ประวัติ ปิยะชน อัศวินผู้พิชิตระยะทาง 4,000 กม.


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ความนิยมเล่นรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ตั้งแต่ 250 ซีซี ขึ้นไปจนกระทั่ง 1,000 ซีซีในหมู่เศรษฐีกำลังมาแรงในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีการรวมกลุ่มผู้รักกีฬาท้าทายมฤตยูความเร็วแรงกันตามยี่ห้อรถมอเตอร์ไซด์เช่นกลุ่มทีไบค์ก็จะรวมผู้เล่นรถใหญ่เฉพาะยี่ห้อ BMW ราคาคันละ 3 แสนกว่าถึง 5 แสนบาทเป็นต้น

จากกีฬาที่นิยมได้พัฒนากลายเป็นธุรกิจที่ค้ากันเป็นเงินลงทุนนับ 20-30 ลานบาท ลูกค้าก็เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงที่คอเดียวกัน หรือไม่ก็บอกกันปากต่อปาก

เศรษฐีหลายคนไดกระโดดเข้ามาสนุกในวงการค้ารถมอเตอร์ไซค์ใหญ่ อาทิเช่น ร้านซุปเปอร์เคไบค์ที่ลูกชายเกษม จาติกวณิช เข้าร่วมหุ้นใหญ่ด้วย

และในยุทธจักรนักบิดรถใหญ่ใจสปอร์ต ประวัติ ปิยะชน เป็นลูกผู้ชายชาวจัมโบ้คนหนึ่งที่รักความท้าทาย เรียบง่ายและจริงใจ "สำหรับคนที่ต้องการเติมบางสิ่งบางอย่างให้กับชีวิตที่ขาดหายไป" กีฬาบิดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ แบบที่เรียกว่า "ซุปเปอร์ไบค์" ให้วามรู้สึกทดแทนเช่นนี้ได้

"ผมรู้สึกลืมความปวดหัวทันทีที่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ ถ้าว่างจากการเล่นกอล์ฟ" ประวัตเล่าให้ฟัง

ทุกวันนี้ประวัติทำหน้าที่รักษาการ ตำแหน่งประธาน "ชมรมจัมโบ้ ซุปเปอร์ไบค์แห่งประเทศไทย"อยู่ ขณะที่ภารกิจหน้าที่การงานก็ใหญ่โตไม่เบา เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท KUME CONSULTANTS (THAILAND) ที่ทำโครงการไม่ต่ำกว่าร้อยล้านเช่นศูนย์วัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น

ประวัติมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบญี่ปุ่น ไม่ใช่เพราะเขามีภรรยาญี่ปุ่น แต่เป็นเพราะการหล่อหลอมพื้นฐานการศึกษาและการทำงาน นับตั้งแต่เขาได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบด้าน CIVIL ENGINEER มหาวิทยาลัย CHUO ประเทศญี่ปุ่น แต่ใจรักการเขียนแบบ จึงเป็น ARCHITECT ENGINEER และได้ทำงานกับบริษัท KUMI ไปด้วย ขณะตั้งแต่ปี 2516 จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน อายุงานนานถึง 19 ปี

ถึงแม้จะมีพันธนาการครอบครัวและงานประจำรัดตัวมมากเช่นนี้ก็ตาม แต่งานนี้คงจะกร่อยถ้าขาดเขาไป ดังนั้นประวัติจึงต้องใช้เวลาเคลียร์งานเกือบปีให้เสร็จสิ้น เพื่อจะเข้าการเดินทางในงาน "THE3THELF ASIAN HIGHWAY GRAND TOURING BIKE CARAVAN" เส้นทางที่ยาวไกลนับ 4,130 กม. จากกรุงเทพ-มาเลเซีย-สิงคโปร์เป็นเวลา 9 วันตั้งแต่ 25 พ.ค.-2 มิ.ย. 2534 และรถมอเตอร์ไซค์ใหญ่จะต้องไม่ต่ำกว่า250ซีซีตามกฎ

"ผมเดินทางมาเส้นทางนี้ 4 ปีติดต่อกันแล้ว โดยปีแรกผมใช้ซูซูกิ 750 ซีซี แต่ปีนี้ผมใช้รถ BMW K-1 ขนาด 1,000 ซีซี และในปลายปีนี้ผมอยากจะไปลาว ซึ่งมีสภาพบ้านเมืองเหมือนไทยเราเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว แต่ถ้าจะไปต้องใช้รถวิบาก เพราะถนนหนทางยังไม่ดีนัก "ประวัติเล่าให้ฟังการเสาะแสวงหาเส้นทางใหม่ที่บริสุทธิ์และท้าทาย

