนโยบายนี้ออกมาก็มีการโวยวายเป็นธรรมดา ผมไม่ได้คิดอะไรขึ้นมาลอยๆ หรือเล่นกับความคิดเฉยๆแต่ทำจริงๆ"
ด้วยจุดยืนที่ต้องการเปิดเสรีรถยนต์ของวีระเช่นนี้ จึงทำให้ผู้บริหารบริษัทรถยนต์หันเข้ามารัฐมนตรีว่าการดร.ลิปนนท์
เกตุทัตแทน
แต่งานนี้ วีระได้รับมอบหมายจากดร.ลิปปนนท์ ในที่สุด วันที่ 12 มิ.ย.ก็ได้ปรากฏตัวเลขภาษีนำเข้ารถยนต์ใหม่จะเก็บเพียง
60 %เท่านั้น (ยังไม่รวมค่าภาษีอื่นๆอีก) จากเดิมที่เคยเสียภาษีนำเข้า 180%
รวมค่าภาษีอื่นๆจะต้องมีภาษีที่ต้องเสียรวม 400% สำหรับต่ำกว่า 2,300 ซีซีและ
600% สำหรับรถเกินกว่า 2,300 ซีซี
นอกจากนั้นยังยกเลิกเก็บภาษีเซอร์ชาจหรือค่าธรรมเนียมพิเศษทั้งหมด จากเดิมที่เคยเก็บ
30-100% ของราคาบวกภาษีแล้ว ส่วนอัตราภาษีชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่นำเข้าเดิมเก็บในอัตรา
112% ปรับลดเหลือ 20% เท่านั้นทั้งนี้จะไม่มีการแบ่งเป็นรถต่ำกว่าหรือสูงกว่า
2,300 ซีซีอีกต่อไป
"เชื่อว่าถ้าหากประกาศภาษีใหม่จะทำให้ราคารถยนต์ในประเทศถูกลง 20-25%
แต่คงจะไม่ถูกลงทันที เพราะยังมีปัญหาสต็อกเก่าซึ่งต้องใช้เวลา 5-6 เดือน
ทางออกของบริษัทรถยนต์ก็คือ จะต้องมีการลดราคาโดยคิดราคาเฉลี่ยทั้ง 6 เดือน
เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุดเช่น BMW ทำไปแล้ว หรือไม่รัฐบาลก็ต้องชดเชยภาษีให้
ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณา" แนวทางการดำเนินการนี้เป็นสิ่งที่รมช.วีระ
ได้ทำอยู่
สำหรับผลกระทบที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 150 ราย วีระกล่าวว่ามีบางรายแจ้งว่าไม่เดือดร้อน
เพราะเป็นรายที่มีคุณภาพมาตรฐานดี ที่มีตลาดลูกค้ารองรับอยู่แล้วโดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ
ซึ่งให้ราคาดีกว่าในประเทศ ส่วนพวกที่เดือดร้อนคือ พวกที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ เช่น ซัมมิทออโตพาร์ทมีคุณภาพมาตรฐานดี ศิริบูรณ์
เนาว์ถิ่นสุขให้ข้อคิดว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ อาจไม่ได้ผลกระทบที่เสียหายจากการดำเนินนโยบายเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์และการปรับโครงสร้างภาษีเลย
เพราะว่าชิ้นส่วนที่ผลิตมุ่งตอบสสนองโรงงานประกอบรถปิคอัพและรถบรรรทุกมากกว่ารถยนต์นั่ง
กระนั้นก็ตามวีระก็ย้ำว่า "เราพยายามช่วยพวกนี้ โดยจะพยายามชี้แจงกับกระทรวงการคลังให้มีการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้
ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเศรษฐกิจต่อไป"
"จริงๆแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับตัวภาษีที่จะมีการปรับใหม่ เนื่องจากไม่ทำให้เกิดการแข่งขันมาก
เพราะอัตราช่องว่างระหว่างซีเคดี. (ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์แบบถอดแยกส่วน)กับซีบียู.(การนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน)
ยังห่างกันถึง 40% ถ้าจะให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ควรจะห่างกันเพียง
15-20% เท่านั้น แต่ทางกระทรวงการคลังยืนยันว่าสามารถลดให้ได้เพียงเท่าที่เห็น"วีระเล่าให้ถึงจุดต่างของเขากับคลัง
