ช่อง5พลิกเกมรบเรตติ้งพุ่ง40%ขาใหญ่แห่คืนเวลาผู้จัดทีไอทีวีเสียบ


ผู้จัดการรายวัน(22 มิถุนายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่อง 5 เร่งผู้จัดเสนอรายการเข้าสู่ผังใหม่ปี 25541 แต่ไก่โห่ ชี้จะได้มีเวลาพิจารณามากขึ้น ด้านผู้จัดรายการแห่ขอคืนเวลาเหตุแบกต้นทุนไม่ไหว ส่งผลให้ผู้จัดทีไอทีวีสบช่องเสนอรายการเข้าแทรก เผยไตรมาสแรกเรตติ้งช่อง 5 พุ่ง 40%

พลเอกวุฒิชัย พรพิบูลย์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) เปิดเผยว่า ในปีนี้ช่อง 5 จะมีการปรับผังอีก โดยล่าสุดผังเดือนกรกฎาคมนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอีก ขณะเดียวกันได้ประกาศให้ผู้จัดรายการเสนอรายการในผังใหม่ปี 2551 ได้แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเร็วกว่าเดิม เนื่องจากต้องการให้มีเวลาในการพิจารณามากขึ้น เพราะมีผู้จัดจำนวนมากที่เสนอตัวเข้ามา ซึ่งยังคงมุ่งเน้นสัดส่วนรายการสาระ 40% รายการข่าว 30% รายการบันเทิง 30%

ไตรมาสแรกเรตติ้งพุ่ง

“ช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไม่ค่อยดี ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาอาจจะลดลง ส่งผลให้ผู้จัดรายการบางรายได้ขอคืนเวลาให้กับทางช่อง 5 เนื่องจากทำไปแล้วไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งเราก็ต้องหารายอื่นเข้ามาแทน ซึ่งในการเซ็นสัญญาเราก็ตกลงกันแล้วว่า ถ้าได้เวลาแล้วทำต่อไปไม่ไหวอย่าเอาเวลาไปขายต่อ เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวาย

อย่างไรก็ตามในภาพรวมของช่อง 5 หลังจากปรับผังมาเมื่อต้นปีนี้ พบว่าในไตรมาสแรก ตัวเลขเรตติ้งรวมเพิ่มขึ้น และผู้ชมขยายตัวเพิ่มกว่า 4 ล้านคน อีกทั้งเรตติ้งเฉลี่ยไพร์มไทม์พุ่งขึ้นอีก 40% จาก 5.4 เป็น 8.8 และผลประกอบการเพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ช่อง 5 ยังมีกำไรสะสมอยู่เป็นหลักพันล้านบาท แม้จะไม่ได้เน้นเชิงธุกริจมากนัก แต่ก็ต้องให้องค์กรอยู่ได้ โดยที่ผ่านมาครึ่งปีแรกช่อง 5 มีรายการที่ออกอากาศเกี่ยวกับสาธารณะสังคมโดยไม่ได้เงินมากกว่า 17 ล้านบาท

สำหรับรายการประเภทข่าวคงจะต้องมาปรับให้เข้มข้นขึ้นอีก ซึ่งปัจจุบันรายการข่าวของช่อง 5 ซึ่งผลิตเองทั้งหมดได้รับความนิยมมากขึ้นและแตกต่างจากอดีตมากขึ้น โดยมีจำนวนเวลาทั้งหมด 5 ชั่วโมงต่อวัน แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่ได้เพิ่มเวลามากขึ้นกว่านี้มากนัก อีกทั้งไม่มีนโยบายที่จะดึงผู้ที่มี่ชื่อเสียงหรือดารามาอ่านข่าว เพราะว่า แม้จะได้รับความนิยมดึงคนดูจริงแต่เป็นระยะหนึ้งพร้อมทั้งต้นทุนก็สูงด้วย