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละครั้ง นอกจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวเกี่ยวกับน้ำมันรถแล้วสปอนเซอร์หลักที่จัดโปรแกรมการเดินทาง GRAND TOURING BIKE CARAVAN ครั้งที่สามนี้ก็คือ น้ำมันเครื่อง "เอลฟ์" ทั้งในประเทศไทยซึ่งมีบริษัทอาร์.เอ.ซีเทรดดิ้งของเสี่ยบุญเอก โฆษานันตชัย กรรมการผู้จัดการหนุ่มวัย 36 ปีที่รักกีฬาความเร็วนี้เช่นกันเป็นผู้สนับสนุนร่วมกับบริษัทเอลฟ์ที่สิงคโปร์

บุญเอกรู้จักกับประวัติในการเข้าร่วมชมรมจัมโบ้ ซุปเปอร์ไบค์ที่ตั้งมานานนับ 4 ปี โดยมี พล.ต.ต.นิโรธ เวชศิลป์ ประธานกิตติมศักดิ์คนปัจจุบันเป็นโต้โผใหญ่ จัดให้มีการทอดผ้าป่าสามัคคีด้วยกัน รวบรวมคนรู้ใจขี่ไปทำบุญและสนุกร่วมกัน

เมื่อเริ่มปีแรกของการจัดคาราวานไปสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นการเดินทางที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับชาวจัมโบ้ ซุปเปอร์ไบค์ 74 ชีวิต ครั้งนั้นมีสองสปอนเซอร์คือ น้ำมันเครื่องเอลฟ์ และยางไออาร์ซีร่วมด้วย แต่คนเราร่วมกันได้ก็แยกกันได้เหมือนมีพบ ก็ต้องมีจากเป็นธรรมดา ดังนั้นในปีต่อมาน้ำมันเครื่องเอลฟ์จึงได้รับเป็นสปอนเซอร์งานนี้เพียงผู้เดียว

"ในการจัดคาราวานข้ามประเทศไม่ง่ายเลย เราใช้เวลา 3 อาทิตย์เตรียมงานนี้ ปีนี้ค่อนข้างฉุกละหุกทั้งๆ ที่คุณประวัติกับผมได้คุยกันตั้งแต่ปลายปีแล้ว เพราะต่างคนต่างมีงานทำเยอะ ในที่สุดเราก็ตกลงกำหนดการเดินทาง" บุญเอก โฆษานันตชัย เจ้าของบริษัทอาร์.เอ.ซี.เทรดดิ้ง ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ "เอลฟ์" ซึ่งมียอดจำหน่ายเมื่อปี 32 มูลค่า 167 ล้านบาทเล่าให้ฟัง

แผนการเดินทางสำหรับคนสามกลุ่มคือ ชาวจัมโบ้ ซุปเปอร์ไบค์ สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่เอลฟ์ ได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 3 สัปดาห์ด้วยความชำนาญที่ได้เคยทำมาแล้วสองครั้งสองหน เอลฟ์เอลฟ์เป็นสปอนเซอร์ค่าที่พักและอาหารในการเดินทางครั้งนี้ ซึ่งเฉลี่ยคนละ 7,000 บาท โดยไม่รวมค่าน้ำมันที่ชาวจัมโบ้ ซุปเปอร์ไบค์แต่ละคนต้องควักจ่ายกันเองอีกประมาณ 2,500-3,000 บาทต่อคน (เฉลี่ยค่าน้ำมันตกประมาณกิโลเมตรละ 60 สตางค์) กับค่าสมัคร 1,000 บาทที่ชมรมเก็บไปเพื่อจ่ายค่าประกันและค่าผ่านด่านเข้าเมืองมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมเบ็ดเสร็จชาวจัมโบ้คนหนึ่งจะจ่ายเพียง 3,000-4000 บาท

"ผมต้องการให้สมาชิกมาเที่ยวสามประเทศนี้ได้โดยเสียเงินน้อยที่สุดแต่สนุกที่สุดร่วมกัน "ประวัติ กล่าวถึงความมุ่งหมายนี้