งานนี้เป็ฯที่เชื่อว่าเมื่อลดภาษีแล้วอาจจะไม่มีการนำเข้ารถยนต์มากนัก เพราะบริษัทรถยนต์จะต้องนั่งดีดลูกคิดตัวเลขว่าจะประกอบในประเทศดีกว่า
หรือนำเขส้าคุ้มกว่าเพราะว่าราคานาเข้าบวกภาษียังสูงกว่าประกอบรถเองในประเทศ
และการนำเข้าต้องทำเป็นล็อตใหญ่จึงจะคุ้ม โดยเฉพาะบางบริษัทที่มีปัญหาการผลิตจะพึ่งการนำเข้า
"ถือว่านี่เป็นการกระตุ้นตลาดให้บริษัทรถยนต์ตื่นขึ้นมาดูตัวเอง และพัฒนาคุณภาพเพื่อรองรับการแข่งขัน"
ในปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์นั่งมีถึง 65,885 คัน รถปิกอัพผลิตได้ 67,613
คัน และรถบรรทุก 70,509 คัน คิดเป็นยอดขายก็มีมูลค่าทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 250,308
ล้านบาท ทั้งนี้สัดส่วนการถือครองตลาด 90%เป็นรถค่ายญี่ปุ่น ที่เหลือเป็นรถค่ายยุโรป
"ที่ผ่านมานับว่า บริษัทรถยนต์และโรงงานประกอบรถรวยกันมามากพอแล้ว"
วีระกล่าว
นี่เป็นสิ่งที่วีระรู้อยู่เต็มอกถึงงนโยบายที่รัฐบาลได้อุ้มชูคุ้มครอง
อุตสาหกรรมนี้มาไม่ต่ำกว่า 30 ปี โดยหวังว่าจะพัฒนาไปสู่ขั้นส่งออกได้ โดยบังคับให้ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ
54% สำหรับรถยนต์นั่ง และ 70%สำหรับรถปิกอัพซึ่งก็ไม่ได้สลักสำคัญอันใด เพราะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากมาย
ขณะที่ชิ้นส่วนที่นำเข้าต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงและคุณภาพและราคาเอาเปรียบผู้ซื้อมาก
บางรายก็อ้างเหตุผลขึ้นราคารถเพราะค่าราคาเงินเยนสูง ทั้งที่ผลิตไม่ทันกับความต้องการ
ด้วยความไม่เป็ฯธรรมนี้วีระเล่าให้ฟังว่ารัฐจึงคิดว่าน่าจะพัฒนาให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น
ซึ่งที่ทำมาก็คือยกเลิกจำกัดซีรี่ส์ต่อมาคือนโยบายนำเข้ารถยนต์ต่ำกว่า 2,300
ซ๊ซ๊ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นตลาด และที่สำคัญก็ได้เปิดเสรีโรงงานประกอบรถยนต์นั่งและยกเลิกการบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศด้วย
"มีบริษัทรถยนต์มากมายสนใจจะเข้ามาไม่ว่าจะเป็นบริษัทรถยนต์จากสเปน
บราซิลและเกาหลี ที่สนใจจะลงทุนชิ้นส่วนจนถึงโรงงานประกอบรถยนต์เพื่อส่งออก
ซึ่งผมว่าถ้าเกาหลีเข้ามาก็จะกระตุ้นตลาดได้มาก เพราะเกาหลีเป็นคู่แข่งที่สำคัญของญี่ปุ่น"
ถ้าหากการเข้ามาของบริษัทรถยนต์ต่างๆตามที่ รมช.วีระ เล่าให้ฟังนี้เกิดขึ้นในอนาคตตลาดการแข่งขันเสรีคงจะเอื้ออำนวยให้ตลาดเป็นของผู้ซื้อมากขึ้น
แต่อนาคตคือ สิ่งไม่แน่นอน ยิ่งบนผลประโยชน์ก้อนมหาศาลมูลค่านับแสนๆ ล้านบาทนี้
ที่ผูกพันเชิงธุรกิจการเมืองนี้แล้ว ยิ่งพิสูจน์ได้ว่าอำนาจอิทธิพลของผู้ประกอบการมีมากน้อยเพียงใด
แค่ลองคิดเล่นๆว่าร้อยละ 2 ของเงินสองแสนล้านบาทจะเป็นเงินก้อนเท่าใด? ที่จะผลักดันให้กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองบีบบังคับนโยบายให้ตีบตันได้
เรื่องเช่นนี้วีระเคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว ผิดกันที่อดีตเขาเป็นเพียงผู้ถูกกระทำแต่มามางานยักษ์คราวนี้
เขาเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ ถ้าเกิดมรรคผลสำเร็จ ก็ต้องนับว่าวีระสุสังกรการญจน์คนนี้ได้ล้างมือในอ่างทองคำได้อย่างงดงามด้วยวิถีแห่งคนกล้า