รายใหญ่แห่คืนเวลา

พลตรีพีรสันต์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธื รองผู้อำนวยการฝ่ายปฎิบัติการ เปิดเผยเกี่ยวกับผังรายการว่า กลุ่มผู้จัดรายการที่ได้มีการขอคืนเวลาให้กับช่อง 5 ช่วงที่ผ่านมานี้มีไม่มากประมาณ 7-8 รายการ กระจายไปในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการพูดคุยกันถึงปัญหาหรือข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งได้มีการร่วมมือกันแก้ไขมาตลอด แต่เมื่อไม่สามารถทนแบกต้นทุนได้ก็คืนเวลามาบ้าง เช่น บริษัท โพลีพลัส ขอคืนเวลา 2 รายการคือ ทีเด็ดจังและรายการบัลลังก์เมฆ ซึ่งตรงนี้มีผลกระทบกับช่อง 5 พอสมควรเพราะอยู่ในช่วงเวลาที่ดี , รายการเกมประชาชนของบริษัท เนเวอร์แลนด์ ที่คืนเวลามาให้ 2 วันคือ จันทร์-อังคาร แต่ยังเหลืออีก 3 วัน

ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้จัดรายการใหม่ๆรวมทั้งผู้จัดเดิมของช่องทีไอทีวีประมาณ 10 กว่าราย ที่เสนอรายการเข้ามาซึ่งบางรายก็อยู่ระหว่างการพิจารณา บางรายก็เข้าบรรจุในผังใหม่แล้ว เช่น รายการสะบัดช่อ ของบริษัท ทีวีธันเดอร์ ซึ่งเคยจัดที่ทีไอทีวีมาก่อน แต่จะมีการปรับรูปแบบ หรือบริษัทของวิลลี่ แมคอินทอช เช่นรายการ อำกีฬา

สำหรับประเด็นที่มติครม.กำหนดเวลาการออกอากาศรายการทางโทรทัศน์ ซึ่งจัดระดับความเหมาะสมให้รายการกลุ่ม “น” ต้องอยู่หลัง 20.00 น. และกลุ่ม “ฉ” อยู่หลัง 22.00 น. นั้น พลเอกวุฒิชัย กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นเจตนาดีของรัฐบาลแต่เกรงว่าอาจจะเกาไม่ถูกที่คัน แต่ช่อง 5 เองก็ไม่มีผลกระทบอยู่แล้ว เพราะรายการส่วนใหญ่กว่า 130 รายการ มีรายการในกลุ่ม “ท”สำหรับผู้ชมทั่วไป 123 รายการ มีรายการในกลุ่ม “ด” สำหรับเด็กอยู่ 2 รายการ และรายการกลุ่ม “น” มีเพียง 3 รายการที่อยู่ก่อนเวลา 20.00 น. คือ รายการมยุรามอร์นิ่งเมาท์ รายการเคลียร์เป็นข่าว รายการอ๋อซียู ส่วนรายการละครภาคค่ำนั้นอยู่หลังเวลา 20.15 น. อยู่แล้ว

สำหรับรายการประเภท “ฉ” มีรายการเดียวคือ นาทีฉุกเฉิน ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 21.24 น. ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหานั้นจะร่วมมือกับผู้จัดรายการทั้งการปรับเนื้อหาใหม่ หรือเปลี่ยนช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยต้องรอดูความชัดเจนอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งจะมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ” เพื่อจัดทำกฎหมายและนโยบายในการจัดระดับเรตติ้งทีวีอันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรงศึกษาธิการ และภาคประชาชน

ทุ่มงบพัฒนาสู่ระบบดิจิตอล

พันเอกไกรสร ศรีสุข หัวหน้าฝ่ายเทคนิค กล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอของบประมาณจำนวน 70 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงอุปกรณ์เครือข่ายการส่งสัญญาณให้เป็นระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมภายในองค์กรก่อนที่จะส่งสัญญาณดิจิตอลในอนาคต ให้เป็นไปตาม แนวทางของสมาพันธ์โทรทัศน์แห่งโลก ที่กำหนดไว้ว่าโทรทัศน์จะต้องส่งระบบดิจิตอลภายในปี 2558

นอกจากนั้นยังได้ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาทเพื่อสั่งซื้อรถโอบี หรือรถถ่ายทอดสดนอกสถานที่จำนวน 1 คันจากออสเตรเลีย จะส่งเข้ามาเดือนสิงหาคมนี้ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 คัน

ส่วนสถานีเครือข่ายส่งสัญญาณนั้นปีนี้จะเพิ่มอีก 1 สถานีเครือข่ายที่อำเภอบันนังสะตา จังหวัดยะลา จากเดิมที่มีเครือข่ายแล้ว 39 สถานีทั่วประเทศครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 80% แล้ว ซึ่ง 4 สถานีเครือข่ายล่าสุดที่เพิ่งเปิดไปคือ อ.ปายและอ.แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน, ชัยภูมิและเลย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.