ปัจจุบัน ชมรมซุปเปอร์ไบค์มีสมาชิกอยู่ราว 84 คน ไม่รวมผู้ที่ยังไม่ลงทะเบียนอีกจำนวน 20 คน "เรากะไว้ว่าจะมีชาวจัมโบ้ร่วม 50 คน แต่สรุปแล้วปีนี้น้อยกว่าที่คาดคิดไว้เพราะทางชมรมรถใหญ่ภาคใต้ เขาขอโควตาไว้ 10 คน แต่มาจริงๆ ไม่ถึง ทำให้ปีนี้มีน้อยแค่ 40 คน แต่คนน้อยก็ทำให้คุมได้ทั่วถึงดี" ประวัติเล่าให้ฟัง

"บางคนคิดว่าจะเป็นกลุ่มสมาชิกชมรมจัมโบ้นี้ได้ต้องเป็นไฮคลาส ซึ่งไม่จริงที่ว่าเป็นเกมเศรษฐี เพราะมีเพียง 20 % ของสมาชิกเท่านั้นที่เป็นเจ้าของกิจการที่มีรถราคา 3 แสนบาทขึ้นไป แต่สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รักและรู้จักรถเป็นชีวิตจิตใจจริงๆ ซึ่งเราก็มีการคัดเลือกผู้มีประสบการณ์และสอบผ่านการทดสอบถึงสองครั้งกว่าจะรับ"ประวัติเล่าให้ฟังถึงสมาชิกชมรมฯ

ขณะเดียวกันอนาคตของชมรมจัมโบ้ซุปเปอร์ไบค์ บุญเอกในฐานะสมาชิกผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า "ตามเป้าหมายผมคิดว่า เราน่าจะยกระดับกลุ่มจัมโบ้ให้เป็นกลุ่มระดับอินเตอร์เนชั่นแนล โดยจะเพื่อนจัมโบ้ชาวต่างชาติเช่นกลุ่ม 27 ของสิงคโปร์ ซึ่งเขากะจะมาเที่ยวไทยปลายปีและปีหน้าซึ่งจะเป็นปี ASIAN YEAR 1992 เราก็เทคแคร์เขา หรืออย่างกลุ่มชาวต่างประเทศที่มาทำงานในไทยเราก็หาเช่ารถให้เขาได้จากสมาชิกของเรา หรือพัฒนาสตรีให้เข้ากลุ่มจัมโบ้ ซุปเปอร์ไบค์ได้"

การพัฒนาชมรมจัมโบ้ซุปเปอร์ไบค์ที่มีทีท่าจะเติบใหญ่ในอนาคต และเข้าเกี่ยวพันกับกลุ่มผลประโยชน์ที่สลับซับซ้อนอย่างบริษัทน้ำมันเครื่องค่ายต่างๆ ซึ่งมีการแข่งขันกันรุนแรงในตลาดมูลค่านับพันล้านนี้ ทำให้ชมรมถูกตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระแค่ไหน?

"เราสามารถจะร่วมจัดงานกับใครก็ได้ งานนี้กับเอลฟ์ งานปลูกป่ากับคลาสตรอล หรือโครงการวิจัยสิ่งแวดล้อมที่ญี่ปุ่นให้ทุน 6-7 ร้อยล้านกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เราก็เข้าไปช่วยอะไรที่เป็นธุรกิจ เราพยายามให้มีน้อยที่สุด ไม่เป็นชมรมที่สร้างประโยชน์ให้คนใดคนหนึ่งแต่ผมอยากเห็นความรักและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันมากว่า"ประวัติ ผู้รักษาการประธานชมรมฯ บ่งบอกความในใจ

ตลอดการเดินทาง 4,130 กิโลเมตรที่ต้องฝ่าคลื่นลมและฝนที่ตกกระหน่ำ เหล่าอัศวินผู้พิชิตใหญ่น้อยเหล่านี้ต่างไม่ท้อถอย หลายคนใฝ่ฝันจะหวนกลับไปสัมผัสถนนสายปรารถนาที่น่าประทับใจอย่าง PLAZA TOLLWAY ในประเทศมาเลเซีย ที่อัศวินเหล่านี้จะบิดได้ด้วยความเร็วท้ามฤตยูถึง 260-300 กิโลเมตรต่อชั่งโมง ตามพลกำลังของม้าเหล็กที่ตนเองเป็นเจ้าของ

แต่สำหรับประวัติ ปิยะชน คนนี้แล้ว การแสวงหาถนนสายใหม่แบบป่าเถื่อนและบริสุทธิ์ยังเป็นสิ่งท้าทาย นี่คือภารกิจหนึ่งของอัศวินผู้พิชิตอย่างเขา ไม่อาจจะหยุดนิ่งดูดายได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.